15 ม.ค. 2021 เวลา 10:12 • ปรัชญา
๒๓.เค้าขวัญวรรณกรรม
ทัศนะของกรีกโบราณนั้นเป็นทัศนะของมโนคติ โดยมีพลังความสามารถในการแจกแจงหนุนนำ แต่พร้อมกันนั้นก็มุ่งการเสพเสวยสุขเป็นหลัก “เสพสุขและถกปรัชญาเยี่ยงประชาชนชาวกรีก” คงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่า แนวทางเช่นนี้เองที่ยื่นถ้วยยาพิษให้คนจริงอย่างโสเครตีสต้องด่าวดิ้นด้วยสมัครใจ
ลองพิจารณาเข้าสู่วิถีทางที่ง่ายดาย และเป็นเองตามธรรมชาติว่ามันจะเป็นความสูญเปล่า อนารยะ หรือว่าเป็นหนทางแห่งอารยธรรมที่แท้จริงกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความไม่เกิด ไม่ทำหรืออกรรมกิริยา (อู่หวุย) ว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญอย่างไร ในการดำรงชีวิตของทั้งปัจเจกและสังคม พร้อมทั้งการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ไร้ความเจ็บปวด
การเดินทางเข้าสู่สภาพเป็นเองนั้น คือการปลดปล่อยคลี่คลายคือการพึ่งธรรมชาติแห่งตน พึ่งความจริงเท่าที่ความจริงนั้นมีอยู่ เช่นไรก็เช่นนั้น เป็นการเดินทางกลับสู่ธาตุฐานแท้ๆ ของมนุษย์ เข้าสู่สภาพธรรมดั้งเดิมที่ไม่เป็นสอง กลับเข้าสู่กาลภวังค์ (Dreamtime)
จากที่นี่ขณะนี้สู่นิรันดร เนื้อหาสาระทั้งหมดนั้นอยู่ตรงสภาพคลี่คลาย นิโรธ (Cessation) ลงของอินทรีย์ทั้งหลาย และในเส้นทางเช่นนี้เองที่ร่องรอยของศิลปวัฒนธรรมที่ไร้ความเจ็บปวดได้สะท้อนออกมา โครงสร้างของมันราวกับอยู่ในกาลฝัน และความเป็นไปของมันต่อเนื่อง เลื่อนไหล และสะท้อนออกถึงประสบการณ์พันลึกอย่างง่ายดาย
กาลสถานนั้นเป็นสากล ที่นี่ ที่โน่น ขณะนี้ ขณะโน้น มีความต่างน้อย หรือไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะเนื้อหาสาระทั้งหมดนั้นว่างไร้
ความสัมพันธ์ระหว่างจิตสำนึก (Conciousness) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นกรณีตามแต่อารมณ์ (Object) เข้ามาสัมผัสกับสภาพไม่เกิดขึ้นนั้น น่าจะเห็นได้ชัดด้วยภาพพจน์ของเมฆและท้องฟ้า
การปรากฏการณ์ตั้งอยู่และการสลายไปนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับท้องฟ้าเลย แต่ก็เกิดขึ้นมาและจากไปในท้องฟ้า ส่วนท้องฟ้านั้นไม่เคยเกิดและไม่เคยหายไป กล่าวได้ว่าท้องฟ้าหรือ Space นั้นเป็นฐานของการเกิดและการสลายไปของเมฆ และเนื่องจากเป็นสิ่งคงตัว ไร้ความแปรเปลี่ยน ฉะนั้นการแปรเปลี่ยนของเมฆจึงเป็นไปได้
ธาตุฐานแท้ๆ ของมนุษย์ก็เป็นสภาพสูญอันอยู่เหนือค่าราคาของเชื้อชาติ สัญชาติ ผิวพรรณ เหนือฉลาดหรือโง่เขลาอยู่แล้ว ความแตกต่างนั้นในชั้นทรวดทรงผิวพรรณก็เป็นเพียงพัฒนาการตามพื้นเพของสภาพแวดล้อมซึ่งแปรเปลี่ยน ในฐานะภายในก็ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของการผันแปรเช่นกัน
ธาตุฐานของมนุษย์ที่เสมอเหมือนกันนั้น เป็นไปในสภาพเหนือสำนึก คือสภาพไม่เป็นสอง (Non-duality) นี่ไม่ใช่ความเสมอภาคในทางการเมืองหรือจริยธรรม หากแต่เป็นสภาพกลางโดยธาตุฐานแห่งสุญตา
มนุษย์ก็คือมนุษย์ สาระสำคัญของมนุษย์ก็คือสภาพเป็นมนุษย์ของเขานั่นเอง หากแต่ในท่ามกลางของวิวัฒนาการ การต่อสู้ดิ้นรนได้ทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อความเหมาะสมจะอยู่รอด ทำให้มีความผิดแผกแตกต่าง ทั้งในกายภาพและจิตใจ อันหมายถึงอารมณ์ในภายใน และสภาพพัฒนาการใหม่ๆ (Recreation) นี้เองที่กลายมาเป็นบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นทั้งสภาพผูกมัดจำกัด (Captive) และตัวตนของคนหนึ่ง ๆ
มันเป็นตัวเองที่กำลังก่อเกิด และความจำต่ออดีตและความมั่นหมายต่ออนาคต บุคคลหรือบุคลิกภาพนั้น แท้คือสภาพขัดแย้ง ตัวตนคือสภาพขัดแย้งอยู่ในตัวเองนานาประการ
ดังนั้นภายใต้พฤติกรรมจากความขัดแย้งนานานั่นเองที่สะท้อนถึง “ความอยากกลับบ้าน” กลับสู่สภาพดั้งเดิม อยากพ้นจากตัวตน และนั่นก็คือตัวตนอยู่นั่นเอง
จากประสบการณ์ของการได้ “มี” ตัวตนหรือเป็นตนขึ้นนี้ การเสาะหาช่องทางพ้นจากปัญหาในภายในของปัจเจกเช่นนี้ เป็นลักษณะสากลยิ่ง ชนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกวัฒนธรรม และทุก ๆ ปัจเจกมีธาตุฐานเหมือนกัน ขัดแย้งและปรารถนา ต่อความหลุดรอดเหมือนกัน แม้จะต่างรูปลักษณ์และบุคลิกภาพ
การเดินทางกลับสู่ที่มาดั้งเดิม จึงเป็นเสมือนเส้นชะตาชีวิตของทุกคน นี่กระมังที่ถ้าว่ามหากาพย์ของโลก อีเลียด-โอดิสซี รามายณะ กับ มหาภารตะ ไม่ใช่มาจากแหล่งเดียวกันในทางประวัติศาสตร์ ก็ยังมีโครงสร้างของท้องเรื่องร่วมกัน รวมไปถึงเรื่องนิยามที่แตกตัวจากต้นธารอันนี้ด้วย
ผมไม่คิดว่าอสูรตาเดียวไซคลอป ผู้เป็นลูกของเทพโพไซดอนจะเป็นเพียงความคิดแฟนซี ที่โฮเมอร์แต่งให้มาสู้รบกับโอดิสซูส เพื่อให้เรื่องดูสนุกสนาน คล้ายกับสัตว์อวกาศรูปร่างประหลาดในภาพยนตร์สตาร์วอร์เท่านั้น มันอาจหมายถึงอวิชชา สภาพดื้อรั้นเยี่ยงสัตว์ตาเดียวที่ทรงพลัง ผู้เป็นบุตรของพลังฝ่ายลบโพไซดอน
ตามทางแห่งศาสนาของกรีกโบราณ ชาริบดิชและพรายสมุทรซิลลา ไซเรน ฯลฯ ทั้งหมดควรถูกพิจารณาว่าเป็นประสบการณ์ภายในของปัจเจก
โอดิสซูสคือตัวแทนของทุกคนผู้ต้องโทษให้พลัดถิ่น และจำต้องหาทางกลับเมืองแม่ ภายใต้การอนุเคราะห์ของทวยเทพและคุณธรรมความกล้าหาญของตน และท้ายที่สุด คุณธรรม ก็ย่อมชนะความไร้คุณธรรมในทุกๆ เรื่องของมหากาพย์และนิยายบริวารทั้งหมด
ลองพิจารณาเรื่อง Snow White บ้าง เทพนิยายเรื่องนี้เป็นที่ชื่นชอบทั้งของเด็กและผู้เคยเป็นเด็ก (ผมหมายถึงผู้ใหญ่)
โดยทั่วไปเราก็รู้สึกคล้อยตามว่านางสาวขาวหิมะเป็นตัวแทนของความดีงาม ความไร้เดียงสา ที่ต้องถูกตามผลาญชีวิตจากพระราชินีใจร้าย อันเป็นสัญลักษณ์ของความชั่ว และท้ายสุดความดีก็ชนะความชั่วได้
ผมอยากให้พิจารณาโครงสร้างทั้งหมดของ Snow White รวมถึงลำดับเหตุการณ์ และที่สำคัญคือตอนสโนไวท์กลายเป็นศพ ที่ไม่เน่าเปื่อย หากยังดูงดงามราวกับมีชีวิตและอยู่ในโลงแก้วใสสว่าง
ความทุกข์ทรมานของมนุษย์เราก็เพราะเราอุตริมีกระจกวิเศษวิโส สำหรับส่องเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ความคิดเชิงเปรียบเทียบที่แสนไวและดูราวกับไม่เคยโกหกนี้เอง ที่สะท้อนภาพอันน่าชังของตัวเอง ทั้งในคราวผยองหยิ่งว่าเป็นเลิศในปฐพี และเป็นรอง ไม่มีพระราชินีใจร้าย ขี้ริษยา และสโนไวท์ผู้ไร้เดียงสาภายนอกตัวเรา นิยายนี้คือตัวเรานี้เอง ที่มีทั้งความร้ายกาจและซื่อบริสุทธิ์ดี
จากความคิดแยกแยะเปรียบเทียบและตัดสิน ทำให้ชีวิตย่างเท้าเข้าสู่ความระกำ ราวกับถูกส่งไปฆ่าทิ้งในป่าใหญ่ ถูกนักล่าล่าสังหาร เดชะบุญรอดมาได้ ครั้นชีวิตเริ่มยอมรับสภาพเตี้ยแคระได้ ชีวิตก็ดูกลมกลืนสุขสบายกับชีวิตการงานสามัญประจำวันขึ้น
สภาพเตี้ยแคระก็คือคนแคระทั้ง ๗ ผู้ขุดทองอยู่ในป่าใหญ่ รับความจริงของชีวิตของคนสามัญดาดๆ ได้ ชีวิตก็สุขสบาย แม้รูปการณ์ภายนอกจะดูเลวร้าย หากแต่นั่นเป็นบ่อทองคำ
คราวนี้เผลอต้องอุบายของแม่เลี้ยงใจร้าย จนกินแอปเปิ้ลที่อาดัมกับอีฟเคยกินและต้องโทษสวรรค์มาแล้ว นั่นคือแอปเปิ้ลผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้จักดี-ชั่ว (The Tree of Knowledge of Good and Evil)
ในความฉลาดแบ่งแยกอีกนั่นเอง ที่ต้องด่าวดิ้นราวกับตาย ตายจากชีวิตง่ายๆ ซื่อบริสุทธิ์มาเป็นความฉลาดเฉโก (Cunning) ทางสมอง แต่ก็เพราะความรู้นั่นเองที่ทำให้มาถึงประสบการณ์สำคัญของชีวิต คือกาลภวังค์ของนางสาวขาวหิมะ
สภาพตายหากแต่สดใสมีชีวิตอยู่ หรือเรียกว่า The living Death ก็ได้ จนลุถึงวันสัมผัสแรกและดั้งเดิมของชีวิตซึ่งใช้สัญลักษณ์จุมพิตแรก (First Kiss) หรือ สัมผัสแรก (First Touch) จากเจ้าชายแห่งชีวิต (The Prince of Life) (คำนี้หมายถึงพระเยซูก็ได้ ผมคิดว่าน่าจะเป็น Christhood) แล้วชีวิตก็ถูกปลุกขึ้นสู่พิธีวิวาห์อันเกริกเกียรติ
Snow White เป็นเทพนิยายแห่งคุณธรรมความดี แต่พิจารณาโครงเรื่องทั้งหมดแล้วเป็นการยกระดับอภิเษกอยู่ในตัวชีวิตตลอดทั้งสาย การยอมรับความจริงของความทุกข์ยาก เตี้ยแคระ การหยั่งรู้สภาพเหนือสำนึก และการตื่นกลับสู่ชีวิตของชีวิตด้วยจุมพิตแรกจากเจ้าชายแห่งชีวิต ช่างเป็นโครงเรื่องทางจิตวิญญาณ ที่ชวนชื่นชมยิ่ง
จาก The First Touch ที่พระเจ้าทรงระบายลมปราณแห่งชีวิตเข้าในก้อนดิน กลายมาเป็นอาดัม-ชีวิตแรกดั้งเดิมอยู่ในสวนสวรรค์ของพระเจ้า ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ในเทพนิยายรุ่นหลัง เป็น The First Kiss ใน Beauty and the Beast, Sleeping Beauty และอีกหลายๆ เรื่อง The First Kiss จากเจ้าชายแห่งชีวิต คือ การตื่นขึ้นของชีวิต ฟื้นคืนชีวิต ในเมื่อก่อนหน้านั้นคือร่มเงาของความตาย
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จากสมัยที่ผู้คนยังมีความเชื่อต่อนางฟ้า, เทพยดาที่จะปกป้องคุ้มครองคนผู้มีใจอันดีงามและประพฤติดีต่อเพื่อนมนุษย์ มาสู่สมัยแห่งการนิยมชมชื่นคนเก่งหรืออัจฉริยบุคคล โครงสร้างทางฝ่ายวิญญาณของมหากาพย์ หรือบริวารอย่างสโนไวท์ก็กลายเป็นเพียงเทพนิยายทางจริยธรรม
รหัสยลัทธิในการยกระดับอภิเษกของชีวิตก็ถูกมองผ่านไป เรื่องทั้งหมดก็กลายเป็นจินตนาการแฟนซีหรือเป็นนิยายธรรมดาที่อ่านสนุกโดยกร่อยจากความบันเทิงทางวิญญาณไปไกล
สื่อสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับความรู้แจ้งทางวิญญาณในนิทานพื้นบ้านไทย ยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในงานประพันธ์ของสุนทรภู่ หากแต่ลักษณะฝันเฟื่อง (Fantasy) ได้บดทับหมดสิ้น
ในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่นั้น ยังคงใช้กุมารตัวน้อยๆ ผู้มีฤทธิ์เป็นวีรบุรุษ คือสินสมุทร สุดสาคร เป็นต้น แต่ชั้นเดิมนั้น นิทานไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหนังสือปัญญาสชาดก ซึ่งว่าด้วยเรื่องหนหลังของพระโพธิสัตว์ กุมารคือสัญลักษณ์ของโพธิ (Knowingness Nature) มักจะเกิดมามีอาวุธสำหรับเข่นฆ่ามารติดมือมาจากท้องแม่ เช่น ศร สังข์หรือจักร ฯลฯ
ขนบแห่งการสร้างสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นไปอย่างกว้างขวางและค่อนข้างอิสระ เช่นเดียวกับภาษาถ้อยคำที่ให้ความหมายหลากหลายในคำๆ เดียวกัน
ด้วยเหตุนี้รูปแบบแห่งนิทานทางจิตวิญญาณเหล่านี้จึงเป็นสภาพเหนือจริงเลื่อนไหลและอยู่เหนือเหตุผลตามธรรมดา กลุ่มฟรอยเดียนและนักจิตวิเคราะห์ทั้งหลายคงต้องทำงานหนักและไร้ผล เมื่อนำหลักจิตวิเคราะห์เข้าจับตัวละครในเรื่องนั้นๆ
ทั้งนี้เพราะตัวละครเป็นเพียงบุคลาธิษฐาน เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น หาใช่หมายถึงบุคคลจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อไม่ และด้วยเหตุนี้เอง นิทานเช่นนั้นจึงเล็งไปสู่ความบันเทิงทางจิตวิญญาณมากกว่าความสนุกสนานตามอย่างนิยาย เป็นศาสนาแห่งเทพปกรณัมที่มุ่งศรัทธามากกว่าเหตุผลบริสุทธิ์ มุ่งให้อุปมาอุปไมยมากกว่าการอรรถาธิบายด้วยพลังแห่งตรรกะ
และประการสำคัญที่สุด ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ก็คือความโยกโคลง กว้างขวาง ก่อเกิดการเฝ้าพินิจมากกว่าการด่วนสรุป
บ่อยครั้งที่สติปัญญาชั้นสูงนั้นมักอยู่ในรูปกึ่งปริศนา ไม่ว่าถ้อยคำประโยคที่กระทบอารมณ์ หรือปริศนาที่ยากจะเอาเหตุผลเข้าจับ และแล้วผลจากการเผชิญกับความดำมืดไร้ทิศทางนั่นเองได้จุดประกายปัญญาขึ้น
ดังเช่นช่องประตูก็ย่อมถูกเจาะไว้ที่กำแพงทึบนั่นเอง นิทานปริศนาธรรมนั้นดุจกำแพงทึบ ทำให้เราหาทางออก และเมื่อประสบการณ์ภายในสุกงอมแล้ว ประตูก็อยู่ตรงนั้นเอง
ลองฟังและลำดับคำพูดที่ประหนึ่งตลกอย่างเหลวไหล หากซ่อนความฉลาดลึกซึ้งไว้ให้สะกิดใจคน เรื่องนี้ฟังมาว่าเป็นเรื่องจริง
พระภิกษุชาวไทยอีสานรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่ประชาชนเลื่อมใสท่านมาก จากการเป็นคนพูดน้อยและมักพูดอยู่แต่คำเดียวว่า “ดีเนาะหลวง” ท่านจึงถูกขนานชื่อว่าหลวงพ่อดีเนาะ เนื่องแต่ท่านเห็นดีไปกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น แม้บางเรื่องเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับท่าน
วันหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มหนึ่งคุกเข่าลงประนมมือให้ความเคารพพระสงฆ์ตามแบบอย่างของอุบาสกอุบาสิกาที่ดี หัวหน้าอุบาสกถามหลวงพ่อดีเนาะว่า “หลวงพ่อจะไปไหน?” ท่านตอบว่า “ถ้ากูไม่มามึงจะถามผู้ใด?”
ท่านผู้อ่านคงเดาอาการงงของกลุ่มชาวบ้านได้ คำพูดบวมๆ เช่นที่ว่านี้เองที่เต็มไปด้วยพลังที่จะหยุดยั้งกลไกลของการคิดปรุงแต่ง จนเป็นนิสัยช่างพูดช่างถาม และช่างวางท่าทีทางวัฒนธรรม
ในคำห้วนๆ ลอยๆ ที่ว่า “ถ้ากูไม่มามึงจะถามใคร?” นั้นยังอาจกินใจความไปถึงความว่างจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แล้วยังบอกเราถึงความเหลวไหลของภาษา จะถามกันไปทำไม รู้แล้วจะได้อะไรขึ้นมา
บางทีการไม่ต้องถามนั่นเองคือคำตอบ และบนความเงียบว่างอันนั้นเอง ที่สาระในภายในจะพึงเติบโตได้ ถ้อยคำสั้นๆ ที่ถูกจังหวะจะโคนนี้เหนือกว่าคำเทศนาบนบัลลังก์ธรรมาสน์ หรือยิ่งกว่าประกาศิตของจักรพรรดิเสียอีก
จิตสำนึกของคนเรามักจะหวิวว่อนสาระแนอยู่กับโลกสมมุติ และเสาะหาสาระในส่วนเปลือก หวังแต่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามที่เปราะบาง ไม่ตระหนักต่อสาระในภายใน-ความว่าง ความสงัดทางใจอันสมบูรณ์
คำพูดอันมากมายถูกใช้เพื่อมอมใจตัวเองจนเมาถ้อยคำ จนวกวนหาทางออกจากถ้อยคำนั้นไม่ได้ และนับวันที่ความคิดปรุงแต่งไปตามถ้อยจะผูกมัดรัดรึง จนตกเป็นทาสของความคิดและถ้อยคำในที่สุด
ตัดตอนจากยกร่างคำนำ The Mighty bow ของเขมานันทะ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ไตร่ตรองมองหลัก” ฉบับปี ๒๕๓๓

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา