Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
12 ม.ค. 2021 เวลา 12:40 • ปรัชญา
๒๒.เค้าขวัญวรรณกรรม : ศยาม
ประมาณปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ผมถูกชายชราผมและหนวดเคราขาวโพลนผู้หนึ่งถามว่า “ทำไมประเทศของคุณจึงเปลี่ยนชื่อเป็นไทยแลนด์ ในเมื่อศยามเป็นชื่อที่ดีที่สุดอยู่แล้ว”
ที่นั่นเป็นศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยแห่งอุดมคติของระพินทรนาถ ฐากูร กวีคนสำคัญของโลก และผู้ถามก็คือสานุศิษย์ของท่าน ทั้งเป็นอาจารย์สอนอยู่ ณ สถาบันแห่งนี้ด้วย ผมตอบไปอย่างกล้อมแกล้มว่า นั่นเป็นเหตุผลของการเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้น
ศยาม หรือ สยาม ซึ่งฝรั่งชาวยุโรปเรียกเพี้ยนเป็น Siam นั้น โดยอภิธานศัพท์ เป็นคุณศัพท์ หมายถึงดำ เช่นผิวสีสยามสุนทร หมายถึงผิวสีดำขำ คำนี้ยังหมายถึง สภาพเป็นเองหรือความเป็นเอง
โดยรูปศัพท์นิบาตบอกอรรถมาจากคำ สํ หรือ สาม หรือ สยํ และ คำๆ นี้ หากต่อด้วยศัพท์ ภู ได้รูปเป็นนามศัพท์ สยมฺภู เป็นชื่อหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือพระผู้เป็นเอง หรือเป็นใหญ่อิสระในตนเอง อีกรูปหนึ่งคือ สยมฺภูวญาณ ญาณของพระพุทธเจ้าหรือญาณของผู้รู้เห็นสภาพเป็นเอง
ในส่วนอรรถะ ศยามหรือสยามนั้นหมายถึงสภาพเป็นอยู่เองโดยปราศจากเหตุปัจจัยหนุน เป็นอิสระ ไม่ต้องอิงแอบ ปราศจากอำนาจอื่นใดครอบงำ
โดยแท้จริงแล้ว วิทยาการหรือวิทยาที่เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยความลี้ลับของธรรมชาติให้มนุษย์ได้เข้าใจมากขึ้น แต่เราต้องขีดเส้นใต้ต่อความนัยอันนี้ว่า วิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยต่อเราถึงความลี้ลับของธรรมชาติ ไม่ใช่การเข่นฆ่าความลี้ลับ จนกระทั่งนำผู้คนถลำลึกไปสู่ความผยองหยิ่งว่า วิทยาศาสตร์หรือกระบวนการเหตุผลได้รู้แล้วทั้งหมดต่อธรรมชาติ
แท้จริงวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั่นเองเน้นให้เรามีใจที่เปิดกว้างและอาจเล็งแลไปสู่ธรรมชาติที่ลึกซึ้ง และอยู่เหนือการคิดคำนึงอยู่เพียงใด วิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ช่วยเสริมสร้างสภาวะน่าพิศวงของธรรมชาติยิ่งขึ้น
กล่าวโดยย่อคือจากสภาพไม่รู้ไม่เข้าใจต่อปรากฏการณ์ของธรรมชาติ อันก่อเกิดความหวาดกลัวและสร้างรูปความเชื่อขึ้นมาต่างๆ ค่อยๆ คลี่คลายมาสู่ความสว่าง ความรู้ความเข้าใจและความรัก
แต่แล้ว, มนุษย์เราผู้อยู่ในเผ่าพันธุ์ (Species) ที่พิเศษได้เผชิญหน้ากับศัตรูจากภายในตัวมนุษย์เอง ในท่ามกลางของความก้าวหน้าทางอารยธรรมนั้นนั่นเอง ศัตรูที่ว่านี้คือ “อหังการ์” ซึ่งเป็นตัวการสำคัญยิ่งทั้งในทางบวกและทางลบ ต่อชีวิตและสังคมโลก เป็นทั้งตัวเร่งในการสร้างสรรค์และทำลาย
สภาพความก้าวหน้าทางศิลปะวิทยาการที่ไม่ได้ส่วนกับสภาพธรรมทางจิตใจนั่นเอง ที่ได้กำหนดความแหลกสลายของวิถีชีวิตประจำวัน อันเป็นตัวการสร้างสรรค์อารยธรรมไปแต่ต้นมือ
บทเรียนในอดีต ไม่ว่าวิถีชีวิตแห่งการเสพสุขและถกปรัชญาของประชาชนชาวกรีก โรมัน หรือการมุ่งเสพสุขและบ้าคลั่งอำนาจของชนชั้นนำ กล่าวให้ง่ายก็คือ สภาพความฉลาดทางสมองกับคุณธรรมไม่ปรองดองกันนั่นเอง ที่กำหนดจุดพังพินาศราวกับระเบิดเวลา
อหังการ์เป็นตัวสำคัญที่บิดเบือนความฉลาดทางปัญญา (พุทธิ) ไปให้ตรงข้ามกับคุณธรรมความจริง อหังการ์จึงเป็นธรรมชาติที่ก่อเกิดขึ้นทั้งเพื่อบดบังคุณธรรมความจริง เป็นอุปสรรคกางกั้นและเท่ากับเป็นขวากหนามที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะขุดรากปราบปรามให้สิ้น
กล่าวได้ว่าอหังการ์เกิดขึ้นเพื่อทดลองมนุษย์ว่า มนุษย์เป็นมนุษย์ของคุณธรรมความจริงอยู่เพียงใด เราจะพบว่า อหังการ์ได้กลายเป็นตัวละครสำคัญยิ่ง ทั้งในเวทีโลก เวทีชีวิตของปัจเจก และสะท้อนออกบนเวทีแห่งศิลปวัฒนธรรมต่างๆ
มาร ซาตาน ผี ฯลฯ ถูกระบุถึงในวรรณกรรมโบราณ ในฐานะสิ่งลวงหลอก อุปสรรคเครื่องทดลองน้ำใจ ถ้าว่าพระเจ้าคือบุคคลหรือสิ่งที่ถูกระบุชื่ออยู่เพียงใด มารหรือซาตานก็เป็นเงาตามติด มารหรือซาตานคือภาคหนึ่งของพระเจ้าที่ช่วยกระตุ้นเตือนมนุษย์ให้ตระหนักค่าของคุณธรรมความจริง
มองเช่นนี้แล้วก็ได้เค้าการเดินทางไกลทางจิตวิญญาณ การต่อสู้ การละ ทำลายอุปสรรค และการบรรลุถึงภูมิภาคอันร่มรื่นในภายใน
โดยหลักแห่งการวิเคราะห์ขั้นมูลฐาน เรามักเริ่มที่ความสัมพันธ์และขัดแย้งระหว่าง Subjective และ Objective โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางญาณวิทยา
ภูติสภาพสัมพันธ์อย่างไรกับวัตถุหรือสสารต่อเรื่องนี้นั้นในประวัติพัฒนาการของพุทธศาสนา นับได้ว่าได้ผ่านการให้อรรถาธิบายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาแล้ว และผลลัพธ์ แทนที่จะเป็นคำตอบก็กลายเป็นความแบ่งแยกแตกนิกายกันออกไปถึง ๑๘ นิกาย นั่นนับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามลำดับแห่งห้วงเวลา
ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ ปัญหาทางญาณวิทยาไม่ใช่สิ่งสำคัญอะไร ทั้งนี้เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้แจงให้พระสาวกเลี่ยงที่จะเข้าไปวิเคราะห์วิจารณ์ต่อปัญหาที่เรามักเรียกกันว่า “โลกแตก” ทั้งทรงชี้ให้เห็นที่มาสาเหตุแห่งการเข้าไปยึดถือความเห็นหนึ่งความเห็นใดไว้ว่า มาจากตัณหาเช่นไร และจะส่งผลต่อเจ้าของทิฏฐินั้นอย่างไร
ดังเช่นเนื้อหาในฉันนสูตรที่ว่า โลกอาศัยยึดถือในส่วนสุดว่ามีอยู่ กับไม่มีอยู่ เมื่อยึดถือโดยความมีอยู่ สภาพไม่มีก็ไม่มี และเมื่อยึดความไม่มีอยู่ สภาพมีอยู่ก็กลับไม่มี ดังนี้ ส่วนพระตถาคตนั้นไม่จับฉวยเอาสุดโต่งเช่นนั้น จึงชี้ไปสู่สภาวะอันเป็นกลางๆ สภาวะอันเป็นกลางๆ นี้คือหลักอิทัปปัจจยตาที่ว่า
ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี (อิมสฺมํ สติ อิทํ โหติ)
ถ้าสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด (อิมสฺสุปาทา อิทํ อุปชฺฌติ)
ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี (อิมสฺมํ อสฺสติ อิทํ น โหติ)
ถ้าสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ (อิมสฺสมํ นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ)
หลักแห่งสภาพเป็นกลางๆ นี้ นับว่าเป็นกลาง-เป็นแกนกลางทั้งในทางรอมชอมของสภาพขัดแย้งนานา อันเกิดจากความยึดถือปลายสุดข้างหนึ่งของความจริงไว้ ทั้งเป็นการวางมือจากการยึดถือ แม้ในตัวความจริง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า หลักอิทัปปัจจยตานี้เป็นหลักความจริงที่อยู่เหนือความจริงที่โลกยึดถือไว้
ทั้งมโนคติและวัตถุก็ล้วนอาศัยเหตุปัจจัยหนุนให้ก่อเกิด เมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยนั้น สภาพนั้นก็ดับลง สภาพปรากฏหรือที่เราเรียกว่าปรากฏการณ์นั้น เป็นกระบวนการสืบต่อของเหตุปัจจัยเหล่าโน้นซึ่งปรากฏให้เห็นราวกับมายากล หรือความฝัน ซึ่งจะลงความเห็นว่าจริงหรือไม่จริงโดยข้างใดข้างหนึ่งนั้นไม่ได้
ครั้นจะกล่าวโดยการใช้คำเดียวเพื่อปฏิเสธคำรับ เช่น จริงแต่ไม่จริง ก็ดูพิกล มีแต่ไม่มี ไม่มีแต่มี ฟังดูแล้วก็เป็นโวหารผกผัน ราวกับคนไร้สติพูดออกมา แต่ที่นี่เองคือสาระสำคัญของภาษาที่สื่อตรงสู่สภาวธรรม ไม่ใช่ภาษาที่อธิบายพะนอทิฏฐิที่ยึดถือไว้แล้ว
ชีวิตจิตใจโดยธรรมชาติแท้นั้นปราศจากทิฏฐิ สภาพธรรมของชีวิตอยู่เหนือทฤษฎีทีถ้อยใดๆ ดังนั้นมันจึงสัมพันธ์กับสภาวะที่เรามักเรียกว่า “แวดล้อม” ซึ่งถือเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่ามีอยู่ในฐานะเป็นศูนย์กลาง
โดยสภาวะแล้ว สภาพแวดล้อมกับจิตสำนึกนั้นมีความสัมพันธ์เป็นเนื้อหาเดียวกัน โดยไม่มีศูนย์กลาง จิตนั้นรู้อยู่ในสภาพธรรมทั้งหมด แต่หากการรับรู้นั้นยังยืนอยู่บนลักษณะจำกัดทางอินทรียประสาท การรับรู้นั้นเป็นจิตสำนึกที่เกิดเป็นกรณีและมักจะรวมศูนย์
ส่วนสภาวะของการรับรู้เหนือกรณีนั้น เราคงไม่เรียกว่าจิตสำนึกและคำที่เหมาะสมก็คือ จิตที่รู้อยู่โดยไม่นึก หรือจิตเหนือสำนึก หรือที่นักจิตวิทยากลุ่ม Jungian ใช้คำว่า Unconscious ถ้าให้คำนิยามอย่างพุทธก็คือ จิตไม่เกิด ซึ่งเท่ากับจิตเปล่าที่ไร้ความเกิด จึงไร้การตาย คือสภาวะไม่เกิดไม่ดับ
และถ้าเราจะใช้คำผกผันว่า จิตที่รู้หากแต่ไม่รู้อะไรอื่นใดหมด ที่ตรงนี้ เราก็พบว่า ถ้อยคำที่เหมาะสมในลำดับถัดมาก็คือ สภาพรู้ตัวเอง (Knowing-ness Nature) หรือสภาพรู้เอง-เป็นเอง และนั่นคือสยาม อันเป็นอิสระเป็นไท
ความรู้ที่รู้อะไรเป็นอย่างๆ สิ่งๆ เนื่องในลำดับ นั้นไม่ใช่อิสระ เพราะยังไม่พ้นรู้ ยังรู้ ยังเป็นจิตที่ยังต้องสำนึก ซึ่งรากฐานของความรู้เช่นนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างจิตผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้
สภาพธรรมทั้งหมดนั้น โดยเนื้อหาสาระย่อมไม่อาจแบ่งแยกเป็นภายนอกหรือภายใน หรือกล่าวได้ว่า โลกภายนอกกับโลกภายในนั้นเป็นเอกภาพต่อกัน เมื่อไม่ยึดถือการแบ่งแยกไว้ก็ย่อมไม่มีขอบเขต
ขอบเขตมีขึ้นเพราะความยึดถือ เมื่อเพิกถอนการยึดถือขอบเขต ขอบเขตก็ไม่มี ความประสานกลมกลืนของวัตถุสภาพและภูติสภาพก็คลี่คลายไปในทางของธรรมเอง ของความเป็นเอง
ถ้าเราจะถือเกณฑ์ทางคำพูดต่อสภาพเป็นกลาง ระหว่างวัตถุกับจิต ในฐานะกึ่งต่อกึ่ง ก็อาจกล่าวได้ว่าสภาพกึ่งรูปกึ่งนาม กึ่งจริงกึ่งไม่จริง สภาววิสัยอันนี้เราจะใช้คำว่าเหนือจริง (Surrealism) ได้หรือไม่ นี่เป็นปัญหาทางนิรุกติเท่านั้น หาใช่ความโยกโคลงของสภาวะไม่
และเราควรพิจารณาต่อถ้อยคำ “กาลภวังค์ (Dreamtime)” ของชนพื้นเมืองออสเตรเลีย และคำจำกัดความสภาวธรรม “มายา” ของศรีศังกราจารย์ คุรุชาวอินเดีย ถัดสมัยของอาจารย์นาคารชุน ผู้พิเคราะห์สภาวธรรมด้วย “สุญตา” – สภาพสูญ และถือเป็นทางกลางๆ (มัธยมิก)
แม้ว่าโดยหลักลัทธิของแต่ละคณะจะยังทำให้เราเคลือบแคลง เพราะเรายังยึดถือความจริงผ่านทางถ้อยคำอยู่ก็ตาม แต่เราควรคิดได้เช่นกันว่า สภาวะที่อยู่นอกเหนือถ้อยคำนั้นย่อมไม่อาจเป็นอื่นไปจาก “ความเป็น” อันนั้นได้ คือความเป็นเอง เป็นอิสระ (อิศวร) เป็นไท เป็นสยาม
บางทีประจักษ์พยานในทางเป็นเอกภาพต่อกัน ของความหลากหลายในถ้อยทีโวหารที่ต่างยึดถือกันไว้ อาจถูกสะสางได้โดยการสำรวจเข้าสู่การแสดงออกทางศิลปะของแต่ละวัฒนธรรม ทั้งเราอาจจะแลเห็นได้เด่นชัดว่า ศิลปะชั้นสูง ถ้ามองสู่พลานามัยในการแสดงออกนั้นหาใช่ศิลปะราชสำนักไม่ หากแต่รูปแบบนั้นๆ ย่อมสัมพันธ์กับพื้นเพดั้งเดิมอยู่อย่างไร้เดียงสา
กล่าวโดยย่อคือรูปแบบศิลปะของวัฒนธรรมที่ดีต้องไม่หนีลักษณะดั้งเดิม (Primitive) ไปไกล ไม่เช่นนั้นมันจะผุกร่อน ไร้พลานามัยยิ่ง ศิลปะที่เรียกว่าสูงส่ง (Classic) ควรพัฒนามาจากรากฐานพื้นบ้านและยังคงรักษาวิญญาณอันนั้นไว้ได้
ตัดตอนจากยกร่างคำนำ The Mighty bow ของเขมานันทะ ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “ไตร่ตรองมองหลัก” ฉบับปี ๒๕๓๓
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย