Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
7 ม.ค. 2021 เวลา 22:41 • ปรัชญา
๒๑.เค้าขวัญวรรณกรรม : ธรรมสาระในวรรณคดี
เรามักเคยชินที่จะตีความวรรณคดีในแง่หนึ่งเสียแล้ว เช่น เรื่องสังข์ทอง เรามักนึกว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงสูงศักดิ์ หลงรักชายรูปชั่วตัวดำคือเจ้าเงาะ ถ้าตีความเช่นนี้ก็เป็นเรื่องน่าขำเพราะเรื่องมันมิได้เป็นเช่นนั้น จริงๆ
ต้นตอหรือต้นฉบับจริงๆ มิได้เป็นเช่นนั้น เพิ่งมาปรับปรุงให้เป็นพระราชนิพนธ์บทละคอนในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งฉบับจริงเป็นชาดก
เขาอธิบายเรื่องของชีวิต หกเขยหกธิดานั้นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่โยนพวงมาลัยคล้องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์
ส่วนนางรจนานั้นเป็นตาที่เจ็ด เป็นธรรมจักษุ ก็คล้องเอาเจ้าเงาะซึ่งมีรูปทองอยู่ข้างในซึ่งหมายความว่า ในท่ามกลางความทุกข์ก็จะมีความดับทุกข์อยู่
ปัญหาในการตีความเช่นนี้ก็คือ คนทั่วไปไม่สนใจธรรมในส่วนแก่น ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร และมีคนเพียงส่วนน้อยที่สนใจถึงระดับเช่นนี้
มีชาดกอีกเรื่องหนึ่งที่พูดเรื่องเกี่ยวกับอิทัปปัจจยตาไว้อย่างสนุกขบขัน ตัวพระเอกมีอาวุธพิเศษคือไม้เท้า ชี้ทางนี้เป็น ชี้ทางนั้นตาย การจะได้อาวุธนั้นมาก็จะต้องเริ่มปราบมาร
เมื่อเรารู้เรื่องอิทัปปัจจยตาก็คือรู้เรื่องว่าถ้าสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็จะมี ถ้าอันนี้เกิดอันนี้ก็จะเกิด ถ้าอันนี้ดับอันนี้ก็จะดับ คือถ้าชี้ไม้เท้าทางนี้ไอ้นั่นก็จะเกิดขึ้น ถ้าชี้ทางนั้นไอ้นั่นก็จะเกิดขึ้น ความรู้นี้จึงเป็นไม้เท้าที่เป็นสัญลักษณ์แทนกฎของจักรวาล หรืออิทัปปัจจยตา ชาดกนี้คือ สีหนาทชาดก เป็นปริศนาธรรมที่เด่น
สำหรับช่วงการเดินทางของชีวิตของแต่ละชีวิต ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าบวชพระ ๑๐ พรรษาก็ถือว่าเป็นเถระ คือมีจิตตั่งมั่น
ท่านมิลาเรปะจะระบุช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติธรรมไว้ ๑๒ ปี ซึ่งในมหาภารตะกล่าวไว้ ๑๒ ปี รามเกียรติ์ ๑๔ ปี ไซอิ๋ว ๑๔ ปี (ช่วงที่พระถังซัมจั๋งเดินทางในเรื่องจริงของประวัติศาสตร์ใช้เวลา ๑๗ ปี )
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อเสนอว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ สำหรับพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ๑๐ ปีจึงจะเป็นเถระ มีจิตตั่งมั่น ไม่หวั่นไหวตั้งแต่ต้นก็เป็นได้ นี่เป็นสิ่งแรกเกี่ยวกับช่วงเวลาของการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเอาเกณฑ์ของสติปัฏฐานถือว่าอย่างช้า ๗ ปี ก็ถึงที่สุดได้ อันนี้หมายถึงการใช้ความเพียรอย่างต่อเนื่อง
เกี่ยวกับการเดินป่าในเรื่องมโนห์รานั้น การเดินป่าพระสุธนต้องข้ามสะพานซึ่งเป็นงูเหลือม คือไปพบงูเหลือมตัวหนึ่งเอาหัวพาดด้านโน้น หางพาดด้านนี้ นางมโนห์ราสั่งให้พระสุธนไต่ไปตามหลังงู แล้วเหยียบหัวงูไว้ แล้วกระโดดข้ามหัวงูไป พบยักษ์ให้ฆ่ายักษ์ ส่วนนี้เป็นปริศนาที่เห็นได้ชัด มิใช่เป็นนิทานบ้องตื้น
และเห็นชัดในเรื่องไซอิ๋ว เมื่อหลวงจีนยวนฉ่างซึ่งหมายถึงขันติของชีวิตกับสัตว์ ๓ ตัว คือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง เห้งเจีย อันหมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เดินทางไปถึงดงหนามอันเป็นป่ารกมีหนามขึ้น ไม่มีคนเดินซึ่งหมายความว่าทางมีอยู่แต่ไม่มีคนเดินเสียนาน คืออริยมรรคนั่นแหละ
เมื่อไม่มีคนเดินเสียนาน พอมาถึงก็ต้องวกวน ทีนี้ก็ถูกปีศาจต้นไม้หลอกลวงให้พระถังซัมจั๋งเทศน์ พระถังซัมจั๋งก็เคลิบเคลิ้มเทศน์ได้อย่างวิเศษ คืนนั้นเดือนหงายแจ่ม ซัวเจ๋ง เห้งเจีย โป๊ยก่าย พลัดจากพระถังซัมจั๋งจึงเที่ยวตะโกนเรียกกันอยู่ในป่า วนเวียนอยู่ในป่า แต่พระถังซัมจั๋งมีความสุขมากเพราะปีศาจออกมาร้องรำทำเพลงให้ฟัง
เห็นได้ชัดว่าตอนนี้มีความหมายเดียวกับดงหวายในเรื่องของพระสุธน คือทางมันเคยมีแต่ว่าดงหวายมันขึ้น จึงไปไม่ได้ทั้งๆ ที่เห็นทาง ซึ่งหมายความว่า มรรคของชีวิตมีอยู่ แต่ไปไม่ได้ นี่คือเรื่องดงหวาย
พงหนามในเรื่องไซอิ๋วนั้น พงหนามหมายถึงวิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสในวิปัสสนาซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องผ่าน คือความสำคัญผิดต่างๆ เกิดญาณทัศนะแล้วก็เมาติดอยู่ในความสุขแล้วถือตัว แล้วมีความเพียรกล้าแข็ง เอาเป็นเอาตาย ซึ่งเป็นเรื่องวิปัสสนูปกิเลส แต่ก็จำเป็นต้องผ่านมันไป
เมื่อพ้นจากดงหวายแล้วก็บรรลุถึงทางเหม็นคือทางอุจจาระ หมายถึงลาภสักการะ เสียงสรรเสริญอันเนื่องมาจากวิปัสสนูปกิเลสบางอย่าง เช่นมีปัญญาเทศน์สั่งสอนให้น่าทึ่งชวนฟัง ไม่ใช่ว่าเทศน์แล้วตัวเองไม่ปฏิบัติ วิปัสสนูปกิเลสไม่ใช่หมายถึงกิเลสธรรมดา แต่เป็นกิเลสในวิปัสสนาญาณ
ทีนี้วิธีที่จะพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส ก็ให้เฝ้าดูความที่มันเป็นอนิจจังของสิ่งที่รู้สึก เพราะประเดี๋ยวความรู้สึกนั้นมันจะเปลี่ยนไปอีกถ้าอย่างนั้น ก็ให้พยายามดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ คือ ดูความเป็นอนิจจังของกิเลสในวิปัสสนานั่นเอง ในที่สุดก็จะกลายเป็นทางของชีวิต กลับกลายเป็นมรรค และถ้าหากว่าไม่มีสิ่งนี้คือวิปัสสนูปกิเลส เราก็จะเดินด้วยดีมาตลอด และไม่เข้าไปยึดถืออะไรทั้งสิ้น
มีหลักอยู่อย่างหนึ่งว่า พระโยคาวจรผู้มีสุตะน้อย คือไม่รู้เรื่องวิปัสสนูปกิเลส รู้น้อย ก็จะยึดเอากิเลสอันหนึ่งแล้วก็เข้าใจว่าเป็นบรรลุธรรม สำหรับพระโยคาวจร ผู้มีสุตะคือรอบรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้วก็ไม่เข้าไปยึดถือ เพราะรู้ว่ายังอยู่ในอำนาจแห่งอนิจจัง สิ่งนี้แหละคือพงหนาม ดงหวาย ซึ่งเป็นปริศนาในไซอิ๋ว และสุธนชาดก
เรื่องยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้าไปเล่นเสีย ยายมายายก็ด่า ตามาตาก็ตี
หลานจึงไปหานายพรานมายิงกา นายพรานไม่มา หลานไปหาหนูมากัดสายธนูนายพรานเพื่อให้ไปยิงกา หนูไม่มา
หลานไปหาแมว หาหมา หาไม้ค้อน หาไฟ หาน้ำ หาตลิ่ง หาช้าง ช้างไม่ยอมมาพังตลิ่ง จึงต้องไปหาแมลงหวี่
แมลงหวี่ก็ตกลงว่าจะไปตอมตาช้าง ช้างจึงยอมไปพังตลิ่ง แล้วก็ยอมกันไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงปฏิจจสมุปบาท สายเกิดและสายดับ แต่เอามาทำเป็นนิทานสำหรับเด็ก
เคยอธิบายให้ผู้คงแก่เรียนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งฟัง เขาโคลงหัวไปมาด้วยความดีใจ อุทานว่า แหม! คนไทยนี้ไม่ใช่เล่น เอาเรื่องปฏิจจสมุปบาทอันเป็นเรื่องลึกซึ้งมาอธิบายในนิทานให้เด็กท่องกันเล่นตั้งแต่เล็กๆ เลย
แต่สำหรับเรื่องนี้เราจัดเป็นเรื่องวรรณกรรมไม่ได้เพราะวรรณกรรมนั้นหมายความว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เคยโฆษณาแพร่หลาย และถูกสร้างเป็นกาพย์เป็นกลอน เป็นคำประพันธ์มาแล้ว
ยังมีนิทานกลุ่มเบ็ดเตล็ด เช่น นิทานพื้นบ้าน คือเรื่องกิ้งก่ากินหางตัวเอง
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อสมัยน้ำท่วมโลก สัตว์ทั้งหลายตายหมดไม่มีอะไรเหลือ เหลืออยู่แต่กิ้งก่าตัวหนึ่ง ต่อมากิ้งก่าตัวนั้นหิว ไม่มีอาหารจะกินมันเลยกินหางตัวเอง พอรุ่งเช้าก็กินอีกนิดหนึ่ง และกินเข้าไปอย่างนี้ทุกวัน พอถึงวันสุดท้ายก็ตัดสินใจกินหัวของมันเอง นั่นแหละคือเรื่องของอนัตตา
คนผู้สังเกตนี้จะถูกปกปิดไว้ในฐานะที่เพราะมันไปสังเกตสิ่งหนึ่ง เลยไม่รู้ว่าผู้สังเกตนี้เป็นผู้สังเกตหรือเป็นผลผลิตของการสังเกต ซึ่งที่จริงแม้ผู้สังเกตนี้ก็มิใช่เรา แต่มีเราอันเป็นผู้สังเกตนี้ ก็เพราะผลผลิตแห่งการเข้าไปสังเกตสิ่งหนึ่ง มันก็ยิ่งยึดผู้สังเกตว่ามีตัวตนจริง
ฉะนั้นวิถีทางแห่งการปฏิบัติธรรมก็คือ เราจะต้องค่อยๆ แทะเข้ามาสู่เรื่องนี้ จนกระทั่งในที่สุดรู้ว่า ผู้สังเกตนั้นก็ไม่มีตัวตน การกินหัวตัวเองครั้งสุดท้ายก็คือเห็นจิตในจิต แม้สิ่งที่รับรู้อยู่นี้ก็มิใช่ตัวเรา
ถ้าถึงจุดนี้ก็เข้าถึงความเป็นเองของธรรม ซึ่งเดิมก่อนการปฏิบัติธรรมนั้นสิ่งที่ถูกสังเกตจะสร้างผู้สังเกต และพอเข้าไปยึดถือก็จะมีอุปาทานว่า “ฉัน” ว่านี้เป็นของฉัน ทีนี้เมื่อเที่ยวแสวงหาธรรม เราก็ยิ่งหาไม่พบ เพราะไปมี “ฉัน” เสียแล้ว
เรื่องกิ้งก่ากินหางตัวเอง กินเข้าไป กินเข้าไป พอวันสุดท้ายมันก็กินหัวตัวเอง และก็จะจบเรื่องเพียงแค่นั้นเพราะไม่มี “ฉัน” อีกต่อไป มีแต่ความเป็นไปเองของธรรมชาติล้วนๆ
อย่างสังข์ทองหรือสุวรรณสังข์ชาดก แรกสุดเราจะต้องทำความเข้าใจหลักอริยสัจ ๔ ก่อน อริยสัจข้อแรกว่าด้วยเรื่องของทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่พึงปรารถนา แต่ในทุกข์นั้นจะมีทองคำอยู่แห่งหนึ่ง นั่นคือสภาพอิสระจากทุกข์
คนทั่วไปมักจะเกลียดชังทุกข์และมัวรักสุข จึงไม่สามารถจะเห็นสภาพอิสระจากทุกข์ซึ่งอาจเห็นได้ในทุกข์นั่นเอง
หกธิดาซึ่งก็คืออายตนะภายในโยนพวงมาลัยคล้องหกเขยอันหมายถึงอายตนะภายอก สำหรับนางรจนาคือตาที่เจ็ด นี้จะหมายถึงธรรมจักษุ หรือดวงตาเห็นธรรม จึงสามารถจะเห็นได้ว่า ในท่ามกลางทุกข์นี้มีทองคำทั้งแท่งอยู่ นั่นคือสภาพสิ้นทุกข์ซึ่งหมายถึงเจ้าเงาะมีรูปเป็นทองอยู่ข้างใน
ฉะนั้น รจนาหรือธรรมจักษุจึงสมัครใจที่จะคล้องพวงมาลัยให้เพราะรู้ว่าข้างในเป็นทอง การเห็นทุกข์ชนิดนี้เป็นการเห็นที่จะสร้างชีวิตใหม่ให้เพื่อที่จะบรรลุถึงการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง
หลังจากที่เล่าเรื่องยาวมาแล้ว เราก็อาจจะหยิบประเด็นที่เป็นปริศนาธรรมอันเป็นประโยชน์และที่ชัดที่สุดมาสรุปไว้เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดคิดใหม่
เคยเล่าเรื่องสังข์ทองชนิดนี้ให้คนเฒ่าชราฟัง เล่าจบแล้วคนแก่ตบเข่าฉาด ดีใจใหญ่ สนุกใหญ่เพราะไม่เคยคิดแง่นี้มาก่อน นี่เป็นเพราะคนแก่มีคติเรื่องนี้อยู่ในใจมาก่อนแล้ว และรู้เรื่องสังข์ทองมาอย่างขึ้นใจแล้ว เรียกว่าเราจับเส้นถูก ถูกตามวิถีทางชาวบ้าน
เรื่อง ซิยิ่นกุ้ย นี่คล้ายกับว่าจะเป็นเรื่องฝึกจิตหรืออะไรทำนองนั้น เคยให้พระจีนช่วยตรวจสอบให้ เรื่องสงครามจีนกับเกาหลีว่ากินเวลานานกี่ปี ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้ความอะไร แต่ในซิยิ่นกุ้ยบอกว่ากินเวลา ๑๒ ปีอีก ตัวเลข ๑๒ ถูกระบุขึ้นมาอีก
ช่วงที่พระเจ้าถังไทจงแห่งราชวงศ์ถังทำสงครามกับไกโกบุ้น แม่ทัพฝ่ายเกาหลี พอรบกันซิยิ่นกุ้ยซึ่งทรงพลังคล้ายกับแซมซั่น ถูกปกปิดตัวไว้ไม่ให้แสดงออก ด้วยเหตุที่ว่ามีปุโรหิตคนหนึ่งรู้ว่าถ้าซิยิ่นกุ้ยรีบออกมา ก็จะไม่สามารถปราบปรามไกโกบุ้นได้ ก็เห็นว่าน่าจะแฝงปริศนาธรรมในตอนที่ไกโกบุ้น เป็นเต่าดำอยู่ในทะเลสาบซึ่งหมายถึงอวิชชา
ไกโกบุ้นเป็นคู่ปรับกับซิยิ่นกุ้ย ปุโรหิตรู้ว่าถ้าซิยิ่นกุ้ยออกมาปราบไกโกบุ้นได้สำเร็จก็จะต้องวางแผนระยะยาว จะให้ซิยิ่นกุ้ยไม่มีโอกาสปรากฏตัว จึงไปเป็นพลทหาร เป็นพ่อครัว พอพระเจ้าถังไทจงถามปุโรหิตว่า ตามที่พยากรณ์ว่าจะมีทหารเอกเกิดขึ้น ปุโรหิตก็บอกว่ายังไม่ถึงเวลา บางโอกาสปุโรหิตก็แกล้งไม่ให้ได้พบ
ซึ่งปุโรหิตนี้คล้ายๆ กับว่าจะเป็นผู้รู้ ตัวซิยิ่นกุ้ยต้องซุ่มก่อน หมายความว่าตัวสติปัญญาของผู้นั้นยังไม่พร้อมที่จะฆ่ากิเลส ก็ต้องซุ่มฝึกกำลังไว้ก่อน พอถึงวันที่ถึงโอกาสก็พอดีพระเจ้าถังไทจงขี่ม้าไปตกหล่ม จวนเจียนจะถูกข้าศึกฆ่า ซิยิ่นกุ้ยก็ปรากฏตัวออกมาช่วยชีวิตไว้ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็อยู่ใกล้ๆ นั่นแหละ เป็นทหารรับใช้แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นทหารเอก ทีนี้พอได้รับตำแหน่งทหารเอกก็ฆ่าไกโกบุ้นได้ ดูเหมือนจะกลายเป็นเต่าดำอะไรทำนองนี้ นั่นคือวิชชาปราบอวิชชาสำเร็จ
แต่ถ้าก่อนหน้านั้นถ้าออกมาก่อนก็จะเกิดเรื่อง จะไม่สำเร็จ เพราะตามที่ปุโรหิตทำนายไว้ว่าซิยิ่นกุ้ยจะกลายเป็นทหารเอกและปราบกบฏสำเร็จ ๑๒ ปี จึงต้องรอๆ ทั้งที่หารู้ไม่ว่าทุกครั้งเป็นฝีมือของซิยิ่นกุ้ยตลอดเวลา
เรื่องซิยิ่นกุ้ยเป็นปริศนาธรรมทั้งเรื่อง โดยเอาประวัติศาสตร์จีน-เกาหลีเป็นโครงเรื่อง เรื่องเหล่านี้อธิบายให้คนที่เคยอ่านแล้วเข้าใจได้ แต่คนที่ยังไม่เคยอ่านแล้วจะหาว่าบ้า ซิยิ่นกุ้ยเป็นผู้ที่ทรงพลัง ตอนเล็กๆ กินข้าวเป็นถังๆ อันนี้ต้องทิ้งไว้พิจารณาต่อไป
ในไซอิ๋วตอนลักฮี้เกา ลิง ๖ หู ปลอมเป็นเห้งเจียเข้าไปพบพระถังซัมจั๋งและไปตีพระถังซัมจั๋งจนสลบ ตอนนั้นเห้งเจียตัวจริงไม่อยู่ เพราะทะเลาะกับพระถัง อันเนื่องจากพระถังเห็นว่าเห้งเจียดุนัก พระถังก็เลยขับไล่ไม่ให้ร่วมทาง เห้งเจียน้อยใจจึงหนีไปอยู่กับพระโพธิสัตว์กวนอิม
ซึ่งตอนที่เห้งเจียไม่อยู่นี้ก็หมายความว่าตัวปัญญามันไม่ทำหน้าที่ คงเหลือแต่ ศีล สมาธิ แต่ขาดปัญญาที่จะนำทาง ตอนนี้จึงเกิดรวนกันใหญ่ เมื่อลิง ๖ หูปรากฏตัวออกมา มีหน้าตาเหมือนเห้งเจียก็ไม่มีใครตัดสินได้เลยว่าเป็นเห้งเจียตัวจริงหรือเปล่า
ลิง ๖ หูเข้ามากราบพระถัง พระถังก็เข้าใจว่าเป็นเห้งเจียก็โกรธ ถึงกับด่าว่าอย่ามาทำดี ลักฮี้เกาเอาตะบองทุบพระถังจนสลบ โป๊ยก่ายและซัวเจ๋งก็ตกใจ สงสัยว่าทำไมเห้งเจียถึงได้เปลี่ยนไปถึงขนาดนี้ ซัวเจ๋งโกรธจัดก็เลยชักตะบองออกมาจะฆ่าเห้งเจียให้ได้และได้เหาะตามไปถึงถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง ปรากฏว่าลักฮี้เกาเข้าไปอยู่ในถ้ำแทนเห้งเจีย เห้งเจียตัวจริงนั้นไปอยู่กับพระโพธิสัตว์กวนอิม
ลักฮี้เกาจึงเริ่มส้องสุมผู้คนเนรมิตพระถังขึ้นมา เนรมิตซัวเจ๋งและโป๊ยก่ายเพื่อที่จะไปอาราธนาพระไตรปิฎกเอง พอซัวเจ๋งตามไปพบลักฮี้เกาจึงเกิดการรบกันใหญ่ ซัวเจ๋งสู้ไม่ได้จึงเหาะไปหาพระกวนอิมรายงานว่าเห้งเจียนั้นแย่แล้ว มันกลับกลายเป็นผู้โหดร้ายและเปลี่ยนนิสัย แต่พอไปถึงก็พบว่าเห้งเจียนั่งอยู่ก็เกิดโทสะจะเข้าไปทุบตีด้วยฤทธิ์โมโห เพราะนึกว่าเป็นตัวเดียวกัน พระกวนอิมก็ห้ามไว้และเป็นพยานให้ได้ว่าเห้งเจียนั้นนั่งอยู่ที่นี่ตลอด จึงเอะใจกันใหญ่
ทั้งซัวเจ๋งและเห้งเจียจึงเหาะกลับไปยังถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง พบกับลักฮี้เกาในรูปเห้งเจียก็เกิดการสู้รบกันใหญ่ โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน
ซัวเจ๋งเองก็ไม่รู้ว่าจะช่วยตัวไหนดี จึงตะโกนบอกเห้งเจียให้รบล่อไปหาพระกวนอิม เห้งเจียทั้งสองก็เหาะรบกันไปจนถึงหน้าพระกวนอิม เห้งเจียตัวจริงก็บอกให้เจ้าแม่กวนอิมร่ายมนต์บีบขมับ ตัวไหนปวดหัวตัวนั้นคือเห้งเจียตัวจริง พระกวนอิมนึกขึ้นได้ก็ร่ายมนต์ แต่ก็ปรากฏว่าลิงทั้งสองตัวปวดหัวจึงยังไม่สามารถจะตัดสินได้
รบกันพลางต่างเหาะไปหาพญามัจจุราชเงี่ยมล่ออ๋อง แต่ก็ไม่ปรากฏชื่อใดๆ ในบัญชี เพราะเห้งเจียลบบัญชีตายเสียนานแล้ว
ในที่สุดพระโพธิสัตว์องค์ชื่อเตจงอ๋อง (แปลว่า ฟ้าดิน คือมีคำว่า ที และตี่) พระองค์มีสัตว์ตัวหนึ่งชื่อ ทีเทีย แปลว่า ผู้รู้แจ้งฟ้าดิน เมื่อเอาหูแนบพื้นดินแล้วก็จะสามารถกำหนดรู้ว่า เห้งเจียตัวไหนคือตัวจริง แต่ทีเทียนั้นกล่าวว่า “กาลเวลานี้ไม่ควรจะรู้ ถ้ารู้แล้วเรื่องจะไม่สำเร็จ”
ลักฮี้เกาในที่นี้หมายถึง ปัญญาที่เจือด้วยตัณหา คือตัณหาที่ปรารถนาจะเป็นผู้รู้ ทีนี้ถ้าเกิดจับได้เสียก่อนและเกิดไม่อยากเสียก่อน ก็เป็นอันว่าไม่มีทางที่จะได้เป็น
ฉะนั้น พระโพธิสัตว์เตจงอ๋องจึงบอกว่า “ตอนนี้ไม่ควรจะรู้ พระยูไลจะตัดสินเอง ขอให้รบล่อไปหน้าพระยูไล” พอไปถึงหน้าพระยูไล พระยูไลก็อธิบายถึงมูลวานรชนิดนี้ว่ามี ๔ ชนิด รู้ฟ้ารู้ดิน ที่จริงมันคือปัญญาชนิดหนึ่ง แต่เป็นปัญญาที่ประกอบด้วยตัณหา ส่วนเห้งเจียนั้นเป็นโพธิ
เราจะมองข้ามวรรณคดีไทยไม่ได้เลย เพราะมันเป็นมรดกอันล้ำค่าของคนไทย อย่างเรื่อง สุวรรณสังข์ชาดกกลายเป็นวิธีมองชีวิตเรียกว่าระนาบของการมองชีวิต และแสดงออกมาเป็นวรรณคดี
เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่า กุญแจมันสูญไปเมื่อไหร่ เข้าใจว่าแต่เดิมคนไทยยังคงรู้กันอยู่ เพราะเขาชอบพูดปริศนาธรรมกันเกร่อ พูดเล่นๆ ก็มี เช่นคำพังเพยปริศนาธรรม ซึ่งพูดแล้วก็หัวเราะกัน
ทางเหนือของไทยมีมาก เช่น “ฟ้าแจ้งเมื่อค่ำ” ส่วนใหญ่จะเป็นโวหารผกผันคล้ายคัมภีร์เต๋าเต๋อจิง พระแก่ๆ สมัยโบราณ พอพูดแล้วทายกต้องเอาไปคิด ซึ่งมักจะกลับกับความรู้สึกของคนธรรมดาสามัญ
ที่จริงท่านก็พูดตามธรรมดาของท่าน แต่กลายเป็นปริศนาธรรมซึ่งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบๆ กันมา
“ฟ้าแจ้งเมื่อค่ำ” นั้น หมายความว่า เมื่ออายตนะดับมันก็จะเห็นแจ้ง คือฟ้าแจ้งเมื่อค่ำ พอเวลาเย็นมืด ฟ้าก็จะสว่างขึ้นมา ซึ่งคล้ายคำของคนบ้าพูดกันนั่นแหละ สิ่งที่เรียกว่า เสียวสวาสดิ์ ของอีสานก็เช่นกันจะมีสำนวนผกผัน เช่น “หล่นน้ำดังโป๊ก หล่นลงบนบกดังตูม”
ปริศนาธรรมในพุทธประวัติก็มี เช่น ในตอนที่พระพุทธเจ้าลอยถาดของนางสุดาชาเสี่ยงบารมี ก็ถูกอธิบายเป็นเรื่องของอภินิหารไป ที่จริงมันเป็นเรื่องปริศนาธรรม
พอพระพุทธเจ้าฉันอาหารของนางสุชาดาเสร็จก็เอาถาดทองลอยน้ำ การที่ถาดลอยน้ำทวนกระแสน้ำไปต้นน้ำนั้นเป็นปริศนาว่า การปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องทวนกระแสจิต กระแสกิเลส พระพุทธเจ้าท่านแน่ใจก่อนตรัสรู้ว่าจะต้องเป็นวิธีนี้แน่
เห้งเจีย คือตัวปัญญา เมื่อไปถึงเมืองหนึ่ง พญาเล่งอ๋องก็ออกมาจากฝ่ามือ มาสร้างปัญหาให้แก่ชีวิต เมื่อมาถึงเมืองหนึ่งสามสหายเกิดนึกครึ้มอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ รำอาวุธให้ประชาชนชม ถอดตะบองยู่อี่ออกมาแล้วก็รำม้วนไปม้วนมา
เมื่อเจ้าเมืองตบมือให้เห้งเจียก็ยิ่งรำม้วนเลยทีเดียว ยุพราช ๓ องค์ ก็เลยนับถือเป็นอาจารย์ เห้งเจียก็รำอวด เดี๋ยวซัวเจ๋งก็รำอวด และเดี๋ยวโป๊ยก่ายก็รำอวด รำอาวุธอวด รำคราดอวดกัน ในที่สุดผีขโมยอาวุธไปเสียเพราะไปอวดเข้า พอขโมยอาวุธไปแล้วก็ยุ่งกันใหญ่
ผีที่ขโมยอาวุธเป็นปีศาจเล่งอ๋อง ๙ เศียร กว่าจะริบอาวุธคืนมาได้ก็ต้องรบกันใหญ่ ร้อนถึงสวรรค์ลงมาบอกว่าเหตุทั้งนี้เนื่องมาจากอุตริเที่ยวสอนเพื่อน เล่งอ๋องถึงออกมาจากฝ่ามือนั่นคือกิเลสของความเป็นอาจารย์ก็ออกลวดลายออกมาเพื่อจะสร้างปัญหาให้แก่ชีวิตช่วงนั้น จะต้องทำการปราบกิเลสอันนั้นคือ ลดมานะลง
นั่นคือมานะ ๙ เล่งอ๋อง ๙ หัว ก็คือมานะ ๙ นั่นเอง ชีวิตก็ราบเรียบ เห้งเจียก็ออกจากเมืองนั้นเดินทางต่อไปโดยสะดวก
ไซอิ๋วเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก คนแต่งแต่งไปแต่งมาก็กลายเป็นเล่งอ๋องเสียเอง เราจะต้องทราบว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีวิธีคิดใหม่ และเรากำลังเข้าไปวิเคราะห์แนวเก่า ในที่สุดเราก็จะตีความหมายเดิมของเขาคลาดเคลื่อน แล้วก็ตีเป็นอย่างอื่นไป
เช่น พอเกิดมีพญานาคขึ้นมาก็จะต้องตามด้วยการมีพิภพใต้บาดาล แล้วบางคนก็เชื่อจริงๆ เสียด้วย ในที่สุดบางคนอาจจะตาฝาดเห็นขึ้นมา เรื่องมันก็เลยซับซ้อนเพราะเป็นเรื่องของจิต เช่น บางคนนั่งๆ อยู่อาจจะเห็นพญานาคเลื้อยมา เพราะว่าจิตมันสร้างมโนภาพขึ้นมา แล้วศิลปินก็จะสร้างอะไรต่ออะไรขึ้นมา
เขียนพญานาคขึ้นมา ซึ่งที่จริงก็เอามาจากงูนั่นแหละ ในที่สุดมนุษย์ก็เลยกลายเป็นมนุษย์ของมโนภาพที่ต่างคนต่างสร้างขึ้นมา มนุษย์ก็เลยกลายเป็นผลผลิตของความคิด แล้วมนุษย์ก็ยึดถือในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง
ทีนี้ไล่มาถึงปริศนาธรรมจากสมุดข่อยโบราณที่จะเขียนภาพที่โรงเรียนปริยัติธรรม ณ วัดชลประทานฯ
ตอนหนึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับรากษสขึ้นมาจากสระ มาโล้ชิงช้าที่ใต้ต้นไม้ที่เป็นหัวอสรพิษทั้ง ๕ ซึ่งหมายถึงกามคุณ ๕ มาตอนใกล้จะจบคือตอนที่บรรลุมรรคผลนั้น สระเดิมนั้นเองนางสาวน้อยคนเดิมนั่นแหละ จะผุดขึ้นมาใหม่ แต่ทีนี้จะไม่เป็นรากษส
ตอนแรกบัวมันปิด แต่พอถึงวันนั้นบัวมันเปิด สาวน้อยคนนั้นก็ขึ้นมาจากสระ นางไม่เคยขึ้นจากสระ จอมปลวกที่ข้างริมสระนั้นตอนแรกมันไม่มีปล่อง ต่อมาก็แตกเป็น ๙ ปล่อง แล้วเหี้ย ตะกวด ลิ่นก็ออกไข่ ๓ ฟอง
นางสาวน้อยที่ขึ้นมาจากสระก็หยิบเอาไข่นั้นไปถวายพระยาธรรมจักรซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็เกิดพลังที่จะฆ่ากิเลสให้สิ้นซาก
ดูปริศนาธรรมนี้ให้ดีเถิดไม่ใช่เล่น ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก ๙ รูคือ ช่องจมูก ๒ ช่องตา ๒ ช่อง หู ๒ ช่องปาก ๑ ช่องอุจจาระ ๑ ช่องปัสสาวะ ๑
ปริศนาชุดนี้ไม่ใช่เล่น แต่มันยาวจนกระทั่งสานกันไม่ค่อยถูก เมื่อปีติที่เกิดจากเห็นธรรมนั้น สัตว์ ๓ ตัว ที่มันออกมาจากโพรง คือ ลิ่น เหี้ย ตะกวด ซึ่งเป็นสัตว์ที่น่าเกลียดทั้งนั้น ไข่ออกมาแล้วก็เอาไปให้พระยาธรรมจักรกิน แล้วเกิดกำลังที่จะฆ่ากิเลส
ทำไมต้องเอา ลิ่น ตะกวด เหี้ย ด้วยซึ่งมันน่าเกลียด แต่ไข่ออกมากินแล้วทรงพลัง เป็นปริศนาธรรมมาทำเป็นอุปมาในตอนนี้ ที่จริงเขาจะเอาอย่างอื่นก็ได้ เช่น นก ต้องนึกดูอีกก็คงไม่พ้นเรื่องสุญตาแน่
พอเห็นสิ่งนั้นก็คือเห็นเรื่องสุญตา ไข่ ๓ ใบออกมา คือสมาธิ ๓ นั่นคือชีวิตเริ่มมีสมาธิชนิดที่เป็นไปเองเรียกว่า สุญตสมาธิ, อัปปนิหิตสมาธิ และอนิมิตสมาธิ แล้วแต่กรณี ที่เปรียบด้วยตะกวด ลิ่น เหี้ย นั้นก็เพราะเป็นสัตว์เลื้อยคลานก็น่าจะเป็นเพราะว่าสมาธิทั้ง ๓ เป็นเรื่องที่เป็นไปเองเรื่อยเจื้อยมา เพียงน้อมใจไปในสมาธิอันหนึ่งอันใดก็เกิดได้ พอกินไข่เข้าแล้วก็ทรงพลัง
เรื่องเหล่านี้ต้องขบคิดเพราะเราห่างเหินจากวิถีทางแบบชาวบ้านกันมานาน คงจะยากในการที่จะให้คนเขายอมรับ เรื่องเหล่านี้ชาวบ้านจะสามารถเข้าใจได้ดีกว่านักศึกษา เคยเอาไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง บางคนน้ำตาไหล เขารู้สึกชื่นใจและสนุกสนาน คือเขาเคยชินกับวิธีนั้นมาก่อน คนแก่เขาเคยชินกับแนวทางนี้มาก่อน พูดกันบ่อยแล้วก็ร้างมาอยู่กับวิธีใหม่ตามแบบฉบับของนักวิชาการจัดไป
ทีนี้พูดถึงเรื่องปริศนาธรรม คนโบราณชอบเรื่องเหล่านี้มาก เช่น “ทางใหญ่อย่าพึงจร” ในท้องไร่ท้องนาพูดกันมากและเข้าใจด้วยว่าหมายถึงอะไร
ทางสายใหญ่ก็คือทางที่คนสามัญเดินกันอยู่ คือ ทางของกิเลส เพราะเดินกันใหญ่จนทางลื่น กลายเป็นทางสะดวก อย่าไปทางนั้น ให้เลือกทางที่มันคับแคบที่คนอื่นเขาไม่ทำ
“ทางใหญ่อย่าพึงจร เด็กอ่อนอย่าอุ้มรัด” พูดเป็นคำเล่นตามท้องไร่ท้องนา ความหมายก็ลึกซึ้งในทางธรรม จนเราอาจกล่าวได้ว่า บรรพบุรุษของเราเคยรุ่งเรืองในด้านมโนธรรมมานาน ลูกหลานเพิ่งมาลืมเลือนกันหมดในทุกวันนี้ เห็นแก่วัตถุมากกว่าด้านมโนธรรม และนับวันจะทวีขึ้นทุกที
ภาค “ธรรมเสวนา” วันอาทิตย์ ปรารภในโอกาสนักศึกษากลุ่มหนึ่งประสงค์จัดนิทรรศการ ปรึกษากันที่วัดชลประทานฯ ปากเกร็ด นนทบุรี ๑๒ ม.ค.๒๕๑๘
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย