2 ม.ค. 2021 เวลา 02:21 • ปรัชญา
๒๐. เค้าขวัญวรรณกรรม : สีหนาทชาดก
ในสมัยสุญกัป พระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติในพรหมวดีนคร ยังมีเศรษฐีผู้หนึ่งตกยาก จนข้าทาสบริวารหลบหนีไปหมด ต่อมาภรรยาเศรษฐีผู้ตกยากได้ฝันว่ามีบุรุษหนึ่งได้นำถาดทองคำเต็มเปี่ยมด้วยอาหารมาให้ แล้วนางก็ตั้งครรภ์ คลอดออกมาเป็นธิดา ได้ตั้งชื่อว่า “สุญญภาคี”
ครั้นอายุของสุญญภาคีได้สิบปีย่างเข้าสิบเอ็ด นางมีรูปโฉมงดงามยิ่ง แต่ว่าวาจานั้นหยาบคายจนบุรุษไหนเห็นแล้วก็เสียวสยดสยอง (ต่างกลัวต่อความว่างจากตัวตน)
ต่อมา ทั้งบิดาและมารดาได้ทำกาลกิริยาลง นางสุญญภาคีเป็นผู้อนาถา ครั้นอายุครบยี่สิบปี จึงได้ไปอาศัยอยู่กับนาคามโภชกะ (ผู้บริโภคเมือง) ซึ่งเป็นคนใจร้าย ดุด่าว่าตีนางเสมอ นางจึงคิดจะหาที่สำหรับทำกินเอง จึงได้เข้าไปขอยืมที่นานายคามโภชกะ ฝ่ายนายคามโภชกะนั้นคิดจะขับไล่นางสุญญภาคีออกจากบ้านตนอยู่แล้วเพราะความที่นางเป็นคนปากร้าย จึงให้ยืมที่นาชายป่า อันเป็นที่สัญจรไปมาของวัวและควาย
สุญญภาคี ได้ปลูกกระท่อมอยู่กลางนา เที่ยวขอพันธุ์ข้าวจากชาวบ้านชนิดให้ผลตลอดปี ชนิดให้ผลกลางปี และชนิดให้ผลปลายปีมาได้ แล้วนางก็ไถหว่าน
กล่าวถึงพวกยักษ์และปีศาจ มีหลายประเภทที่บำรุงท้าวเวสวัณเพื่อขอพรวิเศษ พวกหนึ่งได้เป็นเจ้าของป่าซึ่งสัตว์และมนุษย์หลงเข้าก็ต้องตกเป็นอาหาร
พวกหนึ่งได้สุ่มเหล็กสามารถครอบงำสัตว์ให้ตายเพื่อใช้เป็นอาหาร
พวกหนึ่งได้ไม้เท้าวิเศษสามารถชี้ด้วยปลายข้างหนึ่งให้ตายและให้เป็นด้วยปลายอีกข้างหนึ่ง
พวกหนึ่งได้พรวิเศษให้มีฤทธิ์เหาะได้ในอากาศและกระทบกายมนุษย์ใดแล้วผู้นั้นจะตกเป็นอาหาร
พวกหนึ่งได้พรให้กายใหญ่โตอาจวิ่งไล่จับมนุษย์ได้ว่องไว
ครั้นปีศาจและยักษ์เหล่านี้ได้พรวิเศษแล้วก็ออกรังควานมนุษย์ในชมพูทวีปให้พินาศด้วยภัยต่างๆ ท้าวเวสวัณเกิดเมตตาแก่สัตว์โลก จึงเชิญพระโพธิสัตว์ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางสุญญภาคี
ท้าวเธอสั่งให้วลาหกเทพบุตรผู้เป็นบิดาของพระโพธิสัตว์บนชั้นปรนิมมิตสุวดีลงไปเป็นช้างป่า เข้าไปเหยียบย่ำที่นาของนางสุญญภาคีเพื่อทิ้งรอยเท้าเป็นแนวทางสู่นครทั้ง ๕ คือ สังกัสนคร, สหัสสนคร, เชฏฐปูรนคร, รัมมปูรนคร และพาราณสีนคร
ครั้นรุ่งเช้านางสุญญภาคี ได้เห็นที่นาของตัวถูกช้างเหยียบย่ำพิจารณารอยเท้าแล้วก็โกรธได้ออกติดตามรอยเท้าช้างไป หมายใจจะฆ่าช้างนั้น ก็หาได้พบตัวช้างไม่ นางมีความเหนื่อยอ่อนและกระหายน้ำจึงได้ก้มลงดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง พระโพธิสัตว์จึงได้โอกาสเข้าสู่ครรภ์ของนางสุญญภาคีในขณะดื่มน้ำในรอยเท้าช้างนั่นเอง
คืนนั้นนางสุญญภาคีก็ฝันว่ามีลมพัดมาสี่ทิศ พัดหอบเอานางไปวางไว้บนภูเขาที่เต็มไปด้วยรุกขชาติ รุ่งเช้านางได้ไปหาโหร โหรทำนายว่านางจะได้บุตรมีบุญญาธิการเป็นเลิศ จะเป็นผู้ครอบครองสกลทวีปทั้งๆ ที่นางมิได้มีสามี
ต่อมานางได้ตั้งครรภ์โดยมิได้มีสามี อันเป็นเหตุให้นายคามโภชกะโกรธแค้น สอบถามความแล้วมิได้เชื่อ หาว่านางโกหกจึงไล่ออกจากบ้าน สุญญภาคีได้ด่าตอบแล้วเก็บข้าวของไปหาที่ใหม่ ในขณะนั้นเองข้าวกล้าของนางสุญญภาคีที่ทำไว้นั้น ก็ให้สำเร็จบริบูรณ์เป็นปรกติดี ชาวบ้านต่างอัศจรรย์ใจยิ่งนัก
ครั้นครบสิบเดือนนับแต่ตั้งครรภ์ นางก็คลอดบุตรให้ชื่อว่า “หัตถิบุตร” ตามเหตุที่ได้ดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง
วันหนึ่งแม่และลูกได้เข้าป่าเพื่อแสวงหาผลหมากรากไม้เป็นอาหาร หัตถิบุตรได้ชี้ให้มารดาดูเถามันและแนะให้ขุด และต่างก็ช่วยกันขุดอยู่ ในขณะที่หัตถิบุตรกำลังอยู่ในบ่อและมารดาอยู่ปากบ่อนั้น ยักษ์ผู้ได้พรวิเศษจากท้าวเวสวัณได้เนรมิตกายให้ใหญ่ขึ้น หวังจะจับคนทั้งสองกินเป็นอาหาร
สุญญภาคีร้องเรียกลูกให้ขึ้นจากบ่อด้วยกลัวยักษ์เป็นกำลัง ฝ่ายหัตถิบุตรได้ปลอบใจแม่ แล้วขึ้นมาเห็นยักษ์ จึงร้องตวาดด้วยเสียงอันดัง ยักษ์ได้ยินเสียงพระโพธิสัตว์ก็สะดุ้งยืนนิ่งตรึงอยู่ตรงนั้น โพธิสัตว์กระโจนขึ้นเหยียบบนบ่าขู่จะทุบศีรษะยักษ์ให้แตก มันได้เกรงกลัวอำนาจของโพธิสัตว์ ร้องขอขมาที่ไม่รู้จักนางสุญญภาคีว่าเป็นมารดาของโพธิสัตว์ โพธิสัตว์ให้ชีวิตยักษ์ทั้งสั่งไม่ให้รังควานมนุษย์ ยักษ์รับคำแล้วลากลับไปที่อยู่ของตน
นางสุญญภาคีได้เห็นฤทธิ์ของบุตรเพียงสักว่าแผดสีหนาทตวาดยักษ์ ยักษ์ก็กลัวแล้ว จึงได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “สีหนาทกุมาร”
ต่อมา พระโพธิสัตว์กุมารอายุได้ ๑๕ ปี วันหนึ่งได้ถามมารดาถึงผู้เป็นบิดาแห่งตน ครั้นทราบว่ามารดาตั้งครรภ์จากการดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง “ก็ยึดถือมั่นในสันดานแห่งตนว่าช้างนั้นเป็นบิดาจริง” ได้ขอให้มารดาพาไปชี้รอยเท้าช้าง เมื่อ ๑๕ ปีก่อนโน้น ครั้นเห็นร่องรอยเท้าแล้วก็ปีติยินดียิ่งนัก อ้อนวอนมารดาจะออกติดตามหาบิดาให้พบ ฝ่ายมารดาก็ทนอ้อนวอนไม่ได้ จึงจำอนุญาต
พระโพธิสัตว์ สีหนาทกุมาร พามารดาไปฝากไว้ในราชสำนักของราชาพรหมทัตแล้วกราบลาออกไปติดตามหาบิดาตามรอยเท้าช้าง นางสุญญภาคีถูกอำมาตย์และประชาชนเกี้ยวพาราสีเพื่อได้ไว้เป็นบริจาริกา เพราะความงามของนาง แต่นางหายินดีด้วยผู้ใดไม่ เพราะใจนางระลึกถึงแต่บุตรผู้เดียว
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ออกติดตามรอยเท้าช้าง จนลุถึงเมืองสังกัสนคร ได้พบกับบุตรของอำมาตย์ของเมืองนั้นผู้มีนามว่า “พลังกะกุมาร” ในขณะที่พลังกะกุมารกำลังถอนกอไผ่ และต้นไม้ไปปลูกล้อมกำแพงเมืองตามคำสั่งของพระราชา ต่างได้ท้าพนันลองกำลังกัน หากใครพ่ายแพ้จะต้องยอมเป็นทาส
โพธิสัตว์ถูกพลังกะกุมารทุ่มจมลงไปในดินถึงแข้ง แต่พลังกะกุมารถูกพระโพธิสัตว์ทุ่มจมลงถึงเข่าจึงได้พ่ายแพ้โพธิสัตว์ได้ตั้งไว้ในฐานะพี่ด้วยตนอายุน้อยกว่า พลังกะกุมารจึงได้ติดตามสีหนาทกุมารไป
สองพี่น้องตามรอยเท้าช้างบุกป่าฝ่าดงถึงเมืองสหัสสบุรี ได้พบบุตรของอำมาตย์ผู้หนึ่งทรงพลังมาก กำลังขนหินก้อนเท่าตุ่มน้ำจากภูเขามาทำเป็นกำแพงตามคำสั่งพระราชา กุมารนั้นมีชื่อว่า “เตชกุมาร” พระโพธิสัตว์ได้ท้าทายประลองกำลังกับเตชกุมาร ทรงได้ชัยชนะโดยการทุ่มเตชกุมารจมลงในดินถึงโคนขา เตชกุมารได้ยอมตนเป็นทาสอออกติดตามพระโพธิสัตว์ไป
สีหนาทกุมารได้ตั้งเตชกุมารไว้ในฐานะพี่เช่นเดียวกับพลังกะกุมาร ทั้งสามออกเดินทางติดตามรอยเท้าช้างมุ่งสู่ป่าใหญ่
สามพี่น้องบรรลุถึงเขตของยักษ์ร้ายตนหนึ่ง ผู้ได้พรและอาวุธวิเศษจากท้าวเวสวัณคือ สุ่มเหล็กที่ครอบสัตว์เข้าแล้วจะต้องถึงแก่ความตาย ส่วนไม้เท้าวิเศษนั้นชี้ทางต้นนั้นทำให้ตาย ชี้ปลายทำให้ฟื้นจากความตาย
ในเขตของยักษ์นี้ทั้งสามกุมารได้ขุดลงไปในภูเขาจิ้งหรีดยักษ์ ทั้งพลังกะกุมารและเตชกุมารต่างผลัดกันจับจิ้งหรีดดึงออกจากรู เพื่อเอามาปิ้งไฟกินเป็นอาหาร ต่างก็ถูกจิ้งหรีดยักษ์ดีดด้วยขากระเด็นไปไกล (ร้อยวาและร้อยยี่สิบวาตามลำดับ)
พระโพธิสัตว์เข้าไปจับถูกดีดจึงได้ดึงขาของจิ้งหรีดขาด พลังกะกุมารกับเตชกุมารเห็นแสงไฟในศาลาของยักษ์ได้เข้าไปหวังจะปิ้งจิ้งหรีดยักษ์เป็นอาหาร โดยมิได้บอกให้สีหนาทกุมารรู้ ด้วยหยิ่งว่ามีฤทธิ์จึงถูกยักษ์ครอบด้วยสุ่มเหล็กและชี้ด้วยโคนไม้เท้าวิเศษ สองกุมารหาตายไม่ เพียงแต่สลบไปทั้งนี้ด้วยบารมีของสีหนาทกุมารคุ้มครองไว้
พระโพธิสัตว์ตามไปพบกับยักษ์ในถ้ำ สู้รบกันยักษ์ก็พ่ายแพ้ สุ่มเหล็กถูกกำปั้นของโพธิสัตว์แตกกระจาย ยักษ์ร้องขอชีวิตและมอบไม้เท้าวิเศษ ให้พระโพธิสัตว์เอาปลายไม้เท้าชี้ที่กุมาร ทั้งสองฟื้นขึ้น ยักษ์ได้ขอร้องให้พระโพธิสัตว์ช่วยให้พ้นจากความเป็นยักษ์ พระโพธิสัตว์ให้ชำระกายสมาทานศีล แล้วยักษ์ก็ตาย
เตชกุมารจึงใช้ไม้เท้าชี้ทางโคนส่งยักษ์ขึ้นสวรรค์ แล้วผ่าท้องยักษ์ตามที่ยักษ์บอกไว้ก็พบกระดูกที่มนุษย์และสัตว์มากมายที่ยักษ์เคยกินและได้ฟื้นชีวิตขึ้นด้วยอานุภาพของการชี้ด้วยปลายไม้เท้าวิเศษ
สามกุมารเผาจิ้งหรีดยักษ์กินแล้ว พลังกะกุมารและเตชกุมารจึงได้ซาบซึ่งในอิทธิฤทธิ์ของสีหนาทโพธิสัตว์ หมดความหยิ่งยโสวางใจในโพธิสัตว์ตั้งแต่นั้นมา
สามพี่น้องออกเดินทางติดตามรอยเท้าช้าง จนบรรลุเชฏฐปูรนคร ซึ่งยักษ์ตนหนึ่งได้ฆ่าฝูงมนุษย์กินเป็นอาหารเสียมากนัก ที่เหลือก็ต่างหนีไปแต่ละทิศ ชายคนหนึ่งหนีเข้าไปอยู่ในกลองใหญ่ ครั้นเห็นสามพี่น้องเข้ามาจึงได้ออกมาเล่าความให้ฟัง
พลังกะกุมารได้ตีกลองขึ้น ฝ่ายพญายักษ์กายสูงเท่าสี่ชั่วลำตาลได้ยินเสียงสัญญาณก็ผลุนผลันวิ่งมาโดยเร็ว พลังกะกุมารได้รับมอบไม้เท้าวิเศษจากโพธิสัตว์จึงได้ชี้พญายักษ์ล้มลงขาดใจตาย
ฝ่ายพระราชาที่หลบซ่อนพระองค์อยู่ทราบข่าวการตายของพญายักษ์ จึงได้ออกมาพร้อมทั้งมหาชนต่างกราบทูลถวายราชสมบัติให้สีหนาทโพธิสัตว์ พระองค์ได้อภิเษกพลังกะกุมารขึ้นครองเชฏฐปูรนคร แล้วก็มุ่งหน้าตามรอยเท้าช้างไปสองคนกับเตชกุมาร
สองพี่น้องบรรลุถึงรัมมปูรนคร ที่เป็นเมืองร้างด้วยภัยจากพญายักษ์ (เหตุการณ์เหมือนในเชฏฐปูรนครทุกประการ) เตชกุมารได้ใช้ไม้เท้าวิเศษของโพธิสัตว์ฆ่ายักษ์ตาย แล้วได้อภิเษกขึ้นเป็นพระราชาครองรัมมปูรนคร ฝ่ายสีหนาทโพธิสัตว์ก็ลาจากไปมุ่งตามรอยเท้าช้างแต่ลำพัง
สีหนาทกุมารบรรลุถึงพาราณสีนคร พักในเรือนของหญิงเฒ่า แม่เฒ่าเล่าเรื่องยักษ์ผู้ได้พรวิเศษจากท้าวเวสวัณ เป็นเจ้าป่าสิงอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ ได้จับพระราชาแห่งพาราณสีได้เมื่อสมัยที่พระราชาเสด็จประพาสป่าล่าเนื้อ พระองค์สั่งให้ทหารล้อมเนื้อไว้คาดโทษว่าเนื้อหลุดรอดไปทางผู้ใดผู้นั้นต้องโทษหนัก เนื้อกลับรอดไปทางพระราชา ทรงออกติดตามจนพลัดจากกลุ่มทหารและถูกยักษ์จับได้ในที่สุด
พระราชาทรงไถ่ชีวิตพระองค์โดยสร้างศาลา แล้วสั่งนักโทษมาเป็นอาหารแก่ยักษ์เป็นประจำจนหมดเรือนจำ จึงส่งเนื้อคนตายแล้วภายใน ๑๕ ปีไปในที่สุดอำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลให้พระราชาเสียสละชีวิตให้ยักษ์เพื่อขจัดทุกข์แก่ปวงชน ฝ่ายสุวรรณพิมพาพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงพาราณสีอาสาจะตายแทนพระราชบิดาด้วยกตัญญู
สีหนาทโพธิสัตว์ฟังเรื่องจากยายเฒ่าแล้ว จึงได้เข้าไปหาพระราชธิดาสุวรรณพิมพาที่ศาลา ขณะที่นางกำลังนอนรอพญายักษ์อยู่ ตกดึกคืนนั้นเองยักษ์ก็มา ฝ่ายพระโพธิสัตว์จำยักษ์ตนนั้นได้ เพราะเคยขึ้นเหยียบบ่า ให้ชีวิตมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยขุดเถามันอยู่กับมารดา จึงร้องตวาดคาดโทษที่ไม่รักษาสัญญาในการไม่เบียดเบียนชีวิต ยักษ์ได้สำนึกแล้วขอสมาทานศีล ฟังธรรมจากพระโพธิสัตว์แล้วขอร้องไห้ฆ่าตนเพื่อจะได้ไปสวรรค์
นางสุวรรณพิมพาราชธิดานั่งฟังธรรมที่โพธิสัตว์แสดงแก่ยักษ์ก็ผูกสมัครใคร่จะได้สีหนาทกุมารเป็นสามี พระโพธิสัตว์ทรงเจียมตัวเพราะเป็นคนต่ำต้อย จึงฉีกชายผ้าห่มให้แก่พระราชธิดาเป็นที่ระลึกครั้นเวลาใกล้สางได้อำลาจากสุวรรณพิมพาไปยังบ้านแม่เฒ่า
ฝ่ายพระราชาได้เสด็จมาเพื่อรับศพของพระราชธิดา ครั้นได้เห็นยังมีชีวิต เห็นซากศพของยักษ์และทราบความทั้งหมดแล้วก็ปีติโสมนัสยิ่ง ให้เสนาอำมาตย์ออกค้นหาชายหนุ่มผ้าห่มขาด มีผู้อ้างตัวหวังเป็นคู่ครองโดยแสร้งฉีกผ้าห่ม แต่พระราชธิดาสุวรรณพิมพายังทรงจำโพธิสัตว์พระองค์แท้ได้
พระราชาทรงออกติดตามไปจนพบสีหนาทกุมารที่บ้านของยายเฒ่า ทรงรับเข้าสู่พระราชวังหลวง จัดการเปลี่ยนเครื่องทรง แล้วอภิเษกขึ้นเป็นพระราชาครองกรุงพาราณสี มีสุวรรณพิมพาเป็นอัครมเหสี
ฝ่ายท้าวเตชราช (เตชกุมาร) รำลึกถึงโพธิสัตว์ขึ้นมาจึงเสด็จออกจากเชฏฐปูรนครสู่รัมมปูรนครของท้าวพลังกราช (พลังกะกุมาร) สมทบกันแล้วยกทัพไปยังพาราณสี หวังจะทูลขอพระราชธิดาสุวรรณพิมพาให้แก่สีหนาทกุมารโพธิสัตว์ ด้วยหารู้ไม่ว่าสีหนาทกุมารได้นางสุวรรณพิมพาเป็นชายาแล้ว ทั้งยังเป็นพระราชาแห่งพาราณสีด้วย ครั้นไปถึงทราบความต่างก็ยินดีและได้ยกทัพกลับรักษานครทั้งสองตามเดิม
กล่าวถึงท้าวพรหมทัตราชาแห่งพรหมวดีนคร ปรึกษากับนางสุญญภาคีที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้แก่สีหนาทกุมาร เพราะพระองค์ไร้รัชทายาท เสด็จยกทัพมายังพาราณสีเพื่อสู่ขอนางสุวรรณพิมพาให้เป็นชายาของสีหนาทกุมาร เช่นเดียวกับท้าวพลังกราชและท้าวเตชราช
ครั้นได้พบกับพระโพธิสัตว์ที่พาราณสีแล้วก็ชื่นชมยินดี มอบพระนางสุญญภาคีให้แก่โพธิสัตว์แล้วทูลถวายพรหมวดีนครไว้เป็นเมืองขึ้นของพาราณสี แล้วทรงยกพยุหเสนากลับ
พระโพธิสัตว์ดำรงราชสมบัติอยู่ในพาราณสีนคร ท้าวพลังกราชแห่งเมืองเชฏฐปูรนคร และท้าวเตชราชแห่งเมืองรัมมปูรนครต่างไปมาหาสู่สีหนาทโพธิสัตว์ ส่งบรรณาการมิได้ขาด ชมพูทวีปก็เป็นสุขสงบปราศจากการเบียดเบียนของหมู่ปีศาจ, มาร, ยักษ์ เพราะต่างรับฟังโอวาทของโพธิสัตว์ถ้วนหน้า
-สรุปการมองเค้าโครงทางจิตวิญญาณ
นางสุญญภาคี (สุญญ-ว่าง, ภาคี-ส่วน) คือความคิดคำนึงเกี่ยวกับความว่างจากตัวตน อันไม่ใช่ความประจักษ์แจ้ง แต่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม ที่อุปมาว่านางสุญญภาคีมีรูปโฉมงามยิ่งแต่ปากร้ายเป็นที่เสียวสยองของคนทั่วไปนั้น หมายถึงคนทั่วไปหวาดกลัวต่อความสิ้นไปแห่งตัวตน กลัวจะว่างจากตัวตน เพียงได้ยินว่าว่างจากตัวตนก็เสียวสยอง
นายคามโภชกะ นักบริโภคเมือง หมายถึง กิเลสในกามคุณ๕ (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย) ความรู้ความเข้าใจเรื่องความว่างจากตัวตนนั้นยังไม่พ้นอำนาจของกามคุณ ยังอิงกามคุณ ๕ อยู่ จึงอุปมาว่า นางสุญญภาคีอาศัยอยู่กับนายคามโภชกะและถูกตบตีดุด่าอยู่เสมอ หมายถึง กิเลสในกามคุณ ๕ ตบตีบีบคั้นจนความรู้เรื่องสุญญตาลำบากคิดหาที่ทำกินของตัว คิดอิสระจากภัยคุกคาม (กามคุณ ๕)
สุญญภาคีเที่ยวขอยืมพันธุ์ข้าว ๓ ชนิด ให้ผลต่างกัน ๓ เวลา มาไถหว่านเอง หมายถึง ความพยายามหนีภัยในกามคุณ ๕ โดยหันมาอิง ปัญญา-สมาธิ-ศีล ซึ่งเปรียบด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ผลตลอดปี (ปัญญา) ให้ผลกลางปี (สมาธิ) ให้ผลต้นปี (ศีล) แต่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ยืมมาจากคนอื่น นั้นหมายถึงการปฏิบัติในไตรสิกขาตามที่เรียนรู้มา (ปริยัติ) หรือทำตามแบบแผนที่ผู้รู้แนะนำไว้
ยักษ์ทั้ง ๕ และปีศาจที่ได้พรจากท้าวเวสวัณ นั้นหมายถึงมาร ๕ คือ กิเลสมาร, เทวบุตรมาร, ขันธมาร, มัจจุมาร และอภิสังขารมาร (กรรม-วิบาก) ตามนัยยะแห่งอรรถกถาจารย์
อำนาจอันน่าพิศวงของมารทั้ง ๕ มีนัยว่าทำให้หลงใหล (เปรียบหลงเข้าไปในป่า) ครอบงำ (ดุจสุ่มเหล็ก)
บงการ (ดุจไม้เท้าชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น) เกิดได้ง่ายราวกับเหาะมาในอากาศ ไล่จับว่องไว รวมความว่าสัตว์และมนุษย์ตกเป็นเหยื่อของมารสิ้น ปีศาจนั้นอาจหมายถึงอาการหลอกลวงมายาต่างๆ
พระโพธิสัตว์ คือ โพธิปัญญา เกิดแต่บิดา คือรอยเท้าช้าง
ช้าง เป็นสัญลักษณ์แทนพุทธะ รอยเท้าช้าง หมายถึงอริยสัจธรรม (ดังที่พุทธวัจนะว่าธรรมทั้งหลายอาจประมวลสรุปลงในอริยสัจ เช่นเดียวกับรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายอาจสวมลงในรอยเท้าช้าง)
โพธิปัญญาเกิดแต่ความเข้าใจเรื่องอริยสัจธรรม อิงบนรากฐานของความว่าง (พ่อคือ อริยสัจ แม่คือ ความว่าง)
รอยเท้าช้างเป็นแนวทางสู่นครทั้ง ๕ หมายถึง ความสมบูรณ์แห่งศีล , สมาธิ, ปัญญา วิมุตติ, วิมุตติญาณทัศนะ
นางสุญญภาคีหมายใจจะฆ่าช้าง เพราะมาเหยียบย่ำที่นาของตน นั้นหมายถึงความรู้ความเข้าใจความว่า ในระดับยังยึดติดต่ออัตตาและหวังจะพัฒนาอัตตาด้วยศีล สมาธิ ปัญญานั้น เมื่อมีประสบการณ์แห่งอริยสัจ อันเป็นเหตุให้สภาพรู้ในตน (โพธิ) ถือกำเนิด (อุปมาด้วยนางสุญญภาคีตามช้างจนเหนื่อย ก้มลงดื่มน้ำจากรอยเท้าช้าง แล้วตั้งครรภ์พระโพธิสัตว์) โดยไม่รู้ตัว และอย่างเป็นไปเองที่ประสบการณ์ซึมซาบในอริยสัจ ค่อยๆ ให้กำเนิดสภาพรู้ ซึ่งอันที่จริงก็แฝงเร้นอยู่แต่ต้นแล้ว
นางสุญญภาคีตั้งครรภ์โดยไม่มีสามี ย่อมหมายถึง โพธิปัญญานั้นเกิดในตนเองหรือเกิดเอง
นายโภชกะไล่ออกจากบ้าน หมายถึง อิสระจากการยึดติดในกามคุณ ๕ หลังจากโพธิปัญญาถือกำเนิด เมื่อรู้ตื่นขึ้นในตนก็ละการยึดกามคุณได้เป็นลำดับแรก ซึ่งอุปมาด้วย ข้าวกล้าของนางสุญญภาคีที่ทำไว้ สำเร็จบริบูรณ์เป็นปรกติดี
การอยู่เหนือความยึดติดกามคุณ ๕ เพราะความตระหนักรู้ในตนนั้นเป็นการยกระดับชีวิตเข้าสู่สภาพปรกติลำดับแรก อย่างเป็นไปเองจากสภาพอิสระจากกามคุณ ชีวิตเริ่มสถาปนาพละกำลัง ข่มกิเลสมารได้ดังอุปมาโพธิสัตว์เหยียบบ่ายักษ์ร้องตวาด ขู่จะทุบศีรษะ
พระโพธิสัตว์ฝากมารดา ไว้กับราชาพรหมทัตเพื่อออกติดตามบิดาตามรอยเท้าช้าง นางสุญญภาคีถูกอำมาตย์เกี้ยวพาราสีเพื่อได้นางเป็นบริจาริกา นางไม่ยินดีเพราะใจผูกพันอยู่กับโพธิสัตว์ หมายถึงโพธิปัญญาละความจำหมายเรื่องสุญตาเพื่อความก้าวหน้าในอริยสัจ คงทิ้งให้ความรู้เรื่องสุญตาเป็นที่ยินดีของคนช่างคิดตีความเล่นเอาเถิดอยู่กับถ้อยคำและความหมาย แต่ปราศจากการปฏิบัติปราศจากประสบการณ์ในอริยสัจ นางสุญญภาคีจึงไม่เคยยินดีเพียงถ้อยคำเกี้ยวเลี้ยว
โพธิสัตว์ลุถึงสังกัสนคร พบพลังกะกุมาร ลองกำลังกัน โพธิสัตว์ชนะได้พลังกะกุมารมาเป็นทาส หมายถึง โพธิปัญญาได้ศีลที่เป็นไปในมรรคแห่งอริยสัจ
โพธิสัตว์ลุถึงสหัสสนคร ได้เตชกุมาร หมายถึง โพธิปัญญาได้สมาธิ ที่เป็นไปในมรรคแห่งอริยสัจ
สามพี่น้องลุถึงเขตยักษ์ที่มีสุ่มเหล็กเป็นอาวุธ และอีกตนหนึ่งมีไม้เท้าวิเศษชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น พลังกะกุมารกับเตชกุมารถูกจิ้งหรีดยักษ์ดีด พระโพธิสัตว์ตัดขาจิ้งหรีดขาด พลังกะกุมารกับเตชกุมารปิ้งขาจิ้งหรีด แล้วถูกยักษ์ครอบด้วยสุ่มเหล็ก ทั้งถูกชี้ด้วยไม้เท้าวิเศษจนสลบ หมายถึง สถานการณ์ของชีวิตที่มีปัญญา-ศีล-สมาธิ ครบบริบูรณ์ และทั้งเป็นการก้าวเข้าสู่การละกิเลสขั้นละเอียดยิ่งขึ้น
จิ้งหรีดยักษ์ อาจหมายถึง วิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น ทำให้การเจริญวิปัสสนาหยุดยั้งอยู่ แต่โพธิปัญญาได้เข้าแก้ไขสถานการณ์ผ่านอุปสรรคไปจนมีสภาวะทางใจที่เปิดโล่ง ศีล สมาธิ ฟื้นคืนและเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้น
สุ่มเหล็กหมายถึงสภาพถูกกักขังไม่ก้าวหน้าไป ไม้เท้าวิเศษนั้นเป็นญาณ ความรู้แจ้งต่อกฎแห่งอิทัปปัจจยตา “เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” เปรียบด้วยไม้เท้าชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น หรือหมายถึงการบรรลุถึงกฎแห่งความเป็นเอง
สามพี่น้องลุถึงเชฏฐปูรนคร ฆ่ายักษ์ พระราชาทูลถวายราชสมบัติ โพธิสัตว์ได้อภิเษก พลังกะกุมารขึ้นครองราชย์ หมายถึงโสดาปัตติมรรค-โสดาปัตติผล ซึ่งโดยหลักธรรมพระโสดาบันบุคคลนั้นพึงทำมากในส่วนความสมบูรณ์แห่งศีล
รัมมปูรนคร และการอภิเษกเตชกุมารขึ้นครองราชย์ หมายถึง อนาคามิมรรค-อนาคามิผล ซึ่งผู้ปฏิบัติทำมากในส่วนสมาธิ (ส่วนสกทาคามิมรรค-สกทาคามิผลนั้นเป็นลำดับเนื่องแต่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เพียงแต่ทำให้ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มิได้มีการละอาสวะ จึงข้ามไป)
พาราณสีนครและการกำราบยักษ์ตนสุดท้าย (ซึ่งก็คือตนแรกที่โพธิสัตว์เคยเหยียบบ่าและคาดโทษ) นั้นคือ เขตอรหัตตมรรค อรหัตตผล ซึ่งเป็นการทำมากทางปัญญา
นางสุวรรณพิมพานั้นอาจจะหมายถึง นิพพาน การขึ้นครองราชย์สมบัติ ณ เมืองพาราณสี การอภิเษกสมรสระหว่างโพธิสัตว์และสุวรรณพิมพา นางสุญญภาคีพระมารดาได้มาสมทบ และการไปมาหาสู่ระหว่างท้าวพลังกราช (อธิศีล) และท้าวเตชราช (อธิจิต) นั้นเป็นความสมบูรณ์พรั่งพร้อมของธรรมเป็นการถึงอนุตรสัมมาสัมโพธิ แต่ไม่มีตัวตนของช้างที่พระโพธิสัตว์ออกดั้นด้นสะกดรอยตามมานานนับ ๑๕ ปี เพราะว่าอริยสัจนั้นเปรียบด้วยรอยเท้าช้างอันปราศจากตัวตนมาแต่ต้นเรื่อง
สีหนาทชาดกมีเค้าโครงเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นที่มาของไซอิ๋ว
โหงว-เซ่ง-อึง ผู้แต่งไซอิ๋วได้ใช้ทั้งสีหนาทชาดกและรามายณะผสมผสานกันเป็นไซอิ๋ว
ไซอิ๋วดำเนินเรื่องของพระถังซัมจั๋งไปสืบพระไตรปิฎกยังไซที
ส่วนสีหนาทชาดกให้สีหนาทกุมารออกสะกดรอยเท้าช้างผู้เป็นบิดา
ส่วนรามายณะให้พระรามออกตามสะกดรอยนางสีดา
พระถังซัมจั๋งไปพบพระยูไลได้ “พระไตรปิฎกว่างจากอักษร”
สีหนาทกุมารตามรอยเท้าช้างก็พบกับความว่างฉันนั้น ในตอนท้ายของสีหนาทชาดก สีหนาทได้ครองเมืองไม่กล่าวถึงรอยเท้าช้างอีกเพราะช้างนั้นมีแต่รอยเท่านั้น
สีหนาทกุมารคือโพธิปัญญา พลังกะกุมารคือศีล และเตชกุมารคือสมาธิ, ในไซอิ๋วนั้น เห้งเจียก็คือปัญญา โป๊ยก่ายคือศีล ซัวเจ๋งคือสมาธิ
ยักษ์ที่บำเรอบาทท้าวเวสวัณจนได้พรและอาวุธวิเศษ แล้วเที่ยวรังควานสัตว์ มนุษย์ ฤๅษี ชีไพร ในสีหนาทชาดกนั้นถอดแบบมาจากพวกยักษ์ที่บำเพ็ญพรตจนร้อนถึงพระอิศวรต้องให้พรตามอย่างรามเกียรติ์และรามายณะ และในที่สุดเมื่อยักษ์เหล่านั้นใช้พรนั้นมาเบียดเบียนมนุษย์ ฤๅษี พระอิศวรจึงต้องให้พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นรามจันทร์เพื่อปราบยุคเข็ญ โพธิสัตว์สีหนาทก็ถูกเชิญลงมาด้วยกิจการนี้เช่นกัน
กำเนิดโพธิสัตว์นั้นดูคล้ายๆ จะเลียนกำเนิดหนุมานมากกว่ากำเนิดพระราม แต่มีความหมายทางธรรมตามแบบของพุทธ
โพธิสัตว์ปราบยักษ์ตนแรกแล้ว มารดาเปลี่ยนชื่อให้เป็นสีหนาทกุมาร
เห้งเจีย, โป๊ยก่าย, และซัวเจ๋ง เมื่อได้พบกับกวนอิมหรือพระถังซัมจั๋งแล้ว ถูกเปลี่ยนชื่อซึ่งมีความหมายว่า คุณธรรมต่างๆ นั้น กำหนดขึ้นตามกิจแห่งการตัดรอนอุปสรรค
เช่น เห้งเจีย เดิมชื่อหงอคง (ปัญญาเห็นความว่าง) ครั้นพบกับพระถังซัมจั๋ง ได้ชื่อใหม่ว่า เห้งเจีย แต่ก็ยังแซ่เดิม คือแซ่ซึง ซึ่งหมายถึงการเฝ้าพินิจ (Aware-ness)
สามพี่น้องในสีหนาทชาดกนี้ เช่นเดียวกับสามพี่น้องในไซอิ๋ว หากแต่ไซอิ๋ว เห้งเจีย (โพธิ) เป็นพี่ใหญ่ ส่วนสีหนาทชาดกให้สีหนาทกุมารเป็นน้องคนเล็กแต่ทรงพลังเลิศ แต่ตรงกันในลักษณะที่ให้ปัญญาเที่ยวตามหาจนพบศีลก่อน แล้วพบสมาธิ
เห้งเจียเนรมิตกายได้ ๗๒ อย่าง โป๊ยก่ายได้ ๓๖ (ครึ่งของเห้งเจีย) และซัวเจ๋งเนรมิตไม่ได้เลย นี่คือสัดส่วนของสมรรถนะในการงานของปัญญา ศีล สมาธิ
ส่วนในสีหนาทชาดกวัดกันโดยการต่อสู้ทุ่มกันและแรงดีดจากการถีบของจิ้งหรีดยักษ์ คือพลังกะกุมาร (ศีล) ถูกดีดไปไกล ๑๐๐ วา เตชกุมาร (สมาธิ) ถูกดีดไปไกล ๑๒๐ วา ส่วนสีหนาทกุมาร (ปัญญา) นั้นไม่หวั่นไหวเลย กลับหักขาจิ้งหรีดยักษ์มาปิ้งกินกันเสียอีก (ความตอนจิ้งหรีดดีด ขัดกับตอนทุ่มกันหรือว่ามีนัยอื่น?)
พญายักษ์ที่ได้พรจากท้าวเวสวัณให้มีอาวุธวิเศษ ๒ อย่าง คือ สุ่มเหล็กกับไม้เท้าชี้โคนตายชี้ปลายเป็นนั้น เห็นจะถอดแบบจากรามสูร (รามเกียรติ์) หรือปรศุราม (รามายณะ) ที่รบกับรามจันทร์พ่ายแพ้แล้วจึงถวายคันศร ที่พระอิศวรมอบให้ตรีเมฆปู่ของรามสูรแก่พระราม พระรามทรงโยนขึ้นฝากไว้กับพระพิรุณเพื่อไว้เรียกใช้ในเวลาประสงค์
คันศรของรามสูรในรามเกียรติ์ คือไม้เท้าวิเศษในสีหนาทชาดก และคือตะบอง ยู่อี่กิมซือเป๋ง (ตะบองสมใจนึก) ของเห้งเจียในไซอิ๋ว ในความหมายเดียวกัน นั่นคือ อิทัปปัจจยตา กฎแห่งความเป็นเอง ที่อาจจะขยายคลุมไปทุกเรื่องและอาจย่อลงถึงขนาดเท่าเข็มเสียบไว้ในรูหูของเห้งเจีย จะใช้เมื่อไรก็ได้เช่นเดียวกับศรของพระรามที่ฝากพระพิรุณไว้
สองกุมาร พลังกะกุมารกับเตชกุมาร ไม่เชื่อฟังไม่ถามไถ่ต่อพระโพธิสัตว์ หลงเดินเข้าไปในศาลาของยักษ์เพื่อหาไฟปิ้งจิ้งหรีดยักษ์เหมือนเหตุการณ์ในไซอิ๋ว ตอนเห้งเจีย (ปัญญา) กลับไปอยู่ถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง (ศีล สมาธิ) ที่ขาดปัญญาก็ถลำเข้าในถ้ำปีศาจ อึ้งเพ้าไต้อ๋อง (กามราคะ) ถูกจับมัด (ในสีหนาทให้ถูกสุ่มเหล็กครอบงำไว้) และไปคล้ายคลึงกับตอนเห้งเจียถูกไล่ครั้งที่ ๓ โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง นำพระถังซัมจั๋งเข้าไปในถ้ำปีศาจ ต๊อกกั๊กกุยไต้อ๋อง จนถูกถุงวิเศษครอบงำไว้สิ้น
ปีศาจหลายตัวในไซอิ๋วส่วนใหญ่เป็นเทพต้องโทษสวรรค์ลงมาเป็นปีศาจคอยดักจับ ครั้นโพธิปราบได้ก็กลายเป็นเทพกลับสู่สวรรค์และมอบอาวุธวิเศษให้เสมอ
ซึ่งทั้งไซอิ๋วและสีหนาทชาดกใช้วิธีการเสนอฉากเช่นเดียวกับรามเกียรติ์ เช่นตอนองคตส่งยักษ์ปักหลั่นกลับสวรรค์ หรือหนุมานจับนางบุษมาลีขว้างไปยังสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งในสีหนาทชาดกให้มียักษ์ ๔ ตนที่โพธิสัตว์สังหารแล้วกลับคืนสู่สวรรค์
ตอนสองกุมารจับขาจิ้งหรีดและถูกดีด จนโพธิสัตว์เข้าช่วยตัดขาจิ้งหรีดยักษ์ให้เอาไปปิ้งเป็นอาหารนั้น คล้ายตอน เห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง พาพระถังซัมจั๋ง บรรลุถึงทางเหม็น โป๊ยก่าย ช่วยกันจับงูแสงอาทิตย์และช่วยกันดึงหาง จนเห้งเจียเข้าไปอยู่ในท้องงู บังคับให้งูปีศาจนั้นกลายเป็นสะพานและเรือ
ในตอนสามพี่น้องบรรลุถึงเมืองเชฏฐปูรนคร และรัมมปูรนครนั้นเหมือนกับเรื่องหลวิชัย-คาวี ที่เป็นนิทานพื้นบ้าน (ไม่ใช่ในปัญญาสชาดก) มีคนซ่อนอยู่ในกลองหนีภัยจากยักษ์ และในไซอิ๋วดูคล้ายจะเป็นตอนคณะ พระถัง, เห้งเจีย, โป๊ยก่าย, ซัวเจ๋ง ม้าขาว บรรลุถึงวัดเซี้ยวลุ่ยอิมยี่ของปีศาจอึ้งไบ๋เล่าฮุด
ในเขตเมืองพาราณสี โพธิสัตว์ช่วยพระราชธิดาให้พ้นจากการเป็นอาหารของยักษ์ตนเดิมที่โพธิสัตว์เคยผจญเมื่อเป็นเด็ก ในไซอิ๋วก็มีเหตุการณ์เช่นนี้ ซ้ำกันคือ นางอุ๋นเกียว ธิดาของงุ่ยเต็ก อำมาตย์ของพระเจ้าถังไทจง เสี่ยงตะกร้อแพรเลือกคู่ได้โดยโยนไปลงในมือเสื้อของตนกอง ผู้สอบไล่ได้ที่หนึ่งได้ตำแหน่งจอหงวนซึ่งต่อมาได้แต่งงานกันคลอดบุตรออกมาคือ หลวงจีนยวนฉ่าง หรือพระถังซัมจั๋งนั่นเอง
ในตอนท้ายของไซอิ๋ว เมื่อใจได้บรรลุเขตโลกุตระแล้ว ในเขตเมืองเทียนเต็ก (อนาคามี) ปีศาจตนหนึ่งปลอมเป็นนางกงจู๊ พระราชธิดาโยนตะกร้อแพรเสี่ยงคู่มาคล้องพระถังซัมจั๋ง ซ้ำกับเหตุการณ์ของบิดากับมารดาของท่านได้พบกัน ซึ่งมีความหมายทางธรรม (ดังในอรรถาธิบาย) สีหนาทโพธิสัตว์ปราบยักษ์ตนนั้นแล้วได้ครองเมือง พระถังซัมจั๋งกับเห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง ปราบปีศาจแปลงแล้วก็เดินทางไปพบพระพักตร์ พระยูไล (พุทธภาวะ) เช่นกัน
ในที่สุดการครองเมืองโดยให้ พลังกะกุมาร เตชกุมาร ครองเมืองประเทศราชนั้น ในไซอิ๋วก็จบด้วยพระยูไลแต่งตั้งให้เห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง มีตำแหน่งต่างๆ เพื่อพิทักษ์ธรรม ซึ่งเช่นเดียวกับรามเกียรติ์ที่รามจันทร์ครองเมืองแล้ว แต่งตั้งหนุมานเป็นท้าวอนุชิตครองอยุธยา พิเภกเป็นท้าวคิริวงศ์ ครองเมืองลงกา สุครีพ เป็นพระยาไวยวงศา ครองนครขีดขิน เป็นต้น
เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติในโครงการคดีศึกษา ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗ กรุงเทพฯ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา