Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
26 ธ.ค. 2020 เวลา 22:39 • ปรัชญา
๑๙. เค้าขวัญวรรณกรรม : สุวรรณสิรสาชาดก
พระโพธิสัตว์นาม สุรรณสิรสา (หัวทอง) เสวยพระชาติเป็นบุตรแห่งสามีภรรยาตระกูลจัณฑาล บิดาชื่อจัณฑาลบัณฑิต ในรัชสมัยของพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพาราณสี ก่อนกำเนิดบุตรนางจัณฑาลผู้ภรรยาฝันว่า กบ (คางคก) น้อยเหาะขึ้นบนอากาศกลืนกินดวงจันทร์แล้วตกลงตรงท้องนาง
ครั้นรุ่งเช้านางได้ลงจากเรือนไปหาโหรพบชายเกเรคนหนึ่ง เขาได้ทายว่าฝันของนางประเสริฐนักจะได้บุตรที่ปัญญามาก มีแต่หัวไม่มีกาย ครั้นนางจัณฑาลบัณฑิตไปหาโหร โหรก็ทายเช่นเดียวกับชายเกเรว่า บุตรจะมีปัญญานุภาพมากจะมีแต่หัวไม่มีกาย และจะเป็นที่พึ่งของนางในวันหน้า
เมื่อครรภ์ของนางแก่ใกล้คลอด พระโพธิสัตว์ได้เห็นความลำบากของมารดา เพราะยากจนอัตคัด และสามีได้ตายเสียตั้งแต่นางตั้งครรภ์ได้ ๕ เดือน จึงอธิษฐานให้ตัวเองมีแต่หัวไม่มีตัว เพื่อว่าจะช่วยตัดภาระของมารดาในการเลี้ยงดูตน
ต่อมานางจัณฑาลบัณฑิตได้คลอดบุตรสมดังคำทำนายของโหร มีศีรษะเป็นทองแต่ไร้ตัว ไม่มีเท้า ไม่มีมือ ด้วยความอับอายแก่เพื่อนบ้าน นางจึงไม่แสดงบุตรให้ใครเห็น เก็บไว้แต่ในห้อง
วันหนึ่งๆ นางลงไปปล่อยโคกระบือให้กินหญ้า แล้วกลับมาอาบน้ำเชยชมบุตรน้อย ตกเย็นก็ออกไปไล่ต้อนโคกระบือเข้าคอก กลับมาบ้านอาบน้ำให้ลูกแล้ววางไว้บนอก เชยชมทะนุถนอมด้วยความรักและเศร้าโศกในความอาภัพพิการของพระโพธิสัตว์
เมื่อนางจัณฑาลบัณฑิตออกไปนอกบ้าน พระโพธิสัตว์ได้ออกจากศีรษะของตัวแล้วกวาดถูช่วยงานบ้านแก่มารดาเสมอ ครั้นตกเย็นแม่กลับมาก็กระโดดเข้าอยู่ในหัวแสร้งเป็นคนพิการต่อไป
ครั้นหลายเวลาเข้าพระโพธิสัตว์รบเร้ามารดาให้ยกหัวตนใส่ถาดไปวางไว้กลางทุ่งที่เลี้ยงควายใต้ต้นหว้า ด้วยเดชแห่งพระโพธิสัตว์ เงาของต้นหว้ามิได้บ่ายเบนออกจากที่ และวัวควายก็อยู่ใต้อำนาจมิได้แตกฝูงสัญจรไปอื่น ทั้งถาดใส่หัวของโพธิสัตว์ก็ได้กลายเป็นทองคำล้ำค่า
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ พระโพธิสัตว์สุวรรณสิรสาใคร่กู้ฐานะของมารดา จึงอ้อนวอนให้มารดาไปออกปากยืมทองจากนายบ้านราคา ๕๐๐ บาท เพื่อไปค้าขาย ด้วยเดชแห่งโพธิสัตว์เพียงออกปากยืมคำเดียว นายบ้านก็มอบทองให้มาตามประสงค์ โพธิสัตว์ก็อ้อนวอนให้มารดาให้พาตนไปฝากกับนายสำเภาเพื่อไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ
นางจัณฑาลบัณฑิตทัดทานเพราะเห็นความพิการของบุตรและทั้งรักอาลัยบุตรด้วย ในที่สุดก็ทนการรบเร้าของบุตรไม่ได้จึงจำใจไปฝากนายสำเภา กลับถูกหัวเราะเยาะเพราะบุตรของนางมีแต่หัวไร้ตัวไร้มือไร้เท้าจะเป็นพ่อค้าพ่อขายอะไรได้ มารดาของโพธิสัตว์ก็ร้องไห้คร่ำครวญจนนายสำเภาสงสารและยอมอนุญาตให้สุวรรณสิรสาไปค้ากับสำเภาของตนได้
มารดาได้จัดขนมและอาหารกับถุงทองให้แก่พระโพธิสัตว์ แนะลูกให้นำอาหารและขนมไปให้กำนัลนายเรือ ส่วนถุงทองไว้กับตน แล้วนางก็อุ้มโพธิสัตว์ไปลงเรือสำเภา สำเภาใหญ่แล่นออกจากท่าเมืองพาราณสี มารดาก็ร้องไห้คร่ำครวญคิดอาลัยบุตรเป็นอย่างมาก
สำเภาแล่นไป ๗ วันก็บรรลุถึงเกาะวาลุกทวีป (เกาะทราย) พระโพธิสัตว์เห็นทรายงามดังสีทองใคร่จะอยู่ ณ ที่นั้น จึงขอให้นายสำเภาปล่อยตนลง นายเรือทัดทานด้วยความสงสารในความพิการ ครั้นขัดไม่ได้จึงได้ปล่อยให้โพธิสัตว์ลงอยู่เกาะวาลุกทวีปดังประสงค์พร้อมกับวางถุงทองพร้อมกับเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ไว้ให้ด้วย
ครั้นสำเภาของนายพาณิชออกจากเกาะทรายไปค้ายังสุวรรณภูมิแล้ว สุวรรณสิรสาโพธิสัตว์ได้ออกมาจากหัวของตนและลงมือปลูกฟักแฟงและพืชผักจากเมล็ดพืชที่มีอยู่นั้น ด้วยเดชของพระองค์พืชพันธุ์ก็งอกงามผลิดอกออกผลเป็นอันมาก
กล่าวถึงธิดาของพระยานาค ๒ นาง ปัญจปาปี กับ ปทาริกาได้ลาพญานาคบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งนาคพิภพ ขึ้นมาเที่ยวเล่นที่เกาะวาลุกทวีปเห็นสวนพืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ดี ก็เข้าไปเก็บเด็ดฟักแฟงแตงกวาในไร่ของโพธิสัตว์เล่น โดยไม่รู้ว่ามีเจ้าของ พระโพธิสัตว์จึงออกจากศีรษะมาต่อว่า นางนาคทั้งสองก็ขอโทษ ครั้นทราบว่าพระองค์เป็นลูกคนจัณฑาลและไม่โกรธเคือง จึงสัญญาว่าจะลงไปยังนาคพิภพนำแก้วแหวนเงินทองมาชดใช้ค่าเสียหายให้
นางนาคทั้งสองอำลาลงไปหาพญานาคราชในนาคพิภพแล้วนำแก้วแหวนเงินทองร้อยแปดโกฏิทวี ทั้งแก้ว ๗ ประการ ขนกันขึ้นมาให้สุวรรณสิรสาเพื่อใช้หนี้ค่าเสียหาย
นางนาคทั้งสองมอบแก้วแหวนเงินทอง สองร้อยสิบหกโกฏิให้แล้วถามว่า “พี่, ทำไมมาอยู่ที่นี่เล่า?” สุวรรณสิรสาตอบว่า
พาราณสิอาคโตสมิ วาณิชตถาธิธ ปตฺโต
อิธ มโนรมมาหํ ทกฺขิ เอกโกว อวลํ ฐาเน
นาวา คจฉนฺตา สพฺเพ อญฺญสฺสิ ฐาเน วิกิณณาย.
“ข้ามาแต่เมืองพาราณสีเพื่อจะมาค้าขาย มาถึงที่นี่เห็นน่ารื่นรมย์นักข้าจึงอยู่ที่นี่แต่เพียงผู้เดียว บรรดาเรืออื่นที่มาด้วยกันเขาไปค้าที่อื่นเสียหมด (นี่)”
ต่อมาพวกพ่อค้ากลับจากสุวรรณทวีปและได้แวะรับสุวรรณสิรสาโพธิสัตว์กลับไปยังพาราณสี พระโพธิสัตว์พบกับมารดาแล้วเปลื้องหนี้นายบ้าน ดูแลเลี้ยงดูมารดาจวบจนตนเองอายุได้ ๑๖ ปี ก็ดำริใคร่ได้พระราชธิดาองค์เล็กของพระเจ้าพรหมทัตมาเป็นภรรยา มารดาก็ทัดทานว่าตนเองเป็นคนพิการมีแต่หัวไม่มีมือ มิได้มีอวัยวะที่พึงมีชีวิตคู่ได้ แต่พระโพธิสัตว์ก็อ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ จนนางจัณฑาลบัณฑิตกลัวบุตรจะกลั้นใจตาย จึงบากหน้าไปอ้อนวอนอำมาตย์ผู้ใหญ่กว่าตนเป็นลำดับ จนได้กราบทูลเรื่องนี้ต่อพระเจ้าพรหมทัต
พระเจ้าพรหมทัตทรงพิโรธใหญ่ แต่ครั้นนึกได้ว่าคนพิการที่บังอาจขอพระราชธิดานั้นเห็นจะต้องเป็นผู้มีบุญฤทธิ์มาก จึงใคร่จะลองเล่นหากว่าไร้บุญจะได้ประหารชีวิตให้สมกับความอาจเอื้อม จึงทรงรับสั่งแก่อำมาตย์ว่า หากสุวรรณสิรสาสามารถสร้างสะพานเงินสะพานทองมาจากเรือนของตนจนถึงพระราชนิเวศน์ได้ ก็ยินดีจะยกพระราชธิดาให้ หากไม่สามารถจะต้องพระราชอาญาถึงตาย
สุวรรณสิรสาโพธิสัตว์อธิษฐานจิตเอาความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าเป็นแรง พระอินทร์จึงรับสั่งให้วิษณุกรรมสร้างสะพานเงินสะพานทองให้โพธิสัตว์สำเร็จภายในคืนเดียว ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตได้เห็นบุญฤทธิ์ของสุวรรณสิรสาโพธิสัตว์ มีความยินดีไม่รังเกียจในความพิการมีแต่หัวไร้ตัวนั้นเลย
รับสั่งถามพระราชธิดาทั้งสามคือนางสุวรรณากุมารี ธิดาพระองค์ใหญ่และและนางสุวรรณจันทาราชธิดาพระองค์กลาง ทั้งสองไม่ยินดีเป็นภรรยาของสุวรรณสิรสาเพราะทรงรังเกียจว่าเป็นคนพิการ
ฝ่ายพระราชธิดาสุวรรณคันทากุมารีทรงกตัญญูต่อพระราชบิดาจึงยินดีรับชายพิการสุวรรณสิรสาโพธิสัตว์เป็นสามี พระเจ้าพรหมทัตจึงอภิเษกทั้งสองให้เป็นภรรยาสามีแก่กัน และทรงรักใคร่สุวรรณสิรสาโพธิสัตว์ดุจพระราชบุตรของพระองค์เอง
กาลต่อมาพระเจ้าพรหมทัตเสด็จประพาสราชอุทยาน ดำรัสให้พนักงานเตรียมจัดแผ้วทางและให้เตรียมขบวนใหญ่ตามเสด็จประกอบด้วยขบวนช้างรวบรวมเสนาพยุหะได้ ๑๘ เหล่า พระองค์เองทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์พร้อมออกเสด็จประทับบนหลังม้าสินธพ
ฝ่ายนางสุวรรณคันทาเทวีกับพระโพธิสัตว์มิได้ตามเสด็จ เพราะอายสาวสนมกำนัลข้าราชบริพารว่าพระโพธิสัตว์พิการ นั่งร้องไห้คร่ำครวญอยู่ สุวรณสิรสาปลอบประโลมแล้วก็บอกความลับให้ฟังว่า ตนหาได้พิการไม่ และหากสุวรรณคันทาสามารถหาม้าสินธพที่ฝึกหัดไว้ดีแล้วมาจะสำแดงรูปโฉมจริงให้ดู
ครั้นนางสุวรรณคันทาหาม้านั้นให้แล้ว พระโพธิสัตว์จึงได้ออกจากศีรษะปรากฏรูปจริงให้เห็น งามบริสุทธิ์มิได้มีส่วนไหนบกพร่องเลย โพธิสัตว์กระซิบความแก่สุวรรณคันทามิให้แพร่งพรายให้ผู้ใดรู้ แล้วทรงขึ้นสู่หลังม้าควบไปอย่างรวดเร็วสู่อุทยานหลวง ไปล่วงหน้าขบวนพยุหยาตราเสียอีก แล้วขึ้นนั่งบนราชบัลลังก์ในอุทยาน พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรเห็น ทรงเข้าใจว่าเป็นท้าวเทวราชทรงกระทำน้อมนมัสการแก่พระโพธิสัตว์
สุวรรณสิรสาเที่ยวชมสวนจนพอใจก็ควบม้าเหาะขึ้นกลางอากาศไปสู่พระนิเวศน์ของสุวรรณคันทา แล้วเข้าซ่อนกายในหัวของตน
กล่าวถึงนนท์เสนาบดี เพ็ดทูลพระราชาว่าสุวรรณสิรสากับนางสุวรรณคันทาไม่ตามขบวนเสด็จนั้นมีโทษควรประหาร ทั้งพระราชาก็จะได้พ้นจากความอับอายจากการมีบุตรเขยพิการด้วย พระราชาทรงเห็นดีด้วย จึงสั่งให้อ้างเหตุนั้นนำสุวรรณสิรสาไปประหารเสีย
ฝ่ายสุวรรณคันทาทราบข่าวก็คร่ำครวญอ้อนวอนผ่อนโทษต่อพระราชบิดาไม่สำเร็จก็กลับมารำพันกับสามี สุวรรณสิรสาปลอบประโลมว่า “น้องรัก, อย่ากลัว อย่าโศก พี่นี้มาแต่ดาวดึงส์พิภพมิใช่คนสามัญดอก”
ร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) คิดจะช่วยให้เกียรติคุณของสุวรรณสิรสาประจักษ์แก่โลก จึงเสด็จลงมาประทับยืนบนอากาศร้องถามปัญหากับพระเจ้าพรหมทัต ๔ ประการ ภายใน ๗ วัน หากตอบไม่ได้จะทำลายพระเศียรให้แตกเป็นเจ็ดเสี่ยง คำถาม ๔ ข้อมีดังนี้
๑. สิ่งหนึ่งไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักตาย คืออะไร?
๒. พระราชาผู้เป็นใหญ่นั้นเป็นกันด้วยอะไร?
๓. สิ่งที่เรียกว่ารถนั้นคืออะไร?
๔. อะไรรุ่งเรืองทั้งโลกนี้และโลกอื่น?
พระราชารับสั่งให้ประชุมบรรดาปุโรหิต, นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งประเทศ ไม่มีนักปราชญ์ใดตอบได้ จนถึงวันที่หก พระราชาตรัสคาดโทษจะประหารปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหมด หากตอบคำถาม ๔ ข้อนั้นไม่ได้
พระเจ้าพรหมทัตเองทรงกลัวความตายยิ่งนัก ในที่สุดพระเทวีของพระองค์จึงแนะให้ขอความช่วยเหลือจากสุวรรณสิรสา
สุวรรณสิรสาโพธิสัตว์จึงสำแดงบุญฤทธิ์ออกจากหัว มีรูปอันงามเยี่ยมหาบกพร่องมิได้ เหาะขึ้นกลางฟ้า ประกาศแก่ประชาชนในการช่วยพระสัสสุรราช (พ่อตา) แล้วขึ้นไปแก้ปัญหาทั้ง ๔ ข้อ กลางอากาศกับท้าวสักกเทวราชว่า
๑. คนมีตัณหาและนันทิราคะ (ความเพลินด้วยอำนาจของราคะ) ย่อมไม่รู้จักแก่, หลงลืมความตาย
๒. บุคคลเป็นพระราชาได้ด้วยพระพฤติราชธรรม ๑๐ ประการ พร้อมทั้งสังคหวัตถุ ๔
๓. ความประกอบกันพร้อมทั้ง ดุม, กง, เพลา, เรือนรถ, เชือก, งอนและล้อ จึงจะชื่อว่า รถ
๔. ทาน, ศรัทธา, ศีล, ภาวนา และการละเวรทั้ง ๕ ชื่อว่ายังโลกนี้ และโลกหน้าให้สว่างโชติช่วง
เทพยดาต่างแซ่ซ้องสาธุการ โปรยดอกไม้บูชาพระปัญญาของพระโพธิสัตว์แล้วท้าวสักกะกับสุวรรณสิรสาก็เดาะคลีกันอยู่กลางฟ้าประสบชัยชนะแล้วก็กลับลงมาเฝ้าพระสัสสุระ
ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตชื่นชมยินดีเหลือที่จะกล่าว ต่อชัยชนะและรูปโฉมของพระราชบุตรเขย ทรงจับน้ำเต้าทองหลั่งน้ำลงบนพระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์เป็นเครื่องหมายในการมอบพระราชสมบัติและบัลลังก์ให้แก่พระโพธิสัตว์
สุวรรณสิรสา ทำนุบำรุงปกครองแผ่นดินร่วมกับสุวรรณคันทาให้ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์เป็นสุขสืบมา
การมองเค้าโครงทางจิตวิญญาณ
สุวรรณสิรสา คือ โพธิ ซึ่งเป็นปัญญาเห็นความไม่มีตัวตนในสิ่งทั้งปวง แม้โพธิเองก็ไร้ตัวตน จากการมีแต่หัวตัวไม่มีนั้นหมายถึงโพธินั้นคือ ความตื่น ความรู้แจ้งต่อสุญตา ซึ่งแท้จริงเปี่ยมไปด้วยสิ่งดีงามบริบูรณ์เต็มเปี่ยม
นางจัณฑาลบัณฑิตมารดานั้น เป็นอุปมาของชีวิตของคนทั่วไป ซึ่งโดยภายนอกก็คือกาย อันประกอบด้วยมูลธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นสาธารณ์เป็นสิ่งดาดสามัญ หากแต่ร่างกายอันเป็นที่ตั้งของสิ่งไม่สะอาดนี้เป็นที่กำเนิดของความรู้แจ้ง
ความฝันของนางจัณฑาลบัณฑิต (คางคกกลืนจันทร์) หมายถึง สภาพต่ำต้อย (โพธิปัญญาซึ่งดูเสมือนพิการ) จะรุ่งเรืองขึ้นจนบรรลุถึงความงดงามและสูงส่ง
โพธิปัญญา ทำงานอยู่อย่างซ่อนเร้นในการงานประจำวัน (ปัดกวาดบ้านและเลี้ยงควาย) ทั้งเต็มไปด้วยศักยภาพและอยู่เหนือกาลเวลา (เงาหว้ามิได้บ่ายเบนไปตามเวลา) ทั้งเที่ยงธรรม จนกลมกลืนไปกับสถานการณ์โดยรอบ (ถาดรองหัวโพธิสัตว์กลายเป็นทองคำ)
โพธิสัตว์ไปค้าขายมุ่งไปสุวรรณภูมิแต่แวะลงที่วาลุกทวีป (เกาะทราย อาจจะหมายถึงชีวิตเริ่มหยั่งลึกลงสู่ศาสนธรรม โดยการฝึกฝนควบคุมตนเองในศีล สมาธิ ให้ยิ่งๆ ขึ้น เกาะทรายที่พระโพธิสัตว์ปลูกฟักแฟงได้ผลดกอุดมนั้น หมายถึงการผลิดอกออกผลของสมาธิภาวนาในระดับต่าง ๆ
ธิดาพญานาค ปัญจปาปี (บาปทั้ง ๕) กับ ปทาริกา (เด็กหญิง) คือนิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุทธัจจะกุกกุจจะ, วิจิกิจฉา) และนิวรณ์บริวารคือบรรดาอุปกิเลสเบ็ดเตล็ดอื่นๆ (ปทาริกา)
หลังจากข่มธิดานาคได้แล้ว โพธิสัตว์ก็ร่ำรวยไปด้วยทรัพย์ของพญานาคจากนาคพิภพ หมายถึงหลังจากขจัดนิวรณ์ ๕ และสิ่งอื่นอันทำให้ปัญญาถอยกำลังได้แล้ว โพธิปัญญาก็เต็มไปด้วยกำลังเพื่อก้าวไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจ
สุวรรณสิรสาอ้อนวอนแม่ให้ทูลขอพระราชธิดาองค์เล็ก สุวรรณคันทามาเป็นเมีย หมายถึง โพธิปัญญามีกำลังหลังจากละนิวรณ์ ๕ และบริวารนิวรณ์ได้แล้ว ก็หมายมุ่งสู่ วิมุตติ ความหลุดพ้น
พระเจ้าพรหมทัตทดลองพระโพธิสัตว์โดยให้สร้างสะพานเงิน สะพานทองจากกระท่อมไปสู่พระราชฐานให้เสร็จภายในคืนเดียว หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าไปของพลังสมถะและวิปัสสนา ซึ่งจะผลิตผลเป็น เจโตวิมุตติ-ปัญญาวิมุตติ ในที่สุด
ด้วยอธิษฐานบารมี (แรงใจ) และกฎธรรมชาติทุกสิ่งก็สำเร็จ โพธิก็รู้แจ้งวิมุตติ อันเปรียบด้วยการเข้าสู่พระราชฐาน และวิวาห์กับสุวรรณคันทา
พระราชธิดาทั้ง ๓ ของท้าวพรหมทัต คือ สุวรรณากุมารี สุวรรณจันทา และสุวรรณคันทา นั้น อาจจะหมายถึง วิมุตติ ๓ คือ ตทังควิมุตติ (หลุดพ้นชั่วสมัย เพราะเหตุถึงพร้อมแห่งองค์ประกอบ) วิกขัมภนวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยอำนาจของการข่มนิวรณ์ไว้) สมุทเฉทวิมุตติ (หลุดพ้นเด็ดขาด)
สุวรรณสิรสาแสดงพระองค์ อันงดงามรุ่งเรืองให้พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรและคารวะคราวเสด็จประพาสอุทยาน หมายถึงธรรมชาติแท้ของพุทธะปรากฏออกอย่างงดงามและเป็นไปเอง เป็นสมัย (ชั่วกาล)
พระเจ้าพรหมทัตรับสั่งให้เอาสุวรรณสิรสาไปประหารชีวิต หมายถึงสภาพปล่อยวางจางคลายจากการยึดติด แม้ในความหลุดพ้น (วิมุตติ)
ปัญหาของท้าวสักกเทวราช อันไม่มีบัณฑิตใดแก้ได้นั้น หมายถึงสติปัญญาขั้นโลกียะไม่อาจรู้แจ้งแทงตลอดปัญหาเหล่านั้นได้ เพราะเป็นวิสัยของโลกุตรปัญญา
การตอบปัญหาท้าวสักกเทวราชบนอากาศ หมายถึงวิมุตติญาณทัศนะ (ญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว) อากาศ หมายถึงอากาศธาตุ โพธิปัญญารู้แจ้งความดับลงของธาตุทั้งปวงลงสู่อากาศธาตุ เป็นอสมัย (ตลอดกาล)
การเดาะคลีเล่นกีฬาระหว่างพระโพธิสัตว์และท้าวสักกะ หมายถึง ทั้งหมดของการปฏิบัติธรรม เป็นเพียงการละเล่นของสภาวธรรม เป็นเพียงลีลาของธรรม ไม่ใช่เรื่องราวของสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา-เขา เป็นลีลาของธรรม เป็นเพียงกิริยาอาการในอากาศเท่านั้น
การครองราชย์สมบัติ ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ให้เป็นสุขสืบมา หมายถึงสันติ, นิพพาน อินทรีย์ทั้งหลายสงบระงับ ปรกติถึงที่สุดทุกข์
(ทบทวนเรื่องย่อได้ที่โพสต์ ๘๘-๙๒)
เสนอต่อที่ประชุมนานาชาติในโครงการคดีศึกษา ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๗
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เค้าขวัญวรรณกรรม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย