18 ม.ค. 2021 เวลา 06:35 • หนังสือ
✴️ บทนำ (ตอนที่ 5) ✴️ หน้า (32) - (34)
💠 ภควันกฤษณะ : พระคริสต์แห่งอินเดีย 💠
แน่นอน ตัวละครหลักของภควัทคีตาคือภควันกฤษณะ ศรีกฤษณะในประวัติศาสตร์นั้นถูกห่อหุ้มด้วยอุปมาและความเร้นลับของคัมภีร์และเทพปกรณัม ความเหมือนกันระหว่าง “ศรีกฤษณะ” กับ “พระคริสต์” ที่ปรากฏในเรื่องเล่าอันน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของท่านทั้งสอง ทำให้ผู้มีปัญญาบางคนวิเคราะห์ว่าศรีกฤษณะกับพระเยซูคือคนคนเดียวกัน แนวคิดนี้อาจถูกปฏิเสธ เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในดินแดนที่เป็นแหล่งกำเนิดของท่านทั้งสองมีน้อย
แต่อย่างไรก็ตาม ความคล้ายกันนั้นมีอยู่ ท่านทั้งสองจุติในครรภ์ของมารดาตามที่พระเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนแล้ว พระเยซูเกิดในรางหญ้าอันต่ำต้อย ส่วนศรีกฤษณะเกิดในคุก (บิดามารดาของท่าน คือวาสุเทพ – กับนางเทวกี ถูกกัญศะพี่ชายผู้โหดร้ายของนางเทวกี ที่ชิงบัลลังก์จากบิดาจับตัวคนทั้งคู่ไปขังไว้)
ทั้งเยซูและกฤษณะรอดพ้นจากความตายเมื่อกษัตริย์มีโองการให้สังหารทารกเพศชายทุกคน ด้วยเจตนาจะล้างผลาญคนทั้งสองตั้งแต่แรกเกิด พระเยซูเป็นที่รู้จักในฐานะคนเลี้ยงแกะที่ดี ส่วนกฤษณะในวัยเยาว์ รู้จักกันในฐานะเด็กเลี้ยงโค เยซูถูกทดลองและคุกคามโดยซาตาน ส่วนกฤษณะนั้นก็ถูกมารตามไล่ล้างผลาญแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
“คริสต์” กับ “กฤษณะ” #เป็นพระนามที่มีความหมายทางจิตวิญญาณอย่างเดียวกัน พระเยซูคริสต์ กับ ยาทัพ ซึ่งเป็นชื่อตระกูลของกฤษณะ แสดงว่าท่านเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจาก ยาทู (บูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์วฤษนี) ทั้งสองพระนามนี้ชี้ให้เห็นถึงภาวะจิตของบุรุษผู้รู้แจ้ง ผู้อวตารมาด้วยจิตหนึ่งเดียวแห่งพระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งซึ่งสถิตอยู่ทุกที่ทุกกาล
จิตแห่งพระคริสต์ หรือ กุฏิสถะ ไจตันยะ หรือ จิตแห่งภควันกฤษณะ คือ “พระบุตรองค์เดียว” หรือภาพสะท้อนแท้จริงของพระเจ้าที่มีอยู่ในทุกอณูและทุกส่วนของจักรวาลนี้ การจะวัดประมาณ จิตแห่งพระเจ้านั้นจะวัดได้ในผู้ที่หยั่งรู้จิตแห่งพระคริสต์และจิตแห่งภควันกฤษณะอย่างสมบูรณ์พร้อมแล้วเท่านั้น เพราะจิตสำนึกนี้เป็นสากล และส่องแสงสว่างแก่ทั้งโลก★
★คำ “กฤษณะ” มีคำอธิบายความหมายแตกต่างกันไปมากมาย แต่ที่พบมากที่สุดคือ “ดำ” ซึ่งอ้างถึงสีผิวของพระกฤษณะ (ภาพของพระองค์มักแสดงสีผิวด้วยสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งแสดงถึงความเป็นทิพย์ สีน้ำเงินเป็นสีจิตแห่งพระคริสต์ เมื่ออ้างถึงดวงตาแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นวงกลมสีน้ำเงินเข้มล้อมรอบดาวสีเงินแห่งจิตจักรวาล)
ส่วน M.V. Sridatta Sarma (“On the Advent of Sri Krishna”) ได้ให้ความหมายอื่น ๆ ของคำ “กฤษณะ” ตามที่พบใน พราหมไววารท ปูราณะ โดยกล่าวว่าในบรรดาความหมายมากมายนี้ “กฤษณะ” หมายถึง บรมวิญญาณสากล 'กฤษ' เป็นคำทั่ว ๆ ไป ส่วน 'ณ' ทำให้นึกถึง ตัวตน คำ “กฤษณะ” จึงน่าจะหมายถึง “สัพพัญญูบรมวิญญาณ” ในแง่นี้เราก็จะพบความเหมือนกันกับจิตแห่งพระคริสต์ ซึ่งหมายถึงพระปัญญาแห่งพระเจ้าผู้ทรงสถิตอยู่ทุกแห่งหน น่าสนใจที่ภาษาพูดแบบชาวบ้านของเบงกาลีเอ่ยถึงศรีกฤษณะในนาม กฤษตา (เปรียบเทียบกับ คริสโตส ในภาษากรีก และ คริสโต ในภาษาสเปน)
(หมายเหตุผู้จัดพิมพ์)
“สิทธา” คือมนุษย์สมบูรณ์พร้อมผู้บรรลุโมกษะทางจิตวิญญาณ หรือ ปรมุกต์ “เป็นอิสระอย่างเลิศ” และสามารถกลับสู่โลกในฐานะองค์อวตาร★ เช่นเดียวกับศรีกฤษณะ พระเยซู และพระผู้ไถ่องค์อื่น ๆ ตลอดยุคสมัย
★คำภาษาสันสกฤต 'อวตาร' หมายถึง “การจุติ” มาจากรากศัพท์ อว “ลง” และ ตริ “ผ่าน” ในคัมภีร์ฮินดู 'อวตาร' จึงหมายถึง การจุติของเหล่าเทพในร่างที่เป็นเลือดเนื้อ
ยิ่งศีลธรรมเสื่อมไปมากเท่าใด วิญญาณที่ได้ความสว่าง ความรู้แจ้งจากพระเจ้า จะมาสู่โลกเพื่อนำความดีงามกลับมานำโลก (คีตา บทที่ 4 : โศลก 7-8) องค์อวตารมีเป้าหมายบนโลกนี้ สองอย่าง คือ 'ปริมาณ' และ 'คุณภาพ'
ในแง่ 'ปริมาณ' นั้น ท่านยกจิตมนุษย์ทั่วไปด้วย คำสอนประเสริฐว่าด้วยความดีที่ต้องต่อต้านความชั่ว แต่เป้าหมายหลักขององค์อวตารนั้นอยู่ที่ 'คุณภาพ' นั่นคือ การรังสรรค์วิญญาณที่หยั่งรู้พระเจ้า โดยช่วยมวลมนุษย์ให้บรรลุอิสรภาวะมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เป้าหมายประการหลังนี้ เป็นพันธะทางจิตวิญญาณเฉพาะระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ความพยายามทางจิตวิญญาณเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างศิษย์กับพรประเสริฐที่อาจารย์มอบให้ นักเรียนทั่วไปจะได้รับแสงแห่งสัจจะแต่เพียงน้อยนิด แต่ศิษย์คือผู้ที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แน่วแน่ และอุทิศตน จนเขาได้พบอิสรภาพในพระเจ้า ในคีตา อรชุนคือสัญลักษณ์ของศิษย์ผู้สมบูรณ์พร้อมตามอุดมคติ
เมื่อศรีกฤษณะอวตารมาสู่โลก อรชุนซึ่งเป็นปราชญ์ในชาติก่อน ได้ถือกำเนิดในโลกนี้ด้วย และเป็นสหายกับกฤษณะ มนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่มักจะนำความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณจากอดีตชาติ มาช่วยเหลือท่านในภารกิจปัจจุบัน บิดาของกฤษณะ เป็นเชษฐาของมารดาอรชุน กฤษณะกับอรชุนจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน – ทั้งสองสัมพันธ์กันโดยสายเลือด แต่ที่ผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นกว่านั้นคือการผูกพันทางจิตวิญญาณ
(มีต่อ)
🕉️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา