18 ม.ค. 2021 เวลา 14:13 • การศึกษา
[ CHAPTER 40 ] หนทางการขอประนอมหนี้ ในยุคโควิด - 19
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน 🙏
ในวันนี้ผมอยากจะเขียนในเรื่อง การขอประนอมหนี้เบื้องต้น ในยุคที่ เฮ้อ... ! โควิดที่ยังไม่หายไปจากประเทศไทย เพราะอะไรที่มาแพร่ระบาดได้อีกรอบ ตรงนี้ขอกล่าวถึงนะฮะ 😅
ปล.ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเอง และเข้มงวดกันอีกครั้งครับ
• ซึ่งจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้รายได้ของประชาชนและธุรกิจปรับลดลง หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ คนจำนวนไม่น้อย ตกงาน ขาดรายได้ โดยกลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุด คือ คนที่มีหนี้เพราะมีรายได้ลดลง ในขณะที่ยังมีค่างวดที่ต้องผ่อนชำระทุกเดือน
• ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังวิตกกังวลว่า หลังจากที่ประชาชนกลับต่างจังหวัดเพื่อไปเฉลิมฉลอง ท่องเที่ยวสัมผัสอากาศหนาวช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว อาจจะเกิดการระบาดครั้งใหญ่หรือไม่ โดยเชื่อว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
• ได้เตรียมมาตรการป้องกันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดไว้แล้วและใช้มาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบค้นหาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แทนที่จะใช้วิธีการตั้งรับเหมือนกับครั้งแรกที่เคยระบาดในช่วงต้นปี
❌ ผลกระทบที่ตามมาหลังจากที่ ศบค. ได้ยกระดับมาตรการป้องกันเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ ปัญหาการขาดรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ธุรกิจส่วนตัว บริษัท ร้านค้า ร้านอาหาร ลูกจ้าง พนักงาน ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีรายได้เข้ามายิ่งน่าเป็นห่วง เพิ่งโดนมรสุมพิษโควิดเมื่อตอนต้นปียังไม่ฟื้นเลย ต้องมาโดนมรสุมอีกรอบ เรียกว่าสาหัสกันทั่วหน้าครับ
➡️ วันนี้ผมจึงมีแนวทางการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้จับมือกันเดินฝ่ามรสุมครั้งนี้ไปพร้อมกันได้ครับ
(1) เจรจาขอลดยอดหนี้ โดย "ขอปิดยอดหนี้ครั้งเดียว" ภายในระยะเวลาสั้นๆ 15-30 วัน นับจากวันที่ตกลงกันได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้สามารถขอลดยอดหนี้ได้มาก โดยจะเหลือยอดหนี้ที่จะต้องชำระประมาณร้อยละ 50 ถึง 70 ของยอดหนี้ทั้งหมด เรียกว่า เจ้าหนี้อาจจะยอมตัดดอกเบี้ยทั้งหมด หรืออาจจะตัดต้นเงินบางส่วนให้ด้วย หากไม่มีเงินสดก็สามารถเจรจาใช้ทรัพย์สินตีราคา เพื่อชำระหนี้ก็ได้ครับ
(2) ในกรณีที่ไม่มีเงินก้อนไปปิดยอดหนี้ครั้งเดียว แต่พอมีเงินเก็บอยู่บางส่วน ให้เจรจา "ขอชำระหนี้บางส่วน ส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระเป็นรายเดือน" โดยวิธีนี้จะสามารถขอผ่อนได้ประมาณ 2 ถึง 4 ปี นับจากวันที่ตกลงกันได้ และวิธีการนี้จะทำให้เราสามารถขอลดดอกเบี้ยค้างชำระได้บ้าง หรืออาจจะตัดดอกเบี้ยทั้งหมด โดยผ่อนแค่ต้นเงินก็ได้
(3) ในกรณีที่ "ไม่มีเงินเก็บเลย ให้เจรจาขอผ่อนชำระเป็นรายเดือนไปก่อน" โดยขอผ่อนยอดที่น้อยที่สุด และขอระยะเวลาผ่อนให้นานที่สุด ทั้งนี้ อยู่ที่เทคนิคการเจรจา เหตุผล และความจำเป็นในครอบครัว
- แต่ส่วนใหญ่แล้ว เจ้าหนี้จะอนุมัติอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน ถึง 2 ปี กรณีนี้อาจจะไม่ได้รับส่วนลดเลย ระยะเวลาผ่อนก็สั้น ตลอดจนอาจจะมีการคิดดอกเบี้ยในระหว่างผ่อนด้วย แต่ก็ต้องยอมนะครับ เพื่อซื้อเวลาไปก่อน เผื่อในอนาคตมีช่องทางหารายได้เพิ่มเติม หรือมีเงินก้อนเข้ามา ค่อยเจรจาขอลดยอดหนี้และขอปิดบัญชีอีกครั้ง
(4) ในกรณีที่ “ไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่มีรายจ่ายเท่าเดิม” ท่านอาจจะขอพักชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ก่อน เป็นระยะเวลาสั้นๆ 3-6 เดือน เพื่อรอดูสถานการณ์และกำหนดแนวทางกันอีกครั้ง
(5) ในกรณีที่ “พอมีเงินสำรองอยู่ หรือ พอมีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ไม่เพียงพอชำระหนี้ทั้งหมด” ท่านอาจจะขอชำระหนี้ดอกเบี้ยไปก่อน ส่วนต้นเงินให้พักชำระหนี้ไว้ หรือ ขอพักชำระหนี้ดอกเบี้ยไว้ แต่ชำระหนี้ส่วนต้นเงินไปก่อน
( เจ้าหนี้ควรระวังครับ การชำระหนี้ส่วนต้นเงินอย่างเดียวนั้น อาจจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบในเรื่องของดอกเบี้ย เนื่องจากตามกฎหมายไม่สามารถคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้
ดังนั้น หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะสามารถคิดดอกเบี้ยได้จากต้นเงินที่เหลือเท่านั้น โดยไม่สามารถคิดดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยค้างชำระได้ )
🌟 กล่าวโดยสรุปว่า มาตราขั้นต้นในการพักชำระหนี้ของแต่ละบุคคล ต้องรีบวางแผนการจัดการโดยทันที ที่สำคัญต้องมีสติ ค่อยๆประเมินสถานการณ์ มูลค่าการสูญเสีย จากนั้นรีบติดต่อเจ้าหนี้ เพราะการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป อาจจะทำให้เกิดการฟ้องร้องในมูลหนี้ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ การเจรจาจะเป็นผลสำเร็จอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ “ความจริงใจของลูกหนี้” ถ้าลูกหนี้ตั้งใจจะจ่ายชำระ แต่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ก็ต้องพูดคุยเรื่องการประนอมหนี้ หรือวิธีอื่นๆในการผ่อนปรนหนี้ไปก่อนในช่วงระยะเวลานี้ครับ
อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนที่ประสบปัญหาด้านการเงินทุกท่านผ่านพ้นวิกฤติไปได้ด้วยดีนะครับ 🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา