1 ก.พ. 2021 เวลา 12:17 • การศึกษา
[ CHAPTER 41 ]
วันนี้จะมาเล่าเรื่องการฝากขัง หรือการควบคุมตัวเพื่อสอบสวน
ฮั่นแน่ ! คุ้นๆแล้วใช่ไหมครับว่า ได้ยินคำนี้บ่อยจากที่ไหนกัน
🚩 ต้องเป็นภาพยนตร์หรือหนัง แน่นอนครับ 😅
เพราะหลายเรื่องจะมีฉากที่ว่า ควบคุมตัวผู้ต้องหาในการกระทำความผิดมาที่ สถานีตำรวจ และจากนั้นผู้ต้องหาคนดังกล่าว ก็จะต้องเถียงตามบทของผู้กับกับ ทันทีว่า " พวกนายมีสิทธิควบคุมตัวฉันได้แค่ 48 ชั่วโมงเองล่ะโว้ยย " นั้นละครับเรียกว่าการฝากขัง
ถาพจาก : google.com
1. เมื่อผู้กระทำผิดถูกจับ ตามหลักกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาไว้เพียง 48 ชั่วโมงนับตั้งแต่มาถึงสถานีตำรวจ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือหากมีความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่า 3 วัน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้น
2. พนักงานสอบสวนหรืออัยการเป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลได้ หากมีเหตุจำเป็นที่สมควรขังผู้ต้องหาต่อไปอีก โดยมีเงื่อนไขดังนี้
➡️ การกำหนดระยะเวลาคุมขัง
(1) ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกิน 7 วัน
(2) ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่ถึง 10 ปี หรือปรับเกินกว่า 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกัน ทั้งหมดต้องไม่เกิน 48 วัน
(3) ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกิน 12 วัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 84 วัน
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจสำนักงานกิจการยุติธรรมและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
✅ ในการขออนุญาตฝากขังครั้งที่ 1 พนักงานสอบสวน/อัยการ ต้องนำผู้ต้องหา/จำเลย มาศาลเพื่อขออนุญาต และหากมีการฝากขังครั้งที่ 2 เป็นต้นไป ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาวางแนวทางการขออนุญาตฝากขัง โดยใช้ระบบขอฝากขังผ่านระบบ Video Conference โดยผู้ต้องหา/จำเลยไม่ต้องไปศาล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9302/2559
ในการยื่นคำร้องขอฝากขังนั้น พนักงานสอบสวนเพียงแต่แสดงข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จและมีเหตุจำเป็นที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อทำการสอบสวนคดีต่อไปอีกจึงขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาตามกำหนดเวลาเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอฝากขังรวมถึงเอกสารท้ายคำร้องจึงหาได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำร้องขอฝากขังไม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถจักรยานยนต์ในขณะที่มีสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในร่างกาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
เมื่อข้อหาดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13
ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารแนบท้ายคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์มาประกอบการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้จึงเป็นการไม่ชอบ
🚩 สรุปวิเคราะห์
จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น จะเห็นได้ว่า
1. คำร้องขอฝากขังและเอกสารประกอบท้ายคำร้อง เป็นเพียงคำร้องที่ยื่นเพื่อแสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อศาลในการขอฝากขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนเท่านั้น
มิใช่การยอมรับว่าข้อเท็จจริงในคดีเป็นอันยุติไปแล้ว ตามที่ปรากฎในคำร้องขอฝากขัง // ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อฝากขังไปแล้ว พนักงานสอบสวนก็ยังมีโอกาสพบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีกในระหว่างสอบสวนได้ ดังนั้น จะยึดข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฎตามคำร้องขอฝากขังและเอกสารประกอบมิได้
2. ในคดียาเสพติด พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 ได้กำหนดหลักเกณฑ์บังคับให้ศาลต้องสืบพยานหลักฐาน ถ้าความผิดที่ฟ้องนั้นมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตลอดชีวิต หรือสถานหนักกว่านั้น แตกต่างจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ซึ่งยึดที่อัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ 5 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดี ยังมีอีกกรณีหนึ่งในคดียาเสพติด ที่ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐาน นั่นคือ ศาลสงสัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด
3. คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 1 รับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาคดีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐาน เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ไปแล้ว และจำเลยที่ 1 "ไม่ได้อุทธรณ์" (ไม่ได้ปรากฎในย่อสั้น แต่ปรากฎในย่อยาว) ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงย้อนกลับไปพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานเสพเมพแอมเฟตามีน โดยยกเอาข้อเท็จจริงที่ยังไม่ผ่านการสืบพยานหลักฐาน มาใช้เป็นเหตุในการยกฟ้องไม่ได้
🙏🙏🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา