30 ม.ค. 2021 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
"พะยูน"
สัตว์ทะเลสุดน่ารักที่หลายคนหลงรักและหลายฝ่ายกำลังช่วยกันอนุรักษ์
พะยูน (ภาพ : mgronline.com)
พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ซึ่งมีบรรพบุรุษใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของช้าง โดยเคยอาศัยและหากินอยู่บนบกมาก่อน จนเมื่อประมาณ 55 ล้านปีที่แล้ว พะยูนได้วิวัฒนาการลงไปอยู่ในน้ำ และไม่กลับขึ้นมาบนบกอีกเลย เช่นเดียวกับโลมาและวาฬ
พะยูนมีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็นเงือก หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง หรือวัวทะเล
ชาวประมงและนักเดินเรือหลายคนในอดีตมักจะเข้าใจผิด คิดว่าพะยูนเป็นเงือกที่มีร่างกายส่วนบนเป็นหญิงสาวแสนสวยที่ว่ายน้ำอยู่ในทะเล
ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1493 เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินเรือไปใกล้ชายฝั่งของสาธารณรัฐโดมินิกันในปัจจุบัน และได้พบกับมานาตี (manatee) หรือพะยูนหางกลม 3 ตัวในทะเล ซึ่งเขามั่นใจว่ามันคือนางเงือกในตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา
นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 1614 กัปตันจอห์น สมิธ ยังได้เขียนบันทึกการเดินทางขณะที่อยู่บริเวณชายฝั่ง Massachusetts ว่าเขาได้เจอกับนางเงือกที่มีดวงตากลมมาก แต่จมูกสั้นไปหน่อย มีหูยาว และผมสีเขียวรุงรัง
ซึ่งในเวลาต่อมา นักวิทยาศาสตร์และนักธรรมชาติวิทยาได้วิเคราะห์จากบันทึกของนักเดินเรือในอดีต และคิดว่าสิ่งที่พวกเขาเห็น น่าจะเป็นพะยูนนั่นเอง
สำหรับในบ้านเรา ชาวบ้านในภาคใต้บางพื้นที่จะเรียกพะยูนว่า "ดูหยง" ซึ่งอาจเพี้ยนไปเป็น ดุยง ดุหยง ตุยง หรือตุหยง ได้
คำว่า ดูหยง มาจากภาษามลายูที่ใช้เรียกพะยูน ซึ่ง Duyong แปลว่า หญิงสาวแห่งท้องทะเล เนื่องจากขณะที่แม่พะยูนให้นมลูก มันมักจะกอดลูกไว้กับอกในแนวตั้งฉากกับพื้นทะเล ทำให้เมื่อชาวประมงมองจากในระยะไกลจะดูคล้ายกับผู้หญิงกำลังให้นมลูก หรือบางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นนางเงือก
ชาวปักษ์ใต้ในบางพื้นที่ยังเรียกพะยูนอีกชื่อหนึ่งว่า "หมูน้ำ" ซึ่งน่าจะมาจากสีสันและรสชาติของเนื้อพะยูนที่คล้ายเนื้อหมู หรืออาจจะมาจากการที่มันมีรูปร่างอ้วนและมีขนสั้น ๆ ตามลำตัว รวมทั้งมีวิธีกินอาหารที่คล้ายกับหมูด้วย
ส่วนชาวบ้านใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จะเรียกพะยูนว่า "หมูดุด" เนื่องจากมันหาอาหารด้วยการ 'ดุด' หรือใช้จมูกดุนไปตามพื้นทะเลเพื่อกินหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของมัน
วิธีกินอาหารของพะยูน (ภาพ : wikipedia)
ถ้าใครยังจำได้
ในปี พ.ศ. 2562 มีลูกพะยูนเพศเมียตัวหนึ่งที่เป็นขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศ
ชื่อของเธอก็คือ 'มาเรียม'
มาเรียมเข้ามาเกยตื้นที่ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2562 ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือ และนำไปดูแลที่บริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. โดยมันถือเป็นลูกพะยูนตัวแรกที่มีมนุษย์คอยป้อนนมให้ในสภาวะธรรมชาติ
ด้วยหน้าตาที่น่ารัก บวกกับนิสัยที่ขี้อ้อนของมาเรียม ทำให้มันกลายเป็นขวัญใจของคนไทยในเวลาอันรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายลูกพะยูนสุดน่ารักตัวนี้ก็ได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 17 ส.ค. 2562 ซึ่งผลการชันสูตรระบุว่า มาเรียมเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยมีขยะพลาสติกหลายชิ้นอยู่ในท้องและไปขวางลำไส้
มาเรียม (ภาพ : AFP)
พะยูนอาศัยหากินอยู่ในบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง และต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุกๆ 6 นาทีโดยประมาณ แต่ในบางครั้งมันจะใช้หางค้ำกับพื้นทะเลแล้วยืนขึ้นให้หัวโผล่พ้นน้ำ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเข้าไปติดกับเครื่องมือประมง หรือถูกรบกวนจากเรือที่แล่นเข้ามาในบริเวณนั้น
นอกจากนี้ การล่าพะยูนเพื่อกินเนื้อหรือตัดเขี้ยวของมันไปทำเครื่องรางตามความเชื่อของคนบางคน รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่ถูกทำลายจากมลพิษ ยังส่งผลต่อจำนวนประชากรของพะยูนในท้องทะเลไทยด้วย
โดยในปี พ.ศ. 2556 พบว่ามีพะยูนเหลืออยู่ในทะเลของ จ.ตรัง เพียงแค่ 110-125 ตัว และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณปีละ 12 ตัว ซึ่งถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรเลย จะทำให้พะยูนสูญพันธุ์จากทะเลตรังภายในเวลา 16 ปี
นั่นจึงทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนประมงในพื้นที่ร่วมมือกันหาวิธีอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพะยูนอย่างจริงจังมานานหลายปี
ซึ่งผลของความพยายามก็เริ่มแสดงออกมาให้เห็นบ้างแล้ว เพราะจากการสำรวจเมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว มีการพบพะยูนถึง 130 ตัวที่ จ.ตรัง โดยเป็นพะยูนแม่ลูกถึง 15 คู่
แม้ว่าพะยูนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาบ้างในปัจจุบัน แต่มันก็ยังคงมีบางส่วนที่ตายไปทุกปี ทำให้การอนุรักษ์ยังคงต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัตว์ที่น่ารักชนิดนี้อยู่คู่กับทะเลไทยตลอดไป
ภาพ : pixabay
ป.ล. บทความนี้ได้ไอเดียในการเขียนมาจากคุณฮาม เพจ "เรียนรู้...ไปพร้อมๆกัน" ที่อยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับพะยูนครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา