Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
21 มี.ค. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
แอบอ่านไดอารีโลก
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
2
เวลาเราดูรายการสารคดีธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าสภาพโลกเมื่อ 50 ล้านปีก่อนเป็นอย่างนี้อย่างนั้น ระดับคาร์บอน ไดออกไซด์เมื่อ 100 ล้านปีก่อนเป็นเท่านี้เท่านั้น วัดอายุของสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ห้าพันปีบ้าง ห้าหมื่นปีบ้าง พวกเขารู้ได้อย่างไร? โม้รึเปล่า? มั่วหรือเปล่า?
2
ข้อดีของวิทยาศาสตร์คือว่ากันตามหลักฐาน มันมั่วไม่ได้
"ถ้าเช่นนั้นเรารู้อดีตอย่างละเอียดยังไงครับ?" ข้าพเจ้าถาม มิสเตอร์สโตนแมน* (*ตัวละครสมมุติ)
"มิสเตอร์สโตนแมน" เป็นฉายาของศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกอดีตกาลยุคหิน (Stone Age) ใคร ๆ จึงเรียกเขาว่ามนุษย์หิน
3
"ก็อ่านจาก ไดอารี' ของโลก" มิสเตอร์สโตนแมนตอบ
"ไดอารีอะไรครับ?"
"โลกก็มีนิสัยชอบบันทึกอดีตนะ 'สมุดไดอารี' ของโลกมีหลายเล่ม เช่น หิน ฟอสซิล ชั้นตะกอนดินในแม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเล ชั้นน้ำแข็ง วงปีของต้นไม้ เหล่านี้ล้วนสามารถบอกสภาพอากาศโลกได้"
2
"แต่เราจะอ่านไดอารียังไงครับ?"
"ก็อ่านภาษาที่ธรรมชาติจารึกไว้เป็นรหัสต่าง ๆ"
"ผมชักงง"
"ความลับของโลกซ่อนอยู่ในทุกที่ คุณจะแอบอ่านไดอารีโลกได้ ก็ต้องสวมบทบาทนักสืบ อ่านโดยใช้เครื่องอ่านที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์"
"ผมเพิ่งรู้ว่านักวิทยาศาสตร์ก็ต้องเป็นนักสืบ"
"ใช่ ในนิยายนักสืบ นักสืบค้นหาร่องรอยหลักฐานและพยานต่าง ๆ เพื่อสืบให้รู้ว่าใครเป็นคนร้าย แต่ธรรมชาติไม่มีผู้ร้าย ชีวิตทั้งหลายวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นเอง อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติก็คล้ายนิยายนักสืบ เราสามารถสืบหาความจริงในอดีตได้ เช่น เราสืบรู้อุณหภูมิโลกในอดีตย้อนหลังได้ประมาณ 150 ปี"
1
"แล้วถ้าต้องการวัดอายุย้อนหลังไปไกลกว่านั้น?"
"ก็ต้องใช้ 'ไดอารี' เล่มอื่น ๆ"
1
"มีหลายเล่มหรือครับ?"
"ใช่ โลกมีอายุ 4,600 ล้านปี ก็บันทึกไดอารีไว้มากมาย เราอาจต้องอ่านไดอารีหลายเล่ม แล้วเอาหลักฐานต่าง ๆ มารวมกัน"
1
"แล้วเล่มไหนละเอียดที่สุดครับ?"
"ในบรรดา 'ไดอารี' ทั้งหลายของโลก ฉบับที่ 'บรรยาย' อย่างละเอียดลออที่สุดน่าจะเป็นไดอารีฟอสซิล ฟอสซิลถ้ามีขนาดใหญ่เรียกว่า macrofossils เช่นใบไม้ กระดูกสัตว์ ขนาดเล็กที่เรียกว่า microfossils เช่น ละอองเกสรดอกไม้ สัตว์น้ำขนาดจิ๋ว ทั้งสองอย่างช่วยบอกสภาพภูมิอากาศของโลกยุคอดีตได้"
2
"บอกยังไงครับ?"
"ผมขอถามคุณก่อน ต้นไม้ใช้อะไรดำรงชีพ?"
"คาร์บอน ไดออกไซด์"
"ถูกแล้ว ต้นไม้จึงต้องมี stomata หรือรูใบที่ให้อากาศผ่านเข้าออก ทีนี้ปริมาณ stomata ในฟอสซิลใบไม้จะบอกปริมาณคาร์บอน ไดออกไซด์ ถ้ารูปใบน้อยแสดงว่า คาร์บอน ไดออกไซด์ ในอากาศมีมาก ฟอสซิลใบไม้จึงช่วยให้เราศึกษาสภาพอากาศยุคโบราณได้"
3
"ที่แท้เป็นอย่างนี้นี่เอง"
1
"ละอองเกสรดอกไม้ก็สามารถบอกสภาพอากาศได้ดีในระดับหนึ่ง และเนื่องเกสรมีจำนวนมากกระจายไปทั่วโลก ทำให้เราศึกษาพื้นที่ได้กว้าง และค่าค่อนข้างเชื่อถือได้ เพราะวิเคราะห์ค่าทางวิทยาศาสตร์"
"ผมเคยเรียนตอนเด็กว่าต้นไม้นับอายุด้วยวงปี"
"ถูกแล้ว ความจริงต้นไม้ก็เป็นนักบันทึกไดอารีเหมือนกัน ไดอารีของต้นไม้คือวงปีที่ลำต้น ที่น่าสนใจคือวงปีของแต่ละปีไม่จำเป็นต้องเท่ากัน มันขึ้นกับสภาพอากาศด้วย"
1
"แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าหลักฐานชิ้นหนึ่ง ๆ อยู่ในยุคไหน?"
1
"ลองดูลักษณะของสมุดไดอารีซี มันเป็นกระดาษนับร้อยแผ่นทับซ้อนกัน โลกก็เหมือนกัน ชั้นดินที่ทับถมในแม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเลก็ทับถมทีละชั้น ทีละปี มันก็คือไดอารีของแผ่นโลกทางดิ่ง ยิ่งลึกลงไปก็คือยิ่งเก่าแก่ ทีนี้ถ้าเราใช้ท่อเจาะชั้นดินลึกลงไปสักหลายร้อยเมตร ก็จะได้ตัวอย่างดินเป็นหลอดยาว หรือ sediment core เราก็สามารถตรวจสอบธาตุ รวมไปถึงไอโซโทปของออกซิเจนในชั้นดินแต่ละชั้น ก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศยุคโบราณแต่ละช่วง ถ้าพบฟอสซิลที่ชั้นไหน ก็รู้ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นอยู่ในยุคไหน"
2
"มันเป็นการสืบค้นที่เข้าท่ามากครับ"
1
"ด้วย sediment core เราสามารถรู้ว่าภูเขาไฟระเบิดเมื่อไร โดยดูละอองฝุ่น แร่ธาตุต่าง ๆ ของเถ้าภูเขาไฟที่ลอยมาตกลงพื้นและทับถมกันปีแล้วปีเล่า ธาตุที่ลมพัดลอยมาทำให้เรารู้ทิศลมด้วย นอกจากนี้ก็สามารถรู้ทิศน้ำโดยดูจากตะกอนและเปลือกหอยที่แม่น้ำพัดมาตกสะสมเป็นชั้น เพราะแร่ธาตุบางชนิดเกิดเฉพาะบางที่เท่านั้น และในเมื่อเราสามารถวัดค่าชั้นดิน ก็วัดค่าชั้นน้ำแข็งได้"
"แต่จะดูอะไรจากน้ำแข็ง ในเมื่อน้ำแข็งมีแต่น้ำ?"
"ดูได้ก็แล้วกัน แต่เรื่องนี้คุณไปถามมิสเตอร์ไอซ์แมน*ดีกว่า" (*ตัวละครสมมุติ)
มิสเตอร์ไอซ์แมนเป็นศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านค้นหาหลักฐานในน้ำแข็ง เขาบอกว่า "น้ำแข็งไม่ได้มีแต่น้ำ มันมีอนุภาคธาตุต่าง ๆ ที่ลอยมาตกเกาะบนผิวน้ำแข็งทุกวัน เช่น ละอองเกลือจากทะเลหรือคาร์บอนที่ตกลงมาจากชั้นบรรยากาศ เราก็สามารถวัดค่าธาตุในอดีตไกล ๆ ได้ เคมีก็อาจเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของพื้นที่นั้นด้วย"
3
ตัวอย่างชั้นดินมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน สหรัฐฯ (ภาพจาก Oregon State University)
"แปลว่าเราสามารถขุดชั้นน้ำแข็งอย่างที่มิสเตอร์สโตนแมนขุด sediment core ใช่ไหม?"
"ใช่ หลักการเดียวกัน ถ้าเราเจาะน้ำแข็งลงไปหลายร้อยเมตรเพื่อเก็บเป็นตัวอย่าง เรียกว่า ice core ก็จะได้ 'แคปซูลเวลา' ที่บอกทุกอย่าง ชั้นน้ำแข็งแต่ละชั้นปีบอกเหตุการณ์หรือสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในบริเวณนั้นหรือภาคพื้นนั้น มีธาตุเคมีที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลา ธาตุเคมีเหล่านี้จะช่วยบอกสภาพอากาศได้...
"ชั้นน้ำแข็งยังเผยธุลีเกลือที่ลอยมาจากทะเล ทำให้รู้ทิศทางและแรงลมแถบแอนตาร์กติก เราสามารถวัดความเข้มข้นของเกลือจากชั้นน้ำแข็งต่างปีกัน รู้เรื่องลมในและอุณหภูมิของโลกโบราณ นอกจากนี้ในแท่ง ice core ยังอาจมีฟองอากาศขนาดจิ๋วที่ถูกกักไว้ มันเป็นอากาศโบราณที่ถูกกักไว้ นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาอากาศในสมัยนั้น ๆ เหมือนเดินทางย้อนอดีตได้จริง ๆ"
2
"แล้วไปขุดที่ไหนครับ?"
"จุดที่ดีที่สุดคือขั้วโลก กรีนแลนด์ แอนตาร์กติก เพราะเป็นพื้นที่ 'สะอาด' ไม่ค่อยโดนอะไรรบกวน ยังไม่มีใครไปสร้างบ้านจัดสรรหรือคอนโดที่นั่น"
1
"ผมคิดว่าเราคงมีข้อจำกัดในการเจาะท่อลงไป คงลึกได้ระยะหนึ่ง แล้วผมจะวัดค่าสิ่งของที่มีอายุหลายหมื่นหลายแสนหรือหลายล้านปีได้ยังไง?"
"เรื่องนี้คุณต้องไปหา วิลลาร์ด ลิบบี (Willard Libby)*" (* บุคคลจริง)
"เขาเป็นใคร?"
"นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมีในปี 1960 เขาเคยทำงานในโครงการแมนฮัตตัน เป็นคนคิดค้นคาร์บอน-14 ผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมีในปี 1960"
2
ข้าพเจ้าถามนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลว่า "ทำไมต้องเป็น คาร์บอน-14?"
วิลลาร์ด ลิบบี ตอบว่า "สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีฐานคาร์บอน (carbon-based) ดังนั้นหากจะวัดค่าอายุซากโบราณ ก็ควรวัดค่าธาตุคาร์บอน"
"มีเหตุผล แล้ววัดยังไงครับ?"
"ตรงนี้เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ก่อน นั่นคือทุก ๆ วินาทีรังสีจากดวงอาทิตย์วิ่งสู่ชั้นบรรยากาศของโลกซึ่งเต็มไปด้วยอะตอมของธาตุต่าง ๆ เมื่อรังสีดวงอาทิตย์กระทบกับอะตอมของไนโตรเจนในบรรยากาศ จะกลายเป็นคาร์บอน-14 ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสี แล้วมันจะเริ่มสลายตัวด้วยอัตราคงที่ ทีนี้พืชดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากการสังเคราะห์แสง สัตว์ที่กินพืชก็ได้รับคาร์บอนมาด้วย เมื่อสัตว์ตาย มันก็หยุดรับคาร์บอน ส่วนคาร์บอนที่มีอยู่ในตัวก็เริ่มสลายตัว เราจึงสามารถรู้อายุของสัตว์พืชจากการวัดค่าคาร์บอน-14"
1
"เลข 14 คืออะไร?"
วิลลาร์ด ลิบบี
"ในนิวเคลียสของอะตอมมีโปรตอนกับนิวตรอน 14 คือเลขมวลของอะตอม คือจำนวนโปรตอนกับนิวตรอนรวมกัน เคยเรียนวิชาเคมีไหม?"
"เคยครับ"
"งั้นก็รู้ว่าอะตอมหนึ่ง ๆ เป็นธาตุอะไรยังไง?"
"ดูจำนวนโปรตอน"
"ใช่ ธาตุคาร์บอนมีโปรตอน 6 ตัว คาร์บอน-14 จึงมีนิวตรอนเท่ากับ 14-6 เท่ากับ 8 ตัว อะตอมของคาร์บอนทุกชนิดมีโปรตอน 6 ตัว แต่จำนวนนิวตรอนไม่เท่ากัน ความแตกต่างตรงนี้เรียกว่า ไอโซโทป คาร์บอนส่วนใหญ่เป็นคาร์บอน-12 จึงมีนิวตรอน 6 ตัว ถ้าคาร์บอน-13 ก็มีนิวตรอน 7 ตัว ที่แตกต่างคือคาร์บอน-12 กับคาร์บอน-13 เสถียร แต่คาร์บอน-14 เป็นกัมมันตรังสี จึงใช้วัดค่าอายุได้..."
1
"ผมหลงทางแล้วครับ อาจารย์ช่วยพูดภาษาไทยหน่อย"
นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลถอนใจ กล่าวว่า "ชั้นบรรยากาศของโลกมีคาร์บอนอยู่สามแบบ คือคาร์บอน-12 คาร์บอน-13 และคาร์บอน-14 ร้อยละ 99 ของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเป็นคาร์บอน-12 ส่วนคาร์บอน-14 มีน้อยมาก"
"แล้ววัดยังไงครับ?"
"สมมุติว่ามีอะตอมของคาร์บอน-14 หนึ่งหมื่นอะตอมในวันนี้ อีก 5,730 ปี มันจะลดจำนวนเหลือครึ่งหนึ่งคือ 5,000 อะตอม ทีนี้ครึ่งชีวิตของคาร์บอน-14 เท่ากับ 5,730 ปี เมื่อรู้หลักนี้ ก็วัดอายุได้"
2
"แล้วเราวัดค่าจากธาตุอื่น ๆ ได้ไหมครับ?"
"ได้ แต่การวัดจากคาร์บอน-14 สะดวกกว่า ผมทดลองหลักการวัดแบบนี้กับวัตถุที่พิสูจน์อายุทางประวัติศาสตร์แล้ว คือชิ้นไม้จากสุสานฟาโรห์โซซาร์ผู้ปกครองอียิปต์เมื่อ 4,600 ปีก่อน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยืนยันอายุของไม้ชิ้นนั้นแล้ว ปรากฏว่าคาร์บอน-14 พิสูจน์อายุได้ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์"
1
"ตัวเลขนี้แม่นยำแค่ไหน?"
"การวัดคาร์บอน-14 ก็มีข้อผิดพลาดอยู่เหมือนกัน เพราะปริมาณคาร์บอน-14 ในชั้นบรรยากาศขึ้น ๆ ลง ๆ โดยเฉพาะยุคใหม่เมื่อเราเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันจำนวนมหาศาลต่างจากสมัยก่อน ทำให้คาร์บอน-14 เพิ่มขึ้นมากในชั้นบรรยากาศด้วยอัตราผิดธรรมชาติ"
"เราใช้คาร์บอน-14 วัดอายุโลกได้ไหมครับ?"
"ไม่ได้ คาร์บอน-14 มีข้อจำกัดของมัน คือวัดค่าแน่นอนได้แค่หกหมื่นปีเท่านั้น จะวัดซากที่มีอายุมากกว่านั้น ต้องวัดค่าสลายตัวของธาตุอื่น ยกตัวอย่าง เช่น โปแตสเซียม 40 วัดไปได้ถึง 1,300 ล้านปี ยูเรเนียม 235 วัดได้ถึง 4,500 ล้านปี"
ต่างจากนิยายนักสืบทั่วไปที่มักมีผู้ร้าย ธรรมชาติไม่มีผู้ร้าย ทฤษฎีวิวัฒนาการชี้ว่า สรรพสิ่งในธรรมชาติดำเนินไปโดยไม่มีผู้ร้ายหรือผู้ดี มันเคลื่อนไหลไปตามเหตุและปัจจัย เช่นนั้นเอง
ทว่าเมื่อมาถึงยุคที่ธรรมชาติแปรปรวนและมนุษย์บางคนบอกว่า มนุษย์ไม่ใช่ตัวการทำลายชั้นบรรยากาศโลก เป็นธรรมชาติเช่นนี้เอง เราอาจพบว่า เราไม่ต้องพึ่ง "ไดอารี" โลกก็สามารถเห็นความจริงต่อหน้าเราว่าโลกกำลังป่วยหนัก และการสืบสวนครั้งนี้ธรรมชาติมีผู้ร้าย ก็คือมนุษย์นี่เอง
2
8 บันทึก
59
4
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals by Winlyovarin
8
59
4
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย