20 ม.ค. 2021 เวลา 05:17 • เกม
สวัสดีค่ะ ไมล์เชื่อว่าหลายๆคนที่เล่นเกมต้องเคยเปย์ให้เกมกันบ้างแหละ ไม่ว่าจะซื้อกาชาใน Genshin Impact หรือ จ่ายเงินรายเดือนให้กับ Final Fantasy XIV ซึ่ง เจ้าพวกนี้นี่แหละ เป็นแบบหนึ่งของ การทำเงินของเกม หรือที่เรียกกันว่า "Game Monetization Model"
ซึ่ง Monetization เป็นเรื่องปวดหัวของฝั่ง Game Designer และฝั่ง Producer 😢 รวมถึงทีม Marketing อีกด้วย วันนี้เราเลยอยากจะมาแชร์เรื่องนี้เป็นโพสที่สองของเพจ เพื่อให้เข้าใจเบื้องหลังกันมากขึ้นค่ะ
เปย์เถอะ ไมล์ลี่ก็หิวเช่นกัน
เอาจริงๆ การพัฒนาเกม ก็เป็น การทำธุรกิจประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันต้องสร้างรายได้กลับมา เพื่อสามารถทำให้ทีมพัฒนาสามารถอยู่ต่อได้ การทำเงิน หรือเรียกแบบเป็นทางการหน่อย คือ การสร้างรายได้ของเกม (Game Monetization) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี
เมื่อเราต้องการเงิน เราก็ต้องมี รูปแบบการทำเงิน หรือ Monetization Model นั่นทำให้มันถูกออกแบบขึ้นมา
แต่การออกแบบ เราไม่สามารถเน้นไปที่การหาเงินอย่างเดียวตรงๆได้ เพราะอาจทำให้ ระบบ Gameplay, ระบบ Economic และระบบอื่นๆในเกมเสียสมดุล เช่น คนที่เปย์ได้ไอเทมเทพทำให้ stat โดดเกินไป ทำให้มีปัญหาเมื่อลงในเล่นรวมกับผู้เล่นคนอื่น Game Designer จึงต้องคำนึงเรื่องพวกนี้ด้วยตอนออกแบบ
นอกจากนั้นเนื่องจากเกมมีหลากหลายแนว และ Developer ย่อมต้องการมีช่องทางหาเงินมากกว่า 1 วิธี นั่นทำให้ Monetization Model มี หลากหลายรูปแบบมาก
แต่ไมล์จะขอหยิบ Monetization model ที่เป็นที่นิยมในยุคนี้และน่าสนใจมานำเสนอแล้วกันนะคะ
1. Microtransaction
อธิบายง่ายๆ มันคือการซื้อสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งเกมแบบชิ้นหนึ่ง หรือเป็นเซทก็ได้ แต่ต้องเป็นแบบขายขาดตัวสินค้า ตัวอย่างของการขายแบบง่ายๆที่จัดเป็น Microtransaction เลย คือ กาชา Gachas หรือ Lootboxes นั่นเอง
ตัวอย่าง Microtransaction ใน Genshin Impact ว่าแต่ ได้แบบนี้จัดว่าเกลือไหมคะ? #หยอกนะคะ
อย่างที่บอกว่า การใช้ Monetization model ต้องคิดถึงสมดุลของเกมด้วย ทาง Game Designer จึงมีการใช้ Virtual Currency หรือพวกเพชรต่างๆในเกมขึ้นมา โดยให้ผู้เล่นใช้เงินจริงซื้อ Virtual Currency เพื่อนำไปซื้อของอื่นๆ เช่น Lootboxes อีกต่อ ซึ่งตัว Virtual Currency จะช่วยให้ Game Designer จัดการกับการ Balance เกมได้ง่ายขึ้น
1
ตัวอย่างการขาย Virtual Currency ในเกม Arknights
อ่านเรื่อง Virtual Currency เพิ่มได้ link นี้ https://medium.com/@karstenwysk/game-of-life-what-if-game-designers-ruled-the-world-5-virtual-currencies-e6cd85e01bb
นอกจากในรูปแบบ กาชาตัวละคร หรือไอเท่มในเกมแล้ว การขาย Content อย่างการขาย DLC (Downloadable Content) ก็จัดเป็น Microtransaction เช่นกัน
ตัวอย่าง Microtransaction ของเกม Final Fantasy XV ที่เป็นแบบเนื้อเรื่อง DLC เอ่ ตอนที่เหลือไปไหนนะ?
สำหรับเกมมือถือ หลายๆคนอาจจะคุ้นๆกับชื่อ In-app purchase ซึ่ง โดยเฉพาะเหล่า Developer จริงๆแล้วมันคือชื่อของ Framework ที่ Apple ออกมาเพื่อรองรับระบบ Microtransaction ที่เกิดขึ้น
Fun fact: App annie ได้คาดเดาว่า จะมีการใช้เงินรวม 156.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ใน App store ในปี 2022
2. Subscription Model
Subscription Model เป็นการจ่ายเพื่อซื้อหรือใช้ Service อย่างต่อเนื่อง โดยการจ่ายจะมีการจ่ายเป็นรอบๆไป ส่วนใหญ่จะเป็นรายเดือน หรือ Monthly ในขณะที่ Microtransaction จะเป็นการขายขาดในครั้งเดียว
ซึ่งโมเดลแบบนี้ ค่อนข้างแพร่หลาย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับเกมเท่านั้น แต่รวมถึงแอพ เว็บ และอื่นๆ ขอตัวอย่างที่ทุกคนรู้จัก คือ Netflix, Spotify และ Youtube
ส่วนตัวอย่าง Subscription model ที่เกมใช้คือ การจ่าย Subscription Fee ของ Final Fantasy XIV เพื่อเข้าเล่นเกมได้อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่าง Subscription fee ของ Final Fantasy XIV
นอกจากในระดับเกมเดี่ยวๆนั้น ในระดับ Publisher เจ้าใหญ่ๆ ก็มีการทำ Subscription plan โดยคนที่สมัคร plan จะได้รับเกมใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง หรือได้รับสิทธิ์พิเศษอื่นๆ เช่น Playstation Plus, Ubisoft+ (Uplay+ เดิม) เป็นต้น
ตัวอย่างเกมฟรีที่ได้รับจากเป็นสมาชิก Playstation.Plus เดือน Dec 2020
Fun fact: Subscription model ถูกคิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ ในยุคศตวรรษที่ 17
3. Advertising Monetization model
เคยเล่น Candy Crush Saga แล้วแพ้ไหมคะ เมื่อแพ้แล้วจะมีป๊อบอัพเด้งขึ้นมาให้ดูโฆษณาเพื่อได้หัวใจเพิ่ม ทำให้สามารถเล่นต่อได้ นั่นแหละค่ะ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้โฆษณาเพื่อก่อให้เกิดรายได้ ที่เรียกกันว่า Advertising Monetization model
โดยวิธีที่ให้ผู้เล่นดูโฆษณาจบแล้วจะได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง วิธีนี้จะเรียกว่า Reward Video Ads ในขณะที่ Developer จะได้รับเงินจากจำนวนครั้งที่ผู้เล่นดูโฆษณา โดยอัตราราคาจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ตัวอย่าง Reward Video Ads จากเกม Animation Throwdown
นอกจาก Reward Video Ads แล้ว ยังมีวิธีการ อีกแบบที่น่าสนใจคือ Offer Wall ซึ่งใกล้เคียงกับ Reward Video Ads มาก คือ ผู้เล่นต้องทำกิจกรรมบางอย่าง เพื่อได้รับ Virtual Currency เพิ่มเช่น install เกมอื่นๆ, ทำ survey เป็นต้น
ตัวอย่าง Plugin Tapjoy สำหรับทำ Offer wall
อีกวิธีหนึ่งวิธี classic ที่เรารู้จักกันคือ Banner Ads หรือที่เราเห็นโฆษณาปักอยู่ตามจุดต่างๆของหน้าเกม
อีกแบบที่คิดว่าทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี และขึ้นชื่อเรื่องความน่ารำคาญมาก คือ Interstitial ads หรือ Ads ในแบบที่เด้งขึ้นมาเต็มจอ ซึ่งบางทีหลายๆคนหาปุ่ม ปิด ไม่เจออีกต่างหาก
โดยทั้ง Offer Wall, Banner Ads และ Interstitial Ads สามวิธีนี้ทาง Developer จะได้รายได้จากการคำนวณ Impression การมองเห็นของผู้เล่นในลักษณะ เดียวกับการได้รายได้จาก Reward Video Ads
ตัวอย่าง Interstitial Ads
โดยปกติแล้วโฆษณาที่จะโชว์ภายในเกมนั้นเกิดจากการเลือกของตัว Plugin ที่เราใช้ แต่ก็มี Business Model ใหม่ขึ้นมา เพื่อแก้ไขจุดนั้น Advergaming จึงได้เกิดขึ้นมา
Advergaming นั้นจะเป็นการเปิดพื้นที่โฆษณา ให้แบรนด์อื่นๆที่มีกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) ตรงกับเกม สามารถเลือกจุดที่อยากจะลงโฆษณาได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะไปอยู่เป็น Object ในเกม หรือ Banner ต่างๆ
โดยทาง Developer จะได้รายได้จากการเปิดพื้นที่ โดยอัตราค่าเช่าพื้นที่ คิดราคาจาก Impression (การมองเห็นของผู้เล่น)
ตัวอย่างที่เห็นล่าสุดคือ Riot Games ที่ได้จัดแข่ง League Of Legends Championship ได้ให้ทาง MasterCard ลงโฆษณาที่ Arena Banner เมื่อ มิถุนายนที่ผ่านมา
ตัวอย่าง Banner ที่ MasterCard ได้ลงโฆษณาใน LoL Championship
แต่ในแบบนี้ ก็อาจจะมีข้อเสีย ถ้าทาง Developer เลือกรับลูกค้าที่แบรนด์ไม่ได้ตรงกับ Target Audience ของเกม หรือมีพื้นที่โฆษณาในเกมมากเกินไป อาจทำให้เกิดความรำคาญกับคนเล่นแทนได้
Fun fact: Reward Video Ads มี eCPM หรือรายได้โดยประมาณที่จะได้รับสำหรับการแสดงโฆษณาทุกๆ หนึ่งพันครั้ง สูงสุดเมื่อเทียบกับ Ads แบบอื่น
4. Premium Games หรือ Paid Games
ในเมื่อ ข้างบน คือ 3 model ที่เห็นได้บ่อยกับเกมมือถือแบบ Free to Play ซึ่งคนเข้าถึงได้ง่ายกันไปแล้ว เราจะมาพูดถึงกรณีไม่ใช่ Free to Play กันบ้าง
ในกรณีที่ไม่ใช่เกมแบบ Free to Play นั้น ก็มีอีก Monetization Model หนึ่งคือ แบบขายขาดเกมและ Content ทั้งหมดในครั้งเดียว หรือที่เรียกกันว่า "Paid Games" หรือ "Premium games" นั่นเอง
วิธีนี้เหมาะมากในกรณีที่ได้ Publisher ที่มีฐาน Community ขนาดใหญ่ โดยวิธีนี้ Game Developer จะได้รับเงินในลักษณะ เป็น ส่วนแบ่งของรายรับทั้งหมด (Revenue) เนื่องจากจะถูก Game Publisher หักค่าบริการไป
ตัวอย่างเกม Mobile ที่มีชื่อเสียงที่เป็น Paid games คือ Minecraft
ภาพเกม Minecraft
Fun fact: ในปัจจุบัน Minecraft ก็ยังติด Top Grossing (ทำเงิน) อันดับ 1 ในหมวด Premium Games แม้ว่าจะ Publish ลงมือถือตั้งแต่ปี 2011 แล้วก็ตาม
แล้วนี่คือ 4 Monetization Model ที่ไมล์เลือกมาเล่าในบทความนี้ ซึ่งเลือกจากความนิยมและ นอกจากนั้น Model เหล่านี้ยังจัดเป็น model อันดับต้นๆที่สามารถสร้างรายรับให้ Game developer ได้มากที่สุดอีกด้วย
ต่อไปเรามาพูดถึงคนที่รับผิดชอบหน้าที่ดูแลงานส่วนนี้กันบ้างดีกว่า
ส่วนใหญ่คนที่รับผิดชอบในการจัดการออกแบบเลือกใช้ Monetization Model มักจะเป็นหน้าที่ของ Game Monetization/Economy Designer ซึ่งเป็น 1 ใน Game Design Team แต่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ
ซึ่งงานนี้ จะมีหน้าที่ต่างๆที่ต้องทำไม่ว่าจะเป็น
- ออกแบบระบบ Monetization ให้เข้ากับ gameplay ที่มีอยู่
- จัดการและตั้งราคา content ร่วมกับทีม Design, ทีม Production และทีม Business สำหรับ In-game purchase
- วิเคราะห์ data ที่ได้มา เพื่อวางกลยุทธ์และปรับปรุงระบบ Monetization
- ปรับ Game Economy ให้เข้าตามแผนการ Monetization ที่วางไว้
- ประสานงานกับทีม Support ในเรื่อง Campaign ที่จะใช้ในการโฆษณา
จากหน้าที่ที่ต้องทำซึ่งเกี่ยวกับการทำเงิน และ economic ของเกม ในหลายๆที่จึงนิยมรับ คนที่จบปริญญาตรีในด้าน เศรษฐศาสตร์, การตลาด, บริหารธุรกิจ หรือ Data Science
ตัวอย่าง Job Description
แต่เนื่องจากในประเทศไทย ยังมี Game Designer จำนวนไม่มาก ทำให้ยังไม่มีตำแหน่ง Game Monetization/Economy Designer โดยเฉพาะ
Game Designer ส่วนใหญ่ในไทยจึงต้องเป็นแบบ All-round คือทำได้ทั้ง Monetization Design, Gameplay Design, Level Design, Narrative Design และด้านอื่นๆอีก
จบไปแล้วนะคะ กับบทความ Game Monetization ศาสตร์แห่งทำเงิน 💸ฉบับย่อ
ใครสนใจอยากให้ไมล์แชร์ประสบการณ์ด้านไหน หรือเขียนบทความอะไร สามารถ comment ไว้ได้เลยค่ะ ไมล์จะอ่านทุก comment เลยค่ะ 😘
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา