22 ม.ค. 2021 เวลา 04:42 • อาหาร
ก่อนจะเล่าเรื่องว่า “ชาแบบไหนเหมาะสำหรับทำคอมบูชา” ก็ต้องว่าด้วยเรื่องของ”ชา”กันก่อนนะคะ
ว่าด้วยเรื่องของ”ชา”
กว่า 3,000 ปีที่มีเรื่องเล่าของการชงชา ต้นกำเนิดเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจาก “ประเทศจีน”ประเทศที่มีการดื่มชาเยอะที่สุดในโลกและเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ไปยังประเทศใกล้เคียง
.
เมืองไทยในอดีต ไม่มีวัฒนธรรมการดื่มชา
เรารู้จักต้นชาในฐานะของ“เมี่ยง”หรือใบชาหมัก โดยเฉพาะภาคเหนือที่คนแก่คนเฒ่ามักจะเอามาเคี้ยวเพลินยามว่างเหมือนหมากฝรั่ง
เมี่ยง อาหารที่คนภาคเหนือคุ้นเคย
ในไทยพบต้นชาที่นิยมปลูก อยู่ 2 สายพันธ์ คือ ต้นชาสายพันธุ์จีนและต้นชาสายพันธุ์อัสสัม เป็นที่มาของชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ ซึ่งใบชาทั้งหมดสามารถมาจาก”ต้นเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่กรรมวิธีในการทำ
.
ต้นชา คือ #ต้นคาเมเลียไซเนนซิส (Camillia Sinensis)ในไทยปลูกกันอยู่ 2 สายพันธ์ คือ ต้นชาสายพันธุ์อัสสัม(พันธุ์ท้องถิ่น)และต้นชาสายพันธุ์จีน
.
จุดสังเกตุง่ายๆ คือ ไร่ชาส่วนใหญ่ ที่ปลูกชาต้นเตี้ยแบบขั้นบันได มีต้นชาสวยงามไล่ระดับอยู่บนเนินเขา อันนั้นคือสายพันธุ์จีน ส่วนชาสายพันธุ์อัสสัมเป็นชาท้องถิ่น มีลำต้นทั้งเล็กและสูงใหญ่(ต้องปีนเก็บ) สามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติและโตได้ดีในป่าด้วย
ไร่ชาที่ปลูกชาสายพันธ์จีน ที่ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย
ใบชาที่ดี ต้องเก็บเฉพาะยอดและเก็บด้วยมือเท่านั้น จากรูป คือ ชาวบ้านเพิ่งเก็บใบชาด้วยมือตั้งแต่เช้ามืดจนได้เต็มตระกร้าและกำลังช่วยกันลำเลียง เพื่อชั่งน้ำหนักใบชาก่อนนำไปแปรรูปต่อไป
☕️ #ชาขาว
เป็นใบชาที่เลือกเก็บเฉพาะตูมของชาหรือยอดอ่อนส่วนปลายที่มีขนปุกปุย เมื่อเก็บแล้วนำไปตากหรืออบแห้งทันที มีสีอ่อนจาง ให้รสชาติที่นุ่มนวล
🍵 #ชาเขียว
เป็นใบชาที่เลือกเก็บเฉพาะใบรอง 2 ยอด วิธีการหลังจากเก็บคือ ทิ้งใบให้สลด แล้วนำไปนึ่งหรือคั่ว ให้น้ำชาสีจางๆ กลิ่นหอม ได้รสฝาดติดลิ้นเล็กๆ จากธรรมชาติ
🌱เรื่องน่ารู้
ชาเขียวกับมัทฉะ ทั้งสองทำมาจากใบชาส่วนยอดเหมือนกัน แต่ต่างกันที่กรรมวิธีในการผลิตและชง คือ ชาเขียว เป็นใบชาที่ต้องชง/กรอง(ของญี่ปุ่นจะตากหรืออบ ยังคงให้สีเขียว/ของจีนจะคั่ว จะให้สีเข้ม) ส่วนมัทฉะจะบดผงเท่านั้น(มีกรรมวิธีที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า)
☕️ #ชาอู่หลง
เป็นใบชา ที่มีวิธีเก็บเหมือนกับชาเขียว แต่แตกต่างกันที่กระบวนการ โดยจะมีการนวดเพื่อกระตุ้นใบชา ให้น้ำและน้ำมันที่ระเหยออกมาเคลือบผิวใบชา ส่วนใหญ่นิยมนวดให้ใบชาเป็นรูปเม็ดกลมๆ ได้เป็นชากึ่งหมัก มีสีเหลืองทองจางๆ หอม ชุ่มคอ รสชาติและวิธีการอยู่ระหว่างชาเขียวและชาดำ
เป็นชายอดนิยมที่เป็นที่ชื่นชอบของนักดื่มชามากมายทั้งคอเก่าและคอใหม่(รวมทั้งเราด้วย)
☕️ #ชาดำ
เป็นใบชาที่มีวิธีการเก็บเหมือนชาเขียวเช่นกัน มีการนวดเหมือนชาอู่หลง แต่แรงกว่าและใช้เวลาในการหมักบ่มที่นานกว่า เป็นชาที่มีการหมักโดยสมบูรณ์ ยิ่งหมักนานรสชาติจะยิ่งดี
มีสีแดง สีน้ำตาล สีดำ หอม รสเข้ม มีรสชาติที่มิติซับซ้อน ตามแต่สูตรต้นตำรับของแต่ละที่
.
ชาดำ เป็นชายอดนิยมของคนทั่วโลก แต่ละพื้นที่ต่างมีเรื่องราวของสภาพดิน ฟ้า อากาศที่ปลูก มีสูตรในการหมักบ่มเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกัน ชาผู่เอ๋อ ชาซีลอน ชาดาร์จีลิง ชาเอิลเกรย์ ก็เป็นชาดำประเภทหนึ่ง
.
ยังมีชาประเภทอื่นๆ ที่นำพืชหรือผลผลิตมาชงสด มาตากหรืออบแห้งชงกับน้ำร้อน ได้เป็น “ชาสมุนไพร ชาผลไม้” หรือที่นิยมกันมากคือ นำชาดำหรือชาอู่หลงไปเบลนด์กับวัตถุดิบต่างๆ เช่น ชากุหลาบ ชาขิง ชาลิ้นจี่
ชาแทบทุกประเภทสามารถนำมาหมัก Kombucha ได้
สารแทนนินในชา สามารถช่วยยับยั่งจุลินทรีย์ก่อโรค
*แนะนำให้ใช้ใบชาที่มาจากจากธรรมชาติ ไม่แต่งสี แต่งกลิ่น ไม่เติมสารสังเคราะห์ เพื่อให้เราได้ประโยชน์เต็มที่จากชาที่มีคุณภาพ
.
การเลือกชาที่ต่างกันมาหมักคอมบูชา
ทำให้เราได้คอมบูชารสชาติที่ต่างกันออกไป
เช่น
🍵 ชาขาว
ชาขาว นับเป็นชาที่หายาก และราคาสูง เมื่อนำมาหมักคอมบูชา จะได้รสชาติสว่าง คล้ายกับแชมเปญคุณภาพดี สีใส มีความหอมหวานจากธรรมชาติ และมีกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้
🍵 ชาเขียว
ชาเขียว เมื่อนำมาหมักคอมบูชา จะได้ชาหมักที่มีสีเขียวอ่อน ใส รสชาติเบาและมีรสชาติคล้ายไวน์ขาวมากกว่าไซเดอร์ (Jun หรือจุน เป็นชาหมักอีกประเภทที่หมักชาเขียวกับน้ำผึ้ง มีจุลินทรีย์ที่แตกต่างกับคอมบูชา ไม่แนะนำให้ทำผสมกันนะคะ)
🍵ชาอู่หลง
ชาอู่หลง จะได้คอมบูชาที่มีกลิ่นคล้ายผลไม้ ดอกไม้หรือน้ำผึ้ง สีจะมีตั้งแต่อ่อนคล้ายชาเขียวไปจนถึงเข้มคล้ายชาดำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของชาอู่หลง ได้เป็นคอมบูชาที่รสชาติกลมกล่อมนุ่มนวล
🍵ชาดำ
ชาดำ จะได้คอมบูชาที่รสขาติเข้ม มีสีแดงน้ำตาลและมีความเป็นไซเดอร์เข้มมากๆ เปรี้ยวจัด และในชาบางตัวจะได้กลิ่นออกแนว Smoky ด้วย
.
ชาที่ทำมาจากพืช ดอกไม้หรือสมุนไพรอื่นๆ บางตัวก็สามารถนำมาผสมด้วยการต้มได้ เลือกชนิดที่มีน้ำมันไม่มาก แต่ยังไงถ้าเพิ่งเริ่มทำเป็นครั้งแรกๆ ก็แนะนำให้เริ่มจากใบชาให้คล่องก่อน แล้วค่อยเริ่มทดลองเบลนด์รสชาติชาของตัวเองค่ะ 😊
โฆษณา