Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
22 ม.ค. 2021 เวลา 08:00 • หนังสือ
✴️ บทนำ (ตอนที่ 7) ✴️ หน้า (40)–(41)
💠 สัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณในมหาภารตะ 💠
ในแง่ของสัญลักษณ์ ซึ่งจะได้เห็นในอรรถกถาที่จะตามมา สายตระกูลเการพและปาณฑพซึ่งสืบเชื้อสายมาจากศานตนุสามารถเปรียบเทียบได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนกับการที่ #จักรวาลและมนุษย์ถอยจากจิตวิญญาณมาสู่วัตถุ
ส่วนบทสนทนาในคีตาจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการนั้นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ สามารถยกมนุษย์จากจิตสำนึกที่จำกัดของตนในฐานะมตชน #ไปสู่จิตสำนึกอมตะแห่งอาตมันที่แท้จริง #หรือวิญญาณที่เป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณอันไพศาล
แผนผังวงศ์วานของท้าวศานตนุดังที่ปรากฏในหน้า (43) ตลอดจนลักษณะเด่นทางจิตวิญญาณของตัวละครต่าง ๆ ดังที่ท่านลาหิริ มหัสยะได้มอบไว้ให้นั้น มีความหมายยากที่จะเข้าใจ และใช่จะตัดสินกันได้ง่ายๆ
การอธิบายความหมายลึก ๆ ของถ้อยคำและชื่อนั้น ๆ กุญแจสำคัญคือต้องค้นไปถึงรากศัพท์ของภาษาสันสกฤตดั้งเดิม การผิดพลาดอย่างร้ายแรงอาจเกิดขึ้นได้ในการตีความภาษาสันสกฤตถ้าขาดสหัชญาณที่จะสืบเสาะไปให้ถึงรากเดิมที่ถูกต้อง แล้วจึงถอดรหัสความหมายที่ถูกต้องจากรากศัพท์นั้นตามที่ใช้กันในยุคเริ่มแรกของคำนั้น★ เมื่อวางรากฐานถูกต้องแล้ว เราก็จะสามารถดึงความหมายจากแหล่งต่างๆที่เชื่อมโยงกับความหมายทั่วไปของคำนั้น และวิธีการพิเศษที่คำนั้นถูกใช้เพื่อสร้างความคิดที่มีความเชื่อมโยงกันได้อย่างน่าเชื่อถือ
★ชคัทคุรุผู้ล่วงลับ ท่านศรีศังกราจารย์ แห่งโกวาร์ธานมัฐอันเก่าแก่ที่เมืองปุรี, ท่านมหาภราตี กฤษณะ ตีรถะ ปราชญ์ผู้โด่งดังและเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวฮินดูหลายล้านคน ได้ให้ความหมายค่อนข้างชัดที่อาจดึงมาจากวรรณคดีสันสกฤต (อ่านประกอบหน้า 299 เกี่ยวกับการที่ท่านค้นพบศาสตร์เกี่ยวกับเลขคณิตในโศลกสิบหกบทในอรรถเวท)
“ที่เรารู้จักอินเดียกันในนาม 'ภารตะ' ทำให้เราได้ร่องรอยบางอย่างที่จำเป็น...ภ หมาย ถึง แสง และ ความรู้ และ รต แปลว่า การภักดี – 'ภารตะ' จึงหมายถึง #การภักดีต่อแสงเพื่อต่อสู้กับความมืด... เรามีลักษณะพิเศษนี้ที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีสันสกฤต ซึ่งทำให้ภาษา ไวยากรณ์ การเลือกใช้คำ ฯลฯ เป็นสิ่งจำเป็นในการเลือกใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงถึงบางสิ่งบางอย่าง ในลักษณะที่ปรัชญา วิทยาศาสตร์ และเทวศาสตร์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังสิ่งทั้งหลายจะได้มีความชัดเจน...ระเบียบของภาษาบ่งบอกว่าทุกสิ่งต้องมีชื่อตามลักษณะสำคัญของมันเอง ความสำคัญนี้ใช่แค่อธิบายสภาพที่เป็นไปในปัจจุบัน ความหมายในปัจจุบัน เหตุฉุกเฉิน หรือ ข้อกำหนด และ ฯลฯ เท่านั้น แต่ต้องคำนึงว่าชื่อนั้นจะเป็นที่ยอมรับกันด้วย”
“อย่างไรก็ตามในความหมายที่แท้จริง...มหาภารตะจึงมิใช่แค่ชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ณ มุมหนึ่งของโลกที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ และลักษณะเฉพาะอื่น ๆ แต่ภารตะหมายถึง 'ทุกวิญญาณที่มีความคิดเกี่ยวกับแสง' 'การอุทิศทุ่มเทตนต่อแสง' 'เพื่อต่อต้านการจมอยู่กับความมืด' #เราจึงพูดถึงแสงที่พระผู้สร้างทรงรังสรรค์เป็นสิ่งแรกเมื่อทรงสร้างโลก และคิดถึงแสงซึ่งอินเดียถือเป็นศรัทธาสูงสุด เป็นเป้าหมายที่ทรงคุณค่าสูงสุด สำคัญที่สุด และเป็นเอกกว่าสิ่งทั้งปวง”
“ภาษาสันสกฤตมีความพิเศษบางอย่าง บ่อยครั้งที่ซึ่งข้อความเดียวกันอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องที่แตกต่างกันไป เพราะมันสามารถให้ความหมายที่แตกต่างกันไปได้หลายอย่างเมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งที่แตกต่างกัน... ในบางกรณี เรามีข้อความที่ไม่แค่มีสองความหมายเท่านั้น แต่อาจมีได้ถึงสามหรือสี่ความหมาย และเกี่ยวข้องกับสิ่งที่แตกต่างกันไป ในภาษาอังกฤษเรามีลักษณะของภาษาที่เรียกว่า 'การเล่นสำนวน' เมื่อใช้คำหนึ่งคำที่ให้ความหมายแตกต่างกันไปได้สองอย่าง... เรามีตัวอย่างที่พบได้ทั่วไป เมื่อเล่นทายปริศนา เช่น การถามว่า 'ครูในโรงเรียนกับคนขับรถไฟแตกต่างกันอย่างไร?' คำตอบก็คือ 'คนหนึ่งฝึกจิตใจ ส่วนอีกคนฝึกรถไฟ'...ตัวอย่างลักษณะนี้พบได้ทั่วไปไม่สิ้นสุดในตำราภาษาสันสกฤต”
“(นอกจากนี้) เมื่อภาษาพัฒนาและมาสัมพันธ์กับภาษาอื่น ๆ ความหมายของถ้อยคำก็เปลี่ยนไป คำอาจได้ความหมายเพิ่มขึ้นหรือความหมายเดิมของคำถูกทำให้เสื่อมไป...ในบางกรณีเราหาร่องรอย การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เลย เราพูดไม่ได้ว่าภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ใดที่จะรับผิดชอบต่อการเปลี่ยน ความหมายไปเป็นเช่นนั้น ๆ ทำไมความหมายจึงเสื่อมไปเช่นนั้น ๆ หรือความหมายกลับเลิศลอยขึ้น เป็นต้น เช่น คำว่า “Knave” ใน ภาษาอังกฤษยุคใหม่แปลว่า คนขี้ฉ้อ วายร้าย คนเลว คนนิสัยไม่ดี คนโกง แต่ในสมัยชอเซอร์นั้น คำนี้แค่หมายถึง ผู้ชาย หรือ เด็กผู้ชาย เท่านั้นเอง”
สรุปจาก Vedic Metaphysics (Varanasi: Motilal Banarsidas, 1970)
(หมายเหตุผู้จัดพิมพ์)
เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้รจนาภควัทคีตา ได้ใช้นามที่เหมาะสมหุ้มห่อความโน้มเอียงทางจิตวิทยา หรือ ความสามารถ รวมทั้งหลักการทางอภิปรัชญาไว้ได้อย่างแยบคาย แต่ละคำช่างไพเราะงดงาม! แต่ละคำได้มาจากรากภาษาสันสกฤต! แต่ละหน้าหนังสือที่ขยายออกไปยิ่งเชื้อเชิญให้ล้วงลึกลงไปในอุปมาที่ซ่อนอยู่ – ซึ่งคนทั่วไปอาจเห็นว่าน่าเบื่อ แต่นี่คือสิ่งน่าพิสมัยสำหรับนักปราชญ์ ข้าพเจ้าได้ให้ตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ไว้เป็นครั้งคราว ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นข้าพเจ้าได้มาจากคำอธิบายที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์ศรียุกเตศวร
'หลักการการสร้างจักรวาลและการรังสรรค์' คือ #การเปลี่ยนรูปบรมวิญญาณอันไร้ที่สิ้นสุดให้กลายเป็นพระเจ้า หรือ พระบิดาผู้ทรงสร้าง ในเชิงเปรียบเทียบ “ศานตนุ” ก็คือปรพรหมัน หรือเทพบิดรผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงเป็นต้นธารอันไร้การเปลี่ยนแปลงของสารัตถะแห่งสิ่งสร้างทั้งปวง เป็นความจริงหนึ่งเดียวที่เกื้อหนุนพลัง รูปแบบ และชีวิตที่วิวัฒน์จากจิตจักรวาลแห่งพระองค์ ซึ่งเริ่มจากการที่ปัญญาญาณและพลังสั่นสะเทือนแห่งการสร้างสรรค์แผ่ซ่านจากพระกายของพระองค์ และตัวแทนของปัญญาญาณและพลังสั่นสะเทือน คือมเหสีทั้งสองของพระองค์ คือ 'พระแม่คงคา' กับ 'พระแม่สัตยาวตี'
(มีต่อ)
หน้า (43)
บันทึก
1
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภควัทคีตา เล่ม 1 บทนำ
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย