25 ม.ค. 2021 เวลา 03:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อนาคตของคุณ คุณคือผู้กำหนด
#6 ทำไมเราควร ออมให้เพียงพอสำหรับการเกษียณ
มีคนเพียงจำนวนน้อยที่คิดถึงเรื่องการเกษียณของตัวเองก่อนอายุ 40 ปี เหตุผลส่วนใหญ่ก็เพราะรู้สึกว่าเรื่องเกษียณยังเป็นเรื่องไกลตัว คนส่วนใหญ่มักเริ่มคิดเรื่องเกษียณเมื่ออายุเข้าสู่เลขหลักสี่ และบางคนก็ไม่ได้คิดเลยจนไปถึงเลขหลักห้า
2
ในเวลานั้นถ้าเรามีภาระหนักระยะยาวที่ต้องแบกรับอยู่จากการที่ไม่ได้คิดวางแผนการเงินไว้แต่แรก ภาระเฉพาะหน้าที่มีก็ทำให้การวางแผนการเกษียณกลายเป็นเรื่องรองลงไป ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือเกิดปัญหาไม่พร้อมเกษียณอายุ
Credit : Unsplash.com
ในความเป็นจริงการวางแผนการเกษียณไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเรามีการออมที่เพียงพอและยิ่งถ้ามีวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลาก่อนเกษียณก็จะช่วยได้มาก
เมื่อพิจารณาจากระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุที่ภาครัฐได้สร้างขึ้นมาเป็นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีการออมภาคบังคับอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งก็คือ กองทุนประกันสังคม(กรณีชราภาพ) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สองระบบนี้ถือเป็นการออมภาคบังคับที่เราจะถูกหักเงินส่งเข้ากองทุนเป็นประจำทุกเดือนพร้อมๆ กับการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง ซึ่งเท่ากับการที่นายจ้างถูกบังคับให้ช่วยออมด้วย
ในภาคเอกชนมีหลายองค์กรที่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้บังคับให้ทุกองค์กรต้องจัดตั้งจึงอาจไม่ครอบคลุมสำหรับคนทำงานภาคเอกชนทุกคน แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นแบบกึ่งบังคับก็ตาม แต่ต้องถือว่าเป็นผู้โชคดีที่จะได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเพิ่ม
แผนการเกษียณของเราจะพึ่งพากองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงเท่านั้นได้หรือเปล่า?
คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีเงินก้อนใหญ่เก็บสำรองไว้ และต้องสะสมเงินออมสำหรับใช้ในยามเกษียณด้วยตนเอง ถ้าเราหวังพึ่งเพียงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลัก ก็คงต้องลองคำนวณดูว่าเราจะมีเงินใช้แค่ไหน และคุณภาพชีวิตของเราในเวลานั้นจะเป็นอย่างไร
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ อาจจะมีรายละเอียดของเงินบำนาญที่ขึ้นกับเงื่อนไขส่วนบุคคล แต่สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่จะมีเงื่อนไขที่ง่ายกว่า และเมื่อทำงานไปจนถึงวันเกษียณอายุ ก็จะได้เงินที่เราออมไว้ เงินที่นายจ้างจ่ายสมทบ และผลประโยชน์ของเงินทั้งสองก้อน นับเป็นเงินก้อนไม่น้อยเลยทีเดียว
3
บทความนี้ชวนทุกคนมาลองดูกันนะครับว่า เงินที่เราจะได้รับ ณ วันเกษียณ (ยังไม่รวมเงินชดเชยตามกฎหมายนะครับ) จากเงินที่ส่วนใหญ่จะถูกหักเงินประมาณเดือนละ 5% และนายจ้างจ่ายสมทบอีก 5% จะเป็นอย่างไร ขอลองดูง่ายๆด้วยการใช้ตัวอย่างประกอบนะครับ
ตัวอย่างสมมุติ เริ่มหักกองทุนฯ เมื่ออายุ 25 ปี โดยมีเงินเดือน 20,000 บาท อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของเงินกองทุนเท่ากับ 5% และคาดว่าจะมีเงินเดือนเพิ่มปีละ 5%
1
ณ วันเกษียณอายุ 60 ปี น่าจะมีเงินเดือนประมาณ 100,320 บาท และเงินกองทุนฯ ที่เราจะได้รับคือ 4.972 ล้านบาท (เงินออมของเรา เงินสมทบนายจ้าง และผลประโยชน์ รวมกัน)
ผลการศึกษาหลายๆ ชิ้น บอกว่าคนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตวัยเกษียณในระดับคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับวันเกษียณอายุ ซึ่งจะใช้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 70% ของรายได้ ณ วันเกษียณ
หากเป็นไปตามนี้ เงิน 4.972 ล้านบาทที่ได้รับมา ณ วันเกษียณ จะใช้ไปได้เป็นระยะเวลากี่ปี?
1
ถ้าเงินก้อนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นรางวัลชีวิต ณ วันเกษียณ เช่น เดินทางท่องเที่ยว ซื้อรถใหม่ ฯลฯ เงินก้อนนี้ก็จะถูกทยอยนำมาใช้ในแต่ละเดือน เงินส่วนที่เหลืออยู่หากได้ผลตอบแทนปีละ 3% (ผลตอบแทนที่ยอมรับได้ ณ ในช่วงเกษียณ)
คำนวณได้ว่า เงิน 4.972 ล้านบาท ที่ถูกถอนใช้ทุกเดือน จะสามารถใช้ได้เป็นระยะเวลา 5 ปี 10 เดือน และจะหมดไปก่อนเรามีอายุ 66 ปี หรือถ้าเราลดค่าใช้จ่ายลงเหลือเพียง 50% ของรายได้ ณ วันเกษียณ เงินก้อนนี้ก็จะใช้ได้เป็นเวลา 8 ปี 6 เดือน และจะหมดไปเมื่อเรามีอายุ 68 ปี 6 เดือน ไม่รับว่าจะต้องมีการนำเงินไปใช้จ่ายด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ
เราทราบดีอยู่แล้วว่า อายุขัยของคนในปัจจุบันยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นอย่างน้อยๆ เราควรจะมีเงินใช้ไปได้ถึงอายุ 80 ปีเป็นอย่างน้อย ระยะเวลาที่เหลือจนถึงวันที่เราไม่อยู่แล้วเราจะเอาเงินจากแหล่งใดมาใช้? แต่ละคนก็คงจะหาทางออกให้กับตัวเอง อาจจะต้องลดคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่อเดือน อาจจะขายบ้านเพื่อนำเงินมาใช้ อาจจะได้รับเงินจากบุตรหลาน หรือวิธีการอื่นๆ
1
แล้วถ้าเราอยากจะมีเงินใช้ไปจนถึงอายุ 80 ปี โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการที่จะเป็นภาระต่างๆ เราจะต้องมีเงินออมเท่าไหร่
ภาพกราฟเดียวกัน จะเห็นได้ว่าหากเรามีเงินออม ณ วันเกษียณเป็นเงิน 9.944 ล้านบาท หรือเท่ากับสองเท่าของเงินจากกองทุนฯ (4.972ล้าน x 2) เมื่อเราใช้จ่ายในแบบเดียวกัน เงินก้อนนี้จะสามารถใช้ได้เป็นระยะเวลา 12 ปี 11 เดือน หรือหมดไปเมื่อเรามีอายุ 73 ปี ด้วยเงินก้อนนี้เราจำเป็นต้องลดคุณภาพชีวิตลง เหลือใช้จ่าย 50% ของรายได้ ณ วันเกษียณ (ซึ่งจะกระทบวิถีชีวิตบ้าง) เราก็จะสามารถใช้เงินไปจนถึงอายุ 80 ปี และถ้าเราต้องการเงินใช้เพิ่ม เราก็ต้องออมเพิ่มขึ้น
เงินที่เราจะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันเกษียณ จากการที่เราถูกหักเงินออมเดือนละ 5% ของรายได้ และนายจ้างจ่ายสมทบให้เราอีก 5% เท่ากับมีการออม 10% ของรายได้ เมื่อเราต้องการเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าตัว เราก็ต้องออมเพิ่มอีกเดือนละ 10% นั่นเอง เงินออมโดยรวมของเราจึงเทียบเท่ากับ 20% (เราออม 15% + นายจ้าง 5%) ด้วยการออมเงินจำนวนนี้เรายังต้องลดคุณภาพชีวิตของเราลงหลังเกษียณ ยิ่งการออมล่าช้า เราก็จะต้องยิ่งออมมากขึ้นเพื่อชดเชยกับเวลาที่เสียไปก่อนหน้า และยิ่งอายุมากความสามารถในการรับความเสี่ยงก็จะลดลงทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนแปรผันไปตามระดับความเสี่ยงด้วย
ฉะนั้นเราควรลองให้ความสำคัญกับการออมเพิ่มเติมหากเราต้องการมีชีวิตหลังเกษียณที่พร้อม ยิ่งหากต้องการมีอิสรภาพทางการเงินก่อนเกษียณก็ยิ่งต้องวางแผนเตรียมพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ทั้งการสร้างรายได้ และการบริหารรายจ่าย
เงินออมส่วนเพิ่มนี้เป็นการออมระยะยาว เราสามารถเลือกรูปแบบการออมได้ตามความพอใจ หากเราต้องการการออมที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย ในส่วนของกองทูนฯ ก็มี RMF และ SSF หรือกองทุนรวมอื่นๆ ลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งเราสามารถจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับอายุ การยอมรับความเสี่ยง และเป้าหมายการเงินของเรา
ใครที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้ ก็คงไม่มีปัญหาที่จะเริ่มออมให้เพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ แต่คนที่กำลังเผชิญปัญหาด้านต่างๆ ถ้าเป็นผลกระทบระยะสั้น คงต้องแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ แต่หากเป็นผลกระทบระยะยาว เราก็ควรจะมองดูว่าจะปรับแผนการเงินเรื่องต่างๆ อย่างไรครับ
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ ที่จำลองให้เราเห็นความสำคัญของการออมเพิ่มเพื่อให้มีเงินพอใช้หลังเกษียณ จำนวนเงินค่าใช้จ่ายเป็นเพียงตัวอย่างที่กำหนดขึ้น ในความเป็นจริงแต่ละคนต้องพิจารณาการใช้จ่ายของตัวเอง และยังมีเงินก้อนอื่นๆ ที่ไม่ได้นำมาคำนวณ เช่น เงินชดเชยตามกฏหมาย ซึ่งเมื่อทำงานครบ 20 ปีก็จะได้เงินชดเชย 400 วันของค่าจ้าง ณ วันสุดท้ายก่อนเกษียณ เป็นต้น ในทางกลับกันเราก็อาจต้องคิดเผื่อไว้หากเราต้องเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีเช่นกัน
อนาคตของคุณ คุณคือผู้กำหนดนะครับ
ซีรีย์ "อนาคตของคุณ คุณคือผู้กำหนด" เป็นซีรีย์แรกๆ ที่ผมเขียนในช่วงที่เริ่มเข้ามาใน Blockdit นะครับ ถือเป็นความตั้งใจแรกๆ ที่ใช้ในการเขียนบทความการเงินครับ อาจจะห่างหายจากซีรีย์ฯ นี้ไปนานพอควร แต่ก็พยายามเขียนเรื่องต่างๆ เพื่อเติมเต็มและเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนได้เริ่มวางแผนเพื่อการเกษียณให้กับตัวเองครับ ปัญหาเกษียณไม่พร้อม เป็นปัญหาใหญ่ของคนในประเทศ เราจึงควรคิดเรื่องการเกษียณตั้งแต่ช่วงที่อายุไม่มากครับ
บทความก่อนหน้าในซีรีย์เดียวกันนี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาอ่านและคิดอยากวางแผนเพื่อการเกษียณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา