25 พ.ค. 2020 เวลา 07:08
อนาคตของคุณ คุณคือผู้กำหนด
#5 ระบบบำเหน็จบำนาญไทย...เกษียณที่ไม่สุข
ปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ประเทศไทย ถูกเพิ่มเข้าสู่ดัชนี the 2019 Melbourne Mercer Global Pension Index (MMGPI) ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีมาตราฐานที่วัดประสิทธิภาพของระบบบำนาญในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาต่อเนื่องนับสิบปี ด้วยเกณฑ์กลางที่ใช้วัดเปรียบเทียบร่วมกัน
Credit : Unsplash.com
ปรากฎว่าประเทศไทยสอบได้อันดับบ๊วย มีคะแนนเพียง 39.4 คะแนน ต่ำที่สุดในบรรดา 37 ประเทศที่ MMGPI ทำการวัดคะแนน และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ 59.3 คะแนนค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญที่รองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุของคนไทยมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
การวัดความพร้อมของประเทศไทยได้รวม กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณที่ให้สิทธิลดหย่อนทางภาษี ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และประกันบำนาญไว้ด้วยแล้ว ซึ่งนอกจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญซึ่งเป็นการออมภาคบังคับแล้ว ที่เหลือเป็ํนการออมภาคสมัครใจทั้งสิ้น
1
Credit : MMGPI 2019
ใน 5 ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนด้วยกันที่อยู่ในรายงานประจำปี 2562 พบว่า ประเทศสิงคโปร์ (70.8 คะแนน) และมาเลเซีย (60.6 คะแนน) เป็นสองประเทศเพื่อนบ้านที่มีคะแนน MMGPI สูงกว่าค่าเฉลี่ย (59.3 คะแนน) เรียกได้ว่าสอบผ่านการวัดประสิทธิภาพของระบบเพื่อการเกษียณของประเทศ
สิงคโปร์และมาเลเซียใช้ระบบที่เหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นระบบการออมหลักเพื่อการเกษียณอายุ ลูกจ้างและนายจ้างจะต้องร่วมกันจ่ายเงินสมทบในอัตราส่วนของรายได้ประจำที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการออมเพื่อการเกษียณด้วย เช่น การออมเพื่อซื้อบ้าน การออมเพื่อการศึกษาบุตร ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ เป็นต้น
ชาวสิงคโปร์และชาวมาเลเซียทุกคนที่มีรายได้จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทูนฯ เหล่านี้
Credit : Unsplash.com (Background)
ระบบการออมเพื่อการเกษียณของประเทศไทยมีความซับซ้อน แต่ละระบบครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพได้ว่าเรามีการออมอยู่ในระดับที่เพียงพอหรือไม่
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยเป็นระบบในภาคสมัครใจ ซึ่งต่างจากของสิงคโปร์และมาเลเซียที่เป็นเหมือนภาคบังคับที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก จึงพบว่าในประเทศไทยมีบริษัทที่เข้าร่วมกองทุนสำรองฯ จำนวนน้อย เนื่องจากนายจ้างไม่อยากเข้าร่วมสมทบและความยุ่งยากในการบริหารจัดการ หากไม่ได้มีการกำหนดให้ปฎิบัติทุกบริษัทฯ ก็ไม่สามารถครอบคลุมลูกจ้างทุกคน
1
ลูกจ้างไทยส่วนใหญ่จึงอยู่ในระบบความคุ้มครองที่รองรับเกณฑ์ขั้นต่ำของรายได้เป็นหลักและไม่ครอบคลุมไปถึงบางกลุ่มอาชีพ และรัฐต้องแบกรับภาระไว้มากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่าความซับซ้อนของระบบอาจมีส่วนให้ประสิทธิภาพของระบบด้อยลง แต่สำหรับประเทศไทยที่มีความหลากหลายด้านเศรษฐกิจระดับบุคคลทำให้ต้องเลือกให้ความสำคัญกับกลุ่มรายได้น้อยเป็นหลัก จึงยิ่งทำให้ในภาพรวมไม่รองรับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเพียงพอ
หากเทียบกับระบบประกันสังคมของสิงคโปร์ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่รัฐบาลทำหน้าที่ควบคุมและบริหารกองทุนให้เกิดสิทธิประโยชน์ไม่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบ แต่ภาระหน้าที่เป็นของลูกจ้างและนายจ้าง
รัฐบาลสิงคโปรไม่เห็นด้วยกับการนำเงินจากผู้ประกันตนไปจ่ายบำนาญแก่ผู้ที่เกษียณอายุจึงเลือกใช้ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่่ลูกจ้างออมเท่าไร เมื่อเลิกทำงานก็ได้เงินคืนบวกผลประโยชน์จากการลงทุนโดยไม่ต้องห่วงว่าจะเอาไปให้คนอื่นใช้ ด้วยหลักคิดที่ว่าประชาชนต้องพึ่งตนเองก่อนพึ่งรัฐบาล รัฐบาลสิงคโปร์จึงไม่จ่ายเงินสมทบ และรัฐบาลไม่ต้องรับความเสี่ยงของการบริหารหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจมหภาค
1
รวมถึงไม่ต้องกังวลกับความล่มสลายของระบบกองทุนประกันสังคมที่จ่ายเงินจำนวนตายตัว ที่กำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่เงินกองกลางอาจไม่พอกับกระแสเงินออกเพราะจำนวนเพราะคนชรามากขึ้น อายุยืนขึ้นและอยู่รับเงินบำนาญนานขึ้น
2
ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศที่มีสังคมผู้สูงวัยแบบเต็มตัว จะมีอัตราส่วนประชากรอายุ 60 ปี(วัยเกษียณ)ขึ้นไปมากว่า 20% ของประชากรโดยรวม
1
เมื่อระบบสวัสดิการและระบบการออมเพี่อการเกษียณที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณได้เพียงพอ ย่อมกระทบกับคุณภาพชีวิต การเติบโตทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภายในประเทศ และภาระของภาครัฐในอนาคต
เมื่อเราตระหนักแล้วว่า ระบบบำเหน็จบำนาญของไทยไม่เพียงพอให้เราเกษียณอย่างมีความสุข เราก็คงต้องเลือกที่จะวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณเพิ่มเติมด้วยตัวเราเอง
สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่อยากคำนวณจำนวนเงินเฉลี่ยที่เราต้องมีไว้ ณ วันเกษียณ อาจเริ่มวางแผนการออมเพี่อการเกษียณโดยใช้ตัวเลขที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำไว้ผ่านโครงการ Happy Money Happy Retirement คือ 4 ล้านบาท (หรือจะดูในบทความก่อนหน้าในซีรีย์นี้ เพื่อหาตัวเลขที่ตรงกับตัวเรา)
Credit : www.set.or.th
ความลับของการบรรลุเป้าหมายชีวิต จาก "Happy Money, Happy Retirement"
โดยเฉพาะเป้าหมายที่สำคัญและต้องใช้เงินจำนวนมากอย่าง “เป้าหมายเกษียณ” ของคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่หวังจะพิชิตความฝันด้วยสองมือของตนเอง
จึงอยู่ที่
- การเริ่มต้นวางแผนการออมและลงทุนให้เร็ว และเพิ่มเติมด้วย
- วินัยการออมอย่างสม่ำเสมอ
เงินก้อนเล็กก้อนน้อยที่หลายๆ คนอาจมองข้าม ก็สามารถทำงานให้เราได้ด้วย การต่อยอดผลตอบแทนทบต้นโดยอัตโนมัติ และทำให้ฝันของเราเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด
เมื่อมีเป้าหมายสร้างเกษียณสุขในฝันแล้ว ถึงเวลาลงมือสร้างแผนออมเงินสม่ำเสมอของเราซะที ที่บอกว่า “ออมสม่ำเสมอ” ก็แล้วแต่ความสะดวกของเราว่า จะเป็นปีละครั้ง หรือ ทุก 6 เดือน 3 เดือน หรือ เดือนละครั้งได้ยิ่งดี
การออมอย่างสม่ำเสมอ คือหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายเกษียณ
หากเป้าหมายของเราคือ 4 ล้านบาทข้างต้น ลองดูว่าเรามีทรัพย์สินอะไรที่จะสามารถใช้ได้หลังเกษียณอายุ เช่น เงินประกันสังคม (จำนวนเงินดูจากบทความก่อนหน้า) กองทุนฯ ต่างๆ รายได้ที่จะมีหลังเกษียณ แล้วเราจะรู้ว่าเราจะต้องเก็บออมเงินและลงทุนเพิ่มเติมอีกเท่าไหร่ในช่วงก่อนเกษียณอายุ จากนั้นก็วางแผนการออมและเริ่มลงมือออมเงินเพื่อเกษียญที่สุขครับ หลักการที่ MMGPI แนะนำคือการทำให้การออมเพื่อการเกษียณมีความเกี่ยวข้องกับรายได้ เช่นกำหนดสัดส่วนของรายได้ที่ต้องออม และหักเงินออมออกจากรายได้โดยทันทีที่ได้รับรายได้ เพื่อให้มีการออมอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ
รูปแบบการออมและการลงทุนปรับให้เหมาะสมกับเรา โดยสามารถเลือกออมและลงทุนในแบบที่ได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเพื่อลดภาระภาษีและนำไปลงทุนเพิ่มเติมได้ ส่วนจะเลือกลงทุนในรุปแบบอะไร ลองศึกษาจากบทความด้านการลงทุนที่เพื่อน BD เขียนไว้ได้น่าสนใจจำนวนมากครับ
อย่าคิดว่าเรื่องเกษียณอายุ เป็นเรื่องไกลตัวนะครับ ยิ่งในสภาวะที่ตลาดการเงินมีผลตอบแทนที่ต่ำลงและมีความผันผวน การเตรียมตัวให้พร้อมยิ่งต้องใช้ทรัพยาการต่างๆ มากยิ่งขึ้น เราจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณให้เร็วที่สุด
Credit : CBS News
จำไว้ว่า :
หนี้สิน คือ การเอาเงินอนาคต มาใช้ในปัจจุบัน
เงินออมเพื่อเกษียณ คือ การเอาเงินสะสมในปัจจุบัน ไปใช้ในอนาคต
ฉะนั้น...แทนที่เราจะนำเงินจากอนาคตมาใช้ในวันนี้ที่เรายังมีรายได้ เราจึงควรจะเอาเงินส่วนหนึ่งที่หาได้ในปัจจุบันไปใช้ในอนาคตที่เราจะไม่มีรายได้อีกต่อไป...มากกว่าครับ
อนาคตของคุณ...คุณคือผู้กำหนด
ขอบคุณที่อ่านมาถึงตอนท้ายของบทความครับ
ซีรีย์ "อนาคตของคุณ คุณคือผู้กำหนด" นี้เป็นซีรีย์ชุดแรก บทความในซีรีย์ ก็เป็นบทความแรกๆ ที่ผมเริ่มการเขียนบทความใน BD ผมห่างหายจากบทความเหล่านี้ไปนานและคิดว่าซีรีย์นี้คงจะจบไปโดยปริยาย แต่วันนี้ได้โอกาสกลับมาต่อยอดบทความเพื่อการเกษียณอีกครั้ง หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
มีความเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะเห็นเหมือนหรือเห็นต่าง สามารถแชร์ความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนได้ ด้วยความยินดีนะครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก the 2019 Melbourne Mercer Global Pension Index (MMGPI) และ www.set.or.th

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา