16 พ.ย. 2019 เวลา 03:10
อนาคตของคุณ คุณคือผู้กำหนด
#4 หาจำนวนเงินจริง ที่คุณต้องใช้หลังเกษียณกัน
ในชีวิตจริงเราแต่ละคนต้องการเงินที่จะใช้ในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน โดยปกติหลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายบางประเภทที่สูงในช่วงแรกที่เกษียณ แล้วค่อย ๆ ลดลงไปตามระยะเวลา เช่น ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ในขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ช่วงแรกจะไม่สูงมากแต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล
ถ้าเราต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบที่เราเป็นเราจึงควรเตรียมจำนวนเงินให้มีใช้เพียงพอ ดีกว่าการคำนวณว่าเงินที่มีในวันเกษียณจะต้องแบ่งใช้ต่อเดือนได้เท่าไหร่ แล้วมาพบภายหลังเมื่อเราเกษียณว่าเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่คิดไว้ และมีเพียงทางเลือกเดียวคือต้องปรับเปลี่ยนมาตราฐานการใช้ชีวิตลงไปจากเดิมเท่านั้น
มาดูกันว่าความจริงแล้วเราต้องการใช้เงินในช่วงหลังเกษียณในแต่ละเดือนเท่าไหร่กันแน่ และเราต้องเตรียมเงินไว้มากน้อยอย่างไร มาคำนวณกันครับ
1. หลังเกษียณเราจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่
วิธีที่ 1 คำนวณจากเงินได้ ข้อมูลทางสถิติพบว่า ค่าใช้จ่ายที่จะยังคงรักษามาตรฐานการดำรงชีพให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกษียณ มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 50% - 70% ของรายได้ที่ได้ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ โดยระดับสัดส่วนที่ 50% จะเป็นขั้นต่ำที่แค่พอเพียงต่อการใช้ชีวิต การใช้สัดส่วน 70% ในการคำนวณ จะทำให้เรามีการดำรงชีวิตที่สบายมากกว่า
วิธีที่ 2 คำนวณจากค่าใช้จ่าย วิธีนี้ต้องหาค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเป็นของปีแรกที่เกษียณ แล้วปรับด้วยอัตราเงินเฟ้ออีกที คนส่วนมากจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณประมาณ 70% ของค่าใช้จ่าย ณ ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ใกล้จะเกษียณ เพราะค่าใช้จ่ายที่มีจะค่อนข้างใกล้เคียงความจริงแล้ว ทำให้ประมาณการได้แม่นยำกว่า และเหมาะสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายการใช้เงินที่แตกต่างออกไป
สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอนก็สามารถใช้ค่าใช้จ่ายเป็นฐานคำนวณ แต่อาจต้องปรับอายุเกษียณให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องเกษียณที่อายุ 60 ปีเหมือนคนมีรายได้ประจำแบบเงินเดือน
ขอเลือกใช้วิธีที่ 1 เพื่อหาจำนวนเงินที่ใช้หลังเกษียณ จากอายุปัจจุบัน จำนวนปีที่ขึ้นเงินเดือน และอัตราการเพิ่มของเงินเดือนที่เราคิดว่าเราจะได้ ตามตารางนี้
ประมาณการเงินเดือน ณ วันเกษียณ
ตัวอย่าง
นาย ก อายุ 40 ปี มีรายได้เดือนละ 35,000 บาท เงินเดือนเพิ่มเฉลี่ย 3% คำนวณได้จาก เงินเดือนปัจจุบัน /10000 คูณ ตัวเลขเงินเดือนที่อัตราเพิ่ม 3% ในตาราง ( = 35,000/10,000 x 18,061)
นาย ก จะมีเงินเดือน ณ วันเกษียณ 63,214 บาท ถ้านาย ก ต้องการใช้เงิน ณ ระดับ 50% จำนวนเงินที่ใช้หลังเกษียณจะเท่ากับ 31,600 บาท
2. หาจำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณอายุ
ในEP#2 ที่ผ่านมา เราประมาณการได้แล้วว่า เราจะใช้เงินได้เท่าไหร่ต่อเดือนจากก้อนเงินที่เรามี ณ วันเกษียณ ขั้นตอนนี้คือการทำตาม #2โดยการหาจำนวนเงินที่ต้องสะสมไว้ใช้จากตารางใน #2 (ดูได้จากด้านล่างนี้) ด้วยการนำจำนวนเงินที่เราต้องใช้หลังเกษียณที่คำนวณได้ไปเทียบกับตาราง ดูว่าเราจะต้องมีจำนวนเงินสะสมไว้ในวันเกษียณเท่าไหร่ คนที่ conservative หรือเป็นเพศหญิงซึ่งโดยมากจะมีอายุยาวกว่าผู้ชาย อาจเพิ่มจำนวนปีที่จะอยู่ไปอีก 5 ปี เท่านี้ก็จะได้ตัวเลขเงินที่เราควรจะต้องเตรียมให้พร้อม ณ วันเกษียณ
ตารางจาก #2 แก่แล้วเราจะมีเงินใช้เท่าไหร่..
นาย ก คำนวณเงินที่ต้องเตรียมไว้ ณ วันเกษียณ ตามอายุขัยเฉลี่ย โดยนำ เงินที่ต้องใช้หลังเกษียณต่อเดือน / เงินที่ใช้ได้ต่อเดือนจากตาราง คูณ 1 ล้าน (= 31,600/2,882 x 1,000,000)
นาย ก จะต้องมีเงินในวันเกษียณประมาณ 11 ล้านบาท และถ้าคำนวณเผื่ออายุขัยเพิ่มอีก 5 ปี จำนวนปีหลังเกษียณของนาย ก จะเพิ่มเป็น 29 ปี (= 31,600 / 2,413 x 1,000,000) นาย ก จะต้องมีเงินประมาณ 13.1 ล้านบาท
โดยสรุป นาย ก ต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อยที่สุด 11 ล้านบาท แล้วเราล่ะครับต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ ลองคำนวณจำนวนเงินที่เราต้องเก็บสะสมเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างที่ต้องการกันครับ (ถ้าคำนวณแล้วอยากแชร์ก็แชร์ได้เลยนะครับ)
เห็นตัวเลขแล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าเราจะหาเงินได้ตามนั้นหรือเปล่า เราต้องทำได้ ใคร ๆ ก็ทำได้เช่นกันครับ
หมายเหตุ: ตัวเลขที่ใช้ทั้งหมดใช้เพื่อกำหนดกรอบการวางแผนเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าต้องการเอาไปใช้จริง อาจต้องปรับหรืออัพเดตข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม รวมทั้งการปรับทบทวนเมื่อมีสถานการณ์ด้านผลตอบแทนการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเรามีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากปัจจุบันครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา