Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดูดีๆก็เคมีวิศวกรรมนี่นา
•
ติดตาม
24 ม.ค. 2021 เวลา 04:12 • ประวัติศาสตร์
ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันกี่แห่ง?
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรามีโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมด 7 โรง ในจำนวนนี้เป็นโรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์ของเอกชน 6 บริษัท และโรงกลั่นของทหารอีก 1 แห่ง ได้แก่
1. ไทยออยล์
2. เอสโซ
3. บางจาก
4. GC
5. IRPC
6. SPRC
7. ฝาง
ในจำนวนนี้ มี 2 โรง อยู่ริมทะเลอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี คือไทยออยล์กับเอสโซ
1 โรงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร คือ บางจาก
อีก 3 แห่ง คือ GC,IRPC,SPRC อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
และโรงกลั่นน้ำมันฝางซึ่งเป็นโรงกลั่นเพื่อกิจการทหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
สังเกตว่าโรงกลั่นน้ำมันมักตั้งใกล้กับทะเล หรือแม่น้ำ เพื่อที่จะได้ใช้เรือในการขนส่งน้ำมันดิบ หรือ ผลิตภัณฑ์เข้า-ออกโรงกลั่นได้สะดวก
แล้วทำไมฝางถึงไปตั้งอยู่เชียงใหม่ล่ะ?
เพราะว่าตรงนั้นมีแหล่งน้ำมันดิบอยู่น่ะสิ เป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกแหล่งแรกของไทย มัน “แรก” เสียจนต้องบอกว่าสมัยที่ค้นพบนั้น คำว่าปิโตรเลียมยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยเลยก็ว่าได้
โรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุดโรงนึงของไทย คือไทยออยล์ ก่อตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2504 หรือก็คือ 60 ปีพอดิบพอดีในปีนี้ (พ.ศ. 2564) แต่ว่าโรงกลั่นน้ำมันฝางเกิดก่อนไทยออยล์สามปี คือ เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2501 และเริ่มดำเนินการในปี 2502 ก่อนที่ไทยออยล์จะจดทะเบียจัดตั้งบริษัทเสียอีก!
โรงกลั่นฝางว่าเก่าแก่แล้ว แต่ประวัติของแหล่งน้ำมันดิบที่ฝางเก่าแก่กว่านั้นอีก!
แหล่งน้ำมันดิบฝางมีรายงานว่าพบน้ำมันซึมขึ้นมาที่ผิวดินแล้วชาวบ้านไปพบเข้า ปีนั้นคือปี พ.ศ. 2464 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในคราวนั้นประเทศไทยอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมืองเชียงใหม่ยังปกครองโดยเจ้านครเชียงใหม่อยู่เลย
แล้วแหล่งน้ำมันดิบนี้ก็เปลี่ยนมือหลายต่อหลายครา ไล่ตั้งแต่กรมรถไฟที่เข้าไปสำรวจในปีแรกที่มีรายงานค้นพบน้ำมัน > กรมทาง ที่เข้ามาสำรวจในปี 2475 (ปีเดียวกับที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) > กรมเชื้อเพลิงทหารบก ที่เข้ามาดูแลในปี 2480 > กรมโลหกิจ (ปัจจุบันคือกรมทรัพยากรธรณี) เข้ามาดำเนินงานในปี 2492
> และกรมการพลังงานทหารที่เข้ามารับโอนงานต่อจากกรมโลหกิจในปี 2499 ซึ่งต่อมาได้เริ่มก่อสร้างโรงกลั่นต้นปี 2501 และแล้วเสร็จในปลายปี 2502 โดยมีกำลังการกลั่น 1000 บาร์เรลต่อวัน (bbl/d) ซึ่งถือว่าเล็กมากหากเทียบกับขนาดของโรงกลั่นไทยออยล์ที่ได้รับอนุมัติให้สร้างแรกสุดในอีกสองปีถัดมา ที่ 35,000 bbl/d (ต่างกัน 35 เท่า!)
โรงกลั่นฝางออกแบบเพื่อรองรับการกลั่นน้ำดิบไชยปราการ ก็คือน้ำมันดิบที่ขุดได้จากหลุมแถบนั้น ซึ่งที่โรงกลั่นมีขนาดเล็กก็เพราะน้ำมันดิบที่ขุดได้มีจำนวนไม่มากนั่นเอง
พึงเข้าใจว่าการออกแบบโรงกลั่นน้ำมันใดๆก็ตาม จะต้องมีเสปคน้ำมันดิบเป็น basis ตั้งต้นสำหรับการออกแบบ คือต้องดูว่าน้ำมันดิบที่จะนำเข้ามาป้อนกระบวนการนั้นมีลักษณะอย่างไร คุณสมบัติเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบอะไรในสัดส่วนเท่าไร เช่น สัดส่วนแก๊ส สัดส่วนน้ำมันเบา สัดส่วนน้ำมันหนัก สัดส่วนของกาก ปริมาณปรอท กำมะถัน ค่าความถ่วงจำเพาะ ความหนืด เป็นต้น
โรงกลั่นอื่นๆก็มี crude basis ที่ใช้ตอนออกแบบกระบวนการกลั่นต่างกันออกไป
แหล่งน้ำมันดิบบนบกของไทย นอกจากฝางแล้ว ก็มีอีกที่ ที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
ประกอบไปด้วยแหล่งน้ำมันสิริกิตต์ และแหล่งในบริเวณใกล้เคียง ขุดพบโดยบริษัท Thai Shell Exploration & production ในปี พ.ศ. 2524 และเริ่มทำการผลิตได้ในปี พ.ศ. 2526 น้ำมันดิบที่ขุดได้จากที่นี่ เรียกว่าน้ำมันดิบเพชร ตั้งชื่อตามจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจะถูกลำเลียงโดยรถไฟไปกลั่นที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก และไทยออยล์
ที่ลานกระบือนี้ นอกจากน้ำมันดิบแล้วยังมีแก๊สธรรมชาติเป็นผลพลอยได้ด้วย
การใช้ประโยชน์จากแก๊สธรรมชาติหลักๆก็คือใช้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า ที่ลานกระบือนี้จึงมีโรงไฟฟ้าลานกระบือ ขนาด 150 MW จัดสร้างโดย กฟผ. เพื่อรับแก๊สธรรมชาติจากแหล่งผลิตของ Shell ที่อยู่ห่างออกไป 2 กิโลเมตร โดยมีการแยกเอาส่วนประกอบที่เป็น LPG ออกไปแล้ว
LPG จะถูกบรรจุและจำหน่ายในพื้นที่ภาคเหนือ ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดการขนส่งผลิตภัณฑ์ LPG เป็นระยะทางไกลๆจากโรงกลั่นเอกชนซึ่งตอนนั้นมีแค่ 3 โรง ได้แก่ ไทยออยล์ บางจาก และเอสโซ ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพและชลบุรี
LPG ถูกแยกที่โรงแยกขนาดเล็ก ชื่อว่า พลังเพชร เป็นโรงแยกแก๊สขนาดเล็ก ผลิต LPG ได้วันละ 350 ตันเท่านั้น เชลล์ยื่นขอสร้างโรงแยกในปี 2530
แก๊สธรรมชาติจากลานกระบือมีปริมาณไม่เยอะ ประมาณวันละ 45-50 MMSCF/D เท่านั้น เพียงพอป้อนโรงไฟฟ้าได้เพียงโรงเดียว จึงไม่ได้มีการกระจายไปให้ภาคอุตสากรรมในจังหวัดข้างเคียงใช้ แตกต่างจากอ่าวไทยที่ผลิตได้ปริมาณมากในหลักพัน MMSCF/D
ปัจจุบันแหล่งน้ำมันลานกระบืออยู่ในความดูแลของ ปตท.สผ.
ประเทศไทยมีแหล่งน้ำมันดิบบนบกเพียงสองแห่งเท่านั้น แต่ว่าถ้าถามว่าไทยมี “แหล่งปิโตรเลียม” บนบกกี่แห่ง คำตอบคือสาม
นั่นเพราะอีกแหล่งนั้นไม่ใช่น้ำมันดิบ แต่เป็น แก๊สธรรมชาติ คือที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ขุดพบโดยบริษัท Esso Exploration & Production Korat Inc. ในปี 2525 และเริ่มผลิตได้ในปี 2533 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 60 MMSCF/D
องค์ประกอบหลักของแก๊สที่แหล่งน้ำพองนี้เป็นมีเทนกว่า 95% ไม่มี LPG ให้แยกออกมา กฟผ.ได้สร้างโรงไฟฟ้าน้ำพองขึ้นเพื่อรับแก๊สที่ขุดได้นี้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเลี้ยงภาคอีสาน
ปัจจุบันแหล่งแก๊สธรรมชาติน้ำพองยังอยู่ในการดูแลของ Esso
อันที่จริงการค้นพบแหล่งน้ำพองโดย Shell และ Esso เกิดมาจากการเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบเดียวกัน คือรอบปี 2522
แต่ทว่า ก่อนหน้าที่ Shell กับ Esso จะขุดพบแหล่งปิโตรเลียมบนบก ประเทศเราได้พบแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยก่อนหน้านี้แล้วราว 8 ปี!
Reference
ปิโตรเลียมเมืองสยาม (2536), สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
https://npdc.mod.go.th/เรองเลาเมอวนวาน/ความเปนมาของกจการนำมนฝาง.aspx
https://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศไทยใน_พ.ศ._2464
https://mgronline.com/business/detail/9610000126612
https://accessibility.egat.co.th/egat-powerplant-info/98-plant-lankrabue
https://www.lankrabue.go.th/travel_detail.php?id=228
http://library.dmr.go.th/Document/DMR_Technical_Reports/2542/2237.pdf
ติดตามเรื่องเล่าอุตสาหกรรมน้ำมันไทยตอนต่อๆไป ได้จากเพจของเรา
ดูดีๆก็เคมีวิศวกรรมนี่นา
2 บันทึก
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไทย 101
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย