Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สนทนาสถาปัตย์ : Architecture Dialogue
•
ติดตาม
25 ม.ค. 2021 เวลา 07:28 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
ภาค 1 เส้นทางชีวิต ใครลิขิต?
ตอนที่ 1.1
ห้าทุ่มเศษของคืนวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2018 เพลิงได้ปะทุขึ้นที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ (Glasgow School of Art) หน่วยกู้ภัยได้ระดมคนและอุปกรณ์ทั้งหมดที่มีเพื่อดับเพลิง แต่ต้องใช้เวลาจนถึงรุ่งเช้าจึงสามารถควบคุมเพลิงได้
เช้าวันนั้นทั่วเมืองคละคลุ้งไปด้วยควัน กลิ่นเถ้าถ่าน และเสียงรำพึงของผู้คนที่ต่างเศร้าใจกับฝันร้ายในชีวิตจริงที่เพิ่งผ่านไป บางคนแทบทำใจยอมรับไม่ได้ว่าจะไม่มีอาคารนี้อีกแล้วหรือ ทั้งๆที่เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งจัดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 150 ปี ชาร์ล เรนนี แมคอินทอช สถาปนิก
ผู้ออกแบบโรงเรียนนี้
ภาพเหตุเพลิงไหม้โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.dezeen.com
เพลิงไหม้ส่งผลให้โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์เสียหายอย่างหนัก มีผู้เสนอให้รื้อซากอาคารแล้วสร้างอาคารใหม่แทนที่ แต่ด้วยการสนับสนุนจากผู้คนมากมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงตัดสินใจว่าจะสร้างโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์ดัง เดิมเหมือนที่แมคอินทอชได้ออกแบบไว้ เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นต่อๆไป เหมือนที่เคยเป็นมาแล้วกว่าร้อยปี โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์นี้นับเป็นตัวแทนความคิดและชีวิต และเป็นมรดกที่แมคอินทอชได้ฝากไว้ให้กับกลาสโกว์บ้านเกิดที่บ่มเพาะชีวิตของเขา เมืองที่เขาได้พบทั้งความหวังและความท้อแท้ ความเฟื่องฟูและความตกต่ำ เมืองที่เขาต้องละทิ้งไปในช่วงบั้นปลายของชีวิต และไม่ได้หวนกลับมาอีกตราบจนวาระสุดท้าย
ภาพที่ 1 ชาร์ล เรนนี แมคอินทอช เมื่ออายุ 25 ปี ค.ศ. 1893 ที่มา : www.npg.org.uk
ย้อนกลับไป 150 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน
1868 ชาร์ล เรนนี แมคอินทอช ลูกชายของนายวิลเลียม แมคอินทอช (William Mackintosh) และนางมากาเร็ต เรนนี (Magaret Rennie) ได้ลืมตาดูโลก ณ บ้านเลขที่ 70 ถนนพาร์สัน เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์
เมื่อถึงวัยเรียนเด็กชายแมคอินทอชเข้าเรียนที่สถาบันอัลลัน เกล็น (Allan Glen‘s Institiution) โรงเรียนสำหรับลูกหลานชนชั้นนำในยุคนั้น แต่อาจเป็นเพราะความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้สมองรับรู้ตัวหนังสือต่างจากคนทั่วไป (Dyslexia) ทำให้มีปัญหาในการอ่านและเขียน ในวัย 15 ปี หนุ่มน้อยแมคอินทอชผู้มีพรสวรรค์ด้านวาดภาพมาแต่เด็กจึงตัดสินใจเลิกเรียน แล้วเริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพในตำแหน่ง “เด็ก(ขอ)ฝึกงาน”
ที่สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮัทชิสัน (John Hutchison) โดยไม่ได้รับค่าจ้างอยู่ราวห้าปี
จนถึงราวปี ค.ศ. 1889 แมคอินทอชจึงย้ายไปทำงานเป็น “ช่างเขียนแบบ” ที่สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์ เคปปี (John Honeyman & Keppie : JHK) นอกจากการเรียนรู้ในที่ทำงานแล้ว แมคอินทอชยังขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเรียนภาคค่ำที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ควบคู่ไปด้วย และเรียนต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าสิบปี
ฟรานซิส นิวเบอรี (Francis Newbury) ครูใหญ่ของโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์เห็นแววความสามารถอันโดดเด่นของแมคอินทอช จึงให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่ ระหว่างเรียนผลงานของเขาได้รับรางวัลมากมาย
ปี 1890 ผลงานประกวดออกแบบศาลาประชาคม (Public Hall : ภาพที่ 2) ของเขาได้รับรางวัลทุนทัศนศึกษาสถาปัตยกรรม (Alexander Thomson Travelling Studentship Award)
ภาพที่ 2 แบบประกวดออกแบบศาลาประชาคม ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นแนวคิดในการออกแบบที่เน้นแกนสมมาตร เสกลอาคารแบบยิ่งใหญ่ และการจัดวางส่วนประกอบต่างๆเช่น เสา กรอบประตูหน้าต่าง หน้าจั่ว (Pediment) บัวผนัง
(Cornice) อย่างแพรวพราวตามแบบแผน(Order) สอดคล้องกับแนวทางที่สอนกันในโรงเรียนศิลปะโบซารส์ในฝรั่งเศส (Ecole des Beaux Arts) แมคอินทอชคงได้เรียนรู้แนวทางนี้จาก จอห์น เจมส์ เบอร์เน็ต (John James Burnet) และจอห์น เคปปี (John Keppie) ครูและเจ้านายของเขาซึ่งเรียนจบมาจากโรงเรียนศิลปะโบซารส์
การทัศนศึกษาครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อแมคอินทอชเดินทางไปถึงเมืองเนเปิลส์ในวันที่ 5 เมษายน
1891 จากนั้นเขาเดินทางไปยังเมืองสำคัญในอิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม เช่น ปาแลร์โม โรม
เซียนา โบโลญญา ฟลอเรนซ์ เวนิซ วิเซนซา เวโรนา โคโม มิลาน ปารีส แอนต์เวิร์ป เป็นต้น
ตลอดการเดินทางแมคอินทอชได้สเกตซ์ภาพเพื่อศึกษาและบันทึกการเรียนรู้ (ภาพที่ 3a-f)
ภาพเสกตซ์เหล่านั้นยังเหลือตกทอดมาถึงทุกวันนี้ เป็นหลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึงตัวตนและฝีไม้ลายมือของแมคอินทอชได้อย่างมีชีวิตชีวา
ภาพที่ 3a-f ตัวอย่างภาพสเกตซ์จากการทัศนศึกษา ที่มา : www.mackintoshsketchbook.net
แบบผลงานศาลาประชาคมและภาพสเกตซ์แสดงให้เห็นว่าแมคอินทอชคงมีความรู้ความเข้าใจแบบแผนสถาปัตยกรรมคลาสสิคเป็นอย่างดี
นอกจากภาพสเกตซ์สถาปัตยกรรมคลาสสิคซึ่งเป็นผลงานตามเงื่อนไขของการรับทุนแล้ว ยังมีภาพสเกตซ์สถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตในท้องถิ่นต่างๆด้วย (ภาพที่ 3d,e,f) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแมคอินทอชประทับใจและสนใจสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ดูผ่อนคลายและเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา
ความประทับใจนี้จะมีอิทธิพลและเป็นแรงผลักดันสำคัญในการออกแบบของแมคอินทอชในเวลาต่อมา
แมคอินทอชทำงานเป็นช่างเขียนแบบอยู่ราวสี่ปี จนถึงปี 1893 จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น“สถาปนิกผู้ช่วย” นับจากนี้แมคอินทอชคงมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการต่างๆมากขึ้น
ในช่วงปี 1894-1897 สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์ เคปปี ได้รับงานโครงการขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เจ้านายของเขากำลังวุ่นอยู่กับโครงการสำคัญๆ สถาปนิกผู้ช่วยอย่างแมคอินทอชก็คงต้องเป็นลูกมือ รวมทั้งอาจต้องรับผิดชอบงานบางส่วน ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาได้ทดลองออกแบบตามแนวทางที่สนใจ
อย่างไรก็ดีแมคอินทอชก็ยังมีบทบาทเป็นเพียงคนเบื้องหลัง ไม่มีชื่อของเขาในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบ แม้จะคับข้องใจไม่น้อย แต่เขาก็ยังคงทำงานด้วยความมุ่งมั่นต่อไป
ตั้งแต่ราวกลางศตวรรษที่ 19 การปฏิวัติอุตสาห
กรรมและการปฏิวัติทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไปทั่วทวีปยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษที่การเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นก่อน
ความลังเลสงสัยวิตกกังวลต่อความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจกระตุ้นให้ผู้คนแสร้งลืมปัจจุบันแล้วหวนกลับไปหาอดีตที่พอจะเห็นภาพและเข้าใจได้ชัดกว่า ภาวะจิตใจเช่นนี้สะท้อนให้เห็นได้ในงานสถาปัตกรรมที่หวนกลับไปสู่รูปแบบต่างๆจากอดีต (Eclecticism)
ซึ่งเป็นกระแสหลักทางสถาปัตกรรมในช่วงชีวิตของแมคอินทอช
ในขณะเดียวกันนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆก็เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว เห็นได้จากหอไอเฟลซึ่งออกแบบโดยกุสตาฟ ไอเฟล ในปี ค.ศ.1889
ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่างานวิศวกรรมโครงสร้างได้พัฒนาก้าวล้ำหน้าไปไกลกว่างานสถาปัตยกรรมที่ยังติดอยู่ในวังวนของรูปแบ
การหยิบยืมรูปแบบสถาปัตยกรรมจากอดีตมาใช้ในการออกแบบ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้
้้สอย วิถีชีวิต และเทคโนโลยีอย่างใหม่ รูปแบบ
เหล่านั้นก็อาจเป็นเพียงฉากที่อำพรางความจริงไว้เบื้องหลัง หรือถ้านำมาใช้จนเกินควรก็อาจเป็นเพียงเครื่องประดับที่รุ่มร่ามรุงรัง ในการบรรยายเมื่อปี 1893 แมคอินทอชได้แสดงจุดยืนที่ทวนกระแสว่า
“ สถาปนิกและนักออกแบบควรสร้างสรรค์
งานศิลปะด้วยใจที่เป็นอิสระและไม่ยึดติด "
ผลงานในช่วงแรกเริ่มของแมคอินทอชแสดงให้เห็นการทดลองเพื่อแสวงหาแนวทางและกลวิธีการออกแบบตามจุดยืนที่เขาได้กล่าวไว้
ผลงานที่สำคัญในช่วงเวลาแห่งการแสวงหาจะเป็นเช่นใด เชิญติดตามในต่อไป
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม : ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย