29 ม.ค. 2021 เวลา 10:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
ภาค​ 1 เส้นทางชีวิต​ ใครลิขิต?
ตอนที่​ 1.2
ท่ามกลางกระแสหลักที่นิยมการหวนกลับไปหยิบยืมรูปแบบสถาปัตยกรรมจากอดีต​ แมคอินทอชได้แสดงจุดยืนทวนกระแสว่า
“ สถาปนิกและนักออกแบบควรสร้างสรรค์
งานศิลปะด้วยใจที่เป็นอิสระและไม่ยึดติด "
แมคอินทอชได้ทดลองเพื่อแสวงหาแนวทางและกลวิธีต่างๆในการออกแบบ​ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจุดยืนนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน​ ดังปรากฏเป็นผลงานในช่วงแรกเริ่มที่สำคัญเช่น
โครงการส่วนต่อขยายอาคารสำนักงาน
กลาสโกว์เฮอรัลด์ (Glasgow  Herald) : 1894
จากแบบร่างฝีมือแมคอินทอชที่ยังหลงเหลือมา
ถึงทุกวันนี้ (ภาพที่ 4a,4b) แสดงให้เห็นว่าเขา
คงมีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบอาคาร
สำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์ ด้านถนนมิทเชล 
(Mitchell) ซึ่งมีหอมุมอาคารที่โดดเด่น (ภาพที่ 4c)
ภาพที่ 4a-c สำนักงานกลาสโกว์ เฮอรัลด์​ ด้านถนน​มิทเชล​ แบบร่างโดยแมคอินทอข  และภาพถ่ายหอมุมอาคาร ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
เมื่อเปรียบเทียบอาคารด้านถนนมิทเชล (ภาพ
ที่ 5) กับอีกส่วนหนึ่งของโครงการคืออาคาร
ด้านถนนบิวแคแนน (Buchanan) ที่ออกแบบโดยเจมส์ เซลลาร์ส (James Sellars) สร้างแล้วเสร็จในปีค.ศ.1880  ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค (ภาพที่ 6)  จะเห็นว่าแมคอินทอชทดลองใช้กลวิธีการออกแบบหลายอย่างที่ต่าง
ไปจากแนวทางตามกระแสนิยมเช่น
- การจัดองค์ประกอบแบบไม่เน้นแกนสมมาตร 
- การกำหนดรูปแบบให้เรียบซื่อตรงไปตรงมา
- การสร้างปริมาตรและรูปทรง (Mass-Form) 
ทึ่เกิดจากการประกอบเข้าด้วยกันของส่วนย่อยอย่างแนบสนิทจนไม่อาจแยกจากกัน​
(ไม่ได้เกิดจากการกำหนดภาพรวมและสเกล
แบบยิ่งใหญ่ไว้แต่แรก)​ 
- ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆเช่น หน้าจั่ว (Pediment) กรอบซุ้มประตู-หน้าต่าง บัวผนัง 
(Cornice) ค้ำยัน (Corbel)  รวมถึงลวดลายประดับจะถูกนำมาใช้เท่าที่จำเป็น และจัดวางอย่างพอเหมาะด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและเหนือความคาดหมาย
การทดลองออกแบบด้วยกลวิธีการสร้างรูปทรงจากส่วนย่อยที่ประกอบกัน​ การจัดองค์ประกอบแบบไม่เน้นแกนสมมาตร​และเหนือความคาดหมาย​ ส่งผลต่อภาพรวมและจังหวะในรูปด้านอาคาร​ (ภาพที่​ 5) เห็นได้จากหน้าจั่วเล็กและกรอบหน้าต่างแบบพิเศษที่เรียงล้อรับกันลงมานั้น  ไม่ได้ถูกจัดวางไว้ที่กึ่งกลางระหว่างหน้าจั่วใหญ่สองข้าง  แต่กลับจัดวางเยื้องไปข้างซ้าย  
ทำให้อาคารข้างขวายาวและมีช่องเปิดมากกว่า  
แต่ภาพรวมก็ไม่เสียสมดุลย์  เพราะอาคารข้างซ้ายที่สั้นกว่ามีหอมุมอาคารที่หนักแน่นถ่วงดุลย์ไว้​ ส่วนประกอบทั้งหมดจึงหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว​ เกิดเป็นเอกภาพที่สมดุลย์อย่างมีชั้นเชิงชวนมองไม่รู้เบื่อ
ภาพที่ 5  รูปด้านอาคารกลาสโกว์เฮอรัลด์  ด้านถนนมิทเชล ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 6  อาคารกลาสโกว์เฮอรัลด์  ด้านถนนบิวแคแนน ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ความประทับใจในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อการออกแบบของแมคอินทอชตั้งแต่
ระยะแรกเริ่มนี้​ เห็นได้จากหอที่มุมอาคาร
สำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์​ ที่ชวนให้นึกถึงปราสาท​ บ้านหอคอย (Castle,Tower House) 
ของสก็อตแลนด์ในอดีต​เช่น ปราสาทเมย์โบล์ว
เมืองแอร์ชาร์ย (Maybole Castle ,Ayrshire : 
ภาพที่ 7) ที่แมคอินทอชเคยเดินทางไปสเกตซ์ศึกษามาก่อน​  และบ้านหอคอยทราแควร์ 
(Traquair House : ภาพที่ 8) บ้านหอคอยที่
เก่าแก่ที่สุดในสก็อตแลนด์
ภาพที่ 7  ปราสามเมย์โบล์ว เมืองแอร์ชาร์ย ที่มา :  www.maybole.org
ภาพที่ 8  บ้านหอคอยทราแควร์ ที่มา :  www.undiscoveredscotlamd.co.uk
สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอระห์ (Helensburgh Conservative Club) : 1894
การออกแบบเพื่อทดลองอย่างทึ่ปรากฏในอาคารสำนักงานกลาสโกว์เฮอรัลด์ ได้ถูกทำซำ้อึกครั้งในการออกแบบสโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์-
เบอระห์​ ด้วยกลวิธีการออกแบบในทำนองเดียวกันได้แก่
- การสร้างรูปทรงจากส่วนย่อยที่ประกอบกัน
- การจัดองค์ประกอบแบบไม่เน้นแกนสมมาตรและเหนือความคาดหมาย
- การจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับอาคารอย่างพอเหมาะเท่าที่จำเป็นด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด
- เอกภาพและความสมดุลย์อย่างมีชั้นเชิง
ผนังด้านหน้าสโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์-
เบอระห์มีลักษณะพิเศษคือ ระนาบที่ไม่แบนราบ แต่จะมีมุขตื้นๆสองชุดที่ดูพริ้วไหว​ คล้ายค่อยๆ
นูนออกและเว้ากลับสู่ระนาบฐาน  ส่วนยอดของมุขทั้งสองจะยื่นขึ้นไปเป็นผนังลอยตัวเชื่อมเป็นระนาบต่อเนื่องกัน  โดยมีซุ้มโค้งฉลุลายเป็นตัวผสาน
มุขสองชุดนี้มีสัดส่วนแตกต่างกัน  มุขด้านซ้าย
จะกว้างและสูงกว่า  แต่รูปแบบ สัดส่วน แนวระดับและการประดับช่องหน้าต่างของมุขทั้งสองจะล้อรับกัน​ ทำให้มุขทั้งดูกลมกลืนกัน
มุขด้านขวาที่สั้นกว่าและตั้งอยู่ตอนบน  ทำให้ระนาบฐานไม่ถูกตัดขาดออกเป็น 3 ส่วน  แต่จะไหลต่อเนื่องถึงกัน
ใต้มุขทั้งสอง​ ระนาบฐาน​จะถูกเจาะเป็นช่องเปิดกรุกระจกขนาดใหญ่  ระนาบฐานซึ่งเป็นผนังหินจึงดูเบาและลอยตัว  ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งน่าสนใจและน่าสงสัยไปพร้อมๆกัน
ภาพที่ 9a สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอระห์  รูปด้านหน้า ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 9b  สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอระห์  : ภาพถ่ายปัจจุบัน ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ผนังด้านหน้าอาคารสโมสรอนุรักษ์นิยมแห่ง
เฮเลนส์เบอระห์​ (ภาพที่ 9a, 10) แสดงให้เห็น
การผสมผสานแรงบันดาลใจในการออกแบบ
ที่หลากหลายได้แก่
- ส่วนประกอบที่หยิบยืมจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์เช่น มุขยื่นออกจากผนังซึ่งมีเสากลมผอมเพรียวรองรับด้วยคันทวย (Corbel) รูปหน้าคนประดับอยู่ที่มุม และการแบ่งหน้าต่างออกเป็นสามส่วน  ในทำนองเดียวกันกับมุขยื่นที่ปราสาทเมย์โบล์ว เมืองแอร์ชาร์ย (ภาพที่ 11)
- การสอดแทรกด้วยรายละเอียดที่มีกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบโกธิคเช่น ลวดลายรูปต้นไม้
ที่ตอนบนของมุขด้านซ้าย  ลวดลายฉลุโปร่ง 
(Tracery) ภายในซุ้มโค้ง  และลวดลายพันธุ์ไม้ขมวดที่ปลายเสาประดับมุมของมุขยื่น
- ช่องเปิดกรุกระจกขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่  และเป็นเค้าลางของแบบอย่างใหม่ที่จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆในการออกแบบโครงการต่อๆไปของแมคอินทอช
ภาพที่ 10  สโมสรอนุรักษ์นิยมแห่งเฮเลนส์เบอระห์ ภาพถ่ายปัจจุบัน ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 11  ปราสาทเมย์โบล์ว เมืองแอร์ชาร์ย ผนังและมุขยื่น ที่มา : www.1066.co.nz
ความผูกพันต่อถิ่นฐานบ้านเกิด​ การแสวงหา​และ ทดลอง​สิ่งใหม่​ และประสบการณ์ที่แมคอินทอชสั่งสมไว้ในช่วงเวลานี้​ เป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่แนวทางการออกแบบที่มีลักษณะตัวในเวลาต่อมา​
โฆษณา