2 ก.พ. 2021 เวลา 04:48 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก​ (เคย) ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
ภาค​ 2  ความผูกพันนำทางสายใหม่
ตอนที่​ 2.1
ระหว่างทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งในชีวิตแมคอินทอช
ด้านการทำงาน  หลังจากแมคอินทอชได้พิสูจน์ตัวเองด้วยฝีไม้ลายมือและความมุ่งมั่นเป็นเวลานานกว่าสิบปี  ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1901 เขาได้เลื่อนฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์​ แมคอินทอช (John Honeyman Keppie & Mackintosh : JHKM)  ความคับข้องใจอันเนื่องมาจากการทำงานเบื้องหลังอย่างไร้ตัวตนคงคลายลง ชื่อแมคอินทอช
ได้ปรากฏในแบบให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าเขาคือสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการที่ตื่นตาตื่นใจ
แมคอินทอช (ยืนขวาสุด) และเพื่อนร่วมงานในสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์เคปปี ราว ค.ศ. 1890 ที่มา :  Thomas Howarth, Charles Rennie Mackintosh and the Modern Movement,                        London : Routledge & Kegan Paul, 2nd edn, 1977 จาก www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ด้านชีวิต​ เดือนกันยายน ค.ศ.1900 แมคอินทอชแต่งงานกับมากาเร็ต แมคโดนัลด์ (Magaret 
Macdonald : 1864-1933)  ทั้งคู่สนิทสนมกัน
มาตั้งแต่ยังเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์  ในช่วงเวลานั้นแมคอินทอชกับเจมส์ เฮอเบิร์ต แมคแนร์ (James Herbert Macnair) เพื่อน
สนิทของเขา​ และสองสาวพี่น้องมากาเร็ตและ
ฟรานเซส แมคโดนัลด์ (Magaret, Frances Macdonald) ร่วมกันทำงานศิลปะแนวใหม่ใน
นามกลุ่ม “สี่สหาย” (The Four) ผลงานของพวกเขาแปลกใหม่และมีเอกลักษณ์​ จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นรูปแบบแห่งเมืองกลาสโกว์​ (Glasgow
Style)
แมคอินทอชและมากาเร็ตร่วมชีวิตกันทั้งในยามวันชื่นคืนสุข  และยามทุกข์ยากแสนเข็ญตราบ
จนวาระสุดท้าย  ก่อนที่แมคอินทอชจะเสียชีวิตไม่นาน  ในจดหมายฉบับหนึ่งเขาได้เขียนบอก
มากาเร็ตว่า“...ไม่น้อยกว่าครึ่งของทุกสิ่งที่เกื้อหนุนการทำงานของผม  ผมได้รับมาจากคุณ...”
ภาพที่ 12  มาร์กาเร็ต แมคโดนัลด์ เมื่ออายุ 37 ปี (1901) ที่มา : www.npg.org.uk
นอกจากการทำงานในฐานะสถาปนิกและมัณฑนากรแล้ว​​ แมคอินทอชยังทำงานในฐานะจิตกรร่วมกับมากาเร็ตในหลายโครงการที่เขาเป็นผู้ออกแบบอีกด้วย​ ตัวอย่างที่สำคัญคือ
ร้านอาหารมิสส์แครนสตันท์  ซึ่งภายในร้านมี
ผนังที่โดดเด่นสองด้านตั้งประชันกัน​ ด้านหนึ่งประดับด้วยภาพ “The Wassail" ที่แมคอินทอชออกแบบ (ภาพที่ 13) อีกด้านหนึ่งประดับด้วยภาพ “The May Queen” ที่มากาเร็ตออกแบบ (ภาพที่ 14)  ภาพทั้งสองนี้มีรูปแบบแปลกใหม่และอาจแฝงสัญลักษณ์โบราณที่ทั้งคู่สนใจไว้ในภาพด้วย  ทำให้ภาพดูลึกลับชวนค้นหา
ภาพที่ 13  The Wassail ที่มา : www.artuk.org
ภาพที่ 14  The May Queen ที่มา : www.artuk.org
อีกหนึ่งโครงการที่ทั้งคู่ทำงานร่วมกันคือ แบบประกวดคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน  ผลงานนี้แมคอินทอชออกแบบสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายใน  มากาเร็ตออกแบบการประดับผนังภายใน​ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป
ระหว่างทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ถึง
ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20  แมคอินทอชได้ออกแบบโครงการสำคัญมากมาย​ การออกแบบในช่วงเวลานี้เป็นการทดลองแนวคิดที่สำคัญคือ
- การไม่ยึดติดและพยายามหลุดพ้นจากวังวน
ของรูปแบบ​สถาปัตยกรรม​ และการประดับประดาด้วยส่วนประกอบและลวดลายตามแบบแผนที่เคยมีมาอย่างไม่ยั้งคิด
- การหยิบยืมรูปแบบที่เรียบซื่อและมีชีวิตชีวาจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์  นำมาปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ที่เป็นอยู่จริงในขณะนั้น  เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะตัวที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายท้องถิ่น  ซึ่งในเวลาต่อมาจะค่อยๆคลี่คลายกลายเป็นรูปแบบที่บริสุทธิ์เป็นอิสระอย่างแท้จริง  และนำไปสู่สถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern) ในที่สุด
ผลงานที่แสดงพัฒนาการความคิดในการออกแบบในช่วงสองทศวรรษนี้ได้แก่
บ้านในอุดมคติสำหรับคู่รักศิลปิน  
(Ideal Design for Artist House : 1900)
ในช่วงปี 1899-1900  แมคอินทอชได้ทดลองออกแบบบ้านเพื่อตอบโจทย์สมมติที่อาจหยิบยกมาจากชีวิตคู่ของเขาและมากาเร็ต  การทดลองในครั้งนั้นปรากฏผลเป็นแบบบ้านที่คลี่คลายมาจากบ้านท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ 3 แบบที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และชีวิตชีวาได้แก่ บ้านในชนบท
(ภาพที่ 15a-b) บ้านในเมือง (ภาพที่ 16a-b)
และคฤหาสน์ในชนบท (ภาพที่ 17)
ภาพที่ 15a-b แบบบ้านในชนบท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 16a-b  แบบบ้านในเมือง ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 
ภาพที่ 17  แบบคฤหาสน์ในชนบท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 
แม้บ้านทั้งสามแบบจะมีรูปแบบต่างกัน  แต่ก็มีแนวทางและกลวิธีการออกแบบสอดคล้องกันได้แก่
- รูปทรงที่มีสัดส่วนสูงทึบ  ดูคล้ายบ้านหอคอยหรือกำแพงป้อมโบราณของสก็อตแลนด์  โดยเฉพาะแบบบ้านในชนบทที่มีผนังล้มสอบด้านบน  ซึ่งแสดงลักษณะทึบหนักแน่นมั่นคงแบบกำแพงป้อมได้อย่างเด่นชัด
- การจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด  สะท้อนให้เห็นประโยชน์ใช้สอยอย่างไปตรงมาและเปิดเผยเช่น หน้าต่างที่มีรูปแบบ ขนาด สัดส่วน ตำแหน่งการจัดวางหลากหลาย และปล่องควันที่แสดงตัวให้เห็นอย่างซื่อๆ
- การเลือกใช้ปูนสีฉาบหยาบ (Roughtcast) 
เป็นวัสดุผิวหลัก​ ซึ่งเป็นการทดลองเพื่อพิสูจน์ความคิดที่เขาได้เสนอไว้ในการบรรยายหัวข้อ “สถาปัตยกรรมคหบดีท้องถิ่นสก็อต” (Scotch Baronial Architecture)  เมื่อปี ค.ศ.1891 ว่า
“...ปูนสีฉาบหยาบ (Roughtcast) ซึ่งเป็นวัสดุผิว
ที่นิยมใช้กันทั่วไปในอาคารบ้านเรือนท้องถิ่นทั้งในสก็อตแลนด์และอังกฤษในอดีตนั้น  มีความเป็นไปได้ ที่จะนำกลับมาใช้เพื่อตอบสนองและแสดง“ลักษณะใหม่”ได้อย่างไม่เคอะเขิน...”
ความคิดนี้ได้ถูกทดลองในการออกแบบบ้านในอุดมคติทั้งสาม  ดังจะเห็นว่ารูปทรงทั้งหมดทำผิวด้วยปูนสีฉาบหยาบที่มีสันขอบโค้งมน ทำให้เกิดพื้นผิวที่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน​ มีเพียงเฉพาะ
จุดเด่นที่ต้องการเน้นเท่านั้นที่เป็นผิวหินเช่น กรอบประตูทางเข้าบ้าน ผนังห้องสำคัญ เป็นต้น
พื้นผิวที่ต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน​ ถูกขับเน้นด้วยการจัดวางประตูหน้าต่างหลากหลายรูปแบบฝังลงในผนังด้วยแบบแผนที่ผ่อนคลายและไม่ลดทอนความต่อเนื่องของพื้นผิว​ ทำให้เกิดจังหวะ
ที่มีชีวิตชีวา  พื้นผิวต่อเนื่องขนาดสูงใหญ่จึงดูไม่เทอะทะหรือว่างโล่งจนเกินไป  และเมื่อพื้นผิวนั้นไม่มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหรือการประดับใดๆมาแทรกคั่น  ระนาบและปริมาตรของรูปทรงจึงปรากฏให้เห็นเด่นชัด  และแสดงความงามในตัวเองออกมาให้เห็นได้ด้วยสัดส่วน ขนาด และจังหวะที่สอดประสานกัน  ซึ่งเป็นลักษณะใหม่ที่ต่างจากความงามลักษณะเดิมอันเกิดจากการเติมแต่งผิว
- การหยิบยืมรูปแบบที่เรียบซื่อและมีชีวิตชีวาจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ 
นำมาปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ที่เป็น
อยู่จริงในขณะนั้น
ภาพที่ 18  ภาพสเกตซ์บ้านท้องถิ่นดั้งเดิมในเมืองไลม์ เรจส์ ตีพิมพ์ใน Britsh Architect เมื่อราว ค.ศ.1895 ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ก่อนปี ค.ศ.1895 แมคอินทอชได้เดินทางไปศึกษาบ้านท้องถิ่นดั้งเดิมในเมืองไลม์ เรจส์​ ​(Lyme Regis) มีภาพสเกตซ์​หนึ่งที่น่าสนใจมาก (ภาพที่ 18) เป็นภาพบ้านที่มีหน้าต่างแบบมุขสามด้านยื่นจากผนัง​ และช่องแสงตาราง​ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่แมคอินทอชคงประทับใจมาก​ จึงได้นำมาทดลองจัดวางแทรกไว้ในบ้านในอุดมคติ
ทั้งสาม  และทดลองซำ้ต่อเนื่องในการออกแบบโครงการอื่นๆในเวลาต่อมา
น่าสังเกตว่าเมื่อผ่านการทดลองซำ้แล้วซำ้อีก​ ช่องแสงตารางซึ่งมีที่มาจากบ้านท้องถิ่นดั้งเดิม​ จะพัฒนาคลี่คลายกลายเป็นช่องแสงตารางจัตุรัสที่ปรากฏโดดเด่นยิ่งในเวลาต่อมา  รวมถึง
การสอดแทรกรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่พบเสมอทั้ง
ในงานสถาปัตยกรรม​ งานตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ (ภาพที่ 19) จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในผลงานออกแบบของแมคอินทอช
เป็นไปได้หรือไม่ว่า​ "แมคอินทอชใช้สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่ที่ไร้ร่องรอยของรูปแบบใดๆ"
ภาพที่ 19  รูปด้านงานออกแบบภายในห้องนอน จัดแสดงในนิทรรศการ Heirat und Hausrat เมืองเดรสเด็น เยอรมัน ค.ศ.1903 ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
การนำความคิดต่างๆที่กล่าวมาไปทดลองใช้ในการออกแบบจะนำไปสู่สถาปัตยกรรมแบบใด​ คือเนื้อหาในตอนต่อไป
โฆษณา