5 ก.พ. 2021 เวลา 23:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก​ ​(เคย) ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
3
ภาค​ 2 ความผูกพันนำทางสายใหม่
ตอนที่​ 2.2
รูปด้านทิศใต้​ บ้านเดอะฮิลล์​ เฮเลนเบอระห์​ ที่มา​ : ดัดแปลงจากรูปต้นฉบับจาก www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
จากการทดลองออกแบบบ้านในอุดมคติสำหรับคู่รักศิลปิน​ จินตนาการและความคิดต่างๆค่อยๆก่อรูปขึ้นบนกระดาษ​ ก่อนที่จะคลี่คลายกลายเป็นโครงร่างของสถาปัตยกรรมที่จะปรากฏ​และพัฒนาก้าวหน้าสืบเนื่องกันไปได้แก่
บ้านวินดีฮิลล์ (Windy Hill House : 1900)
แบบทัศนียภาพ บ้านวินดีฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
แมคอินทอชออกแบบบ้านหลังนี้ให้กับครองครัวของนายวิลเลียม​ ​เดวิดสัน​ (William Davidson) พ่อค้าชาวเมืองกลาสโกว์​
ความผูกพันของเขาทั้งสองไม่ได้จำกัดแค่เพียงลูกค้า​กับสถาปนิก​ วิลเลียม เดวิดสัน คือมิตรแท้ผู้สนับสนุนและช่วยเหลือแมคอินทอชเสมอ
ในช่วงบั้นปลาย เมื่อแมคอินทอชและมากาเร็ต
ขัดสนจนต้องขายบ้าน วิลเลียม​ เดวิดสัน​ คือผู้รับซื้อและดูแลบ้านเป็นอย่างดี เหมือนรอวันที่เพื่อนของเขาจะกลับมา เมื่อแมคอินทอชเสียชีวิตแล้ว เขาก็ยังสนับสนุนให้จัดนิทรรศการย้อนหลังขึ้นในเมืองกลาสโกว์  เพื่อให้ชาวเมืองได้ระลึกถึง​ และเห็นคุณค่าของผลงานที่แมคอินทอชทุ่มเททำมาทั้งชีวิต
แปลนบ้านวินดีฮิลล์มีลักษณะลื่นไหลไปตามแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด (ภาพที่ 20) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแมคอินทอชให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยและพฤติกรรมการใช้งานมากกว่ารูปแบบที่มีแบบแผนตายตัว
ภาพที่ 20 แปลนพื้นชั้นล่าง  บ้านวินดีฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
อย่างไรก็ดีแปลนที่มีลักษณะลื่นไหลนี้อาจได้รับอิทธิพลจากงานออกแบบร่วมสมัย  ดังจะเห็นได้ว่าทั้งแปลนที่มีลักษณะเป็นรูปตัว L  ตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ใช้สอยต่างๆ  และการจัดวางหน้าต่างแบบมุขยื่นสามด้านที่พบในบ้านวินดีฮิลล์นั้น  คล้ายคลึงกับบ้านเดอะเฮริสท์ เมืองซัตตัน โคล์ดฟิลด์ (The Hurst,Sutton Coldfield
: 1893 : ภาพที่  21)  ผลงานของวิลเลียม ริชาร์ด เลทาบี (William Richard Lethaby) สถาปนิกที่แมคอินทอชยกย่องชื่นชม
ภาพที่ 21 แปลนพื้นชั้นล่าง บ้านเดอะเฮริส์ท ที่มา :  Peter Davey. Arts and Crafts Architecture. fig 45 จาก www.voysey.gotik-romanik.de
บ้านวินดีฮิลล์แสดงให้เห็นลักษณะใหม่ซึ่งเกิดจากกลวิธีการออกแบบต่างๆได้แก่
- รูปทรงประกอบขึ้นจากระนาบและปริมาตรสูงทึบอย่างมีจังหวะและชั้นเชิงชวนมอง  ดูคล้ายบ้านหอคอยหรือกำแพงป้อมโบราณ (ภาพที่ 22)
- ระนาบและปริมาตรแสดงตัวเองเด่นชัดตรงไปตรงมา  โดยไม่มีบัวผนังหรือลวดลายประดับใดๆมาเบี่ยงเบน  รายละเอียดหนึ่งเดียวที่แทรกอยู่คือ เส้นสายตารางจัตุรัสที่ช่องแสงซึ่งช่วยทอนรูปทรงที่สูงเรียบทึบให้ดูนุ่มนวลขึ้นและสร้างสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคน (ภาพที่ 22)
- รูปทรงทั้งหมดมีความต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกันด้วยการทำผิวปูนสีฉาบหยาบ  แทรกด้วยผิวหินเฉพาะจุดเด่นที่ต้องการเน้นเช่น​ กรอบประตู 
(ภาพที่ 22 ,23a-b)
- การกำหนดรูปแบบ​ ขนาด​ และตำแหน่งประตูหน้าต่างตามประโยขน์ใช้สอยและบรรยากาศภายใน  ประตูหน้าต่างจึงมีหลากหลายลักษณะ  จัดวางไว้ด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและไม่ลดทอนความต่อเนื่องของรูปทรง  ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย  ไม่ถูกบงการด้วยระเบียบจนเกินไป (ภาพที่ 22)
ภาพที่ 22  รูปด้านทิศตะวันออก บ้านวินดีฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
น่าสังเกตว่าประตูทางเข้าบ้านไม่ได้ตั้งอยู่ในแกนหลักที่พุ่งตรงมาจากลานทางเข้า แต่ตั้งอยู่ในแกนรองที่ตั้งฉากกับแกนหลักนั้น  แม้ไม่แสดงประตู
ทางเข้าให้เห็นอย่างเปิดเผย  แต่รูปทรงของมุขทางเข้าที่ยื่นออกมาอย่างเด่นชัด  ก็สามารถสื่อและชักพาไปยังประตูผ่านเข้าสู่มุขทางเข้าและโถงกลางที่มีบรรยากาศอบอุ่น  ซึ่งเป็นการเข้าถึง (Approach) ที่มีชั้นเชิงต่างจากแบบแผนเดิมๆ (ภาพที่ 20 ,23a-c )
ภาพที่ 23a-c  ภาพถ่าย บ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
การประกวดแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน
(Ideas Competition for a Mansion for an Art Lover : 1901)
แบบทัศนียภาพทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  คฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ระหว่างที่การก่อสร้างบ้านวินดีฮิลล์กำลังคืบหน้าไป  ในปี 1901 แมคอินทอชยังได้เข้าร่วมประกวดแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน  จัดโดยนิตยสาร
Innendekoration ในแยอรมัน  การประกวดแบบมีข้อกำหนดว่า
"ผลงานต้องแสดงให้เห็นรูปแบบใหม่ที่กำลัง
จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้  และต้องเป็นการทำงานร่วมกันของสถาปนิกและศิลปินผู้นิยมศิลปะแบบใหม่"
แมคอินทอชและมากาเร็ตมีคุณสมบัติตรงตาม
ข้อกำหนดนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ผลงานของแมคอินทอชและมากาเร็ตไม่ได้รับ
คัดเลือกเข้าสู่รอบต่อไป  เพราะแบบไม่ครบถ้วน​ ขาดแบบทัศนียภาพภายใน
อย่างไรก็ดีด้วยรูปแบบที่โดดเด่นแปลกใหม่​
ความสอดคล้องกันของรูปแบบภายนอก
และภายใน  และคุณภาพของแบบที่เขียนอย่างประณีตสวยงาม  ผู้จัดการประกวดจึงมอบเงินรางวัลพิเศษเพื่อขอซื้อแบบที่ทำเพิ่มให้สมบูรณ์​(ภาพที่ 24a-d)
ภาพที่ 24a-d  ส่วนหนึ่งของแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
การประกวดแบบครั้งนั้น​ ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลที่หนึ่ง​ น่าสังเกตว่าในปี 1902 ผู้จัดการประกวดได้ตีพิมพ์แบบของแมคอินทอชและ
มากาเร็ต​ ร่วมกับแบบที่ได้รับรางวัลที่สองและสาม  โดยระบุว่างานสถาปัตยกรรมภายนอก
และภายในออกแบบโดยแมคอินทอช  ภาพและลวดลายประดับที่ผนังและเฟอร์นิเจอร์ออกแบบโดยมากาเร็ต
ในปีเดียวกัน​ แบบชุดนี้ได้ถูกนำไปจัดแสดงในงาน International Exhibition of Modern Decorative  Art in Turin  และต่อมาก็ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายในนิตยสารต่างๆเช่น  Zodchii  
ในรัสเซีย (1903)  British Architect ในอังกฤษ 
(1904) และ American Architect and Building News (1904)
การออกแบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปินนี้เป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากบ้านในอุดมคติสำหรับ
คู่รักศิลปินและบ้านวินดีฮิลล์  แมคอินทอชใช้กลวิธีในการออกแบบหลากหลาย​ (ดูภาพที่ 
24a-d) ได้แก่
- การไม่เน้นแนวแกนสมมาตร​ และการจัด
องค์ประกอบด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัด
- การใช้รูปทรงที่มีสัดส่วนสูงทึบและเรียบเกลี้ยงปราศจากการเติมแต่งที่เกินพอดี
- การขับเน้นระนาบและปริมาตรของรูปทรงให้ปรากฏเด่นชัด​ แสดงความงามออกมาเองด้วยสัดส่วน ขนาด และจังหวะที่สอดประสานกัน
- การทำผิวปูนสีฉาบหยาบเพื่อทำให้รูปทรงทั้งหมดมีลักษณะต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน
- การกำหนดรูปแบบและการจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมตามประโยชน์ใช้สอย​ และแสดงให้เห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
- การใช้ช่องแสงตารางจัตุรัสเป็นรายละเอียดที่ช่วยทอนรูปทรงที่สูงเรียบทึบให้ดูนุ่มนวลขึ้น  ช่วยสร้างสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคน  และยังอาจเป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่
แม้ว่ากลวิธีเหล่านี้จะมีที่มาจากความประทับใจ
ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ที่มีลักษณะอิสระ  ไม่ยึดติดกับระเบียบแบบแผน 
มีชีวิตชีวา​ และผ่อนคลาย  แต่แมคอินทอชก็สามารถนำมาสร้างรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะสง่างาม  ทัดเทียมรูปแบบคลาสสิคที่เคยทำกันมา
บ้านเดอะฮิลล์ (The Hill House : 1902)
จินตนาการ ความคิด และกลวิธีต่างๆเบื้องหลังบ้านวินดีฮิลล์ถูกทดลองไตร่ตรองซ้ำอีกครั้งในการออกแบบบ้านเดอะฮิลล์​ บ้านของวอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี (Walter W Blackie) อีกหนึ่งมิตรแท้ผู้เป็นทั้งเพื่อน ที่ปรึกษา ผู้สนับสนุนและช่วยเหลือแมคอินทอชเสมอ
ภาพที่ 25a แบบทัศนียภาพทิศตะวันตกเฉียงใต้  บ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
บ้านทั้งสองนี้จะมีรูปแบบและแบบแผนทำนองเดียวกัน​ แต่นอกจากบ้านเดอะฮิลลจะมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า​ ขนาดใหญกว่า​ และรูปทรงซับซ้อนกว่าแล้ว ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งคือ
ผนังโค้งเจาะช่องหน้าต่างขนาบด้วยระนาบสี่เหลี่ยม  ซึ่งตามแบบทัศนียภาพ (ภาพที่ 25a) แสดงให้เห็นว่ามีรูปสลักติดตั้งอยู่ที่ระนาบสี่เหลี่ยม แต่ในระหว่างการก่อสร้างรูปสลักนั้นได้ถูกยกเลิกไป เมื่อแล้วเสร็จระนาบนั้นจึงว่างเปล่าดูคล้ายบานบังตา (Shutter) ที่ถูกหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับผนังโค้ง​​ (ภาพที่ 25b)
ภาพที่ 25b ภาพถ่ายทิศตะวันตกเฉียงใต้  บ้านเดอะฮิลล์  (ค.ศ.1904) ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ด้วยความโค้งเพียงเล็กน้อยทำให้ดูคล้ายว่า
ผนังเรียบค่อยๆนูนออกและกลับสู่ระนาบเดิม  
ผนังโค้งนี้จึงแสดงตัวเองเป็นส่วนประกอบหนึ่ง
ซึ่งถูกจัดวางแทรกไว้ในผนังเรียบต่อเนื่องเป็น
เนิ้อเดียวกัน  ระนาบผนังที่ใหญ่จึงถูกทอนให้มีสัดส่วนดีขึ้น​ ไม่เทอะทะเกินไป  ซึ่งเป็นอีกกลวิธีการออกแบบเพื่อให้ระนาบ ปริมาตร​ และรูปทรงแสดงความงามออกมาเองด้วยสัดส่วน ขนาดและจังหวะที่สอดประสานกัน  โดยไม่จำเป็นต้องมีการประดับใดๆ
เมื่อพิจารณาว่าหอคอยของปราสาทเมย์โบล์วและบ้านหอคอยทราแควร์ (ภาพที่ 7 ,8 ในตอน
ที่​1.2)  ก็มีลักษณะเป็นผนังโค้งที่ยื่นออกมาจากผนังเรียบ  ชวนให้คิดว่า​ผนังโค้งที่บ้านเดอะฮิลล์
อาจเป็นการทดลองเพื่อลดทอนรูปแบบหอคอย​ แมคอินทอชได้พัฒนาและคลี่คลายผนังโค้งเช่นนี้ให้กลายเป็นส่วนประกอบที่เรียบง่ายถึงที่สุด​
ในการออกแบบร้านอาหารวิลโลว์ ที​ รูม​ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป
ภาพที่ 26a-c แปลน ภาพถ่ายทิศตะวันออกเฉียงใต้ และภาพถ่ายโถงทางเข้า บ้านเดอะฮิลล์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
วอลเตอร์ ดับเบิลยู แบล็คกี และครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านเดอะฮิลล์เป็นเวลาร่วมห้าสิบปี​ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 1904 จวบจนเขาเสียชีวิตในปี 
1953
ในบันทึกความทรงจำที่เขาเขียนไว้เมื่อปี 1943 
เพื่อหวนระลึกถึงแมคอินทอช (Memories of Charles Rennie Mackintosh) เขาได้เล่าถึงบุคลิก ความคิดและแนวทางการทำงานของแมคอินทอชไว้ว่า
“...เมื่อพบกันครั้งแรกผมรู้สึกประทับใจความกระฉับกระเฉงกระตือรือร้นของแมคอินทอช
เขาใส่ใจไตร่ถามความต้องการของเจ้าของบ้านไม่ต่างจากการการออกแบบโครงการใหญ่ๆ 
ผมบอกความต้องการต่างๆให้เขาฟังเช่น ไม่ชอบบ้านมุงหลังคากระเบื้องสีแดงซึ่งดูไม่ดีเมื่ออยู่ท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัวของถิ่นนี้  ไม่ชอบบ้านก่ออิฐทำผิวฉาบปูนแทรกสลับกับโครงสร้างไม้ วัสดุที่ชอบคือผิวปูนสีฉาบหยาบสีเทาที่ดูแปลกตาสำหรับผนัง  และหินชนวนสำหรับมุงหลังคา ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมน่าประทับใจคือความงามจากการจัดวางส่วนประกอบและ
รูปทรงต่างๆอย่างพิถีพิถัน ไม่ใช่ความงามอย่างบังเอิญอันเป็นพลอยได้จากการประดับประดา
ไปตามแบบแผนที่คุ้นเคย แมคอินทอชเห็นด้วยกับสิ่งที่ผมบอก และได้เชิญผมไปเยี่ยมชมบ้าน
วินดีฮิลล์ที่เขาออกแบบให้คุณเดวิดสัน...
... เมื่อถึงวันนัดคุณเดวิดสันได้พาชมทุกส่วนของบ้าน  และได้กล่าวย้ำกับผมว่า ‘แมคอินทอชคือสถาปนิกที่เหมาะสมที่สุด’...
... เมื่อเริ่มงานออกแบบแมคอินทอชเสนอแปลนแสดงการจัดพื้นที่ใช้สอยต่างๆให้พิจารณาก่อน  เมื่อสรุปแปลนที่เหมาะสมได้แล้ว  เขาจึงทำแบบรูปด้าน...ใช้เวลาไม่นานก็สามารถสรุปแบบและเริ่มก่อสร้าง...
... แต่งานก่อสร้างต้องล่าช้าเพราะการประท้วงหยุดงานของคนงานเหมืองหินที่ยืดเยื้อ ทำให้ไม่
่สามารถจัดหาหินชนวนมุงหลังคาเฉดสีน้ำเงินเข้ม  ซึ่งเป็นเฉดสีเดียวที่แมคอินทอชยืนยันว่าเหมาะสมที่สุด...
... แมคอินทอชจะใส่ใจทุกรายละเอียดในบ้านและออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ใช้งานได้ดีและสวยงาม...โดยเฉพาะห้องสำคัญคือ โถงต้อนรับ ห้องรับแขก (ภาพที่ 27a) ห้องสมุด และห้องนอนใหญ่ (ภาพที่ 27b) ทั้งเฟอร์นิเจอร์พร้อมอุปกรณ์ เตาผิง โคมไฟ ภาพลายฉลุตกแต่งผนัง (Stencil) พรม ม่าน แมคอินทอชได้ออกแบบไว้อย่างเหมาะเจาะประณีตสวยงาม...ผมคิดว่าการมุ่งแสวงหาสิ่งที่ตอบสนองการใช้งานได้ดีที่สุดทำให้ผลงานของแมคอินทอชมีความสดใหม่ไม่ซ้ำใคร...
... เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จแมคอินทอชได้กล่าวกับผมว่า ‘ที่นี่ไม่ใช่วิลลาส์แบบอิตาลี​ คฤหาสน์
แบบอังกฤษ กระท่อมไม้แบบสวิตซ์ หรือปราสาทแบบสก็อตซ์  แต่ที่นี่คือบ้านเพื่อการอยู่อาศัย’...”
ภาพที่ 27a-b  ภาพถ่ายห้องรับแขก​ และห้องนอนใหญ่​ บ้านเดอะฮิลล์  ที่มา :  www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk 
จากการเรียนรู้​ แสวงหา​ ค้นคว้า​ ทดลอง​ สะสมประสบการณ์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน​ ถึงจุดนี้แมคอินทอชคงมีความมั่น​ใจและพร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนรากฐานของความเป็นจริงแห่งยุคสมัยและความผูกพันต่อถิ่นฐานบ้านเกิด​ สิ่งใหม่นั้น
จะเป็นเช่นใด​ ติดตามตอนต่อไป
โฆษณา