Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สนทนาสถาปัตย์ : Architecture Dialogue
•
ติดตาม
17 ก.พ. 2021 เวลา 04:30 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
1
ภาค 2 ความผูกพันนำทางสายใหม่
ตอนที่ 2.3
โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ผลงานชิ้นเอกของ ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช ซึ่งนับเป็นหมุดหมายแรกของเส้นทางที่นำไปสู่สถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern) ซึ่งยังคงพัฒนาสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ ที่มา : www.gsa.ac.uk
ตอนที่ 2.3
ราวต้นศตวรรษที่ 20 ความพยายามอย่างแน่วแน่ของแมคอินทอชเริ่มปรากฏผลเป็นสถาปัตยกรรม
ที่่หลุดพ้นจากวังวนของการหยิบยืมรูปแบบจากอดีต สะท้อนความเป็นจริงแห่งยุคสมัยและความผูกพันต่อถิ่นฐานบ้านเกิด ผลงานที่สำคัญได้แก่
ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม
(Willow Tea Room : 1903)
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการออกแบบบ้านเดอะ
ฮิลล์ แมคอินทอชยังได้ออกแบบปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม
เมื่อเปรียบเทียบรูปด้านอาคารก่อนและหลัง
การปรับปรุง (ภาพที่ 28) จะเห็นว่า กรอบประตูหน้าต่างและบัวผนังถูกแทนที่ด้วยระนาบผนังเรียบเกลี้ยง
ภาพที่ 28 แบบรูปด้านก่อนและหลังปรับปรุง ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
การจงใจยกเลิกรายละเอียดตามแบบแผนเดิมเช่นนี้ เป็นหนึ่งในกลวิธีที่แมคอินทอชทดลอง
ใช้เพื่อแสดงถึงการไม่ยึดติดและอิสระในการออกแบบ เมื่อสร้างแล้วเสร็จร้านอาหารวิลโลว์
ทีรูม จึงโดดเด่นแปลกต่างจากอาคารอื่นๆตลอดแนวถนน (ภาพที่ 29)
ภาพที่ 29 ภาพถ่ายร้านอาหารวิลโลว์ทีรูมท่ามกลางอาคารอื่นๆ เมื่อราว ค.ศ.1910-12 ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
แมคอินทอชเขียนจดหมายถึงแฮร์มันน์ มัทเธียส
(Hermann Muthesius) เพื่อนผู้ผลักดันเขา
ในจดหมายบอกเล่าอย่างภูมิใจว่า
"...มิสส์แครนสตันท์เจ้าของร้านอาหารวิลโลว์
ทีรูม ชื่นชอบมากกับทุกสิ่งที่ผมทำ ซึ่งดียิ่งกว่าร้านอาหารที่ดีที่สุดที่เธอเคยมี... "
ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูมนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นิตยสาร Dekorative Kunst ในเยอรมันได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายจำนวนมากและบทความกล่าวชื่นชมว่า
“...แมคอินทอชผู้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งต่อกลาสโกว์บ้านเกิดเมืองนอนของเขา เป็นหนึ่งในสถาปนิกชั้นเยี่ยมไม่กี่คนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในทวีปยุโรป...”
อย่างไรก็ดีสื่อของวงการสถาปัตยกรรมในสก็อตแลนด์และอังกฤษกลับไม่สนใจผลงานนี้เลยแม้แต่น้อย
ภาพที่ 30a ภาพถ่ายด้านหน้า ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม ที่มา : Dekorative Kunst, 8, 1905, p. 258 จาก www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 30b ภาพถ่ายตอนล่างของรูปด้านหน้า ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม ที่มา : Builders' Journal and Architectural Engineer, 24, 28 November 1906, p.263 จาก www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
กลวิธีการออกแบบด้วยการจัดวางผนังโค้งและผนังเรียบผสมผสานกันที่พบในบ้านเดอะฮิลล์
ถูกทดลองซำ้อีกครั้ง ทำให้เกิดรูปด้านที่จงใจเรียบอย่างแยบยล การจัดองค์ประกอบใน
รูปด้าน (ภาพที่ 28, 30a-b) อาจแบ่งเป็นสองแบบแผนได้แก่
- รูปด้านตอนล่าง เป็นผนังโค้งใหญ่ขนาบด้วยผนังเรียบแคบๆ เจาะช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดสายตาเข้าสู่โถงกว้างภายใน แม้ช่องเปิดจะมีขนาดใหญ่แต่ผนังที่เหลืออยู่ก็ยังมีพื้นที่ไม่น้อยและต่อเนื่องถึงกัน ผนังจึงปรากฏเป็นส่วนทึบ (Solid) ล้อมกรอบช่องเปิด (Void) ได้อย่างหนักแน่นสมส่วน
- รูปด้านตอนบน เป็นผนังโค้งเล็กต่อเนื่องกับผนังเรียบที่มีพื้นที่กว้างกว่าเล็กน้อย หน้าต่างขนาดเล็กที่ล้อรับกันถูกจัดวางอยู่ในระนาบผนังทั้งสอง ผนังจึงปรากฏเป็นส่วนทึบสอดแทรกด้วยช่องเปิด
ส่วนทึบในรูปด้านตอนบนและตอนล่างแม้จะทำผิวเหมือนกัน แต่ก็ถูกแทรกคั่นด้วยพื้นยื่นบางๆ อย่างไรก็ดีเนื่องจากพื้นยื่นมีรูปแบบเรียบเกลี้ยงไม่แสดงตัวโดดเด่นและทำผิวเหมือนผนัง ส่วนทึบทั้งสองตอนจึงยังคงเชื่อมโยง ไม่ได้ตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
เป็นไปได้หรือไม่ว่า แมคอินทอชออกแบบพื้นยื่นแทรกคั่นระหว่างรูปด้านสองตอนเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความงามแบบอย่างใหม่ ที่ไม่อิงอาศัยส่วนประกอบหรือลวดลายตามแบบแผนเดิม พื้นยื่นนี้ส่งผลต่อการจัดองค์ประกอบคือ
- เป็นแนวประสานและพรางรอยต่อผนังตอนล่างและตอนบนที่มีระนาบโค้งและเรียบต่างกัน
- เป็นตัวเน้นความโค้งของผนังตอนล่างให้เด่นชัดยิ่งขึ้น รับรู้ได้จากเส้นขอบผนังโค้งที่ท้องพื้นและเงาของพื้นยื่นที่ทาบบนผนังโค้ง ผนังที่เรียบเกลี้ยงจึงมีเสน่ห์ชวนมอง ไม่แบนราบเฉยชา
- หากพิจารณาว่าแมคอินทอชอาจทดลอง
ใช้สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของรูปแบบใหม่ พื้นยื่นก็อาจเป็น
เส้นแบ่งที่กำหนดให้ผนังตอนล่างมีสัดส่วนเป็น
รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ภาพที่ 28, 30b) ผสานกับช่องแสงตารางจัตุรัสที่เริ่มปรากฏเป็นระนาบ
ช่องเปิดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพัฒนาการก่อนที่
จะบรรลุถึงขีดสุดในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 2 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
(Glasgow School of Art) :
ระยะที่ 1 ค.ศ.1896 ,ระยะที่ 2 ค.ศ.1907
โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1845
ผ่านไปราวครึ่งศตวรรษ แม้ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำในสหราชอาณาจักร แต่ก็ยังไม่มีอาคารสถานที่ที่เหมาะสม
แผนการก่อสร้างโรงเรียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยการผลักดันของ ฟรานซิส นิวเบอรี ครูใหญ่ของโรงเรียน ผู้เล็งเห็นความสามารถและให้การสนับสนุนแมคอินทอชเสมอมา ต้นปี 1896 เขา
ได้จัดทำข้อกำหนดการประกวดแบบที่ระบุรายละเอียดสำคัญๆเช่น ขนาดห้องเรียน การจัดวางสตูดิโอรับแสงจากทิศเหนือ ความสูงช่องแสงในสตูดิโอซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ส่วนของความลึก รวมถึงงบประมาณก่อสร้าง 14,000 ปอนด์
ในกลางปีนั้นสำนักงานสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในเมืองกลาสโกว์ 12 ราย ได้รับเชิญเข้าร่วมการประกวดแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ในระหว่างออกแบบสถาปนิกเหล่านี้มีความเห็นร่วมกันว่า ตามงบประมาณที่กำหนดไว้ เป็นไป
ไม่ได้ที่จะออกแบบอาคารให้มีพื้นที่ใช้สอยครบตามข้อกำหนด ต่อมาจึงมีการแก้ไขข้อกำหนดให้ผู้เข้าประกวดแจ้งว่า ตามงบประมาณที่กำหนดไว้สามารถสร้างอาคารส่วนใดบ้าง และถ้าจะสร้างอาคารให้เสร็จสมบูรณ์ตามแบบจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้แผนการก่อสร้างโรงเรียนจึงถูกแบ่งออกเป็นสองระยะ
ในที่สุดมีแบบเข้าร่วมประกวด 11 ผลงาน การตัดสินผลงานจะพิจารณาโดยกรรมการ 2 คณะ
ที่เป็นอิสระจากกันได้แก่ กรรมการที่ทางโรงเรียนแต่งตั้ง และกรรมการจากหน่วยงานการศึกษาจากส่วนกลาง กรรมการทั้งสองคณะได้ตัดสินเลือกผลงานเดียวกันให้เป็นผู้ชนะการประกวด
ชื่อที่ปิดผนึกอยู่ในซองที่แนบมากับแบบผลงานนั้นก็คือ สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์ เคปปี (JHK)
ภาพที่ 31 รูปด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่ง กลาสโกว์ ตามแบบระยะที่ 1 ค.ศ.1896 ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
เมื่อพิจารณารูปด้านทิศเหนือ (ภาพที่ 31) จะพบว่ามีแบบแผนและลักษณะเรียบอย่างแยบยลตามกลวิธีในการออกแบบที่แมคอินทอชเคยทดลองใช้ในโครงการก่อนหน้าได้แก่
- การไม่เน้นแนวแกนสมมาตร
- การจัดวางส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอย่าง
พอเหมาะเท่าที่จำเป็นด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดและเหนือความคาดหมาย
- ความสมดุลย์อย่างมีชั้นเชิง
แบบแผน ลักษณะ และกลวิธีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแมคอินทอชคงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในการออกแบบ
ในเอกสารประกอบแบบได้บรรยายแนวคิดในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ไว้ว่า
“...อาคารคือภาพสะท้อนของการให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยต่างๆอย่างตรงไปตรงมา
ซึ่งประกอบกันเป็นรูปทรงที่มีความงามอันน่า
พึงพอใจ โดยไม่จำเป็นต้องมีการประดับใดๆ
ที่ไร้ประโยชน์และสิ้นเปลืองเปล่า...”
แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับ "ประโยชน์ใช้สอย" เป็นหลัก ส่งผลให้เกิดจุดเด่นที่สำคัญคือ
- สามารถตอบโจทย์การใช้งานตามข้อกำหนด
ได้ครบถ้วนเป็นอย่างดี
- การออกแบบเป็นอิสระ เปิดกว้างสู่ทุกทางเลือกที่เหมาะสม แตกต่างจากแนวคิดเดิมที่ให้ความ
สำคัญกับ“รูปแบบ”เป็นหลัก ก่อนที่แบบแผนและส่วนประกอบตามรูปแบบนั้นจะถูกนำมาจัดวางประกอบขึ้นเป็นรูปทรงและที่ว่าง ซึ่งในบางกรณีก็อาจไม่สอดคล้องหรือเป็นข้อจำกัดได้ เช่นเมื่อต้องออกแบบให้สนองประโยชน์ใช้สอยใหม่ซึ่งต่างจากที่เคยมีมา
แนวคิดที่ต่างกันนี้สะท้อนให้เห็นได้จากช่องแสงด้านทิศเหนือที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
ซึ่งเป็นช่องแสงต่อเนื่องขนาดใหญ่เรียบเกลี้ยง
มีเพียงวงกบ ไม่มีลวดลายประดับแทรก เพื่อเปิดรับแสงเข้าสู่พื้นที่การเรียนการสอนอย่างเต็มที่ (ภาพที่ 32) แตกต่างจากโรงเรียนศิลปะแห่ง
อื่นๆในช่วงเวลานั้น ซึ่งช่องแสงจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆแทรกสลับกับส่วนประกอบตามแบบแผนของรูปแบบ (ภาพที่ 33a, b)
ภาพที่ 32 ภาพถ่ายด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 33a โรงเรียนศิลปะแห่งแมนเชสเตอร์ สร้างแล้วเสร็จราว ค.ศ.1880 ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 33b โรงเรียนศิลปะแห่งเบอร์มิงแฮม สร้างแล้วเสร็จราว ค.ศ.1893 ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
รูปแบบช่องแสงด้านทิศเหนือที่โรงเรียนศิลปะ
แห่งกลาสโกว์ แม้ว่าจะส่งผลให้ภาพรวมของอาคารดูคล้ายสำนักงานหรือโรงงานในช่วงเวลานั้น แต่ช่องแสงลักษณะคล้ายกันนี้เคยมีปรากฏมาก่อนที่โรงเรียนช่างศิลป์แห่งชาติ วิทยาเขตเซาท์ เคนซิงตัน (National Art Training School
,South Kensington) ซึ่งออกแบบโดยฟรานซิส
โฟว์ค (Francis Fowke) เมื่อราว ค.ศ.1863
(ภาพที่ 34) น่าสังเกตว่าศิษย์เก่าคนสำคัญคนหนึ่งของโรงเรียนแห่งนี้ก็คือ ฟรานซิส นิวเบอรี ครูใหญ่ของโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์นั่นเอง
ภาพที่ 34 โรงเรียนช่างศิลป์แห่งชาติ วิทยาเขต เซาท์ เคนซิงตัน สร้างแล้วเสร็จราว ค.ศ.1863 ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
การให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยนั้นไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องขนาดและคุณภาพทางกายภาพของพื้นที่ใช้สอยต่างๆเท่านั้น แต่แมคอินทอชซึ่ง
ผ่านชีวิตนักเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์มาได้ไม่นาน และเคปปีเจ้านายและนักเรียนรุ่นพี่ของเขา ยังได้เสนอสิ่งที่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานเช่น
- การเสนอให้ห้องสมุดตั้งอยู่ที่ชั้น 1 เพื่อให้นักเรียนทุกแผนกเข้าถึงได้สะดวก ซึ่งไม่ตรงกับข้อกำหนดที่ระบุให้อยู่ที่ชั้นใต้ดิน
- การออกแบบทางเดินชั้น 2 ให้เปิดรับแสง (ภาพที่ 35) เพื่อให้สามารถปรับใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงาน
- การเสนอให้เพิ่มห้องกิจกรรมทั่วไป (Student Common Room) เพื่อให้นักเรียนและครูได้พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน
สิ่งเหล่านี้คงเป็นอีกจุดเด่นหนึ่งที่ทำให้แบบจากสำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน แอนด์ เคปปี ต่างจากแบบของคู่แข่งและโรงเรียนศิลปะแห่ง
อื่นๆในช่วงเวลานั้น
ภาพที่ 35 ภาพถ่ายทางเดินชั้น 2 โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงแรงบันดาลใจ การสร้างสรรค์แบบอย่างใหม่ แนวทางและกลวิธี
การอออกแบบ อันเป็นที่มาของโรงเรียนศิลปะ
แห่งกลาสโกว์
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม : ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย