Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สนทนาสถาปัตย์ : Architecture Dialogue
•
ติดตาม
4 มี.ค. 2021 เวลา 03:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868 - 1928
ภาค 2 ความผูกพันนำทางสายใหม่ (ต่อ)
ตอนที่ 2.4
สัญลักษณ์เหนือประตูทางเข้าหลัก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.gsa.ac.uk
การก่อสร้างโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 1 เริ่มขึ้นราวปลายปี 1897 ใช้เวลาราวสองปีจึงแล้วเสร็จ แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงสร้างอาคารได้เพียงส่วนหนึ่ง (ภาพที่ 36)
ภาพที่ 36 ภาพวาดลายเส้น โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ค.ศ. 1907 โดย Alexander McGibbon ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ผ่านไปไม่นานอาคารนี้ก็คับแคบเกินไปเสียแล้ว ปลายปี 1906 แผนการก่อสร้างโรงเรียนให้สมบูรณ์จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง สำนักงานสถาปนิกจอห์น ฮันนีแมน เคปปี แอนด์ แมคอินทอช ได้รับมอบหมายให้สานต่องานนี้ให้สำเร็จ
แผนการก่อสร้างระยะที่ 2 นี้ไม่ได้เป็นเพียงการก่อสร้างตามแบบเดิมให้สมบูรณ์ แต่แมคอินทอชซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นหุ้นส่วนของสำนักงาน
ได้ปรับเปลี่ยนแบบให้เหมาะกับพื้นที่ใช้สอยที่
เพิ่มขึ้นมาก และปรับแต่งสถาปัตยกรรมอย่าง
เข้มข้น (ภาพที่ 36a)
ภาพที่ 36a รูปด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่ง กลาสโกว์ ตามแบบระยะที่ 2 ค.ศ.1910 ที่มา : www.mackintotosh-architecture.gla.ac.uk
การจงใจยกเลิกรายละเอียดตามแบบแผนเดิมเป็นแนวทางหนึ่งที่แมคอินทอชใช้เพื่อปรับแต่งสถาปัตยกรรม เห็นได้จาก
- การยกเลิกบัวผนัง (Cornice) เหนือช่องแสง
สตูดิโอ
- การยกเลิกเสาขนาบข้างประตูทางเข้าหลัก แล้วแทนที่ด้วยกรอบประตูประดับลวดลายแบบใหม่ (ภาพที่ 37a-b) ซึ่งเป็นลวดลายเพียงหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในอาคาร
ภาพที่ 37a ภาพถ่ายทางเข้าหลัก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.benblossom.com
แมคอินทอชได้ออกแบบลวดลายประดับกรอบประตูและปั้นต้นแบบจากดินเหนียวด้วยตัวเอง (ภาพที่ 37c) เป็นรูปหญิงสาวคุกเข่าขนาบข้าง
ต้นกุหลาบที่ลดทอนให้เรียบง่าย และใช้เส้นโค้ง
ที่พริ้วไหว ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากลวดลายแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau)
ภาพที่ 37b ลวดลายประดับกรอบประตูทางเข้าหลัก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 37c ต้นแบบลวดลายปั้นดินเหนียวโดยแมคอินทอช ที่มา : Dekorative Kunst, 5, 1902, p. 216 จาก www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 2 "การสอดแทรกส่วนประกอบที่มี
พื้นฐานมาจากสี่เหลี่ยมจัตุรัส" เป็นแนวทาง
สำคัญยิ่งที่แมคอินทอชนำมาใช้เพื่อปรับแต่งสถาปัตยกรรมให้เกิดลักษณะใหม่ต่างจาก
ที่เคยมีมา
แนวทางนี้เป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์ ความคิด การเรียนรู้ ค้นคว้า ทดลอง และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากการหยิบยืมหน้าต่างแบบมุขยื่นออกจากผนังและช่องแสงตารางของบ้านท้องถิ่นในสก็อตแลนด์ (ภาพที่ 18) มาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบบริเวณทางเข้าหลักของโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 1 ในปี 1896 (ภาพที่ 37a)
ก่อนที่จะพัฒนาคลี่คลายเป็นช่องแสงตารางจัตุรัสในโครงการต่อๆมาเช่น แบบบ้านในเมืองสำหรับคู่รักศิลปิน ค.ศ. 1900 (ภาพที่ 16a-b) แบบคฤหาสน์สำหรับคู่รักศิลปิน ค.ศ. 1901
(ภาพที่ 24b) และบ้านเดอะฮิลล์ ค.ศ.1902
(ภาพที่ 25a) เป็นต้น
จนถึงก่อนหน้าการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่ง
กลาสโกว์ระยะที่ 2 ไม่นาน ที่โรงเรียนสก็อต-แลนด์ สตรีท (Scotchland Street Public School : 1903) นอกจากช่องแสงทั้งหมดของอาคารซึ่งเป็นแบบตารางหรือตารางจัตุรัสแล้ว แมคอินทอชยังได้ออกแบบระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่อีกสองแบบคือ
แบบแรกอยู่ที่โถงกลางอาคาร (ภาพที่ 38a) เป็นระนาบตรงขนาดยาว 13.4 สูง 3.65 เมตร โดยกำหนดให้เสาเหล็กผอมบางที่รองรับช่องเปิดนี้
ตั้งอยู่ภายใน เมื่อมองจากภายนอกตารางจัตุรัสจึงต่อเนื่องกันตลอด ปรากฏเป็นระนาบผนังโปร่งใส ต่างจากผนังทึบอย่างที่คุ้นเคยกันมา
น่าเสียดายที่แบบช่องเปิดนี้ไม่ได้รับอนุมัติ
ภาพที่ 38a รูปด้านหน้า โรงเรียนสก็อตแลนด์ สตรีท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
แบบที่สองอยู่ที่หอบันได (ภาพที่ 38b-d) เป็นระนาบโค้งแทรกสลับด้วยส่วนทึบที่ผอมบาง
แยกเป็นอิสระจากบันได ทำให้ที่ว่างภายในทะลุต่อเนื่องกันตลอดจากพื้นถึงยอด ระนาบโค้งนี้
จึงปรากฏเป็นเพียงผิวโปร่งเบาโอบล้อมที่ว่างไม่ใช่ผนังรับน้ำหนักที่หนักทึบ
ภาพที่ 38b, c, d ระนาบช่องแสงโค้งโอบล้อมหอบันได โรงเรียนสก็อตแลนด์สตรีท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ระนาบช่องเปิดขนาดใหญ่ถูกทดลองซ้ำอีกครั้ง
ที่ร้านอาหารวิลโลว์ทีรูม ในปี 1906 หนึ่งปีก่อนการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 2 (ภาพที่ 30b)
นับจากนี้แมคอินทอชคงเชื่อมั่นว่า...
"สี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์และบริสุทธิ์นั้นสามารถ
นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นอิสระจากแบบแผนเดิม"
และเล็งเห็นว่า...
"ระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่ส่งผล
ให้เกิดลักษณะใหม่คือ การเลือนหายไปของความทึบตัน ซึ่งถูกแทนที่ด้วยความปรุโปร่ง (Transparency) "
เมื่อต้องออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์
์ให้สมบูรณ์ในปี 1907 เขาจึงสอดแทรกส่วนประกอบต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ไว้ในอาคารอย่างหลากหลายและโดดเด่นยิ่ง
ด้านทิศเหนือ แมคอินทอชได้สอดแทรกส่วนประกอบที่มีพื้นฐานมาจากสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้อย่างมั่นใจและเด็ดเดี่ยว โดยได้ยกเลิกหลังคาเดิมแล้วแทนที่ด้วยสตูดิโอใหม่ ซึ่งมีระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่ต่อเนื่องเป็นผนังตลอดแนว ส่วนประกอบนี้มีลักษณะอิสระ เรียบเกลี้ยงโปร่งเบา และผ่อนคลาย ด้วยแบบแผนที่ไม่เคร่งครัดตามแบบฉบับของแมคอินทอช (ภาพที่ 36a ,39 ,39a) ส่งผลให้เกิดรูปแบบใหม่ที่จับตาจับใจต่างจากรูปแบบใดๆที่เคยมีมา ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า
"โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์คือการปรากฏ
ตัวเป็นครั้งแรกของสถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern)"
ภาพที่ 39 ภาพถ่ายด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะ แหง่กลาสโกว์ จะเห็นระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัสขนาดใหญ่ต่อเนื่องตลอดแนวผนังสตูดิโอ ที่เพิ่มเติมขึ้นในการออกแบบระยะที่ 2 ที่มา : ภาพถ่ายลิขสิทธิ์ Alan McAteer จาก www.archdaily.com
ภาพที่ 39a ภาพถ่ายภายในสตูดิโอที่เพิ่มเติมใน การออกแบบระยะที่ 2 ด้านซ้ายคือระนาบช่องเปิดตารางจัตุรัส ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ที่มุมอาคารด้านทิศตะวันตกต่อเนื่องไปยังทิศใต้ (ภาพที่ 40a) แมคอินทอชยังได้จัดวางช่องแสงตารางจัตุรัสด้วยชั้นเชิงที่แยลยลทำให้เกิดรูปแบบใหม่ที่แปลกตา
ภาพที่ 40a ภาพถ่ายทิศตะวันตกเฉียงใต้ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ด้านทิศตะวันตก ช่องแสงตารางจัตุรัสปรากฏเป็นรูปทรงที่ยื่นลอยจากผนังพุ่งขึ้นไปตามแนวตั้ง จัดวางองค์ประกอบส่วนทึบ (Solid) ส่วนเว้นว่าง (Void) และช่องเปิด (Opening) ให้เกิดลักษณะแบ่งแยก สอดแทรก ส่งต่อ ล้อรับ ที่ผสมผสานกันอย่างมีชั้นเชิง เกิดเป็นจังหวะอันมีเสน่ห์ชวนมองไม่รู้เบื่อ (ภาพที่ 40b)
ภาพที่ 40b ภาพถ่ายช่องแสงที่ผนังทิศตะวันตก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ แสดงการจัด องค์ประกอบส่วนทึบ ส่วนเว้นว่าง และช่องเปิด ทึ่มา : www.architectureglasgow.co.uk
ด้านทิศใต้ ช่องแสงซึ่งมีลักษณะล้อรับกับด้านทิศตะวันตก ถูกจัดวางไว้ในช่องเปิดในผนัง โดยจะถอยแนวเข้ามาจากขอบช่องเปิดทั้งสองข้าง ทำให้เกิดส่วนเว้นว่าง (Void) ที่มีทิศทางพุ่งขึ้นไปตามแนวตั้งส่งต่อกันขึ้นไปจนถึงตำแหน่งบนสุด ช่องแสงจึงปรากฏเป็นส่วนประกอบที่มีลักษณะลอยตัว (ภาพที่ 40c)
ภาพที่ 40c ภาพถ่ายช่องแสงในผนังทิศใต้ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ช่องแสงตารางจัตุรัสเหล่านี้แสดงตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของที่ว่างภายในอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะ
ที่ว่างภายในห้องสมุดที่แปลกใหม่ ลึกลับ ปลุกเร้าจินตนาการ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป
บันทึก
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม : ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย