Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สนทนาสถาปัตย์ : Architecture Dialogue
•
ติดตาม
8 ก.พ. 2023 เวลา 15:39 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิกที่โลก (เคย) ลืม
ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
Charles Rennie Mackintosh : 1868-1928
ภาค 2 ความผูกพันนำทางสายใหม่ (ต่อ)
ตอนที่ 2.5
ในปี 1906 ก่อนหน้าการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ระยะที่ 2 ไม่ถึงปี แมคอินทอชได้ซื้อบ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอร์เรซ (ภาพ 41a) ในเมือง กลาสโกว์ แล้วออกแบบปรับปรุงให้เป็นบ้านของเขาและมากาเร็ต
ภาพที่ 41a บ้านเลขที่ 6 อาคารฟลอเรนทีน เทอเรซ (หลังซ้ายสุด) ราว ค.ศ.1962 ที่มา : mackintosh-architecture.gla.ac.uk
กลวิธีการออกแบบที่น่าสนใจถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงพื้นที่ชั้น 2 คือ การยกเลิกผนังทึบระหว่างห้องรับแขกกับห้องนอนเดิม ให้ทั้งสองส่วนเชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นห้องรับแขกและห้องทำงานที่สามารถปรับใช้งานต่อเนื่องหรือแยกจากกันได้ โดยกั้นแบ่งด้วยม่านที่ติดตั้งอยู่ในช่องเปิดตามแนวผนังเดิม (ภาพ 41b)
ภาพที่ 41b ห้องทำงานมองจากห้องรับแขก ที่มา : mackintosh-architecture.gla.ac.uk
น่าสังเกตว่าระหว่างช่องเปิดและผนังทึบด้านบนมีแถบบัวเรียบๆแทรกคั่น บัวเรียบนี้จะคาดต่อเนื่องไปตามผนังห้องทั้งหมดแม้แต่หน้าต่างเดิมที่วงกบบนสูงกว่าช่องเปิด บัวเรียบและผนังทึบก็คาดต่อเนื่องผ่านหน้าไป (ภาพ 41c) ขอบบนของเฟอร์นิเจอร์และโคมไฟที่ห้อยลงมาสัมพันธ์กับระดับบัวเรียบ สร้างสัดส่วนลวงตาให้รู้สึกเหมือนว่าฝ้าเพดานลดลงมาอยู่ที่ระดับนั้น ที่ว่างภายในที่สูงโปร่งจึงดูสมส่วนไม่ชะลูด กระชับและอบอุ่น (ภาพ 41b, d)
ภาพที่ 41c รายละเอียดผนังและบัวที่พาดผ่านหน้าต่าง ที่มา : mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 41d ห้องรับแขก ที่สร้างขึ้นใหม่ตามแบบปรับปรุง ตั้งอยู่ในอาคารห้องสมุดมหาวิทยาลัยกลาสโกว์และหอศิลป์ฮันเตอเรียน ที่มา : mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ห้องสมุดที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือนั้น แม้ว่าการจัดแปลน (ภาพที่ 42) จะเป็นไปตามแบบแผนทั่วๆไปคือ ที่ว่างภายในเป็นโถงสูงที่ มีชั้นลอยล้อมรอบ เปิดช่องโล่งตรงกลาง แต่แมคอินทอชก็สามารถปรุงแต่งทั้ง ที่ว่างภายในและรูปลักษณ์ภายนอกให้สะท้อนสอดผสานกัน จนเกิดผลลัพธ์ที่แปลกใหม่และน่าประทับใจได้ด้วยกลวิธีการออกแบบต่างๆได้แก่
ภาพที่ 42 แปลนพื้นชั้น 2 ตามแบบระยะที่ 2 โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ แสดงห้อง สมุดซึ่งตั้งอยู่ที่ขอบอาคารด้านทิศตะวันตก (มุมขวาบนในแปลน) ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
1. กลวิธีการสลายขอบเขตที่ว่างด้วยการบดบังขอบบนของช่องเปิด เห็นได้จากช่องแสงด้านทิศตะวันตกที่ยื่นออกจากผนังและพุ่งขึ้นไปเหนือระดับฝ้า (ท้องพื้น) มากจนไม่เห็นขอบบน ผสานกับการเว้นช่องว่างระหว่างพื้นชั้นลอยกับช่องแสง (ภาพที่ 42, 43a) ส่งผลให้พื้นชั้นลอยดูเบาคล้ายสะพานที่ลอยอยู่กลางที่ว่าง และรูปทรงตามตั้งของช่องแสงยังคงต่อเนื่องสะท้อนรูปทรงภายนอกอย่างซื่อตรงนอกจากนั้นยังโน้มนำให้ที่ว่างไหลพุ่งขึ้นไปสู่ภาวะเสมือนไร้ขอบเขตเบื้องบน จึงสัมผัสได้ถึงอิสระกว้างไกลเร้าจินตนาการ
ภาพที่ 43a องค์ประกอบต่างๆภายในห้องสมุด โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 43b ภาพภ่ายภายในห้องสมุด โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ค.ศ.2014 ที่มา : ภาพถ่ายลิขสิทธิ์ Bob Proctor จาก www.artisticdress.wordpress.com
2. กลวิธีการสร้างระนาบลวงตา นอกจากโคมไฟที่ห้อยลงมาสัมพันธ์กับพื้นชั้นลอยจะระบุเป็นนัยเสมือนมีระนาบฝ้ากระชับสัดส่วนที่ว่างภายในแล้ว ระนาบลวงตายังปรากฏให้เห็นได้จากส่วนประกอบสถาปัตยกรรมภายในที่แปลกใหม่ต่างจากแบบแผนเดิมๆ โดยเฉพาะเสารับพื้นชั้นลอยที่เป็นอิสระ (ภาพที่ 43a,b)
ระหว่างเสาและขอบพื้นชั้นลอยตอนล่างที่เป็นผนังทึบนั้นจะถูกแทรกด้วยลูกกรงโปร่ง ถัดขึ้นไปเป็นช่องโปร่งมีกรอบโค้งด้านบน ส่วนประกอบเหล่านี้ทำให้เกิดระนาบทึบ ระนาบโปร่ง และระนาบในจินตภาพที่เกิดจากการเชื่องโยงระหว่างส่วนประกอบ ระนาบเหล่านี้ต่างสอดแทรกและส่งต่อกัน ส่งผลให้ที่ว่างภายในห้องสมุดมีลักษณะปรุโปร่ง ทะลุผ่าน และไหลแผ่ไปทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ก่อเกิดความรู้สึกอิสระ เร้าอารมณ์และจินตนาการให้หลุดพ้นจากข้อจำกัดใดๆ ซึ่งเป็นลักษณะใหม่ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่ว่างแบบเดิมที่ปิดล้อม ควบคุม จำกัด
นอกเหนือจากการมุ่งแสวงหารูปแบบใหม่ที่เป็นอิสระแล้ว อีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่เป็นรากฐานของการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์มาตั้งแต่ระยะที่ 1 คือ ความประทับใจในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากรูปแบบและแบบแผนต่างๆตัวอย่างเช่น
หน้าต่างแบบมุขยื่นและช่องแสงตารางรูปทรงสูงต่อเนื่องสองชั้นด้านข้างประตูทางเข้า (ภาพที่ 44) ซึ่งเป็นรูปแบบที่อาจหยิบยืมมาจากหน้าต่างของบ้านดั้งเดิมในเมืองไลม์เรจส์ ที่แมคอินทอชได้เดินทางไปสเกตซ์ศึกษาไว้ก่อนหน้าการออกแบบ
อย่างไรก็ดีหน้าต่างและช่องแสงแบบนี้ได้ถูกนำมาจัดองค์ประกอบใหม่ให้เคียงคู่อยู่กับประตูทางเข้าหลักที่ขนาบด้วยเสาประดับ และประตูห้องบนชั้น 2 ภายใน กรอบอาร์คโค้ง โดยมีระเบียงพาดแทรกคั่นเป็นตัวเชื่อมผสานส่วนประกอบทั้งหมด การจัดองค์ประกอบเช่นนี้อาจได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยเช่น อาคารพาเลซคอร์ท (Palace Court : 1889-90 : ภาพที่ 45) ออกแแบบโดยเจมส์ แมคลาเรน (James Maclaren) สถาปนิกผู้ใฝ่หารูปแบบใหม่ที่แมคอินทอชยกย่องนับถือ
ภาพที่ 44 แบบบริเวณทางเข้าหลัก โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ขยายส่วนหนึ่ง จากแบบต้นฉบับ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 45 ทางเข้าอาคารพาเลซคอร์ท ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของสก็อตแลนด์ยังเห็นได้จาก รูปทรงที่มีลักษณะเป็นปริมาตรของรูปทรงที่หนักแน่น กำแพงหรือผนังที่สูงทึบ การเจาะช่องเปิดอย่างอิสระ การแทรกหอคอยและมุขยื่นออกจากกำแพง (ภาพที่ 46) ไม่ต่างจากที่ลักษณะเด่นที่ปรากฏในบ้านหอคอย ปราสาท ป้อมปราการ เช่น ปราสาท เมย์โบล์ว บ้านหอคอยทราแควร์ ปราสาทไฟย์วี เมืองอเบอร์ดีนเชียร์ ( Fyvie Castle,Aberdeenshire : ภาพที่ 47)
ภาพที่ 46 รูปด้านทิศใต้ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
ภาพที่ 47 ภาพถ่ายปราสาทไฟย์วี เมืองอเบอร์ดีนชาร์ย ที่มา : www.commons.wikimedia.org
แม้การพยายามสลัดให้หลุดพ้นจากรายละเอียดอันแพรวพราวของรูปแบบเดิม และมุ่งสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ที่เรียบซื่อตรงไปตรงมา จะเป็นแนวคิดที่แมคอินทอชยึดเป็นหลักในการออกแบบโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ แต่ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมต่างๆก็สะท้อนให้เห็นความพิถีพิถันในการออกแบบ การให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางศิลปะและเอกลักษณ์แบบงานช่างฝีมือ สอดคล้องกับกระบวนการศิลปกรรมและช่างฝีมือ (Art and Craft Movement) ที่มีอิทธิพลอยู่ ในขณะนั้น
นอกจากลวดลายแกะสลักที่กรอบประตูทางเข้าหลัก (ภาพที่ 36b) ดังกล่าวแล้ว ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมที่ประทับใจผู้คนคือ เหล็กหล่อ (Wrought Iron) ซึ่ง ติดตั้งอยู่ที่ส่วนต่างๆของอาคารเช่น ส่วนบนสุดของอาคารบริเวณทางเข้าหลัก รั้ว และช่องแสงสตูดิโอด้านทิศเหนือ ส่วนประกอบเหล็กหล่อเหล่านี้ล้วนเป็นงานสั่งทำตามแบบ ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ (ภาพที่ 50a-c) ทั้งๆที่ช่วงเวลานั้นในเมืองกลาสโกว์มีโรงงานที่สามารถผลิตเหล็กหล่อสำเร็จรูปได้อย่างประณีตเป็น ที่ยอมรับและนิยมใช้กันทั่วไป
ภาพที่ 50 เหล็กหล่อ ที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.wikiarquitectura.com
ภาพที่ 50b เหล็กหล่อที่รั้ว โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.journal.theodoreellison.com
ภาพที่ 50c เหล็กหล่อที่ช่องแสงด้านทิศเหนือ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ที่มา : www.mackintosh-architecture.gla.ac.uk
โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 15 ธันวาคม 1909 แม้จะได้รับการชื่นชมในแง่ประโยชน์ใช้สอยและรูปแบบ ที่เป็นอิสระหลุดพ้นจากการประดับประดาดังเช่นที่ ฟรานซิส นิวเบอรี ครูใหญ่ของโรงเรียนได้กล่าวว่า
“ ...เป็นสถานที่ปฏิบัติงานเพื่อการเรียนรู้ทางศิลปะที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา สามารถตอบสนองทุกสิ่งที่ต้องการในการเรียนรู้”
แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากสื่อของวงการสถาปัตยกรรมในสก็อตแลนด์ รวมถึงเกิดกระแสต่อต้านดังเช่น บทวิจารณ์ของผู้ที่อ้างว่าเป็นนักเรียนที่ตีพิมพ์อยู่ใน The Vista นิตยสารของโรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ว่า
“...เป็นงานศิลปะแบบใหม่ที่ยากจะเข้าใจ และสร้างความปั่นป่วนให้กับการเรียนการสอนศิลปะ ถ้าแมคอินทอชมุ่งหวังความแปลกใหม่ เขาก็ทำได้สำเร็จอย่างที่หวัง แต่การออกแบบที่ไร้หลักเกณฑ์เป็นสิ่งที่ควรถูกประณาม
แม้จะมองในแง่ดี โดยอ้างว่าป็นเรื่องยากที่จะใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมทั่วไป เพื่อแสดงอุดมคติอย่างที่แมคอินทอชเชื่อ แต่ผลงานนี้ก็เปรียบเหมือนจารึกโบราณ เมื่อใดที่ผู้มีความคิดอ่านถูกต้องได้ถอดความออกมาแล้ว ผู้คนจะต้องรู้สึกขยะแขยงเรื่องราวของชายผู้คิดว่าโรงเรียนศิลปะคือกรงขัง และตะเกียกตะกายสร้างมันขึ้นมาด้วยความฟุ้งฝันอย่างน่าสมเพช
...งบประมาณที่จำกัดคงพอใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการออกแบบเช่นนี้ แต่ถึงอย่างไรผลลัพธ์ก็คือ สถาปัตยกรรมหยาบๆที่เป็นหายนะ จากน้ำมือของสถาปนิกผู้ใฝ่หา รูปแบบใหม่...”
หากพิจารณาว่า ตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1904 ศาสตราจารย์ยูจีน บูรตอน (Eugene Bourdon) ได้นำแนวทางที่เขาศึกษาจากโรงเรียนศิลปะโบซารส์ในฝรั่งเศสมา ใช้ในการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมที่โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์ ก็อาจเข้าใจ ได้ว่า บทวิจารณ์ดังกล่าวอาจเป็นการมองต่างมุมที่ไม่เปิดกว้างนัก อย่างไรก็ดี การเรียนการสอนตามแนวทางนี้ก็ได้ปลูกฝังและสร้างกระแสหลักทางความคิดขึ้นในวงการสถาปัตยกรรม แมคอินทอชซึ่งมีความคิดทวนกระแสจึงต้องทำงานอย่างยากลำบากไม่น้อย
ด้วยการออกแบบที่เป็นอิสระและไม่ยึดติด การแสวงหารูปแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยและพฤติกรรมการใช้งาน การสร้างสรรค์รูปแบบและ ที่ว่างทางสถาปัตยกรรมแบบใหม่ การพัฒนาคลี่คลายสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เรียบซื่อเพื่อสะท้อนความจริงแห่งยุคสมัย และการให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางศิลปะและเอกลักษณ์แบบงานช่างฝีมือ โรงเรียนศิลปะแห่งกลาสโกว์จึงได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นหมุดหมายของการเริ่มต้นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern Architecture)
แต่การยอมรับและยกย่องเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นในราวกลางศตวรรษที่ 20 หลังจากแมคอินทอชได้จากโลกนี้ไปแล้วหลายทศวรรษ
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สถาปนิกที่โลก(เคย)ลืม : ชาร์ลส เรนนี แมคอินทอช
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย