25 ม.ค. 2021 เวลา 11:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นักลงทุนดันโด : กลยุทธ์การลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง
หนังสือนักลงทุนดันโด (The Dhandho Investor) มาพร้อมกับคำโปรยอันน่าค้นหากลางปกหน้าว่า "กลยุทธ์การลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง" ซึ่งเป็นประโยคที่ "โมห์นิช พาไบร" (Mohnish Pabrai) ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ยึดถือและมุ่งมั่นพิสูจน์ตนเองเสมอมาตลอดช่วงชีวิตหนึ่งของเขา ผ่านการก่อตั้ง "Pabrai Investment Funds" ในปี ค.ศ.1999 และสร้างผลตอบแทนทบต้นต่อปีจนถึงปัจจุบันได้อย่างน่าประทับใจ (28% เฉลี่ยต่อปี ซึ่งหักค่าธรรมเนียมทั้งหมดแล้ว)
หนังสือนักลงทุนดันโด : กลยุทธ์การลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง, แต่งโดย โมห์นิช พาไบร, แปลโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข, พ.ศ.2559
พาไบรกล่าวย้ำแล้วย้ำอีกตลอดทั้งเล่มที่มีความยาวกว่า 207 หน้า ว่าแนวคิดของเขานั้นไม่มีอะไรใหม่เลย ไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่อันเลิศหรูใดๆให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เขาเพียงแค่ลอกเลียนแบบ หยิบยืม แล้วนำมาวิเคราะห์ วางแผน ทำตามแผนการอย่างมีวินัย จากนั้นก็เพียงแค่เฝ้ารอให้สิ่งอัศจรรย์ที่เขาคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าบังเกิดขึ้น แล้วก็มีความสุขไปกับมัน และแน่นอนว่ากองทุน Pabrai ของเขาคือส่วนผสมของ วอร์เรน บัฟเฟตต์, ชาร์ลี มังเกอร์ และแนวคิดดันโด!!
นักลงทุนและนักธุรกิจผู้มั่งคั่งหลายรายที่ปรากฏชื่ออยู่ภายในหนังสือเล่มนี้ล้วนถูกพาไบรชำแหละ ดึงทึ้งเครื่องในออกมาวางเรียงรายเพื่อวิเคราะห์อธิบายถึงต้นตอแห่งความสำเร็จของพวกเขาผ่าน "แนวคิดดันโด" (ถึงแม้ว่านักลงทุนแทบทุกคนที่เขากล่าวถึงอาจจะไม่เคยรู้จักแนวคิดนี้มาก่อนเลยก็ตาม)
Mohnish Pabrai, cr.Forbes
1. ลงทุนในธุรกิจซึ่งมีการดำเนินงานอยู่แล้ว
2. ลงทุนในธุรกิจที่เรียบง่าย
3. ลงทุนในธุรกิจที่ประสบปัญหา เกิดภาวะยากลำบากภายในอุตสาหกรรมนั้นๆ
4. ลงทุนในธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน
5. เดิมพันน้อยอย่าง เดิมพันหนักๆ ไม่เดิมพันบ่อย
6. มองหาโอกาสทำอาร์บิทราจ (Arbitrage)
3
7. มีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยเสมอ
8. ลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่มีความไม่แน่นอนสูง
9. ลงทุนในพวกเลียนแบบ ไม่ใช่พวกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
นอกจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ แนวคิดการซื้อ ถือ ไปจนถึงหลักการขายหุ้นที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักแล้ว พาไบรยังสอดแทรกการวิเคราะห์เชิงปริมาณไว้อย่างน่าสนใจ อาทิเช่น "การประเมินมูลค่าแบบคิดลดกระแสเงินสดอย่างง่ายๆ" และหลักการของ "Kelly Formula" ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและส่วนตัวได้เริ่มต้นทดลองนำเอาหลักการดังกล่าวไปใช้ในกระบวนการลงทุนจริงบ้างแล้ว
อย่างน้อยที่สุดซึ่งผมคิดว่าผู้อ่านจะได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนี้นอกเหนือไปจากตัวอักษรที่เราเห็น คือ "ความมั่นใจ ความมั่นใจที่ไม่ใช่อีโก้ ความเชื่อที่ว่าเราสามารถเป็น ในสิ่งที่เราต้องการจะเป็นได้ แบบไม่เลื่อนลอย" และอีกส่วนคือ การออกแบบแผนการลงทุนที่มีความเฉพาะเจาะจงเพื่อตัวเราเอง การดำเนินตามแผนการนั้นอย่างมีวินัย และการอดทนรอคอยความสำเร็จจากแผนการนั้นมันช่างสำคัญเหลือเกิน
 
เพราะอะไรผมถึงมั่นใจขนาดนั้น ก็เพราะว่าความเสี่ยงมันคุ้มค่ากับสิ่งที่เรารอคอยไงล่ะ อีกประโยคหนึ่งที่พาไบรพร่ำบอกกรอกใส่หูเราผ่านตัวอักษรคือ "ออกหัวผมได้เงิน ถ้าออกก้อยผมเสียเงินนิดหน่อย" นี่คือวรรคทองสั้นๆที่สามารถอธิบายแนวคิดดันโดได้อย่างครอบคลุมที่สุดแล้ว เหลือแค่ว่าคุณจะลองเดิมพันรึเปล่า?
ลองหามาอ่านดูครับ พร้อมกาแฟสักแก้ว แล้วจะวางไม่ลง :)
cr.Bordee Budda, Equitymaster
บางส่วนจากหนังสือ
นักลงทุนดันโด (The Dhandho Investor) : กลยุทธ์การลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูง
ฉบับแปลภาษาไทย, พ.ศ.2559, วิสดอมเวิร์ค เพลส
ผู้แต่ง : โมห์นิช พาไบร (Mohnish Pabrai)
ผู้แปล : พรชัย รัตนนนทชัยสุข
โฆษณา