29 ม.ค. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จุดกำเนิดของแคร์รอท และทำไมแคร์รอทถึงมีสีส้ม
พืชหัวชนิดต่อไปที่เราจะมาหาจุดกำเนิดกัน คือ แคร์รอท ครับ แคร์รอทมาจากไหน และกลายเป็นพืชผักอย่างที่เรารู้จักนี้ได้อย่างไร และทำไมมันถึงมีสีส้ม เราจะมาดูกันครับ
แคร์รอทที่เรากินเป็นอาหารนั่นเป็นพืชชนิด [Daucus carota] subsp. [sativus] โดยพืชชนิดนี้โดยทั่วไปจะมีอายุ 2 ปี ในปีแรกใบของพืชชนิดนี้จะผลิตน้ำตาลมาสะสมในราก เพื่อให้เป็นพลังงานในการสร้างดอกในปีที่สอง
แครอทป่าหรือพืชชนิด [Daucus carota] ที่พบแพร่กระจายในธรรมชาตินั้น ตอนอายุน้อยๆ นั้นรากจะสามารถกินได้เหมือนแครอทสายพันธุ์ที่นำมากินเป็นอาหาร แต่เมื่อแครอทป่าอายุเพิ่มขึ้นรากนั้นจะแข็งเป็นเนื้อไม้ ไม่สามารถกินเป็นอาหารได้
แคร์รอทป่าในทวีปอเมริกาเหนือจะถูกเรียกว่า Queen Anne’s lace (ที่มา By Jim Evans - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=58316726)
แครอทป่าพบกระจายทั่วไปในทวีปยุโรปมาจนถึงเอเชียกลาง หลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และทางพันธุกรรมระบุตรงกันว่า จุดกำเนิดของการนำแคร์รอทมาใช้ประโยชน์เป็นพืชอาหารนั้นน่าจะเริ่มต้นในบริเวณเอเชียน้อย (ตุรกีตะวันออก) ไปจนถึงเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน เคียร์กิสถาน ทาจิกิสถาน นอกจากนั้นยังมีหลักฐานทางโบราณคดีที่พบเมล็ดแคร์รอทในบริเวณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ในแถบนี้เมื่อ 4,000-5,000 ปีก่อน
เชื่อกันว่าในอดีตนั้นเมล็ดแครอทนั้นถูกนำมาใช้มากกว่าส่วนรากสะสมอาหารของแคร์รอท โดยเมล็ดของแคร์รอทถูกใช้เป็นเครื่องเทศ เพราะแคร์รอทจัดอยู่ในวงศ์ผักชี หรือ Family Apiaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับพืชผักที่นำมาใช้ในการให้กลิ่นในอาหาร เช่น ผักชี ผักชีลาว (Dill) พาร์สเลย์ ผักชีล้อม (Fennel)
ต่อมาในประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 จึงมีการปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดแคร์รอทที่มีหัวที่กินได้ในอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก และตุรกีในปัจจุบัน โดยแคร์รอทนี้ได้ที่ถูกคัดเลือกพันธุ์ให้มีรากฝอยที่น้อยลง รากที่ไม่แข็งเป็นเนื้อไม้ และเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตได้ใน 2 ปี (Biennial plant)
แคร์รอทจากอาณาจักรเปอร์เซียถูกนำไปแพร่กระจายต่อในทวีปยุโรปและในเอเชียกลาง จนไปถึงหมู่เกาะอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-15 ในระหว่างนั้นแคร์รอทยังไม่มีสีส้มเหมือนในปัจจุบัน แต่ยังเป็นสีเหลืองและสีม่วงเป็นหลัก
แคร์รอทที่มีสีต่างๆ ตั้งแต่สีขาว สีเหลือง สีม่วงและสีส้ม (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Carrot#/media/File:Carrots_of_many_colors.jpg)
ในศตวรรษที่ 17 ในยุโรป แคร์รอทเริ่มถูกคัดเลือกพันธุ์ให้มีสีส้มคล้ายกันกับแคร์รอทที่เรารู้จักกัน โดยแคร์รอทสีส้มนั้นจะมีการสะสมแคร์โรทีนมากกว่าแคร์รอทสีอื่นๆ โดยแคร์รอทสีส้มนั้นถูกคัดเลือกมาจากแคร์รอทที่เดิมมีสีเหลือง จากนั้นก็ถูกคัดเลือกให้มีสีส้มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีสีเหมือนกับแคร์รอทในปัจจุบัน โดยมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่คัดเลือกพันธุ์แคร์รอทสีส้มนั้นคือ ชาวดัตช์ เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ธงของชาวดัตช์ในสมัยนั้น หรือเป็นเกียรติแก่ William of Orange ที่เป็นผู้เริ่มต้นในการแยกตัวของดัชต์มาจากจักรวรรดิสเปน แต่การกล่าวอ้างนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจน
ในขณะที่แคร์รอทสีม่วงนั้นมีองค์ประกอบคือ สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และอาจจะนำมาเป็นสีผสมอาหารสีม่วงได้ด้วย
แคร์รอทสีส้ม (ที่มา By domdomegg - Own work, CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=46011213)
สีของธงของชาวดัตช์ในสมัยนั้น (ที่มา Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=816789)
แคร์รอทใกล้ชิดกันกับผักชี แล้วผักชีล่ะมาจากไหน
เอกสารอ้างอิง
1. Iorizzo, M., Senalik, D.A., Ellison, S.L., Grzebelus, D., Cavagnaro, P.F., Allender, C., Brunet, J., Spooner, D.M., Van Deynze, A. and Simon, P.W. (2013), Genetic structure and domestication of carrot (Daucus carota subsp. sativus) (Apiaceae). American Journal of Botany, 100: 930-938. https://doi.org/10.3732/ajb.1300055
2. Iorizzo, M.; Curaba, J.; Pottorff, M.; Ferruzzi, M.G.; Simon, P.; Cavagnaro, P.F. Carrot Anthocyanins Genetics and Genomics: Status and Perspectives to Improve Its Application for the Food Colorant Industry. Genes 2020, 11, 906. https://doi.org/10.3390/genes11080906

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา