12 ก.พ. 2021 เวลา 01:30 • ไลฟ์สไตล์
คิดว่าคนเราต้องพัก Airbnb กี่คืนถึงจะติด Top 100 ของโลก?
พบกับ ‘พี่ตังเม’ ชลากร เบิร์ก Digital Nomad ที่มีอาชีพหลักเป็น SEO Growth Marketer อาชีพรองเป็นนักร่อนเร่พเนจรไปหลากหลายประเทศจนติด Top 100 ลูกค้า Airbnb ทั่วโลก
1
#DigitalNomadคืออะไร?
Digital Nomad คือคนที่ทำงานออนไลน์ (Digital) และเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่ (Nomad)
อย่างพี่ตังเมเองก็เคยใช้ชีวิตแบบอยู่อเมริกา 2 เดือน กลับมาอยู่กรุงเทพฯ 2 เดือน แล้วก็ไปภูเก็ตต่ออีก 2 เดือน
ซึ่งการจะเป็น Digital Nomad ก็ต้องมีงานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์แบบนี้ด้วย เช่น โปรแกรมเมอร์ หรือนักการตลาด ที่สามารถทำงานจากระยะไกลได้
#เริ่มจากจุดไหน?
จุดเริ่มต้นคือการหาวิธีที่ทำให้ไปเที่ยวได้นานๆ พี่ตังเมจึงเริ่มสนใจการทำงานแบบ Remote โดยเธอลองคุยกับบริษัทว่าสามารถทดลองทำงาน Remote สัก 1 เดือนได้ไหม พอได้ลองแล้วรู้สึกว่าเวิร์กจึงขยายระยะเวลาไปเรื่อยๆ เป็น 2-3 เดือน เมื่อออกจากงานเก่า พี่ตังเมก็หางานที่สามารถทำจากระยะไกลได้ตลอดเวลาไปเลย
#Top100_Airbnb
ปัจจุบันเธอเป็น Digital Nomad มาได้ราว 4 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอใช้ชีวิตอยู่ใน Airbnb มาราว 4 ปีเช่นกัน จนวันหนึ่งทาง Airbnb ส่งอีเมลมาว่าพี่ตังเมเป็น 1 ใน 100 คนที่ใช้บริการ Airbnb มากที่สุดในโลกด้วยจำนวนประมาณ 1,300 คืน
2
ซึ่งเหตุผลที่เธอเลือกใช้บริการ Airbnb มากกว่าโรงแรมทั่วไปนั้น เป็นเพราะการไปพักของเธอคือการไปพักระยะยาว อย่างต่ำก็ 1 เดือน ดังนั้น Airbnb จึงตอบโจทย์ตรงนี้ เนื่องจากมี Facility อย่างห้องครัวหรือเครื่องซักผ้า พื้นที่ก็กว้างกว่าห้องในโรงแรม ทำให้เหมาะแก่การเข้าไปอยู่อาศัยจริงจังมากกว่า
#Nomadและวัฒนธรรมองค์กรไทย
พี่ตังเมเองก็ยอมรับว่า Digital Nomad ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับองค์กรไทย เพราะฉะนั้นเวลาต่อรองกับทางบริษัทก็อาจจะต้องใช้การโน้มน้าวมากหน่อย ต้องทำให้เขาเชื่อว่าสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภาพ แม้จะไม่ได้อยู่ในออฟฟิศและไม่ส่งผลเสียต่อเพื่อนร่วมทีม
โดยการพิสูจน์ตัวเองก็แตกต่างกันไปตามแต่ละบริษัท บางที่อาจจะทำงานประจำไปสักพักก่อนแล้วจึงค่อยพูดเรื่องการทำงานระยะไกล หรือบางที่พอบอกว่าอยากทำแบบ Remote ก็ให้ลองพาร์ทไทม์ก่อน 2-3 เดือน พอทางบริษัทเห็นว่าทำงานได้ดีไม่มีข้อบกพร่องอะไร ก็ตกลงรับเข้าทำงานประจำ
#เป็นNomadคนเดียวแล้วทำงานกับคนอื่นในทีมอย่างไร?
พี่ตังเมจะใช้วิธีการบอกตารางเวลาทำงานให้ทุกคนรู้อย่างชัดเจนว่าจะสามารถติดต่อกันได้ช่วงไหนบ้าง และคอยบอกตลอดว่างานไปถึงไหนแล้ว หากพี่ตังเมอยู่ที่ไทยก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดตารางเวลาเท่าไร แต่บางครั้งตัวพี่ตังเมอยู่ต่างประเทศ ก็อาจจะมีประเด็นเรื่อง Time Zone ที่ต่างกัน ทำให้เธอต้องปรับเวลาการทำงานให้เข้ากับฝั่งเมืองไทยเป็นหลัก
ตัวอย่างเช่น เวลาอยู่อเมริกา เธอก็ทำงานถึงตีสองที่นู่น เพื่อให้ครอบคลุมถึงบ่ายสามที่ไทย เพราะอยากให้มีช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันมากที่สุด ซึ่งความโปร่งใสตรงนี้ก็จะทำให้คนอื่นในทีมเกิดความเชื่อใจที่จะทำงานกับ Digital Nomad
#จัดการกับWorkloadยังไง?
ปัญหาหนึ่งที่คน Work From Home หรือ Remote Work เจอคือทำงานตลอดเวลาจนเหนื่อยสะสม ส่วนตัวพี่ตังเมก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน และได้แชร์วิธีแก้ปัญหาของตัวเองให้เราฟังว่า
1
หลังจากไม่ทำงานกับบริษัทแล้วเธอก็มีอิสระในการทำงานมากขึ้น จึงไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาไม่ตรงกันอีกต่อไป เธอเลยใช้วิธีกำหนด To-do list เป็นรายสัปดาห์แทน แล้วค่อยกระจายงานไปว่าในแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง โดยจะกำหนดแค่ 4 วัน ส่วนวันสุดท้ายปล่อยว่างไว้เผื่อมีงานแทรกหรือต้องแก้งานก็จะเอามาทำวันนี้
1
วิธีนี้จะทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่น ถ้าตื่นเช้ารีบมาเคลียร์ก็จะทำให้มีเวลาว่างเยอะ วันไหนไม่ค่อยมีอารมณ์ทำก็อาจจะไว้เย็นๆ สิ่งสำคัญคือต้องทำตาม To-do list ให้ได้
#ข้อดีและข้อเสีย
ในมุมของบริษัท การจ้าง Digital Nomad จะช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ถ้าในทีมส่วนใหญ่เป็น Nomad ก็อาจจะไม่ต้องเช่าออฟฟิศใหญ่ๆ ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่ทุกคนสามารถทำงานจากระยะไกล ออฟฟิศก็อาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็น นอกจากนี้ยังสามารถจ้างคนเก่งๆ ได้ทั่วโลก เพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ทำให้ไม่จำเป็นต้องจ้างคนที่อยู่ในละแวกนั้นเสมอไป
ส่วนในมุมของคนเป็น Digital Nomad เอง มันเปิดโอกาสให้ได้ไปเที่ยวระหว่างทำงานที่เรารักไปด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้เลือกไลฟ์สไตล์ที่เราอยากทำไปพร้อมๆ กัน
แน่นอนว่ามีข้อดีแล้วก็ต้องมีข้อเสีย พี่ตังเมมองว่า การไปเยือนสถานที่ใหม่ๆ บ่อยๆ ก็ทำให้ได้ผลักตัวเองออกจาก Comfort Zone ตลอดเวลา เพราะที่นั่นไม่มีคนรอบตัวที่เราคุ้นเคยอย่างเพื่อนร่วมงานหรือครอบครัวอยู่ข้างๆ เราต้องปรับตัวกับวัฒนธรรม อาหารการกิน และเพื่อนบ้านแถวนั้นด้วยตัวเอง
#MoneyIssue
1
“ที่กรุงเทพใช้เท่าไร ไปอยู่ที่อื่นก็ใช้เท่านั้น”
แม้แต่ละที่จะมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน แต่ถ้าเราเลือกที่ที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนรายได้ก็จะพอกับค่าใช้จ่าย โดยเว็บไซต์ที่ใช้ในการวางแผนส่วนใหญ่ก็จะเป็น Nomadlist.com ซึ่งจะบอกรายละเอียดว่าชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายเทียบกับกรุงเทพแล้วต่างกันมากหรือไม่
1
#ความมั่นคงในความไม่มั่นคง
พี่ตังเมบอกว่าตัวเองก็มีเงินเก็บส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้มองว่าการมีเงินเก็บเยอะๆ คือความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงในชีวิตสำหรับพี่ตังเมคือการได้ทำสิ่งที่รักด้วยไลฟ์สไตล์ที่ชอบ คือการที่ได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตลอดจนไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีงานเข้ามา เพราะเมื่อเราทำตัวเองให้เป็นที่ต้องการ ก็จะมีคนจ้างงานเราเอง
2
#อนาคตของNomad
ถ้าเป็นเมื่อ 2-3 ปีก่อน พี่ตังเมคงบอกว่าน่าจะอีกนานที่การทำงาน Remote หรือการเป็น Digital Nomad จะกลายเป็นกระแส แต่ COVID-19 ทำให้ทุกคนเห็นว่างานบางอย่างก็สามารถทำจากที่บ้านได้ เธอเลยรู้สึกว่า ฝั่งพนักงานจะเริ่มต้องการอิสระแบบนี้มากขึ้น
ส่วนบริษัทเองก็จะเริ่มเข้าใจว่าพนักงานของตัวเองไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเป็นชั่วโมงเพื่อเดินทางมาทำงาน แถมยังสามารถลดต้นทุนโดยที่ได้ Productivity เพิ่มขึ้น บริษัทจึงน่าจะเปิดใจรับการทำงานแบบ Remote มากขึ้น
#อยากบอกอะไรกับคนที่ยังลังเลกับการเป็นNomad
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะเกิดความลังเลเมื่อคิดจะเลือกเส้นทางที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่มั่นคง ส่วนตัวพี่ตังเมเชื่อว่า ทั้งเรื่องการบริหารเงิน เรื่องการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทุกคนรับมือไหวอยู่แล้ว แต่ถ้ายังกังวลอยู่ก็ลองทำอะไรที่ช่วยปูพื้นฐานให้ตัวเองก่อน เช่น ถ้างานปัจจุบันที่ทำไม่เหมาะกับการทำงานแบบ Remote ก็อาจจะต้องลองไปรับฟรีแลนซ์เพื่อพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่เหมาะกว่าแล้วค่อยๆ เปลี่ยนสายไป
ถ้าลองดูแล้วไม่ชอบก็แค่กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ดีกว่าปล่อยไปจนอายุเยอะกว่านี้จนทำไม่ได้แล้วมารู้สึกเสียดายทีหลัง
1
“ตัดสินใจอย่างระมัดระวัง แต่อย่ากลัวจนไม่กล้าทำอะไรเลย” พี่ตังเมกล่าวทิ้งท้าย
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา