30 ม.ค. 2021 เวลา 07:57 • สิ่งแวดล้อม
พรรณไม้หายากของไทย (7)
สวัสดีครับ...การนำเสนอพรรณไม้หายากชุดสุดท้าย ครั้งนี้จะพาไปรู้จักพันธุ์ไม้หายากอีก 4 ชื่อ ได้แก่ พุดผา(ปัดหิน) ปาหนันช้าง แดงดารา และเสี้ยวป่า
พรรณไม้หายาก 25 : พุดผา(ปัดหิน)
พุดผา (ปัดหิน) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia saxatilis Geddes อยู่ในวงศ์พุด Rubiaceae สำรวจพบครั้งแรกโดย หมอคาร์ ชาวไอริช เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2467 ที่จังหวัดมุกดาหาร ในระดับความสูง 100 เมตร มีรายงานการตั้งชื่อในปี พ.ศ.2471
ลักษณะเด่นเฉพาะตัวของพุดผา(ปัดหิน) คือ เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ตามซอกบนลานหินทราย หรือตามพื้นทรายบนลานหินทรายที่แห้งแล้ง กลางแจ้งแดดจัด จึงสามารถทนแล้งได้ดี เติบโตช้า ทรงพุ่มโปร่ง ออกดอกดก ดอกมีกลิ่นหอมแรง จึงนิยมปลูกเป็นไม้แคระหรือบอนไซ รูปทรงค่อนข้างคงที่ จึงสามารถปลูกในกระถางได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนกระถางบ่อย
ต้นพุดผา (ปัดหิน) มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ผลัดใบ เจริญเติบโตช้ามาก มีความสูง 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับ กว้าง 1.8–2 ซม. ยาว 1.5–3 ซม. ปลายใบโค้งมนกลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ผิวใบมีขน คายสากมื
ดอกพุดผา (ปัดหิน) มักออกเดี่ยว ๆ ดอกสีขาวนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 6 แฉก สีเขียว มีขนปกคลุม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปทรงกระบอกแคบ ปลายแยกเป็น 6 แฉก กลีบดอกรูปไข่กลับหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยมกลับหัว ปลายมนหรือตัด กลีบดอกสีขาว มีขนขนาดเล็กปกคลุม
ผลของพุดผา (ปัดหิน)
สรรพคุณทางยา : หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เนื้อไม้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้เบื่อเมา แก้พิษ ช่วยถอนพิษเห็ดเมา เปลือกต้น แช่เหล้าพอท่วม เอาส่วนน้ำทา แก้อัมพาต ปวด ชา ตามแขนขา ลำต้น ต้มน้ำดื่มแก้เบื่อเมา
พรรณไม้หายาก 26 : ปาหนันช้าง
ปาหนันช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Goniothalamus giganteus Hook.f. & Thomson อยู่ในวงศ์กระดังงา Annonaceae
ปาหนันช้างเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยที่มีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูง 50-400 ม. บริเวณจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และอินเดีย ปาหนันช้างเป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่โดดเด่น โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม ปาหนันช้างจะออกดอกสีเหลืองอร่ามงามสะพรั่งเต็มต้น ส่งกลิ่นหอมเย้ายวน เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ที่พบเห็น
ไม้ต้น สูง 10-20 ม. ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว 15-25 ซม. แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างเขียวนวล ก้านใบยาว 0.5-1.5 ซม. ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามกิ่งที่ซอกใบที่ร่วง ก้านดอกยาว 2.5-4.5 ซม. กลีบเลี้ยง รูปไข่แกมสามเหลี่ยมยาวได้ถึง 1 ซม. ด้านนอกมีขน กลีบดอกหนาสีเขียวอมเหลือง วงนอกรูปไข่หรือแกมขอบขนาน ยาว 8-15 ซม. วงในรูปสามเหลี่ยมยาว 1.5-2 ซม. ด้านนอกมีขนสั้นสีน้ำตาลหนาแน่น เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 มม. รูปแถบ รยางค์แบนหรือโค้ง คาร์เพลรูปทรงกระบอก ยาว 6-7 มม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียรูปแถบ ยอดเกสรรูปกรวยแคบ ๆ ผลย่อยรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 3-4.5 ซม. ผิวมีตุ่ม ก้านผลยาวได้ถึง 1 ซม. มี 1-2 เมล็ด
ผลของปาหนันช้าง จะเริ่มติดผลหลังจากที่ดอกบานไปแล้ว โดยจะเจริญเติบโตอย่างช้าๆ และแก่ ในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของปีถัดไป นับเป็นพรรณไม้ที่มีช่วงระยะเวลาติดผลยาวนานถึง 10 เดือน นอกจากนี้ปาหนันช้างยังเป็นพรรณไม้ที่มีจำนวนเมล็ดมาก แต่กลับมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติน้อย
เนื่องจากเมื่อเมล็ดใกล้แก่จะมีหนอนผีเสื้อเจาะเข้าไปกัดกินต้นอ่อนที่อยู่ภายในเมล็ด ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ แต่ขณะนี้ได้มีการใช้วิธีขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่งในระบบพ่นหมอก ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และได้ผลดี จึงช่วยให้จำนวนต้นกล้าของปาหนันช้างมีมากขึ้น และสามารถนำไปปลูกจนแพร่หลายไปทั่วประเทศ
พรรณไม้หายาก 27 : แดงดารา
ต้นแดงดารา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gymnocladus burmanicus ยังไม่มีข้อมูลระบุวงศ์
แดงดาราเป็นไม้ต้นสกุลใหม่ที่ได้ค้นพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (ครั้งแรกในโลกอยู่ที่พม่า)ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล700-800เมตร บนยอดดอยอีต่อง ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แตกใบอ่อนสีแดงพร้อมมีดอก ผลแก่มีกลิ่นคล้ายกล้วยปิ้ง
พรรณไม้หายาก 28 : เสี้ยวป่า
ต้นเสี้ยวป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia saccocalyx Pierre อยู่ในวงศ์
LEGUMINOSAE CAESALPINIOIDEAE
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นกิ่งเลื้อยขนาดเล็ก ยาวได้ถึง 10 เมตร ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมเตี้ย เปลือกนอกสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นร่องยาวตื้นและลึกตามลำต้น บางครั้งล่อนเป็นแผ่นบาง เปลือกในสีชมพูอ่อน พบในป่าเบญจพรรณ ยกเว้นภาคใต้
ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 5-9 ซม. ยาว 6-10 ซม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก 1/3-1/2 ของใบ แฉกแคบถึงกว้าง โคนใบมนหรือรูปหัวใจ แผ่นใบบาง หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนและต่อมน้ำมันสีน้ำตาล เส้นแขนงใบออกจากกลางโคนใบ 9-11 เส้น ก้านใบยาว 2-3 ซม.
ดอก ออกรวมเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 3-7 ซม. กลีบเลี้ยงคล้ายกาบแยกเป็น 2 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ ปลายทู่ ดอกบานเต็มที่กว้าง 8-10 มม. เกสรผู้ยาว 3 อัน เกสรเมียสั้น 5 อัน กลีบเลี้ยงหุ้มฐานดอกกลม แตกออกเป็นสองเสี้ยว
ผล ผลเป็นฝักเมื่อแห้งแตกแบนรูปดาบ ช่วงปลายกว้างและโค้ง ปลายผลแหลม ผลกว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 7-14 ซม. เมล็ดแบนกลม 3-5 เมล็ด แก่สีดำ ระยะเวลาการออกดอก เม.ย.-พ.ค. และผลแก่ มิ.ย.-ก.ค.
 
ใช้เป็นไม้ประดับได้ดี แต่ยังไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก เนื่องจากเป็นเถาเลื้อยที่มีดอกสีขาว แต่มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตัดแต่งหรือให้เลื้อยขึ้นค้างได้ น่าจะพัฒนาพันธุ์ให้ดอกมีสีสันมากขึ้นได้ ช่อดอกดกดีมาก
สรรพคุณทางยา : ใบผสมกับต้นกำแพงเจ็ดชั้นต้มน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาฟอกโลหิต
อ้างอิง : https://www.mydokhome.com , http://www.phargarden.com , , FB ชุมชนคนรักษ์พรรณไม้ , Garden & Nature , http://som5566.blogspot.com , https://medthai.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา