29 ม.ค. 2021 เวลา 01:19 • สิ่งแวดล้อม
พรรณไม้หายากของไทย (6)
สวัสดีครับ...ยังคงนำเสนอพรรณไม้หายากต่อเนื่องกันไป ซึ่งครั้งนี้จะพาไปรู้จักพันธุ์ไม้หายากอีก 4 ชื่อ ซึ่งมีชื่อนำหน้าว่า "เปล้า" ได้แก่ เปล้าแพะ เปล้าใหญ่ เปล้าน้อย และเปล้าน้ำเงิน
พรรณไม้หายาก 21 : เปล้าแพะ
เปล้าแพะ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Croton hutchinsonianus Hosseus อยู่ในวงศ์เปล้า (Euphorbiaceae) ไม้ต้นผลัดใบ สูง 3-10 ม. เปลือกนอกเป็นคอร์กหนาและแตกเป็นร่องลึกตามยาว สีน้ำตาลอมเทา ก้านใบ
ช่อดอก กลีบเลี้ยงและส่วนต่างๆ ที่ยังอ่อนมีขนรูปดาวสีเหลืองอมน้ำตาลถึงขาวนวลหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน 5-12 x 12-25 ซม. ขอบค่อนข้างเรียบและมีขน แผ่นใบสีเขียวอมเทา ด้านล่างมีขนนุ่ม ก้านใบยาว 3-8 ซม.
ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ออกเป็นช่อกระจุกคล้ายช่อเชิงลดมีก้าน ตั้งขึ้นหลายช่อตามปลายกิ่ง ยาว 10-30 ซม. สีขาวถึงเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกๆ ละ 1-3(-5) ดอก กลีบดอกแยกกัน 5 กลีบ สั้นกว่ากลีบเลี้ยง ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ตามโคนช่อดอก ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแยกแล้วแตก รูปทรงกลม มี 3 พู กว้างและสูง 0.8 ซม. มีขนสั้นหนานุ่ม ด้านบนมีติ่งเกสรเพศเมียติดอยู่
สรรพคุณทางยา มียาง ใช้ทาลิ้น แก้ปากเปื่อย ปากนกกระจอก ใบใช้จุดให้เกิดควัน รมเนื้อตัวเวลาถูกผึ้ง แตน ต่อ ต่อย เพื่อบรรเทาอาการปวด
พรรณไม้หายาก 22 : เปล้าใหญ่
เปล้าใหญ่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Croton oblongifolius Roxb อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae
เปล้าใหญ่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 8 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลเทา มีรอยแตกบ้างเล็กน้อย กิ่งก้านค่อนข้างใหญ่ ยอดอ่อน ใบอ่อน และช่อดอก มีเกล็ดสีเทาเป็นแผ่นเล็กๆปกคลุมทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปไข่หรือรูปใบหอก ใบลู่ลง ใบรียาว กว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 9-30 เซนติเมตร ใบอ่อนสีน้ำตาล โคนใบและปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบจักเป็นซี่ฟันไม่สม่ำเสมอ ใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาว 1.3-6 เซนติเมตร ฐานใบมีต่อม 2 ต่อม หลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ท้องใบมีขนไม่มาก ใบแก่สีเปลี่ยนเป็นสีส้มก่อนร่วงหล่น
ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง หลายช่อ ช่อดอกยาว 12-22 เซนติเมตร ตั้งตรง ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน หรือแยกต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลาย ดอกตัวผู้สีขาวใส กลีบดอกสั้นมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกติดกัน มีกลีบเลี้ยงรูปขอบขนานกว้างๆ 5 กลีบ หลังกลีบเลี้ยงมีเกล็ดสีน้ำตาล กลีบดอกยาวเท่ากับกลีบเลี้ยง มีขนหนาแน่น ที่ฐานดอกมีต่อมกลมๆ 5 ต่อม เกสรตัวผู้มี 12 อัน เกลี้ยง ดอกตัวเมียวสีเหลืองแกมเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเล็กรูปยาวแคบ ขอบกลีบมีขน โคนกลีบดอกติดกัน ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน รังไข่รูปขอบขนาน มีเกล็ด
ผลแห้งแตก รูปทรงกลมแบน มี 3 พู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ด้านบนแบน มีเกล็ดเล็กๆห่างกัน ผลอ่อนสีเขียว ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า ผลแก่รับประทานได้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง
สรรพคุณตามตำรายาไทย มักใช้ร่วมกับเปล้าน้อย เรียกว่าเปล้าทั้งสอง ใบ มีรสร้อน เมาเอียน เป็นยาบำรุงธาตุ แก้คันตามตัว แก้ลมจุกเสียด เป็นยาบำรุงกำลัง แก้กระหาย แก้เสมหะ และลม ดอก รสร้อน เป็นยาขับพยาธิ
ผล รสร้อน เมาเอียน ดองสุราดื่มขับเลือดหลังคลอด ขับน้ำคาวปลา เปลือกต้นและกระพี้ รสร้อน เมาเย็น เป็นยาช่วยย่อยอาหาร แก้เลือดร้อน
เปลือกต้น และใบ แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต น้ำต้มเปลือกต้น กินแก้ไข้ แก้ตับอักเสบ แก้ปวดข้อและปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
แก่น รสร้อนเมาเย็น ขับพยาธิไส้เดือน ขับเลือด ขับหนองให้ตก ราก รสร้อนเมาเย็น ขับลมและแก้โรคผิวหนังผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย แก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด กระจายลม ทำน้ำเหลืองให้แห้ง
รากต้มน้ำกินแก้โรคเหน็บชา โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย เจริญอาหาร และแก้ร้อนใน เนื้อไม้ รสร้อน แก้ริดสีดวงลำไส้และริดสีดวงทวารหนัก แก่น แก้ลมอันผูกเป็นก้อนให้กระจาย เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน เมล็ด กินเป็นยาถ่าย
พรรณไม้หายาก 22 : เปล้าน้อย
เปล้าน้อย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Croton fluviatilis Esser อยู่ในวงศ์
Euphorbiaceae
เปล้าน้อย เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ชอบขึ้นที่มีลำธารน้ำไหลผ่าน สูงได้ถึง 5 เมตร บริเวณปลายยอดมีขนสั้นนุ่มชัดเจน บริเวณอื่นๆ มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงเกือบเกลี้ยง พบขนจำนวนมาก 30-40 อัน สีน้ำตาลอ่อนรวมตัวกัน จนเกือบเชื่อมติดกัน เป็นขนรูปดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2-0.3(-0.5) มิลลิเมตร หูใบยาว 3-5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม ใบเรียงแบบสลับ เมื่อใบใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ก้านใบยาว 1-3.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่มประปราย แผ่นใบตรงแคบยาว กว้าง 1.5 -2.44 เซนติเมตร ยาว 10-17 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ฐานใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยเป็นระยะ ขนาด 5-7 มิลลิเมตร ถึงเกือบเรียบ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนกระจายบนเส้นกลางใบเล็กน้อย หรือเกือบเกลี้ยง ไม่มีนวล มีต่อมที่ฐานของก้านใบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7-1.0 มิลลิเมตร เส้นใบข้าง 11-16 คู่
ดอกช่อ เกิดช่อเดี่ยว ที่ปลายยอด ขนาดยาว 7-19 เซนติเมตร แกนช่อเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ดอกเพศเมีย จำนวน 4-11 ดอก อาจมีหรือไม่มีดอกเพศผู้ ใบประดับของดอกเพศผู้รูปไข่ ขนาดยาว 2-3.5 มิลลิเมตร กว้าง 1.5-2 มิลลิเมตร บางคล้ายเยื่อ ดอกเพศผู้จำนวน 1-3-4 ดอกในหนึ่งใบประดับ ก้านดอกย่อยยาว 4-5 มิลลิเมตร เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเล็กน้อยที่ฐาน ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม ด้านนอกเกลี้ยง แต่พบขนครุยที่ปลายชัดเจน กลีบดอกลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยงแต่แคบกว่า ขนาดกว้าง 0.5 มิลลิเมตร ยาว 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 10-12 อัน ก้านชูยาว 2.0-2.5 มิลลิเมตร อับเรณูยาว 0.6 มิลลิเมตร ดอกเพศเมีย ก้านดอกย่อยเกือบเกลี้ยง ขนาดยาว 2 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง ขนาดกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร ปลายแหลมถึงเป็นติ่งแหลม เกลี้ยง มองไม่เห็นกลีบดอก รังไข่ยาว 1.5 มิลลิเมตร ขนสั้นนุ่มหนาแน่น ก้านชูเป็นอิสระ ขนาดยาว 3-5 มิลลิเมตร แบ่งเป็น 2 แฉก
ผลแบบแคปซูล ขนาดกว้าง 8 มิลลิเมตร ยาว 5-7 มิลลิเมตร มีก้านผลยาว 4-8 มิลลิเมตร ผลมีร่องตามยาว แบ่งผลเป็นพู ผิวมีขนกระจาย หรือเกือบเกลี้ยง เมล็ดขนาดกว้าง 3-3.5 มิลลิเมตร ยาว 4-4.5 มิลลิเมตร
พบในป่าดิบแล้ง ขึ้นตามริมลำธาร บริเวณดินทรายที่อยู่บนหินทราย ที่ระดับความสูง 100-250 เมตร ในประเทศไทยพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบ จ.สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ติดผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม
สรรพคุณทางยา :
ตามตำรายาไทย ใช้ ใบ รสร้อน แก้คันตามตัว รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ดี
ผล รสร้อน ต้มน้ำดื่ม ขับหนองให้กระจาย
ดอก เป็นยาขับพยาธิ เปลือกต้น รสร้อน ช่วยย่อยอาหาร
เปลือกและใบ รักษาโรคท้องเสีย บำรุงโลหิตประจำเดือน รักษาโรคผิวหนัง ราก รสร้อน แก้ลมขึ้นเบื้องบนให้เป็นปกติ แก่น รสร้อน ขับโลหิต แก้ช้ำใน
พรรณไม้หายาก 22 : เปล้าน้ำเงิน
เปล้าน้ำเงิน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Croton cascarilloides Raeusch อยู่ในวงศ์
EUPHORBIACEAE
เป้าน้ำเงิน เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก สุง 1-3 เมตร กิ่งก้านเรียวเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ติดหนาแน่นเป็นช่วงๆ กใล้ปลายกิ่ง รูปขอบขนานแกมรูปหอก ขอบใบเรียบหรือหยักเพียงเล็กน้อย โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม กว้าง 3-7 ซม. ยาว 5-16 ซม. ด้านล่างปกคลุมด้วยเกล็ดสีเงินปนสีน้ำตาลหนาแน่น ก้านใบยาว 16 ซม.
ดอกสีขาวครีม ออกเป็นแกนช่อที่ปลายยอด มักจะออกทีละ 2 ยอด ยาว 1.5-7 ซม. ดอกทั้งสองเพศอยู่บนช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้รูปกลม ขนาดประมาณ 3 มม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ เกสรผู้ 15 อัน ดอกเพศเมียขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ กลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะคล้ายเส้นด้ายยาวประมาณ 2 มม.
ผลมีลักษณะเป็น 3 พูติดกัน ขนาดผ่าศูนย์กลาง 6-7 มม. สีเขียว เมล็ดรูปรี ด้านหนึ่งแบนยาวประมาณ 4 มม.
การกระจายพันธุ์ พบตั้งแต่ตอนใต้ของจีน คาบสมุทรอินโดจีน จนถึงมาเลเซีย ขึ้นกระจัดกระจายตามไหล่เขาในป่าดงดิบและตามที่ราบในป่าโปร่ง เหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 400 เมตร ติดดอกออกผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม
สรรพคุณทางยา : น้ำต้มจากรากหรือรวมกับเปลือกต้น กินเป็นยาลดไข้ และแก้อาเจียน ใบแห้งใช้สูบแทนบุหรี่ได้
อ้างอิง : FB Thai Long-Term Forest Ecological Research , http://www.pharmacy.su.ac.th , http://www.phargarden.com , https://www.qsbg.org ,

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา