Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Werawut Wongwasan
•
ติดตาม
25 ม.ค. 2021 เวลา 07:35 • สิ่งแวดล้อม
พรรณไม้หายากของไทย (5)
สวัสดีครับ...ยังคงนำเสนอพรรณไม้หายากต่อเนื่องกันไป ซึ่งครั้งนี้จะพาไปรู้จักพันธุ์ไม้หายากอีก 4 ชื่อ ได้แก่ แครกฟ้า มะพลับดง ล่ำตาควาย และปลาไหลเผิอกน้อย
พรรณไม้หายาก 17 : แครกฟ้า
แครกฟ้า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Heterophragma sulfureum Kurz อยู่ในวงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น แคตุ้ย แคปี่ฮ่อ แคอ้อน แคอึ่ง แครกฟ้า แคหางค่าง แคทุ่ง รังแร้ง นางแฮ้ง รงแห้ง ฮังแฮ้ง โพนผง เป็นต้น
แครกฟ้า พืชหายาก พบได้ในแถบภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก ไม่พบในภาคใต้
ซึ่งเป็นคนละชนิดกับต้นรกฟ้า (Terminalia alata B. Heyne ex Roth) ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
แครกฟ้านี้เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นและกิ่งคดงอ ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ออกเป็นวง วงละ 3 ใบ ใบย่อย 3-4 คู่ รูปไข่กว้างหรือค่อนข้างกลม แผ่นใบกระด้าง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีขนนุ่ม สีน้ำตาลอมเทาหนาแน่น
ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง กลีบดอกติดกันคล้ายรูปแตร ผลทรงกระบอกยาว แตกออกเป็น 2 ซีก ผิวมีขนสีน้ำตาลเหลืองหนาแน่น เมล็ดจำนวนมาก มีปีกบาง จะขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ และที่แห้งแล้ง ตามคันนาก็เห็นได้
ไม้ชื่อแปลกนี้มีประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยา ผลอ่อน นำมาเผาไฟกินกับหล่น กับลาบ คล้ายกับฝักเพกา
มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำการศึกษาวิจัยเชิงลึกพบว่า ในเนื้อไม้ของแครกฟ้ามีสารอิรีดอยด์ (Iridoid) ซึ่งเป็นสารช่วยลดอาการภูมิแพ้ และสารฟีนิลทานอยด์ (phenylethanoid) ซึ่งช่วยอาการเสื่อมของสมองในผู้สูงอายุ แต่หมอยาพื้นบ้านอีสานหลายท่าน แม้แต่หมอยาที่มีอายุมากแล้วยังเคยปรารภว่า ไม่เคยเห็นไม้แครกฟ้าจริงๆ เลย รู้จักแต่ว่ามีบันทึกอยู่ในตำรายา ใช้รักษาโรคได้หลายชนิด และถือเป็นไม้วิเศษ
แครกฟ้า เป็นไม้ที่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชน และมีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งอาหารและยาสมุนไพร แต่กำลังจะสูญพันธุ์ และหายากยิ่งนัก จึงเชิญชวนให้เร่งนำกลับมาปลูกและขยายพันธุ์ให้มากขึ้น เพื่อการอนุรักษ์และศึกษานำประโยชน์มาใช้ให้กว้างขวางต่อไป
พรรณไม้หายาก 18 : มะพลับดง
มะพลับดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros bejaudii Lecomte อยู่ในวงศ์วงศ์ EBENACEAE ชื่ออื่นๆ เช่น ชิ้นกวาง เรื้อนกวาง ลิ้นกวาง ตับเต่าต้น ตับเต่าเหลวง มะโกป่า มะมัง มะไฟผี มาเมียง เฮื้อนกวาง แฮดกวาง
มะพลับดง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร ลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ลักษณะใบ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน มีทั้งรูปป้อม รูปไข่ หรือมน กว้างประมาณ 7-23 เซนติเมตร ยาว 10-28 เซนติเมตร โคนใบกลม เป็นเส้นตัด หรือเว้าเข้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ปลายใบกลมหรือมน เนื้อใบเกลี้ยงหนา ใบอ่อนด้านบนอาจมีขนบ้าง ด้านบนใบสีเขียว ด้านล่างสีเทาอ่อน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
ลักษณะดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้ออกรวมกันเป็นช่อเล็กๆตามกิ่งเหนือง่ามใบ 1 ช่อมี 3 ดอก กลีบรองกลีบดอกมี 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกเพศเมียออกตามกิ่งเล็กๆตามง่ามใบ เป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อสั้นๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนนุ่ม กลีบดอก 4 กลีบ
ลักษณะผล
ผลป้อม มีเส้นผ่านศูนบ์กลาง 1-2 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลแก่แห้ง เปลือกหนา เปราะ ผลอ่อนมีขนนุ่ม กลีบจุกมี 4-5 กลีบ ปลายกลีบพับกลับ ขอบกลีบและพื้นกลีบเรียบ เส้นกลีบไม่ชัด ก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร
สรรพคุณทางยาของมะพลับดง แก่นและรากต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษทั้งปวง
พรรณไม้หายาก 19 : ล่ำตาควาย
ล่ำตาควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros coaetanea H. R. Fletcher. อยู่ในวงศ์ EBENACEAE. เป็นไม้ชนิดหนึ่งที่ติดอันดับโลกที่หายากและใกล้สูญพันธุ์
ต้นสูงใหญ่ ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงถึง 30 เมตร ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อเล็กๆ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอบ่างละ 4-5 กลีบ ดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจุกสั้นตามกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็นแฉกลึก 2/3 สีเขียว มีขน ดอกรูปคนโฑ ปลายแยกเป็นห้าแฉก สีเขียว มีขน
ผลกลมสุกสีเหลือง กลีบเลี้ยงแนบกับผล มีดอกผลเดือน มี.ค.-พ.ค.ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน โคนใบมนหรือสอบ ปลายใบมนหรือสอบ...พบตามป่าผสมผลัดใบ สูงจากระดับน้ำทะเล 300-400 เมตร
พรรณไม้หายาก 20 : ปลาไหลเผิอกน้อย
ปลาไหลเผือกน้อย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eurycoma harmandiana Pierre
อยู่ในวงศ์ Simaroubaceae
ใบ และ ดอก
ปลาไหลเผือกน้อย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เตี้ย มีรากแก้วขนาดใหญ่เพียงรากเดียว สูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใบประกอบแบบขนนก ใบประกอบยาว 8-18 เซนติเมตร เรียงสลับ ใบย่อย 11-17 ใบ เรียงตรงข้ามรูปแถบ กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ใบย่อยมี 2-5 คู่ ปลายใบแหลมสั้นๆ โคนใบเบี้ยว เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน ปลายโค้งจรดกัน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบน นูนเด่นชัดด้านล่าง ใบไร้ก้าน ผิวใบเรียบเป็นมัน
ช่อดอก
ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบขนานกับพื้นดิน ช่อดอกยาวได้ประมาณ 15 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม ไม่มีขนต่อม ดอกย่อยหลายดอก แยกเพศ สีแดงแกมม่วง กลีบดอกรูปขอบขนาน ยาว 3-3.5 มิลลิเมตร มีขนทั้งสองด้าน เกสรเพศผู้ 5 อัน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม รังไข่ลดรูปในดอกเพศผู้ ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรรูปโล่ ก้านดอกยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร ใบประดับรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ร่วงง่าย หลอดกลีบเลี้ยงสั้น กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร
ผลอ่อน
ผลสด มีประมาณ 5 ผลย่อย ทรงรี ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านผลสั้นๆ เปลือกนอกบาง
พบมากเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบขึ้นหนาแน่นในป่าเต็งรังโปร่งที่เป็นทุ่งหญ้า ระดับความสูงจนถึงประมาณ 300 เมตร
ลำต้น และ รากใต้ดิน
ลำต้น และ รากใต้ดิน
สรรพคุณทางยา
แถบจังหวัดทางภาคอีสาน ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวด แก้ไข้มาลาเรีย ช่วยบำรุงกำลัง ฝนกับน้ำทา แก้ฝีหนอง ฝนน้ำกิน มีรสเบื่อมา ใช้เลิกเหล้า นำรากมาผสมกับพญายา และพริกป่า ต้มน้ำกินแก้ไข้
อ้างอิง : FB ชมรมคนรักษ์พรรณไม้ ,
https://wisdomking.or.th
,
http://www.taintana.in.th
, FB Garden & Nature ,
http://www.phargarden.com
3 บันทึก
7
4
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พรรณไม้หายากของไทย
3
7
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย