Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Werawut Wongwasan
•
ติดตาม
24 ม.ค. 2021 เวลา 03:32 • สิ่งแวดล้อม
พรรณไม้หายากของไทย (4)
สวัสดีครับ...ยังคงนำเสนอพรรณไม้หายากต่อเนื่องกันไป ซึ่งครั้งนี้จะพาไปรู้จักพันธุ์ไม้หายากอีก 4 ชื่อ ได้แก่ เคี่ยม ยางกล่อง กระบกกรัง และตะเคียนทราย
พรรณไม้หายาก 13 : เคี่ยม
เคี่ยม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cotylelobium lanceolatum Craib หรือ Cotylelobium melanoxylon (Hook.f.) Pierre) จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
1
ต้นเคี่ยม มีถิ่นกำเนิดในป่าดงดิบภาคใต้ของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง 20–40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบทรงเจดีย์ต่ำๆ ลำต้นตรง เปลือกเรียบสีน้ำตาลเข้ม มีรอยด่างสีเทาและเหลืองสลับ มีต่อมระบายอากาศกระจายทั่วไป ตามยอดอ่อนและช่อดอกมีขนสีน้ำตาลปกคลุม
1
ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ เนื้อใบหนา ปลายใบสอบเรียวหยักเป็นตุ่มยาว โคนใบมน หลังใบเรียบมัน ท้องใบมีขนสีน้ำตาลปนเหลืองเป็นกระจุก
ดอกสีขาว ออกเป็นช่อยาวตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบรองดอก 5 กลีบ รูปหอกเรียว มีขนสั้นปกคลุม ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม
ผลเป็นผลแห้งทรงกลม มีขนนุ่ม มีปีก 1 คู่
สรรพคุณทางยาของต้นเคี่ยม
- ยอด ราก ดอก และลำต้น ใช้ผสมกับเปลือกหว้าต้มเป็นยาบ้วนปาก ช่วยแก้อาการปากเปื่อย ช่วยแก้อาการท้องร่วง
- เปลือก ใช้เป็นยากลางบ้าน สำหรับช่วยห้ามเลือดจากบาดแผลสด
- ชันจากไม้เคี่ยม ใช้เป็นยาสมานแผล ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ตำพอกรักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย
- ลำต้น ใช้ตำพอกรักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย
1
พรรณไม้หายาก 14 : ยางกล่อง
ยางกล่องมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dipterocarpus dyeri Pierre ex Laness. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
ไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงถึง 40 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนา แตกเป็นสะเก็ด หรือค่อนข้างเรียบ สีเทาหรือน้ำตาลอมดำ โคนต้นมีพูพอนต่ำ กิ่งอ่อนและหูใบมีขนยาวสีเหลือง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ถึงรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายทู่ถึงเรียงแหลม โคนใบมน บางครั้งสอบแคบ ผิวใบเกลี้ยง
1
ดอก สีชมพู ออกเป็นช่อยาวแตกแขนงสั้นๆ ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผล รูปรี มีสันยาว 5 สัน ด้านบนมีปีกยาว 2 ปีก ปีสั้น 3 ปีก
เขตกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา : ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของไทย ต่างประเทศพบที่พม่า กัมพูชา เวียตนาม และมาเลเซีย ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง 50-350 เมตร ออกดอกและผลเดือน พฤศจิกายน - สิงหาคม
1
พรรณไม้หายาก 15 : กระบกกรัง
กระบกกรัง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hopea helferi (Dyer) Brandis จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. เรือนยอดรูปกรวยคว่ำหรือรูปทรงกระบอก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน ขนาดไม่ค่อยแน่นอนนัก ปลายมนหรือหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้นๆ โคนเบี้ยวและหยักเว้า เส้นแขนงใบข้างละ 12-15 เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ใบอ่อนสีน้ำตาลอมม่วง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ตามง่ามใบและตามปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม เรียงเป็นแนวเดียวกันบนก้านแขนงช่อ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเรียงซ้อนเวียนกันคล้ายกังหัน
1
ผลเล็ก รูปไข่ มีปีกยาว 2 ปีก ปีกสั้น 3 ปีก ปีกยาวมีเส้นตามยาวของปีก 7 เส้น เมล็ดแข็ง รูปไข่
ประโยชน์ : เนื้อไม้ละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว เสี้ยนหยาบ ไสกบตกแต่งค่อนข้างยาก ขัดเงาได้ดีพอสมควร นิยมใช้ในการก่อสร้างที่อยู่ในร่ม เช่น เสา คาน รอด ตง
1
พรรณไม้หายาก 16 : ตะเคียนทราย
ตะเคียนทราย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Neobalanocarpus heimii (King) P.S. Ashton
อยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซีย การกระจายพันธุ์แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นตามที่ลาดชันในป่าดิบชื้น พบที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 300-500 ม. ต้น สูง 30-40 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ล่อนเป็นสะเก็ด ตกชันสีขาวใส ๆ เปลือกในมีสีเหลือง
1
ใบ ใบเดี่ยว รูปหอกหรือรูปดาบ กว้าง 2.0-4.5 ซม. ยาว 8-15 ซม. เนื้อใบเกลี้ยงหนาปลาย ใบสอบเรียวแหลมโคนใบมนหรือเบี้ยว
ดอก ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ผล รูปขอบขนาน ปลายโค้ง กว้าง 1.5 ซม. ยาว 5-7 ซม. ไม่มีปีกมีกลีบรองกลีบดอก เป็นกระทง มี 5 พู หุ้มแนบอยู่ประมาณ 1 ใน 4 ของผล ระยะเวลาการติดดอกและผล เมษายน-กรกฎาคม
การใช้ประโยชน์
-นิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงา
-เนื้อไม้ทนทานแข็งแรง ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ทำเรือสำเภาเดินทะเล เสากระโดงเรือ ชันมีราคาสูง ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ และน้ำมันชักเงาอย่างดี
1
อ้างอิง :
https://www.panmai.com
,
https://medthai.com
,
https://sanookjame.wordpress.com
,
http://www.npic-surat.com
,
http://www.rspg.or.th
, FB ชมรมอนุรักษ์ไม้วงศ์ยาง ,
https://rpplant.royalparkrajapruek.org
,
http://nanthapo.blogspot.com
1 บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พรรณไม้หายากของไทย
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย