22 ม.ค. 2021 เวลา 13:58 • สิ่งแวดล้อม
พรรณไม้หายากของไทย (3)
สวัสดีครับ...ยังคงนำเสนอพรรณไม้หายากต่อเนื่องกันไป ซึ่งครั้งนี้จะพาไปรู้จักพันธุ์ไม้หายากอีก 4 ชื่อ ได้แก่ มะขามป้อมดง
พรรณไม้หายาก 9 : มะขามป้อมดง
มะขามป้อมดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cephalotaxus mannii Hook. f. อยู่ในวงศ์ Taxaceae ต้นสูงได้ถึง 30 เมตร แยกเพศร่วมต้น ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ ลอกเป็นแผ่นบาง เนื้อไม้มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำมันสน
ใบเรียง 2 แถวคล้ายซี่หวี เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเรียงตรงข้าม รูปใบหอก หรือรูปแถบโค้งเล็กน้อย ยาว 1.5-5 ซม. ปลายมีติ่งแหลม โคนมน เส้นกลางใบนูนทั้งสองด้าน แผ่นใบด้านล่างมีนวล ปากใบเรียงเป็นแถบ 12-14 แถว โคนเพศผู้ออกตามกิ่งเป็นช่อกระจุกแน่น มี 6-8 โคน เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มม. มีปุยขาวปกคลุม ก้านช่อสั้น โคนเพศเมียออกตามซอกเกล็ดตาที่ยอด 1-8 โคน ก้านยาว 0.6-1 ซม. เกล็ดประดับเรียงตรงข้ามสลับฉากเป็นคู่ แต่ละเกล็ดมีออวุล 2 เม็ด ส่วนมากเจริญเพียงเม็ดเดียว
เมล็ดคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง เกิดจากเนื้อเยื่อหุ้มจนมิด รูปรีหรือกลม ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีติ่งที่ปลาย สุกสีแดงฉ่ำน้ำ ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูง 1000-1800 เมตร
พรรณไม้หายาก 10 : นมสวรรค์(ดอกขาว)
นมสวรรค์(ดอกขาว) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า CLERODENDRUM PANICULATUM LINN. อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE พบขึ้นตามป่าโปร่งทุกภาคของประเทศไทย เป็นไม้พุ่มสูง 3 เมตร ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปไข่กว้าง ขอบใบหยักลึก 3-7 แฉก
คนส่วนใหญ่ จะรู้จักและเคยพบเห็นเฉพาะ ต้นนมสวรรค์ชนิดที่มีดอกเป็นสีแดงอมส้ม เพราะมีปลูกเป็นไม้ประดับและใช้เป็นสมุนไพรมาแต่โบราณแล้ว ส่วน “นมสวรรค์ดอกขาว” น้อยคนนักจะรู้จัก มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้นใบและดอกเหมือนกับชนิดแรกทุกอย่าง รวมทั้งสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย จะแตกต่างกันก็เพียงสีสันของดอกเท่านั้น
ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบ ด้วยดอกย่อยจำนวนมากเรียงเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังสีเขียวอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวปลายแยกเป็นกลีบดอก 4 กลีบคล้ายดอกเข็ม กลีบดอกเป็นสีขาว หรือ สีนวล เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน จะดูสวยงามมาก “ผล” รูปทรงกลม มีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง
สรรพคุณทางยา
ราก : แก้ผิดฝีภายใน แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ไข้เหนือ ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วตัว แก้พิษฝีภายใน แก้พิษตะขาบ แก้พิษแมลงป่อง แก้ลมในอก แก้โลหิตในท้อง
ต้น : แก้พิษตะขาบ แมลงป่องต่อย แก้ฝีฝักบัว
ใบ : แก้ลมในทรวงอก แก้พิษฝีดาษ
ดอก : แก้โลหิตในท้อง แก้พิษสัตว์ แก้พิษกาฬ
พรรณไม้หายาก 11 : นมสวรรค์(ดอกแดง)
นมสวรรค์(ดอกแดง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clerodendrum paniculatum L. ชื่อวงศ์ Lamiaceae (Labiatae) ชื่อเรียกอื่น เช่น สาวสวรรค์ พนมสวรรค์ เข็มฉัตร (นครพรม) เป็นต้น
ต้นนมสวรรค์ จัดเป็นไม้พุ่มสูง มีลำต้นตรงและเป็นเหลี่ยมสี่เหลี่ยมเป็นข้อ ๆ และไม่มีกิ่ง แต่มีก้านใบซึ่งจะแตกออกจากตรงลำต้นโดยตรง ลำต้นมีความสูงได้ถึง 3 เมตร ส่วนเปลือกต้นมีลักษณะเรียบ เป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยอาจพบได้ตามชายป่า
ใบนมสวรรค์ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นฝ่ามือรูปไข่กว้างหรือรูปไข่เกือบกลม ใบกว้างประมาณ 7-38 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-40 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉก ปลายแฉกจะแหลม ฐานใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ผิวใบมีขนและต่อมกระจายอยู่ทั้ง 2 ด้าน ส่วนหลังใบเรียบมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนสากระคายมือและมีสีอ่อนกว่า และมีก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร หรืออาจยาวกว่า มีร่องตามยาว
ดอกนมสวรรค์ หรือ ดอกพนมสวรรค์ ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ดอกมีสีแดงหรือสีส้ม ช่อดอกเป็นชั้นคล้ายฉัตรหรือรูปไข่ ขนาดช่อดอกกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเป็นเหลี่ยม กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบดอกมี 5 กลีบ มีขนกระจายด้านนอก ส่วนกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 0.7-1.4 เซนติเมตร มีขนและต่อมกระจายด้านนอก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีเกสรตัวเมีย มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ส่วนรังไข่เป็นรูปทรงรีเกือบกลม มีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกลี้ยง
ส่วนก้านเกสรตัวเมียจะยาวเท่ากับเกสรตัวผู้อันยาวหรือยาวกว่าเล็กน้อย โดยยอดเกสรจะแยกเป็น 2 แฉกสั้น ๆ มีใบประดับเป็นรูปไข่แกมรูปรี ยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร โดยใบประดับย่อยรูปแถบยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆังสีส้มแดง มีด้วยกัน 5 กลีบ โคนเชื่อมกัน หลอดกลีบเลี้ยงสั้น ๆ ปลายแยก 5 กลีบ เป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มีต่อมและขนกระจาย
ผลนมสวรรค์ ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเล็กสีเขียว ผลผนังชั้นในแข็ง ทรงกลม มี 2-4 พู มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-9 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมเขียวหรือสีดำ และในผลมีเมล็ดเดียว มีลักษณะแข็ง
สรรพคุณทางยา
ราก : แก้ผิดฝีภายใน แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ไข้เหนือ ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วตัว
แก้พิษฝีภายใน แก้พิษตะขาบ แก้พิษแมลงป่อง แก้ลมในอก แก้โลหิตในท้อง
ต้น : แก้พิษตะขาบ แมลงป่องต่อย แก้ฝีฝักบัว
ใบ : แก้ลมในทรวงอก แก้พิษฝีดาษ
ดอก : แก้โลหิตในท้อง แก้พิษสัตว์ แก้พิษกาฬ
พรรณไม้หายาก 12 : ต้นหมัน
ต้นหมัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordia cochinchinensis Gagnepain อยู่ในวงศ์ BORAGINACEAE
ลักษณะทั่วไปต้นหมันเป็นไม้ยืนต้นสูง 5–15 เมตร เปลือกต้นสีเทาคล้ำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบทู่ โคนใบกว้าง ดอกสีขาว ผลเมื่อเปลือกสีชมพู มีของเหลวภายในเหนียวมากห่อหุ้มเมล็ด
ประโยชน์ของต้นหมัน ในสมัยก่อนชาวบ้านจะนำเอาใบอ่อนของต้น "หมัน" มาทำเป็นอาหาร ทั้งแง่ของผักลวกจิ้มน้ำพริก หรือแกงต่างๆ ขณะที่เปลือกก็นำมาผสมเป็นยาแนวอุดเรือ ส่วนเนื้อเหลวเหนียวที่หุ้มเมล็ดในผลใช้ทำกาว ขณะที่รากนำมาต้มน้ำดื่ม แก้เจ็บหน้าอก
อ้างอิง : FB ชุมชนคนรักษ์พรรณไม้ , http://ecoforest.phsmun.go.th , https://www.thairath.co.th , https://www.nectec.or.th , https://www.panmai.com ,

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา