Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Werawut Wongwasan
•
ติดตาม
21 ม.ค. 2021 เวลา 02:29 • สิ่งแวดล้อม
พรรณไม้หายากของไทย (2)
สวัสดีครับ...ยังคงนำเสนอพรรณไม้หายากต่อเนื่องกันไป ซึ่งครั้งนี้จะพาไปรู้จักพันธุ์ไม้หายากอีก 4 ชื่อ ได้แก่ ตีนเป็ดแคระ ช้าม่วง กฤษณา และพิลังกาสา
พันธุ์ไม้หายาก 5 : ตีนเป็ดแคระ
ตีนเป็ดแคระ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia curtisii King & Gamble วงศ์ Apocynaceae สำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย โดยนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติจากซีกโลกตะวันตก นามว่า Curtis ที่จังหวัดพังงา และมีรายงานการตั้งชื่อในปี 2450
ตีนเป็ดแคระเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามหน้าผาเขาหินปูนชายทะเล และตามเกาะต่างๆ ในจังหวัดกระบี่และพังงา ดอกออกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม มีดอกย่อยสีขาว จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน
ต้นตีนเป็ดแคระ มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงเพียง 1-1.5 ม. เท่านั้น แตกกิ่งเป็นหลายลำต้น เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ตามกิ่งแตกใบ กระจุกละ 4 ใบ ห่างกันกระจุกละ 2-4 ซม. ใบรูปหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 6-8 ซม. เส้นกลางใบด้านบนนูนเด่นและมีสีม่วงแดง โคนใบรูปลิ่ม ก้านใบยาว 4-5 มม.
ดอกตีนเป็ดแคระ ออกดอกเป็นช่อ ดอกออกปลายยอด ยาว 1-2 ซม. มีดอกย่อย 12-16 ดอก โคนกลีบดอกเป็นหลอดสีขาว ยาว 2.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ดอกมีลักษณะคล้ายดอกเข็ม ดอกสีขาวสวยงาม แต่น่าเสียดายที่ดอกไม่มีกลิ่น
พันธุ์ไม้หายาก 6 : ช้าม่วง
ช้าม่วง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anisoptera scaphula (Roxb.) Kurz วงศ์ยาง เป็นพืชหายาก มีการกระจายพันธุ์พืชกว้าง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก ถิ่นอาศัยขึ้นอยู่ตามป่าดิบชื้น - ป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ต้นช้าม่วง มีคนรู้จักน้อยมาก มักจะเข้าผิดว่าเป็นต้นกระบากหรือกระบากขาว (A. costatar Korth.) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดสามารถพบขึ้นได้ในพื้นที่เดียวกัน มีข้อสังเกตความแตกต่างกัน คือ
- กระบาก ที่กิ่งอ่อนและท้องใบจะมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ปลายของเส้นแขนงใบโค้งจรดกันชัดเจน และผลของกระบากที่ปลายของเมล็ด มีก้านเกสรเพศเมียติดค้างเป็นรูปคล้ายระฆังคว่ำ
- ช้าม่วง กิ่งอ่อนและท้องใบเกลี้ยง ปลายของเส้นแขนงใบไม่โค้งจรดกันหรือโค้งจรดกันไม่ชัดเจน ปลายของเมล็ดมีก้านเกสรเพศเมียติดค้างเป็นแท่งเรียว
ล่าสุด เดือน พ.ย. 58 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแม่วะ พร้อมนายก อบต.ในพื้นที่ ลุยเดินเท้าสำรวจพันธุ์ไม้กลางป่าแม่วะ พบไม้วงศ์ยางขึ้นเต็ม แถมเจอ “ต้นช้าม่วง” พันธุ์ไม้หายากเป็นครั้งแรกของลำปาง ยืนต้นตระหง่าน สูง 42 เมตร
พันธุ์ไม้หายาก 7 : กฤษณา
"ไม้กฤษณา" มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธุ์ในแถบเอเชีย อยู่ในวงศ์ THYMELAEACEAE : Aquilaria ชื่อพื้นเมือง กฤษณา ไม้หอม สีเสียดน้ำ กันเกรา กายูการู กายูกาฮู เป็นต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูง 18-21 เมตร เส้นรอบวง 1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์หรือรูปกรวย ต้นตรง เปลือกสีเทาอมขาว
กฤษณา" เป็นไม้หอมอันทรงคุณค่ามาแต่โบราณ และมีราคาแพงที่สุดในโลก ถึงขนาดบางคนเรียกว่า เป็นไม้ของพระเจ้า (Wood of God) มนุษย์หลายชาติหลายภาษาต่างต้องการ ด้วยประโยชน์ที่มากมายมหาศาล คุณสมบัติพื้นบ้าน (ประเทศแถบอาเซี่ยน) ป้องกันแมลง เห็บ เหา เป็นเครื่องยาสมุนไพรบรรเทาสารพัดโรค ด้านอุตสาหกรรม (ระดับนานาชาติ) หลายประเทศทั่วโลกใช้เข้าเครื่องยาสร้างกลิ่นหอมเพื่อการบำบัด ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “อโรมาเทอราปี-Aromatherapy” อีกทั้ง อุตสาหกรรมน้ำหอมที่ใช้ผลิตผลจากไม้ชนิดนี้เป็นตัวปรุงแต่งกลิ่น จนเกิดเป็นแบรนด์ดังที่มีราคาแพงสุดๆ
ใบ - เป็นแบบใบเดี่ยว เรียงตัวสลับ รูปไข่ ขอบขนาน ปลายเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 7-9 ซม.ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม ก่อนร่วงเป็นสีเหลือง
ดอก - สีเขียวอมเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ออกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามใบที่ปลายกิ่ง ช่อละ 4-6 ดอก
ผล - รูปโล่หรือรูปตลับ เปลือกแข็ง ปลายผลมีติ่ง ผลแก่แตกอ้าเป็น 2 ซีก ด้านในมี 2 เมล็ด เมล็ดมีชีวิตเพียง 1-2 สัปดาห์ หลัง 4 สัปดาห์อัตราการงอกลดลงจนไม่มีการงอก
ขยายพันธุ์ - เพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดเพาะในทรายจนกว่าจะงอก แล้วย้ายใส่ถุงไว้ในเรือนเพาะชำก่อนนำปลูกลงดิน เติบโตได้ดีในที่มีอากาศร้อนชื้น
พันธุ์ไม้หายาก 8 : พิลังกาสา
พิลังกาสา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia polycephala Wall. ex A.DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Tinus polycephala (Wall. ex A. DC.) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)
ต้นพิลังกาสา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตั้งแต่หมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่น และกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียภาคใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้น แต่ไม่มากนัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินทรายหรือดินเหนียว แต่ไม่ชอบดินแฉะ โดยจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าราบและมีประปรายอยู่ทั่วไป บ้างว่าพบได้ตามป่าโปร่ง ป่าดิบเขาทั่วไป ที่ราบสูง
ใบพิลังกาสา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นคู่ ๆ ตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน มีลักษณะหนาและใหญ่ ส่วนยอดอ่อนเป็นสีแดง
ดอกพิลังกาสา ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามส่วนของยอด ดอกเป็นสีเหลืองนวล บ้างว่าเป็นสีชมพูอมขาว หรือสีขาวแกมชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่จะมี 5 แฉก คล้ายรูปดาว
ผลพิลังกาสา ผลมีลักษณะกลมโต มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ออกผลเป็นกระจุกมีก้านช่อยาวห้อยย้อยลง และก้านผลยาวเรียงสลับรอบก้านช่อ ผลอ่อนเป็นสีแดง เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ
สรรพคุณของพิลังกาสา
- ผลสุกนำมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน หรือใช้ผงยา 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำครึ่งแก้วดื่มช่วยบำรุงโลหิต
- ผลช่วยแก้ธาตุพิการ
- ผลใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ในกองอติสารโรค
- ใบมีรสร้อน ช่วยแก้อาการไอ และใช้เป็นยาแก้ลม
อ้างอิง :
https://www.mydokhome.com
,
https://www.youtube.com
,
https://mgronline.com
, FB สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
https://adaymagazine.com
,
http://ecoforest.phsmun.go.th
,
https://www.thairath.co.th
,
https://medthai.com
2 บันทึก
4
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พรรณไม้หายากของไทย
2
4
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย