27 ม.ค. 2021 เวลา 16:36 • ประวัติศาสตร์
น้ำมันในสยามประเทศก่อนจะเกิดโรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์แห่งแรกของประเทศ
.
ไทยออยล์คือโรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์ที่เดินเครื่องโรงแรกของประเทศ ก่อตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2504 และเริ่มกลั่นน้ำมันหยดแรกออกมาในปี พ.ศ. 2507 น้ำมันที่กลั่นได้เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันและพลังงานของประเทศ
แต่ก่อนที่จะมีการตัดสินใจลงทุนสร้างโรงกลั่น หรือ อันที่จริงโรงงานอะไรก็ตามแต่ ผู้ลงทุนก็หวังจะได้คืนทุน นั่นคือผู้ลงทุนต้องลงทุนโดยมั่นใจว่าจะมีลูกค้า
แล้วในปี พ.ศ. 2504 ประเทศเรารู้จักน้ำมันกันก่อนแล้วงั้นหรือ? มีการใช้งานกันอยู่แล้วงั้นหรือ? ถ้ามี มีมานานแค่ไหนแล้ว? วันนี้เราจะเล่าถึงที่มาที่ไป การเข้ามาของ “น้ำมัน” และ “ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม” ในสยามประเทศ ตามมารับฟังรับชมกันได้เลยครับ
รู้หรือไม่ – ประวัติศาสตร์น้ำมันยุคใหม่ ใช่ ยุคของเรานี่แหละ เริ่มนับในปี พ.ศ. 2402 เมื่อมีการค้นพบน้ำมันที่รัฐเพนซิลเวเนีย ตรงกับยุค ร.๔
พ.ศ. 2431 สยามมีการนำเข้าน้ำมันก๊าด (kerosene) จากรัสเซีย นำมาจุดให้แสงสว่างแทนน้ำมันมะพร้าวที่ใช้กันอยู่แต่เดิม ใช้จุดให้แสงสว่างตามถนน ถัดมาก็มีการนำเข้าน้ำมันหล่อลื่นมาใช้กับเครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ในโรงสี โรงเลื่อย และโรงไฟฟ้า ในยุคนี้ตรงกับยุค ร.๕
ณ ปีนั้น สยามมีโทรเลขมาแล้ว 13 ปี รู้จักโทรศัพท์มาแล้ว 7 ปี และไฟฟ้าแรกเข้ามาในสยามแล้ว 4 ปี ปีนั้นเพิ่งเริ่มเดินรถรางสายแรก (ตอนนั้นใช้ม้าลากรถ) และศิริราชเริ่มเปิดบริการ
ถัดจากนั้น 4 ปี (พ.ศ. 2435) ก็มีบริษัทต่างชาติเข้ามาค้าขายน้ำมัน บริษัทนั้นคือ Royal Dutch Petroleum บริษัทเชื้อชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อ Shell แต่ว่าตอนนั้น Royal Dutch Petroleum ยังไม่ควบรวมกิจการกับ Shell Transport – การรวมบริษัทจะเกิดขึ้นในปี 2450 เป็น Royal Dutch Shell อย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
Royal Dutch Petroleum นำน้ำมันก๊าดเข้ามาขาย ตรามงกุฎ
เอาจริง ณ ตอนนั้น Royal Dutch Petroleum ก็จัดว่าเป็นบริษัทเพิ่งตั้งใหม่ บริษัทเพิ่งเกิดมาได้แค่ 2 ปีเท่านั้น แม้จะเป็นบริษัทเชื้อชาติเนเธอร์แลนด์ แต่สัญชาติเป็นอินโดนีเซีย...
Royal Dutch Petroleum เกิดขึ้นมาจากการจะพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบในแถบเกาะสุมาตรา ซึ่งตอนนั้นเป็นอาณานิคมของดัชต์ ดินแดนที่รู้จักในชื่อ Dutch East Indies
ภายหลัง Royal Dutch Petroleum เข้ามาในสยามได้แค่ 2 ปี (พ.ศ. 2437) บริษัทจากอเมริกานามว่า Standard Oil (New York) ก็เข้ามาตั้งร้านและสร้างคลังน้ำมัน จำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่ และตรานกอินทรี และต่อมาก็จำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น ตรากากอลย์ – ปีนี้เกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ไทยสูญเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส
Standard Oil group เป็นบริษัทน้ำมันของเจ้าพ่อน้ำมัน John D. Rockefeller มีบริษัทย่อยหลายแห่ง เนื่องจากบริษัทแทบจะผูกขาดน้ำมันในอเมริกา จึงโดนศาลอเมริกาตัดสินในปี พ.ศ. 2454 ให้แตกออกเป็นบริษัทย่อยๆ 34 บริษัท เช่น Standard Oil of New York ซึ่งต่อมากลายเป็น Mobil, Standard Oil of New Jersey ซึ่งต่อมากลายเป็น ESSO และอื่นๆอีกหลายแห่ง
สยามนำเข้ารถยนต์ครั้งแรกในปี 2439 หลัง standard oil มาทำกิจการในไทย 2 ปี รถคันแรกนี้เป็นรถน้ำมันเบนซิน ตอนนี้สยามก็มีความต้องการทั้งเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันหล่อลื่น
ถ้ายังจำกันได้จากบทความแรกในซีรีย์ ในปี 2464 ชาวบ้านพบน้ำมันซึมขึ้นมาที่ผิวดิน ที่ อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนั้นอยู่ในสมัย ร.๖ และเชียงใหม่ยังปกครองโดยเจ้านครเชียงใหม่
กาลเวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี ก็ยังมีผู้จำหน่ายน้ำมันเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น คือ Shell กับ Standard oil (อันที่จริงมีบริษัทแวคคั่มออยล์เข้ามาด้วย แต่ควบรวมกับแสตนดาร์ดออยล์ไปแล้ว)
พ.ศ. 2476 (หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) กระทรวงกลาโหมจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้น ทำหน้าจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น 3 อย่างนี้เข้ามาจำหน่าย ก็เพราะน้ำมันเริ่มมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติมากขึ้นๆ มีการสร้างโรงกลั่นเองที่ช่องนนทรี มีการสั่งเรือต่อเรือบรรทุกน้ำมันจากญี่ปุ่นมาใช้วิ่งขนน้ำมัน เรือลำนั้นชื่อ “สมุย” โดนลูกหลงระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) บึ้มไปทั้งโรงกลั่นที่เพิ่งจะเริ่มเดินเครื่อง ทั้งเรือขนส่งน้ำมัน
ช่วงสงครามน้ำมันก็ขาดแคลน facility ของรัฐก็เสียหายจากระเบิด ทำให้รัฐต้องขอร้องให้บริษัทต่างชาตินำน้ำมันเข้ามาขาย ซึ่งแลกมาด้วยข้อตกลงเสียเปรียบว่ารัฐจะต้องไม่แข่งขันกับเอกชน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ Shell ก็กลับเข้ามาใหม่ คราวนี้มีการตั้งสถานีจำหน่ายแบบปั้มมือหมุน เช่นเดียวกัน standard oil ก็กลับมา ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ESSO บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันทั้งสองก็อยู่ในไทยสืบมาตั้งแต่บัดนั้น
กิจการน้ำมันเป็นสิทธิ์ของเอกชนเต็มที่ ตามที่รัฐได้ตกลงไว้ กว่าจะที่รัฐจะยกเลิกข้อตกลงนั้นได้ก็ในปี พ.ศ. 2500 และนำมาสู่การประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และสำรวจปิโตรเลียมในเวลาต่อมา
2504 บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทยได้รับเลือกให้สร้างโรงกลั่น, 2505 ยูเนียนออยล์ได้รับสัมปทานสำรวจน้ำมันในภาคอีสาน
บริษัทโรงกลั่นน้ำมันไทย กลายมาเป็น ไทยออยล์ ในปัจจุบัน ส่วนยูเนียนออยล์ที่สำรวจแหล่งปิโตรเลียมในภาคอีสานก็ไม่เจออะไร แล้วเขาได้กลับมาใหม่ในรอบสัมปทานปี 2511 ในการแบ่งแปลงสำรวจในอ่าวไทย ซึ่งครั้งนี้เขาค้นพบแหล่งแก๊สธรรมชาติที่สำคัญยิ่งของไทย ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ให้เกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นที่มาบตาพุดในกาลต่อมา
ส่วน Shell และ ESSO ก็จะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้าปลีกน้ำมันอันเป็นธุรกิจตั้งต้น ด้านโรงกลั่นน้ำมัน รวมไปถึงการสำรวจและพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมบนบก ซึ่งจะได้กล่าวถึงผลงานของบริษัทต่างชาติทั้งสองนี้ในบทถัดๆไป
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ :)
โฆษณา