Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
31 ม.ค. 2021 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
“ผู้พันแซนเดอร์ส (Colonel Sanders)” ตำนานราชาไก่ทอดผู้ยิ่งใหญ่
1
หลายท่านที่อ่านบทความนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นลูกค้าประจำของ “เคเอฟซี (KFC)” ผมเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่เข้าร้านเคเอฟซีบ่อย
หลายคนที่เข้าไปกินอาหารในเคเอฟซี น่าจะคุ้นเคยกับรูปปั้นคุณลุงชุดขาว ผมและหนวดขาว ท่าทางใจดี ยืนรอต้อนรับทุกคนเข้าร้าน
คุณลุงคนนี้คือ “ผู้พันแซนเดอร์ส (Colonel Sanders)”
ก่อนที่จะโด่งดัง เป็นผู้พันแซนเดอร์สที่ทุกคนรู้จักในทุกวันนี้ “ฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส (Harland Sanders)” ได้เคยผ่านงานมาแล้วหลากหลาย ทั้งเป็นคนงานบนเรือกลไฟ พนักงานขายประกัน พนักงานในปั๊มน้ำมัน
บทความนี้คือเรื่องราวของเขา
แซนเดอร์สเกิดในปีค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) ที่อินเดียนา สหรัฐอเมริกา โดยมีพ่อเป็นคนงานในฟาร์ม
แซนเดอร์สในวัยเด็ก
พ่อของแซนเดอร์สเสียชีวิตในเวลาต่อมา แม่ของเขาจึงต้องไปทำงานในโรงงานมะเขือเทศกระป๋อง ทำให้แซนเดอร์สต้องรับหน้าที่ดูแลน้องๆ โดยในขณะนั้น แซนเดอร์สมีอายุเพียงเจ็ดขวบ แต่ก็สามารถทำงานบ้านได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะการทำอาหาร
แม่ของแซนเดอร์สแต่งงานใหม่ ซึ่งพ่อเลี้ยงนั้นก็โหดร้ายกับแซนเดอร์ส ทำให้แซนเดอร์สตัดสินใจออกจากบ้านขณะมีอายุได้ 12 ขวบ ก่อนจะออกจากโรงเรียนขณะเรียนอยู่เกรดเจ็ด
2
จากนั้น แซนเดอร์สก็ได้งานเป็นคนงานในฟาร์ม ก่อนจะไปทำงานคอยดับไฟตามรางรถไฟ ซึ่งก็ได้ค่าจ้างเพียงเดือนละไม่ถึง 15 ดอลลาร์ (ประมาณ 450 บาท) แต่ก็มีที่พักและอาหารให้
แซนเดอร์สขณะทำงานในรางรถไฟ
จากนั้นแซนเดอร์สก็ได้ไปทำงานบนเรือกลไฟ ก่อนจะไปทำงานในศาลในอาร์แคนซัส จากนั้นก็ไปขายประกัน ขายโคมไฟ ขายยาง และทำงานเป็นเลขาในหอการค้าอินเดียนา
แซนเดอร์สได้แต่งงานขณะมีอายุ 19 ปี ก่อนจะมีลูกสามคนกับภรรยา จากนั้นก็ได้เข้าร่วมกับกองทัพสหรัฐ ไปประจำที่คิวบา
ชีวิตของแซนเดอร์สวนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ เป็นเวลา 28 ปี ก่อนที่โชคชะตาจะนำพาเขามายังเคนตักกี
แซนเดอร์สได้เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันเล็กๆ ในเคนตักกี ไม่ไกลจากทางหลวง ซึ่งที่ปั๊มน้ำมันนี้เอง แซนเดอร์สก็เปิดร้านอาหารควบคู่ ขายอาหารง่ายๆ ซึ่งส่วนมากก็เป็นเมนูที่เขาเคยทำให้น้องๆ กินสมัยเด็กๆ เช่น หมูแฮม ถั่วแขก บิสกิต และไก่ทอด
แซนเดอร์สในร้านอาหารยุคแรกๆ
ร้านอาหารของแซนเดอร์สประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มากจนแซนเดอร์สทำป้ายโฆษณาไปติดบนทางหลวง ทำให้ร้านของเขายิ่งโด่งดัง มีลูกค้าแน่นร้านทุกวัน และแน่นอนว่าเมนูที่ถูกใจลูกค้าที่สุดก็คือ “ไก่ทอด”
ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) แซนเดอร์สได้รับมอบตำแหน่ง “ผู้พัน” จากผู้ว่าการรัฐเคนตักกี เนื่องจากการอุทิศตนให้ชุมชน และจากความสำเร็จทางธุรกิจ
แต่ความสำเร็จของแซนเดอร์ส ก็ทำให้ “แมตต์ สจ๊วต (Matt Stewart)” เจ้าของปั๊มน้ำมันที่อยู่ใกล้ๆ หมั่นใส้ และเล่นสกปรกโดยการเอาสีไปป้ายลงบนป้ายโฆษณาของแซนเดอร์ส ซึ่งแซนเดอร์สก็จับได้คาหนังคาเขา จึงขู่ว่าถ้าไม่หยุด โดนดีแน่
แซนเดอร์สในวัยหนุ่ม
แต่สจ๊วตก็ไม่สนคำขู่ของแซนเดอร์สซักนิด ดังนั้นเมื่อแซนเดอร์สจับได้คาหนังคาเขาอีกครั้ง ด้วยความโมโห แซนเดอร์สและสจ๊วตจึงยิงต่อสู้กัน
หนึ่งในตัวแทนของปั๊มน้ำมันของแซนเดอร์สถูกยิงและเสียชีวิต ทำให้สจ๊วตถูกตัดสินจำคุก 18 ปี ในขณะที่แซนเดอร์สก็รอดทุกข้อหา
ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) ร้านแฟรนไชส์ “เคนตักกี ฟรายด์ ชิกเกน (Kentucky Fried Chicken)” หรือ “เคเอฟซี (KFC)” ร้านแรก ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่ยูทาห์
เคเอฟซีร้านแรก
ก่อนหน้านั้น แซนเดอร์สได้ปิดปั๊มน้ำมัน และหันมาเปิดร้านอาหารที่มีที่นั่ง 142 ที่นั่ง ก่อนจะพบกับพนักงานหญิงในร้านคนหนึ่ง ชื่อ “คลอเดีย ไพร์ซ (Claudia Price)” ซึ่งต่อมา แซนเดอร์สและไพร์ซก็ได้แต่งงานกันในปีค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) ภายหลังจากที่ทั้งคู่แอบมีความสัมพันธ์กันเป็นเวลาสองปี จนทำให้ภรรยาของแซนเดอร์สขอหย่า
แซนเดอร์สและไพร์ซ
แต่ในช่วงที่ดูเหมือนว่าชีวิตกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นนี้เอง แซนเดอร์สก็ต้องพบกับวิกฤต
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐก็ได้ทุ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมีการก่อสร้างถนนเพิ่มขึ้น
หนึ่งในถนนหลวงที่สร้างนั้น ได้ทำให้การจราจร จากเดิมที่ถนนใกล้ๆ กับร้านของแซนเดอร์สมีคนสัญจรไปมาจำนวนมาก กลายเป็นว่าผู้คนที่ใช้ถนนเส้นนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้อีกเส้นซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร
เมื่อเป็นอย่างนี้ แซนเดอร์สก็ประสบวิกฤต แม้แต่ตึกที่ตั้งร้านก็ขายไม่ออก ไม่มีคนซื้อ และช่วงเวลานี้เอง แซนเดอร์สก็คิดค้นวิธีการทอดไก่โดยใช้หม้อความดัน รวมทั้งยังคิดสูตรสมุนไพรและเครื่องเทศ 11 ชนิดที่ใส่ในไก่ทอด
1
แซนเดอร์สเริ่มจะแนะนำวิธีการทอดไก่ของตนแก่เจ้าของร้านอาหารรายอื่นๆ ทำให้เกิดข้อตกลงแบบแฟรนไชส์อีกครั้ง
แซนเดอร์สจะได้ส่วนแบ่งสี่เซนต์ในไก่ทุกๆ ชิ้นที่ขายได้ และด้วยความสำเร็จ ทำให้แซนเดอร์สมีกำลังใจ ตัดสินใจลุยถนนธุรกิจอีกครั้งในวัย 66 ปี
แซนเดอร์สและไพร์ซจะเข้าไปคุยกับร้านอาหารหลายๆ แห่ง เสนอไก่ของตนแก่ร้านอาหารนั้นๆ หากร้านไหนสนใจ ก็ทำสัญญาการค้า โดยแซนเดอร์สจะได้ส่วนแบ่งกำไร
ในช่วงเวลานี้ แซนเดอร์สก็เริ่มคิดวิธีการนำเสนอตนเอง โดยเขาได้ใส่สูทขาวและย้อมผมและหนวดเป็นสีขาว
ผู้พันแซนเดอร์สที่ทุกคนคุ้นตาในปัจจุบัน ถือกำเนิดแล้ว
แซนเดอร์สและไพร์ซนั้นวุ่นกับการติดต่อธุรกิจ รวมทั้งเตรียมเครื่องเทศและสมุนไพรสูตรของตน ซึ่งแซนเดอร์สก็ได้เก็บสูตรเครื่องเทศและสมุนไพรนี้เป็นความลับ โดยเขาและไพร์ซจะเป็นคนห่อสมุนไพรและเครื่องเทศ และจัดส่งให้ร้านแต่ละแห่งด้วยตนเอง
ภายในปีค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) แซนเดอร์สก็มีร้านของตนในสหรัฐอเมริกาและแคนาดากว่า 600 ร้าน ร้านที่เป็นแฟรนไชส์ในต่างประเทศอีกกว่า 400 ร้าน
1
ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) แซนเดอร์สได้ขายกิจการไปในราคาสองล้านดอลลาร์ (ประมาณ 60 ล้านบาท) โดยเจ้าของใหม่นั้นเสนอหุ้นให้แซนเดอร์ส รวมทั้งผลตอบแทนอีกปีละ 40,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) เนื่องจากเจ้าของใหม่มองเห็นศักยภาพในตัวแซนเดอร์ส
ในเวลานี้ แซนเดอร์สเองก็โด่งดังไม่แพ้ไก่ทอดของตน และมีรายการทอล์กโชว์เป็นของตนเอง
แซนเดอร์สขณะแจกลายเซ็น
แซนเดอร์สเสียชีวิตในปีค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) ด้วยวัย 90 ปี ทิ้งไว้เพียงตำนานไก่ทอดที่โด่งดังไปทั่วโลก
ในทุกวันนี้ เคเอฟซี คือหนึ่งในแบรนด์ร้านอาหารที่มีสาขาจำนวนมากทั่วโลก และโด่งดังเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
และทั้งหมดนี้ก็เกิดจากชายที่ทุกคนรู้จักในนามของ “ผู้พันแซนเดอร์ส (Colonel Sanders)”
References:
https://allthatsinteresting.com/colonel-sanders
https://www.britannica.com/biography/Harland-Sanders
https://www.mashed.com/131055/the-tragic-real-life-story-of-colonel-sanders/
https://www.theverge.com/2016/7/5/12096466/colonel-sanders-kfc-meme-life-story
https://www.thebalancesmb.com/colonel-sanders-bio-kentucky-fried-chicken-story-1350966
https://www.biography.com/business-figure/colonel-harland-sanders
23 บันทึก
38
6
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
บทความประวัติศาสตร์, ข่าวสารทั่วๆ ไป , นอกเรื่อง, ๆลๆ , วันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.2020-ปัจจุบัน
23
38
6
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย