Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คีตาแห่งสยาม
•
ติดตาม
1 ก.พ. 2021 เวลา 08:00 • หนังสือ
✴️ บทที่ 1 ความท้อแท้ของอรชุน
(ตอนที่ 2) ✴️
หน้า 4 – 10
🌸 “พวกเขาได้ทำอะไรกัน” — สำรวจสนามรบในจิตใจและจิตวิญญาณ 🌸
⚜️ โศลก 1 ⚜️ (ตอนที่ 1)
ธฤตราษฎร์ตรัส
“โอ้ สัญชัย ที่ทุ่งกุรุเกษตรอันศักดิ์สิทธิ์ (ธรรมเกษตร กุรุเกษตร) เมื่อราชบุตรของเรา กับราชบุตรของปาณฑุ ยกพลโยธามาพร้อม กระหายการสู้รบ พวกเขาได้ทำอะไรกัน”
ธฤตราษฎร์ราชาจักษุบอด (จิตมืดบอด) ถามสัญชัยผู้เที่ยงตรง (การใคร่ครวญอย่างไร้อคติ) “เมื่อราชบุตรของเรา วงศ์เการพ (จิตที่วู่วามและโน้มเอียงสู่ผัสสอินทรีย์ กับราชบุตรของปาณฑุผู้ทรงธรรม (ความโน้มเอียงที่จะแยกแยะได้อย่างขาวสะอาด) ยกพลโยธามาพร้อมกันที่ธรรมเกษตร (ทุ่งศักดิ์สิทธิ์) แห่งกุรุเกษตร (สนามกายแห่งกิจกรรม) กระหายที่จะทำสงครามเพื่อความเป็นใหญ่ ผลจะเป็นอย่างไร”
▪️ความสำคัญเชิงอุปมาในคำถามของธฤตราษฎร์ราชา▪️
คำถามอย่างจริงใจของธฤตราษฎร์ราชา ที่ต้องการฟังรายงานอย่างไร้อคติจากสัญชัยผู้ทรงความยุติธรรม ว่าสงครามระหว่างพี่น้องเการพกับพี่น้องปาณฑพ (โอรสของปาณฑุ) ที่ทุ่งกุรุเกษตรเป็นไปอย่างไรบ้างนี้ #เป็นคำถามเชิงอุปมาของผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณ เพื่อทบทวนเหตุการณ์ประจำวันในการต่อสู้ในสงครามธรรมะ ที่เขาแสวงหาชัยชนะในการ “หยั่งรู้ตน”
ด้วยการใคร่ครวญอย่างซื่อตรง เขาจะวิเคราะห์ได้ถึงการกระทำ และประเมินกำลังของทั้งจริตฝ่ายดีและฝ่ายชั่วที่กำลังต่อสู้กัน: การควบคุมตนต่อสู้กับการปล่อยตัวตามผัสสอินทรีย์ — พุทธิปัญญาต่อสู้กับการตามใจตน — จิตที่มุ่งมั่นอยู่กับสมาธิต่อสู้กับจิตใจที่ขัดแย้งและความไม่สงบทางกาย — จิตวิญญาณแห่งความเป็นทิพย์ต่อสู้กับความโง่หลงและความเย้ายวนของอหังการฝ่ายต่ำ
สนามรบของกองกำลังทั้งสองฝ่าย คือ กุรุเกษตร (กรุ มาจากรากศัพท์ กริ ในภาษาสันสกฤต “การงาน การกระทำทางโลก” เกษตร “ทุ่ง”) “ทุ่งแห่งการกระทำ” นี้ คือกายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วย กาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ทุ่งนี้เป็นที่เกิดของกิจกรรมในชีวิตของคนเรา ซึ่งคีตาโศลกแรกได้กล่าวถึงทุ่งนี้ว่าเป็น “ธรรมเกษตร” (ธรรม — ความถูกต้อง ความดีงาม ความศักดิ์สิทธิ์ ในที่นี้จึงหมายถึงทุ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสนามศักดิ์สิทธิ์) เพราะสงครามแห่งธรรมได้อุบัติที่ทุ่งนี้ ระหว่างวิญญาณฝ่ายวิจารณญาณ (บุตรของปาณฑุ) กับจิตมืดบอดแห่งสัญชาตญาณ (วงศ์เการพ หรือบุตรของธฤตราษฎร์จักษุบอด)
▪️พลังฝั่งตรงข้ามสองฝ่าย: การฝักใฝ่อยู่กับจิตฝ่ายต่ำ ต่อสู้กับ พุทธิปัญญาฝ่ายจิตวิญญาณ▪️
ธรรมเกษตรกุรุเกษตรยังหมายถึงหน้าที่และกิจกรรมทางศาสนาและทางจิตวิญญาณ (หน้าที่และกิจกรรมของโยคีขณะอยู่ในสมาธิ) ซึ่งต่างกับกิจกรรมและความรับผิดชอบของชาวโลกทั่วไป จึงสามารถตีความเปรียบเทียบเชิงอภิปรัชญาอย่างลึกซึ้งได้ว่า ธรรมเกษตรกุรุเกษตรหมายถึง #สนามภายในกายซึ่งเป็นที่บำเพ็ญสมาธิของโยคีเพื่อเข้าถึงการหยั่งรู้ตน #เป็นสนามซึ่งเป็นที่ตั้งของแกนสมอง #ร่วมไขสันหลังและศูนย์แห่งชีวิตทั้งเจ็ด (จักระทั้งเจ็ด) #รวมถึงทิพยจิตด้วย
ที่ต่อสู้กันบนทุ่งนี้คือพลังฝั่งตรงข้ามหรือขั้วแม่เหล็กสองฝ่าย คือ “ฝ่ายปัญญาแยกแยะ” (พุทธิ) กับ “จิตที่ฝักใฝ่ผัสสอินทรีย์” (มนัส)
ตัวแทนของ “ปัญญาแยกแยะบริสุทธิ์หรือพุทธิ” คือ ปาณฑุ สวามีของนางกุนตี (มารดาของอรชุนกับพี่น้องปาณฑพอีกสี่องค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งหลักธรรม 'นิวฤตติ' — การละวางทางโลก) นามปาณฑุมาจากรากศัพท์ ปณฑ “ขาว” ซึ่งมีนัยเชิงเปรียบเทียบหมายถึงความใสกระจ่างของวิจารณญาณอันบริสุทธิ์
ตัวแทนของ “มนัส” คือท้าวธฤตราษฎร์จักษุบอด บิดาของพี่น้องเการพหนึ่งร้อยองค์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ฝักใฝ่อยู่กับผัสสอินทรีย์ โน้มไปในทาง 'ปรวฤตติ' — ความเพลินพอใจทางโลก
พุทธิดึงความเห็นชอบจากอภิจิตแห่งวิญญาณแล้วสำแดง ณ ฐานของจิตที่ศูนย์สมองร่วมไขสันหลัง ส่วนมนัสหรือผัสสจริต ขั้วแม่เหล็กที่ซับซ้อนจะหันเหออกไปภายนอกสู่โลกของวัตถุ ณ พอนส์ วาโรลิอิ ซึ่งในแง่สรีรวิทยาแล้วมีหน้าที่ ประสานประสาทสัมผัสที่วุ่นอยู่ตลอดเวลา★
★The pons Varoli คือส่วนหนึ่งของก้านสมอง — อยู่เหนือเมดุลลา และด้านล่างของสมองใหญ่ทั้งสองซีก — เป็นตัวเชื่อมสมองใหญ่ สมองน้อยและเมดุลลา มันมีขนาดเล็ก (1 x 1 x 1½ นิ้ว) ประกอบด้วยกลไกส่งและรับสัมผัสระหว่างสมองกับส่วนอื่นๆของร่างกาย ช่องทางเหล่านี้ผ่านเข้าไปในเครือข่ายเซลล์ประสาทที่หนาแน่น ที่เรียกว่า recticular formation ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นกิจกรรมในสมอง และเป็นตัวควบคุมวงจรการหลับและการตื่นตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง พอนส์ วาโรลิอิมีโครงสร้างพิเศษที่เรียกว่า locus coeruleus (“blue place”) — กระจุกเซลล์เล็ก ๆ ที่มีสาร norepinephrine ซึ่งเป็นสารเคมีที่กระตุ้นร่างกายให้พร้อมแก่การกระทำต่าง ๆ โครงสร้างนี้เกี่ยวข้องกับการรู้สึกตัว การฝัน การหลับ และอารมณ์
ดังนั้นปัญญาแห่งพุทธจึงดึงจิตสำนึกไปสู่สัจจะ หรือความจริงนิรันดร์ สู่จิตวิญญาณหรือการหยั่งรู้ตน ส่วนมนัสหรือผัสสอินทรีย์ขับจิตสำนึกไปจากความจริง และหมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมทางผัสสะ นอกกาย หรืออยู่กับโลกมายา
นามธฤตราษฎร์ มาจากรากศัพท์ ธฤต “ถือไว้ สนับสนุน หรือดึงบังเหียน” กับ ราษฎร “อาณาจักร” มาจาก ราช “ปกครอง” คำนี้จึงมีนัยทางสัญลักษณ์หมายถึง 'ธฤต° ราษฎร° เยน' “ผู้ถือไว้ซึ่งอาณาจักร (แห่งอินทรีย์)” หรือ “ผู้ปกครอง ด้วยการดึงบังเหียน (แห่งอินทรีย์)”
จิต (มนัส หรือ การรับรู้ทางประสาทสัมผัส – มนินทรีย์) ประสานผัสสอินทรีย์ เช่นเดียวกับที่สายบังเหียนควบคุมม้าศึกหลายๆตัว กายคือรถศึก วิญญาณคือเจ้าของรถศึก ปัญญาคือสารถี อินทรีย์คือม้า ว่ากันว่าจิตมืดบอดเพราะมันไม่เห็นถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอินทรีย์และปัญญา สายบังเหียนรับและถ่ายทอดแรงกระตุ้นจากม้าและการนำของสารถี ทำนองเดียวกันจิตที่มืดบอดโดย ตัวมันเองนั้นไม่สังเกตหรือทำสิ่งใดได้ เพียงแต่รับความรู้สึกจากอินทรีย์ และถ่ายทอดข้อสรุปและคำสั่งของปัญญา ถ้าปัญญาถูกควบคุมโดยพุทธิ พลังการแยกแยะอันบริสุทธิ์ อินทรีย์จะถูกควบคุม ถ้าปัญญาถูกควบคุมโดยความอยากได้ใคร่มีทางวัตถุ อินทรีย์จะดื้อด้านเกเร
▪️สัญลักษณ์ของสัญชัย: การใช้สหัชญาณวิเคราะห์ตนอย่างไร้อคติ▪️
สัญชัย แปลตามตัวหมายถึง ชนะอย่างสมบูรณ์ “ผู้เอาชนะตนเองได้” สัญชัยเป็นคนเดียวที่ไม่เอาตนเองเป็นที่ตั้ง สามารถเห็นทุกสิ่งอย่างกระจ่างชัด และไม่มีอคติ
ในคีตาสัญชัยจึงหมายถึง “ทิพยหยั่งเห็น” หรือ การหยั่งเห็นอย่างเลิศ สำหรับผู้ที่มุ่งมั่นแสวงหาจิตวิญญาณ สัญชัยคือตัวแทนของการใช้สหัชญาณวิเคราะห์ตนอย่างไร้อคติ คือ การคิดใคร่ครวญอย่างกระจ่างชัด คือความสามารถที่จะถอยมายืนข้าง ๆ และสังเกตตนเองอย่างไม่ลำเอียง และตัดสินได้อย่างถูกต้อง ความคิดอาจมีอยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว การใคร่ครวญคือพลังสหัชญาณที่จิตสามารถเฝ้ามองความคิด มองโดยไม่ใช้เหตุผล แต่ใช้ความรู้สึก — ไม่ใช่มองด้วยอารมณ์ที่ลำเอียง แต่มองด้วยสหัชญาณอันสงบกระจ่างใส
ภควัทคีตาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 'มหาภารตะ' ได้ถูกนำเสนอโดยมหาฤษี วยาสะ โดยให้พลังทางจิตวิญญาณแก่สัญชัย ที่จะเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามยุทธ์ได้จากระยะไกล เพื่อให้เขาสามารถรายงานเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้ท้าวธฤตราษฎร์จักษุบอดทรงทราบ
ดังนั้น เราจึงคาดว่าคำถามของท้าวธฤตราษฎร์ ในโศลกแรกน่าจะถามด้วยประโยคปัจจุบันกาล แต่วยาสะผู้รจนา ตั้งใจให้สัญชัยเล่าคีตาในลักษณะของการคิดทบทวน จึงใช้กริยาในอดีตกาล ('พวกเขาได้ทำอะไรกัน')
นัยที่เห็นชัดสำหรับศึกษาก็คือ คีตากำลังพูดถึงการยุทธ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนทุ่งกุรุเกษตร ทางภาคเหนือของอินเดีย แต่หลักใหญ่นั้น วยาสะ กำลังพรรณนาถึงการต่อสู้ที่เป็นสากล คือ การศึกที่คุกคามชีวิตมนุษย์อยู่ทุกวัน ถ้าวยาสะแค่ต้องการรายงานเหตุการณ์การสู้รบที่ดำเนินไปในทุ่งกุรุเกษตร ท่านต้องให้ธฤตราษฎร์ถามสัญชัยผู้สื่อข่าวด้วยประโยคปัจจุบันกาล “ตอนนี้ เหล่าราชบุตรของเรากับราชบุตรของปาณฑุ 'กำลังทำอะไรกันอยู่'”
นี่เป็นประเด็นสำคัญ ข่าวสารอย่างไร้กาลเวลาของภควัทคีตาไม่ได้หมายถึงแค่การสู้รบครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความขัดแย้งสากล ระหว่างความดีกับความชั่ว: ชีวิตคือการต่อสู้อย่างยืดเยื้อระหว่างจิตวิญญาณกับวัตถุ — วิญญาณกับร่างกาย — ชีวิตกับความตาย — ความรู้กับความโง่หลง — สุขอนามัยกับโรคภัย — ความไม่เปลี่ยนแปลงกับการเปลี่ยนแปลง — การควบคุมตนกับการปล่อยตนตามกิเลส — ปัญญาแยกแยะกับจิตที่มืดบอดอยู่กับผัสสอินทรีย์
1
วยาสะ จึงใช้กริยาอดีตกาลในโศลกแรกเพื่อชี้ให้เห็นถึงพลังอำนาจของการคิดใคร่ครวญ ที่สามารถปลุกให้เกิดการคิดทบทวนความขัดแย้งในจิตใจของเราในแต่ละวัน เพื่อจะสามารถกำหนดผลให้เป็นไปในทางที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ★
★สัญลักษณ์นี้อธิบายว่า ทั้งๆที่สัญชัยได้พลังอำนาจที่จะรับรู้และอธิบายเหตุการณ์ทั้งหลายในขณะที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แต่ทำไมเขาจึงไม่ได้เล่าให้ท้าวธฤตราษฎร์ฟังถึงบทสนทนาในคีตา ซึ่งมีมาก่อนที่การสู้รบจะเกิด เขารอมาจนถึงสิบวันหลังจากการต่อสู้ได้เริ่มขึ้น
{หมายเหตุผู้จัดพิมพ์}
🔹อรรถาธิบายเพิ่มเติม: การยุทธ์แห่งชีวิต🔹
นับแต่นาทีแรกที่ปฏิสนธิไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย มนุษย์เราที่เกิดมาในแต่ละชาติต้องต่อสู้ในการยุทธ์เหลือจะคณานับ ทั้งในด้านชีววิทยา พันธุกรรม จุลินทรีย์วิทยา สรีรศาสตร์ อากาศวิทยา สังคม จริยธรรม การเมืองการปกครอง สังคมวิทยา จิตวิทยา อภิปรัชญา — ความขัดแย้งอย่างมากหลายทั้งภายในและภายนอก ที่ห้ำหั่นกันในทุกการศึกคืออำนาจฝ่ายดีกับฝ่ายชั่ว
ความมุ่งหมายของคีตาคือการนำความพยายามของมนุษย์ไปอยู่ฝ่ายธรรมะ หรือความถูกต้อง ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การหยั่งรู้ตน การตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ อาตมันหรือวิญญาณ ที่ถูกสร้างตามฉายาลักษณ์แห่งพระเจ้า วิญญาณซึ่ง ดำรงนิรันดร์ มีจิตรู้นิรันดร์ และความเกษมสุขใหม่นิรันดร์
การต่อสู้แรกสุดของวิญญาณในแต่ละชาติที่เกิดมาคือ การต้องแข่งขันกับวิญญาณอื่นๆที่แสวงสู่การเกิดเหมือนกัน การรวมกันระหว่างสเปิร์มกับไข่ได้ก่อให้เกิดร่างกายของมนุษย์คนใหม่ขึ้นมา ประกายแสงปรากฏในโลกทิพย์ ซึ่งเป็นบ้านบนสวรรค์ของวิญญาณในระหว่างรอการจุติมาเกิดใหม่ แสงนั้นจะถ่ายทอดแบบแผนที่จะดึงดูดวิญญาณตามกรรม (อิทธิพลจากการกระทำในอดีตชาติที่จะส่งผลต่อการสร้างสรรค์ชีวิตของวิญญาณนั้น)
ในแต่ละชาติ กรรมจะทำหน้าที่ส่วนหนึ่งโดยผ่านพลังพันธุกรรม วิญญาณของเด็กจะถูกดูดถึงเข้าสู่ครอบครัวที่พันธุกรรมสอดคล้องกับกรรมในอดีตของเด็กคนนั้น วิญญาณหลายๆวิญญาณแข่งขันกันที่จะเข้ามาสู่เซลล์ชีวิตใหม่นี้ แต่มีเพียงวิญญาณเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้ชนะ (ในกรณีที่มีการปฏิสนธิมากกว่าหนึ่ง เซลล์ต้นกำเนิดจะมีมากกว่าหนึ่ง)
เมื่ออยู่ในครรภ์มารดา ทารกที่ยังไม่เกิดต้องต่อสู้กับโรคภัย ความมืด กับความรู้สึกอึดอัดหงุดหงิดเป็นบางครั้ง เมื่อจิตวิญญาณของทารกนั้นระลึกได้ และค่อยๆลืมอิสรภาพที่แสดงออกได้อย่างยิ่งในช่วงที่สถิตอยู่ ณ แดนทิพย์ วิญญาณในเอ็มบริโอ (ตัวอ่อน) ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อกายกำเนิดให้เป็นไปในทางดีหรือร้าย
นอกจากนี้ทารกยังต้องผจญกับพลังสั่นสะเทือน จากภายนอก นั่นคือสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของมารดา เสียงและสัมผัสจากภายนอก พลังสั่นสะเทือนของความรักและความเกลียด สันติสุขและความเกรี้ยวโกรธ
1
เมื่อทารกคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว เขายังต้องต่อสู้กับสัญชาตญาณที่จะแสวงหาความสะดวกสบายและการต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้ ขณะที่อวัยวะในร่างกายยังอ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เด็กจะเริ่มต่อสู้ทางจิตวิญญาณ 'ครั้งแรก' เมื่อเขาต้องเลือกระหว่างความอยากเล่นไปเรื่อยๆอย่างไร้เป้าหมายกับ — ความอยากเรียนรู้ อยากศึกษา อยากได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบ จากนั้นการต่อสู้ที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นก็จะค่อยๆตามมา นั่นคือ การต่อสู้กับสัญชาตญาณกรรมที่ติดตัวมา หรือ ต่อสู้กับเพื่อนเลวๆ สภาพแวดล้อมเลวๆ จากภายนอก
และทันทีที่เข้าสู่วัยรุ่น เด็กต้องผจญกับปัญหานานา ซึ่งบ่อยครั้งที่เขาไม่ได้เตรียมตัวจะพบกับสิ่งเหล่านี้ เช่น ความเย้ายวนทางเพศ ความโลภ การ พูดกลับกลอก การหาเงินได้ง่ายๆโดยวิธีที่น่าสงสัย แรงกดดันจากเพื่อนในกลุ่มและอิทธิพลจากสังคม เด็กมักจะค้นพบว่าเขาขาดศัสตราแห่งปัญญาที่จะต่อสู้กับกองทัพประสบการณ์ทางโลกที่บุกรุกเข้ามา
ผู้ใหญ่ที่มีชีวิตโดยไม่ปลูกฝังสั่งสม ไม่รู้จักใช้พลังปัญญาและการแยกแยะทางจิตวิญญาณที่มีอยู่ในตัว จะพบว่าอาณาจักรกายและจิตของตนถูกห้ำหั่นอย่างไร้ความเมตตา จากความอยากในสิ่งผิดๆ จากนิสัยที่คอยทำลายตน จากความล้มเหลว ความโง่หลง โรคภัย และ การขาดความสุข
น้อยคนนักที่จะรู้ถึงภาวการณ์การต่อสู้ในอาณาจักรของเขาซึ่งเป็นไปอยู่ตลอดเวลา มนุษย์ส่วนมากจะตระหนักถึงหายนะน่าเศร้าของชีวิต ก็ต่อเมื่อหายนะนั้นแทบจะกลืนกินชีวิตเขาไปหมดแล้ว การต่อสู้ในเชิงจิตวิทยาเพื่อสุขภาพ เพื่อความมั่งคั่ง การควบคุมตนและปัญญาจะต้องเริ่มปฏิบัติการใหม่ทุกวัน เพื่อมนุษย์จะได้ก้าวไปสู่ชัยชนะ ค่อยๆยึดคืนอาณาจักรแห่งวิญญาณที่ถูกความโง่หลงช่วงชิงไป
โยคี มนุษย์ผู้รู้ตื่น ต้องผจญไม่แต่ศึกภายนอกที่มนุษย์ทุกคนต้องฝ่าฟันเท่านั้น ท่านยังต้องฟาดฟันกับศึกภายใน ระหว่างความฟุ้งซ่านด้วยพลังด้านลบ (เกิดจากมนัส หรือมนินทรีย์) กับพลังด้านบวกของความปรารถนาและความพยายามที่จะปฏิบัติสมาธิภาวนา (ซึ่งมีพุทธิปัญญาเป็นเครื่องส่งเสริม) เมื่อท่านพยายามจะกลับไปตั้งมั่นอยู่ ณ อาณาจักรแห่งจิตวิญญาณภายใน: ศูนย์ชีวิตที่ซับซ้อนและทิพยจิตในไขสันหลังและสมอง★
★“และเขาจะไม่พูดกันว่า มาดูนี่ หรือ ไปดูโน่น! เพราะนี่แน่ะ แผ่นดินของพระเจ้านั้นอยู่ท่ามกลาง พวกท่าน” (ลูกา 17:21)
▪️ใคร่ครวญทุกค่ำคืนเป็นสิ่งจำเป็น▪️
คีตาจึงได้ชี้ให้เห็นตั้งแต่โศลกแรก ถึงความจำเป็นสูงสุดที่มนุษย์ต้องใคร่ครวญทุกค่ำคืน เพื่อเขาจะได้เห็นอย่างชัดเจนว่าพลังฝ่ายไหน — ฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว★ เป็นฝ่ายชนะสงครามในแต่ละวัน การจะมีชีวิตอย่างกลมกลืนไปกับแผนการของพระเจ้า มนุษย์ต้องถามตัวเองทุกคืนว่า “เมื่อการมารวมกันอยู่บนเส้นทางแห่งกายอันศักดิ์สิทธิ์ สนามแห่งการทำดีทำชั่ว — จริตฝ่ายตรงข้ามกับฉันได้ทำอะไรบ้าง ในการต่อสู้อันไม่สิ้นสุดนี้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายชนะ แนวโน้มฝ่ายชั่วที่เย้ายวน ขี้โกง กับพลังตรงข้าม คือฝ่ายควบคุมตน และการรู้จักแยกแยะ — บอกฉันมาเดี๋ยวนี้ ว่าพวกเขาทำอะไรกัน”
★ “ดี” คือสิ่งที่แสดงถึงคุณธรรม ความจริง และชักนำจิตสู่พระเจ้า ส่วน “ชั่ว” คือความโง่หลง ความลวง ซึ่งผลักจิตไปจากพระเจ้า
หลังการปฏิบัติสมาธิภาวนาแต่ละครั้ง โยคีจะถามพลังการใคร่ครวญของท่านว่า “เมื่อมาประชุมกันในอาณาแห่งจิตที่แกนสมองร่วมไขสันหลังและ บนสนามอินทรีย์แห่งกายอย่างกระหายสงคราม มนินทรีย์ที่พยายามดึงจิตสู่ภายนอกกับทายาทของพุทธิจิตที่อ้างสิทธิ์เรียกคืนอาณาจักรภายใน — พวกเขาได้ทำอะไรกัน วันนี้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายชนะ”
คนทั่ว ๆ ไป ก็เช่นเดียวกับนักรบท่ามกลางวงล้อม ที่มักจะคุ้นเคยกับการรบ แต่บ่อยๆที่การฝึกที่แค่ทำอย่างตามบุญตามกรรมทำให้เขาขาดความเข้าใจในเรื่องสนามรบและศาสตร์การโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งความรู้ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เขามีชัยชนะมากขึ้น และลดการพ่ายแพ้ที่น่าประหวั่นใจลงได้
1
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสาเหตุการรบที่ทุ่งกุรุเกษตรนั้น โอรสของปาณฑุราชา ครองอาณาจักรโดยธรรมมาจนเมื่อทุรโยธน์ โอรสของธฤตราษฎร์จักษุบอด ซึ่งครองอาณาจักรในนามของบิดา ได้ใช้แผนชั่วยึดอาณาจักรจากพี่น้องปาณฑพ และขับพี่น้องทั้งห้าออกจากเมือง
ในแง่สัญลักษณ์นั้น อาณาจักรแห่งกายและจิตเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของวิญญาณราชา และข้าราชบริพารฝ่ายธรรมะ แต่อหังการราชา★ กับปวงญาติชั่วช้า ได้ใช้เล่ห์กลยึดบัลลังก์ไปจากฝ่ายธรรม เมื่อวิญญาณราชาลุกขึ้นอ้างสิทธิเหนือแผ่นดินของท่าน กายกับจิตจึงกลายเป็นสนามรบ★★
1
★อรรถาธิบายโศลกนี้ ที่อุปมาด้วยคำ วิญญาณราชา กับ อหังการราชา ในที่นี้มีนัยความหมายใน เชิงกว้าง ไม่ได้หมายถึงการเปรียบเทียบในคีตา ที่อุปมากฤษณะเป็นวิญญาณ และภีษมะเป็นอหังการ
★★ดูที่บทนำ
“วิธีที่วิญญาณราชาปกครองอาณาจักรกายของท่าน” — “การที่ท่านสูญเสียอาณาจักรและได้อาณาจักรกลับคืน” คือ #หัวใจของคีตา
(มีต่อ)
3 บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ภควัทคีตา เล่ม 1 บทที่ 1
3
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย