1 ก.พ. 2021 เวลา 06:08 • กีฬา
รู้หรือไม่ : Cross country running ต่างกับ Trail running อย่างไร?
กระแสการวิ่ง Trail ในบ้านเรากำลังมาแรงและเป็นที่นิยมกันมาก มีสนามใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายในแต่ละปี จนถึงขั้นที่ทางรัฐบาลยังให้ความสนใจและให้ความสำคัญ อยากให้มีการจัดแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีบ้างที่บางสนามเองพอลงไปวิ่งแล้วก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่ บ้างก็บอกว่ามันเป็นแค่สนาม Cross country มันไม่ใช่ Trail ... แล้วสนาม Cross country มันคือสนามแบบไหนกัน ?
การแข่งขันวิ่งแบบ Cross Country หากว่ากันตามนิยามของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ คือ “การแข่งขันวิ่งข้ามทุ่ง การแข่งขันที่วิ่งไปตามภูมิประเทศที่กำหนด อาจเป็นเนินเขา ทางลาดเอียง ทุ่งหญ้า เป็นต้น” ซึ่งคำนิยามนี้อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก ทำให้นักวิ่งหลายๆ คน อาจจะสับสนและเข้าใจผิดกันได้ อีกทั้งไม่มีการจัดการแช่งขันอย่างเป็นทางการในบ้านเรา แตกต่างกันกับในต่างประเทศที่เป็นที่นิยมถึงขั้นมีการจัดการแข่งขันชิงแชมป์โลกคล้ายๆ กับการชิงแชมป์ฟุตบอลโลกกันเลยทีเดียว และเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นจะขอทำการแยกออกเป็นหัวข้อย่อย เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นละกัน
ระยะทาง
การวิ่งเทรลนั้นส่วนใหญ่มักจะวิ่งกันไกลๆ ถึงไกลมาก โดยมีตั้งแต่ 5 กิโลเมตรไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตรก็มี อาจจะเป็นแบบปล่อยตัวและเข้าเส้นชัยในจุดเดียวกัน หรือจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งก็ได้ แต่สำหรับการแข่งครอสคันทรี่ที่แข่งขันกันในระดับสากลนั้นมักจะแข่งในระยะไม่ไกลนัก จะใช้ระยะทางสั้นๆ (short race) โดยรอบหนึ่งจะมีระยะอยู่ที่ประมาณ 1.5 – 2 กิโลเมตร และใช้การวิ่งวนหลายๆ แทน โดยมีระยะรวมอยู่ที่ไม่เกิน 8 – 12 กิโลเมตร แต่ก็มีบ้างที่จัดแข่งขันแบบระยะทางไกล (long race) ในบางสนาม ยกตัวอย่างเช่น สนาม Lidingöloppet Cross Country ที่ประเทศสวีเดน ซึ่งถ้าหากเป็นการแข่งขันแบบระยะทางสั้นๆ (short race) ก็จะทำการวัดระยะแบบเดียวกันกับการแข่งวิ่งมาราธอนแบบถนน (road race) ด้วยเช่นกัน โดยจะยึดเอาจากเส้นทางที่สั้นที่สุดของสนามนั้นๆ เป็นเกณฑ์
ลักษณะเส้นทาง
การวิ่งเทรลมักจะวิ่งเข้าป่าขึ้นเขา ข้ามเขากันเป็นลูกๆ เส้นทางมักมีความหลากหลาย ท้าทาย อาจเป็นทางแบบ single track อาจเป็นถนนหรือเส้นทางธรรมชาติก็ได้ แต่สำหรับการวิ่งครอสคันทรี่นั้นมักจะวิ่งกันในทุ่งกว้าง ที่เป็นพิ้นที่เปิดโล่งหรือไม่ก็ในป่าไม้ (ไม่ใหญ่ยืนต้น) มีเนินบ้างเล็กน้อย แต่ต้องมีความชันไม่มากนัก เพื่อให้นักกีฬายังสามารถวิ่งทำเวลากันได้อยู่
ลักษณะพื้นผิวของเส้นทาง
การวิ่งเทรลมักจะวิ่งเข้าไปในเส้นทางเดินป่า เส้นทางชมธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งเส้นทางปีนเขา ซึ่งทางส่วนใหญ่มักไม่ใช่เส้นทางถนนหลักที่ใช้สัญจร และมีพื้นผิวเป็นพื้นซีเมนต์ หรือลาดยาง แต่ก็มีบ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็พอจะอนุโลมให้วิ่งบนเส้นทางเหล่านั้นได้บ้างตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ ซึ่งจะแตกต่างจากการวิ่งแบบครอสคันทรี่ที่จะจัดให้วิ่งเฉพาะบนหญ้าหรือบนดินเท่านั้น อาจจะเป็นการวิ่งลุยน้ำลุยโคลน วิ่งข้ามขอนไม้ก็ได้ แต่พื้นผิวต้องไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่นักกีฬาในขณะแข่งขันได้ ไม่แนะนำให้วิ่งบนพื้นแข็งๆ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นลาดยาง หรือพื้นใดๆ ที่ไม่ใช่พื้นผิวตามธรรมชาติ หากต้องวิ่งผ่านก็ต้องหาดิน ทราย เสื่อ(พรม) หรือหญ้า มาวางทับไว้ด้วย อาจมีการกำหนดเงื่อนไขของเส้นทางไว้ เช่น ความยาวของเส้นทางที่ใช้ในการปล่อยตัวและการเข้าเส้นชัย ความกว้างของเส้นทาง การวางแนวเส้นทาง ทางเลี้ยว สัญลักษณ์และการมาร์คจุดต่างๆ
ลักษณะอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแข่งขัน
สำหรับการวิ่งเทรลนั้น พวกอุปกรณ์และเสบียงนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะในระยะทางที่ไกลมากๆ ที่ต้องดูแลตัวเองในระหว่างทางด้วย ทำให้ต้องพกทั้งขวดน้ำหรือถุงน้ำ พกอาหาร หรือแม้กระทั่งไฟส่องสว่าง ทำให้ต้องพกเป้ในขณะวิ่งด้วย แตกต่างกันกับการวิ่งแบบครอสคันทรี่ที่ระยะทางมักจะสั้นกว่า ยิ่งเป็นการแข่งแบบระยะทางสั้น (short race) แล้วนั้น จะมีจุดบริการน้ำดื่มในทุกๆ รอบที่วิ่งผ่านคล้ายๆ กันกับการวิ่งมาราธอนแบบถนน ทำให้ไม่ต้องแบกน้ำหนักในขณะทำการแข่งขัน รองเท้าเองก็เช่นกัน สำหรับรองเท้าของครอสคันทรี่นั้นก็แตกต่างจากรองเท้าวิ่งเทรล เพราะอาจต้องใช้รองเท้าแบบตะปูด้วย เหตุเพราะต้องลงวิ่งบนพื้นหญ้า หากใช้รองเท้าวิ่งทั่วไปอาจจะทำให้ลื่นล้มก็เป็นได้ ฉนั้นหากลงแข่งขันไม่ว่าจะเป็นแบบครอสคันทรี่หรือวิ่งเทรลก็ขอให้ศึกษาเส้นทางเอาไว้ด้วย เพื่อที่จะได้จัดเตรียมรองเท้าให้เหมาะสมกับสภาพของเส้นทางนั้นๆ
ประเภทของการแข่งขัน
สำหรับการแข่งขันวิ่งเทรลมักจะแข่งขันกันแบบรายบุคคล น้อยครั้งที่จะมีการแข่งกันแบบทีมหรือวิ่งผลัด ซึ่งแตกต่างกันกับการแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ที่มักจะมีการจัดการแข่งขันหลากหลายประเภท ทั้งแบบรายบุคคล แบบทีม แบบเยาวชน และแบบวิ่งผลัด โดยแต่ละประเภทก็จะกำหนดระยะทางไว้อย่างชัดเจนแตกต่างจากการวิ่งเทรลที่บางสนามสามารถเลือกระยะทางในการแข่งขันได้ และการวิ่งครอสคันทรี่นั้นยังมีการแข่งขันกันในระดับนานาชาติและการแข่งขันชิงแชมป์โลก โดยจะทำการส่งนักกีฬาลงแข่งขันกันในนามทีมชาติอีกด้วย ซึ่งเหล่านักวิ่งชั้นแนวหน้าของโลกก็มักจะเคยผ่านการลงแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ในนามทีมชาติมาแล้วแทบทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น Eliud Kipchoge ในนามทีมชาติเคนยา, Kenenisa Bekele ในนามทีมชาติเอธิโอเปีย เป็นต้น
สำหรับการแข่งขันวิ่งแบบครอสคันทรี่ชิงแชมป์โลกนั้นจะทำการจัดการแข่งขันกันทุก ๆ 2 ปี มีทีมชาติลงชิงชัยกันมากกว่า 50 ประเทศ มีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันไม่ต่ำกว่า 500 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยบรรจุลงในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เมื่อปี 1912, ปี 1916 และ ปี 1924 ด้วยเช่นกัน ก่อนจะถูกถอดออกด้วยเหตุผลที่ว่าสภาพอากาศขณะแข่งขันร้อนเกินไป ไม่เหมาะกับกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน แต่หลังจากที่ถูกถอดไปเกือบร้อยปี ทาง World Athletics ก็ได้ผลักดันให้การแข่งขันวิ่งแบบครอสคันทรี่กลับเข้าไปอยู่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนได้อีกครั้ง โดยจะทำการจัดแข่งขันกันที่ ปารีส ปี 2024 เท่ากับว่าครบ 100 ปีพอดีที่ห่างหายไปจากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน อีกทั้งยังเป็นประเทศสุดท้ายที่เคยจัดการแข่งขันอีกด้วย (Paris 1924) โดยครั้งนี้จะจัดให้มีความท้าทายของเส้นทางในระดับ extreme มีความสนุกตื่นเต้นท้าทายมากขึ้น
แต่แล้วก็เป็นที่น่าเสียดายที่ทาง คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (อังกฤษ: International Olympic Committee: IOC) ได้ออกมาประกาศแล้วว่า จะไม่นำการวิ่งครอสคันทรี่กลับเข้ามาในโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปารีส 2024 ที่จะถึงนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ายังจะไม่เพิ่มจำนวนของชนิดกีฬาและจำนวนนักกีฬาให้มากขึ้นกว่าเดิมจากโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียว 2020 อีกทั้งยังถอดกีฬาเดินทน ระยะ 50 กิโลเมตรออกไปอีกด้วย ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วการวิ่งครอสคันทรี่จะได้กลับเข้าสู่กีฬาโอลิมปิกอีกครั้งหรือไม่
Tip : ตัวย่อของสนามครอสคันทรี่ มักจะใช้ตัวย่อว่า XC
หวังว่าเพื่อนๆ นักวิ่งและนักอ่านทุกท่านจะได้เข้าใจเกี่ยวกับการวิ่งในรูปแบบ cross country กันมากขึ้น และเพื่อไม่ให้พลาดการติดตามข่าวสารข้อมูลในวงการวิ่งทั้งในไทยและต่างประเทศ ติดตามข้อมูลดีๆ ได้ที่เพจ MICE Channel ที่นี่ที่เดียว
ที่มา: aat, worldathletics, olympic.org/paris-2024
โฆษณา