2 ก.พ. 2021 เวลา 13:08 • ธุรกิจ
สร้างอิสรภาพทางการเงินในแบบ "โรเบิร์ต คิโยซากิ"
โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert T. Kiyosaki) เกิดเมื่อปี ค.ศ.1947 ในสหรัฐอเมริกา บทบาทของเขานั้นเป็นทั้งนักธุรกิจ, นักลงทุน, นักเขียน และวิทยากร ผู้อ่านท่านใดที่คลุกคลีติดตามข่าวสารอยู่ในแวดวงการเงิน การลงทุน ก็คงจะคุ้นเคยชื่อเสียงเรียงนามของ คิโยซากิ เป็นอย่างดี เพราะเขาคือผู้เขียนหนังสือชุด "พ่อรวยสอนลูก" (Rich Dad, Poor Dad) และ "เงินสี่ด้าน" (Cashflow Quadrant) อันโด่งดังนั่นเอง!! อีกทั้งเขายังเป็นผู้คิดค้น "บอร์ดเกมส์กระแสเงินสด" (Cash flow board) เครื่องมือที่ช่วยสร้างประสบการณ์คุณในเรื่องการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลผ่านเกมส์กระดานที่โด่งดังไม่แพ้หนังสือของเขาเลย
โรเบิร์ต คิโยซากิ และภรรยาของเขาเป็นแบบฉบับของบุคคลที่ให้ความสำคัญกับความพยายามในการ 'รวยเร็ว เกษียณเร็ว' (นี่ก็เป็นชื่อหนังสือฉบับแปลไทยอีกเล่มหนึ่งของเขานั่นแหล่ะ) เขาคิดเห็นว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของมนุษย์นั้นสั้นเหลือเกิน ยังมีอะไรที่อยากทำอีกตั้งมากมาย เพราะฉะนั้นแล้วคิโยซากิจึงคิดว่าสิ่งที่วัยรุ่นหรือมนุษย์เงินเดือนควรจะให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงชีวิตที่ยังน้อยของพวกเขาก็คือ "ความพยายามในการสร้างอิสรภาพทางการเงิน" เพื่อลดข้อจำกัดในชีวิต โดยมีข้อแม้ว่าอิสรภาพที่ได้รับนั้นต้องมั่นคงและรวดเร็ว ในความหมายนี้ก็คือเขากำลังพยายามบอกคุณว่า คุณควรจะทุ่มเทเวลาที่นอกเหนือจากงานประจำของคุณซึ่งในนิยามของคิโยซากิคือ 'การทำงานเพื่อให้คนอื่นรวย' และใช้เวลานอกเหนือจากงานซึ่งมันจำเป็นต่อรายได้ของคุณในวันนี้มาเพื่อศึกษาหาความรู้ทางการเงิน และเริ่มต้นทดลองทำบางสิ่งเพื่อ 'ให้ตัวเองรวย' บ้างในอนาคตข้างหน้า
แล้วการสร้างอิสรภาพทางการเงินอย่างมั่นคงและรวดเร็วในแบบ 'โรเบิร์ต คิโยซากิ' นั้นเป็นอย่างไร เราจะเริ่มต้นอย่างไรล่ะ มันมีมุมมอง วิธีการ ขั้นตอนอย่างไร ใบบทความนี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์สรุปและเรียบเรียงให้สั้นกระชับมาฝากคุณผู้อ่านแล้ว เรามาเริ่มต้นค่อยๆเรียนรู้ไปพร้อมๆกันครับ
เริ่มต้นด้วยการพัฒนาความรู้ทางการเงิน
1
1. ความรู้ด้านบัญชี / คุณควรเข้าใจวิธีการอ่านงบการเงินเบื้องต้น เข้าใจตัวเลขทางบัญชี เพื่อทราบถึงจุดแข็งหรือจุดอ่อนต่างๆทางธุรกิจ คุณต้องสามารถแยกแยะระหว่างข้อคิดเห็นกับข้อเท็จจริงทางการเงินให้ได้
2. ความรู้ด้านการลงทุน / คุณควรศึกษากลยุทธ์ รูปแบบ และวิธีการ "ใช้เงินทำงาน"
3. เข้าใจตลาดผู้บริโภค / คุณควรเข้าใจหลักของอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) ตัวขับเคลื่อนความต้องการของผู้บริโภค ผลกระทบต่างๆต่อกลุ่มลูกค้า มุมมองด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการลงทุน เพื่อให้คุณสามารถวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการลงทุนตามสภาวะต่างๆ
4. ความรู้ด้านกฏหมายและภาษี / ทำทุกอย่างให้ถูกกติกาเพื่อผลประโยชน์ของคุณเองและความคุ้มครองทางกฏหมาย
1
cr. SE-ED
ทำความเข้าใจคำนิยามของ "ทรัพย์สิน" และ "หนี้สิน" ให้ถ่องแท้
ทรัพย์สิน = "สร้างรายรับ" สิ่งที่สร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ "จงมุ่งมั่นซื้อทรัพย์สินให้งอกเงยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
หนี้สิน = "สร้างรายจ่าย" สิ่งที่ทำให้เงินไหลออกจากกระเป๋าของคุณ "จงหลีกเลี่ยง ลด และควบคุม"
จากคำนิยามข้างต้นนี้คุณจะสังเกตจากกรณีศึกษาหนึ่งได้ว่า "บ้านที่คุณกำลังผ่อนอยู่ทุกเดือน" ไม่ใช่ทรัพย์สินของคุณหรอกนะ!!! แต่เป็นทรัพย์สินของธนาคารต่างหากล่ะ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่าบ้านหลังนี้ทำให้เงินไหลออกจากกระเป๋าของคุณจากค่างวดผ่อนชำระในแต่ละเดือน ซึ่งมันเข้าข่ายเป็น "หนี้สิน"
1
ต่อให้คุณจะผ่อนชำระไปหมดสิ้นแล้ว บ้านถูกโอนมาเป็นชื่อของคุณอย่างเป็นทางการ คุณได้เป็นเจ้าของบ้านหลังนั้นอย่างถาวร ปลดหนี้สักทีนะครับ แต่!! มันก็ไม่ใช่ "ทรัพย์สิน" ในนิยามของคิโยซากิอยู่ดี เพราะบ้านหลังนั้นไม่ได้สร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอให้คุณเลย มีแต่รายจ่ายทั้งนั้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาด ปรับปรุงซ่อมแซมต่างๆ
2
cr. siamblockchain.com
จงมุ่งมั่นครอบครองทรัพย์สิน!!
(กรณีบ้านเช่าก็คงจะเข้านิยามทรัพย์สินของคิโยซากิ แต่คุณต้องตรวจสอบให้ดีว่ากระแสเงินสดในแต่ละเดือนต้องเป็นบวกนะครับ นั่นคือรายรับมากกว่ารายจ่าย)
เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับมนุษย์เงินเดือน จงรับผิดชอบงานประจำของคุณให้ดี จากนั้นให้คิดถึงการทำธุรกิจและการลงทุน แบ่งเวลามาสร้างทรัพย์สินให้กับตัวเอง ไม่ใช่หนี้สิน!! พยายามลดรายจ่ายและหนี้สิน
แล้วทรัพย์สินมีอะไรบ้างล่ะ? ก็เช่น ธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของ ซึ่งธุรกิจนั้นมีการวางโครงสร้างระบบที่ดี และเราไม่ต้องนั่งเฝ้ามันตลอดเวลา, พวกตราสารทางการเงิน เช่น หุ้น พันธบัตร, อสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้, หรือจะเป็นค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ, อะไรก็ตามที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเวลา สร้างรายได้ และมีตลาดรองรับ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ "ความฉลาดทางการเงิน" ยิ่งเรารู้มากเท่าไร โอกาสจะวิ่งเข้ามาหาเรา ความเสี่ยงต่างๆจะเป็นสิ่งที่เรารับมือได้ ตัดสินใจได้อย่างเฉียบคม แลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น
การทำธุรกิจหรือการลงทุนใดๆที่คิดแค่เพียงว่าปลอดภัยไว้ก่อนนั้นแทบจะไม่ให้ผลตอบแทนอะไรเลย จงหมั่นเพิ่มตัวเลขของช่องทรัพย์สินในงบการเงินส่วนตัวของคุณ!!!
"รายได้ทางบัญชี" มีอยู่เพียง 3 ประเภท คือ รายได้จากเงินเดือน รายได้จากพอร์ตการลงทุน และรายได้จากทรัพย์สิน
กุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งไปสู่หนทางแห่งการมีอิสรภาพทางการเงินนั้นมีเพียงประโยคเดียวคือ "ความสามารถในการเปลี่ยนรายได้จากการทำงาน ให้กลายเป็นรายได้จากทรัพย์สินและพอร์ตการลงทุนให้เร็วที่สุด" เคล็ดลับของผู้มั่งคั่งอีกด้านหนึ่งคือ "รายได้จากการทำงานนั้นเสียภาษีสูงกว่ารายได้จากทรัพย์สิน!!"
ข้อที่ 1. คุณจะมีอิสรภาพทางการเงินเมื่อ "กระแสเงินสดจากทรัพย์สินนั้นครอบคลุมมากกว่ารายจ่ายและหนี้สิน" จากนั้นคุณจะยังทำงานประจำอยู่ หรือจะไม่ทำก็ได้ ชีวิตคุณจะมีทางเลือกมากขึ้น
เมื่อคุณเดินทางมาถึงข้อนี้ก็ยินดีด้วยครับกับชีวิตที่มีอิสระเสรีอย่างที่ใครหลายคนใฝ่ฝันหามาตลอดชีวิต แต่!! คุณเพียงแค่มีอิสระ มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ซึ่งยังไม่รวยหรอกนะ หากคุณต้องการมากกว่านี้คงต้องวางเป้าหมายและเดินทางกันต่ออีกหน่อย
ข้อที่ 2. เป้าหมายต่อไปคือ การนำกระแสเงินสดส่วนเกิน (เงินส่วนที่เหลือจากรายจ่ายประจำ) กลับไปลงทุนต่อ ให้ทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ รายได้ของคุณจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (ด้วยพลังดอกเบี้ยทบต้น) ด้วยกระบวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
หากคุณเดินทางมาถึงข้อนี้ เราก็อนุญาตให้คุณเรียกตัวเองว่ารวยและมั่งคั่งได้แล้วล่ะ
ทั้ง 2 เป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ด้วยการมุ่งมั่นสร้าง "ทรัพย์สินที่เพิ่มรายได้" และ "กระบวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง" มีสิ่งที่อยากจะฝากอีกสักเล็กน้อยนั่นคือ เมื่อคุณมีรายได้เพิ่มขึ้นและอยากที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองด้วยการเพิ่มรายจ่ายและหนี้สิน (เช่นซื้อบ้านหลังใหม่ รถยนต์คันใหม่ กินหรูอยู่ดีเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น) สิ่งแรกที่คุณต้องทำไม่ใช่การคิดแค่เพียงอยากได้ แต่สิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับแรกคือการเร่งเพิ่มทรัพย์สินให้ไปเทียบเท่าหรือให้มากกว่ารายจ่ายใหม่นั้นๆ เพื่อรักษาระดับความมั่งคั่งเอาไว้ (จงอย่าเป็นดังวลีที่ว่าสามล้อถูกหวย)
สุดท้ายผู้เขียนขอฝากข้อคิดสำหรับ "นักลงทุนมือใหม่" ที่อยากประสบความสำเร็จในเส้นทางสายนี้ไว้ว่าสิ่งที่เราควรมีนอกจาก "เงินเหลือเพื่อลงทุน" ซึ่งทุกคนมีได้จากการสร้างรายได้และควบคุมรายจ่ายขั้นพื้นฐาน นั่นคือ
1. การศึกษา
2. ประสบการณ์
3. ความฝัน
4. ความทุ่มเท อุตสาหะ
5. ข้อมูลที่จำเป็น
แล้วพบกันใหม่ ขอให้นักลงทุนมือใหม่ ที่มีเป้าหมายไขว่คว้าหาอิสรภาพทางการเงินอย่างแท้จริง ประสบความสำเร็จสมหวังดั่งใจ และที่สำคัญอย่าลืม "มีความสุขในการลงทุน" นะครับ :)
อ้างอิง
หนังสือ "พ่อรวยสอนลูก" : พ่อรวยสอนเรื่องเงินในแบบที่พ่อจนไม่เคยสอน
ผู้แต่ง : โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ (Robert T. Kiyosaki)
ผู้แปล : จักรพงษ์ เมษพันธุ์ และ ธนพร ศิริอัตรกรกุล
โฆษณา