2 ก.พ. 2021 เวลา 06:19 • ประวัติศาสตร์
•เหรียญรัตนาภรณ์และพัดรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ ๙•
#เหรียญรัตนาภรณ์
ปฐมเหตุที่มาของการเขียนบทความเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากความสนใจเป็นพิเศษในตัวช่างศิลป์ชั้นครูอย่างคุณพระพรหมพิจิตร(อู๋ ลาภานนท์ ) ผู้ซึ่งสามารถออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมไทยโดยใช้คอนกรีต ได้อย่างวิจิตรสวยงามยิ่ง ท่านได้ออกแบบอาคารและวางผัง วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซุ้มประตูสวัสดิโสภา ประตูดุสิตศาสดา พระบรมมหาราชวัง และสิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆอีกมาก ซึ่งผมปรารถนาที่จะใช้คำว่า มีกลิ่นอายmodernism แทรกซึมอยู่ในงานสถาปัตยกรรมและงานศิลปะออกแบบของท่าน ด้วยท่านได้"ปรุง" รูปทรง สัดส่วน ลักษณะ และจังหวะของชิ้นงานให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของวัสดุเฉพาะสมัยใหม่อย่างคอนกรีต
เหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ ๙ ชั้น ๔ทองคำ
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าท่านเป็นศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ฯ บรมครูช่างของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อได้ศึกษาประวัติของท่านจึงได้ทราบว่าท่านเองนั้นเป็นผู้ออกแบบดวงตราเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีความสำคัญมากเหรียญหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักกันในวงแคบทว่าทรงคุณค่าและความหมายสูงยิ่ง นั่นคือเหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่9
ท่านผู้ออกแบบ ศ. พระพรหมพิจิตร
ลักษณะของเหรียญรัตนาภรณ์นี้มีความวิจิตรงดงามในทางศิลปะมาก มีอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. อยู่ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี ๒๘แฉก และมี
'หูทำด้วยทองคำ'
สำหรับร้อยแพรแถบข้างบน
ตามพระราชบัญญัติ เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๕ กำหนดให้แพรแถบกว้าง ๒๓ มิลลิเมตร พื้นสีเหลือง มีริ้วขาว ๒ ข้าง สอดร้อยหูเหมือนกันทั้ง ๕ ชั้น สำหรับพระราชทานสตรี ผูกเป็นรูปแมลงปอ สำหรับพระราชทานบุรุษ ไม่ผูก ใช้กลัดอกเสื้อเบื้องซ้าย
เมื่อศึกษาที่มา จึงพอได้ทราบว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชวา เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิฯ โดยเสด็จด้วยได้ประชวรหนักอยู่เป็นเวลานาน พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราขการฝ่ายหน้าฝ่ายในได้ช่วยกันถวายการรักษาพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญรัตนาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ถวายการรักษาพยาบาลในครั้งนั้น
หูทองคำ และแพรแมลงปอ
อนึ่งเมื่อสืบค้นราชกิจจานุเบกษา เล่มที่๑ วันอาทิตย์ เดือน๘ แรม๑๒ค่ำ ปีจอ พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า๑๒๐ ก็ได้พบข้อความว่า
" เหรียนสำรับผู้มีวิชาช่างต่างๆ แลความชอบในพระองค์
อนึ่งทรงพระราชดำริห์ ให้สร้างดวงตราสำหรับพระราชทานผู้มีความชอบในพระองค์ แลทำการช่างต่างๆ ฝีมือดี อีก ๒ อย่าง ที่ ๑ ชื่อรัตนาภรณ์..."
ซึ่งในรัชกาลต่อๆมา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัตนาภรณ์ประจำรัชกาลขึ้นทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
อาจกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์นี้เป็นบำเหน็จความชอบในองค์พระมหากษัตริย์ ต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นเช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเปนที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยซึ่งพระราชทานเปนบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
ประกาศนียบัตรที่พระราชทานกำกับไว้ให้โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นก็แตกต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นทั้งในส่วนเนื้อหาข้อความในประกาศนียบัตรและตราสำคัญพระราชลัญจกร กล่าวคือ ประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ ระบุว่า
" ...ทรงพระราชดำริถึงความจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ...เพื่อให้ปรากฏเป็นเครื่องหมายพระมหากรุณาเฉพาะพระองค์ ...ให้ได้รับและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันนี้เป็นเครื่องเชิดชูปรากฏความที่ทรงพระมหากรุณาสืบไป..."
ประกาศนียบัตรนี้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยด้วยพระราชลัญจกรประจำพระองค์ทรงรีรูปพระมหาอุณาโลมประกอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศแทนที่จะเป็นพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินทรงกลมอย่างประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่นซึ่งประทับกำกับพระปรมาภิไธยเหนือข้อความระบุ
" ...สมควรจะรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์...ได้ ...เป็นเกียรติยศสืบไป..."
เหรียญรัตนาภรณ์ในแต่ละรัชกาลมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีลำดับเป็น ๕ ชั้น ชั้นที่๑ เป็นชั้นสูงสุด
สำหรับเหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลปัจจุบัน นั้น
ชั้นที่ ๑ อักษรพระปรมาภิไธยและขอบเรือนประดับเพชรทั้งดวง
ชั้นที่ ๒ อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ลงยาสีขาว ขอบเรือนประดับเพชร
ชั้นที่ ๓ อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ลงยาสีขาว ขอบสร่งทองคำ
ชั้นที่ ๔ อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ขอบสร่งเงิน
ชั้นที่ ๕ อักษรพระปรมาภิไธยเงิน ขอบสร่งเงิน
(สร่ง, ตัดสร่ง คือการแกะแรให้ผิวเป็นเหลี่ยมขึ้นเงาดูเหมือนฝังเพชร)
 
จากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๙ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เป็นต้นมานั้น พบว่านอกจากได้พระราชทานแก่ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมมารดา เจ้านายฝ่ายเหนือ บุคคลสำคัญ ขุนนาง ข้าราชการ ข้าราชบริพาร แพทย์ ครู ทหาร ตำรวจ นายช่างศิลป์ นายช่างชลประทาน นายช่างทางหลวง สถาปนิก ชนชาวเขา ศิลปิน คหบดี พราหมณ์ แล้ว ยังได้พระราชทานให้แก่ชาวต่างประเทศ เช่น เจ้าชายแห่งเดนมาร์ค เจ้าหญิงฉวีวรรณ แห่งประเทศลาว เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจชั้นสัญญาบัตรอินโดนีเซีย เจ้าหน้าที่ทหารชั้นสัญญาบัตรพม่า นายทหารออสเตรเลีย เอกอัครราชทูตอเมริกัน เคนเนธ ยัง ช่างออกแบบฉลองพระองค์ชาวฝรั่งเศส หัวหน้าพ่อครัวชาวอิตาเลี่ยนเป็นอาทิ
และนอกจากบุคคลแล้ว ยังพระราชทานให้แก่ หน่วยทหารรักษาพระองค์ต่างๆจำนวน ๑๐ หน่วย ซึ่งได้นำไปประดับธงไชยเฉลิมพลประจำกองพัน
จนในปี๒๕๒๔ ได้พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่๑ แก่เหล่าทหารที่นำความสงบสุขสู่แผ่นดิน คือ
๑. กองทัพเรือ
๒. กองทัพอากาศ
๓. กองทัพภาคที่ ๒
๔. กรมทหาราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
๕. กรมทหาราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์
๖. กองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
๗. กองพันทหารม้าที่ ๑๔
๘. กองพันที่ ๔ กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่๒
๙ ศูนย์สงครามพิเศษ
ข้อที่น่าสังเกตคือ บุคคลผู้ได้รับพระราชทานหากวายชนม์แล้วไม่ต้องส่งคืนดวงตรา ให้ทายาทเก็บรักษาไว้เปนที่ระลีกในวงศ์ตระกูลพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้แต่ดวงเหรียญร้อยสร้อยสวมคอได้ ดังปรากฏใน มาตรา๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นเอง
พระยาโชฎึกฯ มิ้น เลาหเศรษฐี คล้องดวงตรารัตนาภรณ์ ของบิดาผู้ล่วงลับกับสร้อยคอ
ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์นี้ จะเขียนอักษรย่อไว้ท้ายชื่อ ก็ให้เขียนว่า ภ.ป.ร. ตามด้วยชั้นตรา คือชั้นที่ ๑ เขียน ภ.ป.ร. ๑ ชั้นที่ ๕ เขียน ภ.ป.ร. ๕
ท่านผู้อ่านที่พบเห็นเหรียญรัตนาภรณ์นี้สมควรได้พิจารณาศึกษาโดยละเอียด ด้วยตั้งแต่ชั้นที่ ๔ ขึ้นไปนั้นสร้างขึ้นด้วยโลหะมีค่าได้แก่ทองคำเป็นหลัก ไม่ได้เป็นกะไหล่ทองอย่างเช่นดวงตราตระกูลอื่นและแม้กระทั่งจะเป็นขอบเรือนเงินก็เป็นด้วยเรือนเงินนั้นประดับเพชร นอกจากนี้ทุกชั้นตรายังมี"หู" เป็นทองคำอีกด้วย เป็นของที่มีราคาค่างวดไม่ธรรมดาเลย
บุรุษ และ สตรี
หากสังเกตว่าเหรียญรัตนาภรณ์นี้เคยได้พระราชทานแก่พระราชครูพราหมณ์ซึ่งรักษาเทวสถานโบสถ์พราหมณ์แล้วไซร้ แล้วพระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนานั้นเล่าจะเป็นประการใด ( ต่อตอน 2)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา