2 ก.พ. 2021 เวลา 07:40 • ประวัติศาสตร์
•พัดรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ ๙•
#เหรียญรัตนาภรณ์
ตามที่ได้เรียนแล้วว่าเหรียญรัตนาภรณ์นี้สร้างขึ้นด้วยโลหะและอัญมณีมีค่า ผู้เขียนคิดเอาด้วยสติปัญญาอันน้อยว่า คงไม่เหมาะสมด้วยสมณเพศ ในศีลสิกขาข้อ ชาตะรูปะ ระชะตะ ปฏิคคหณาฯ ด้วยเหตุสงสัยนี้ จึงได้สืบค้นข้อมูลต่อไป ได้รับความอนุเคราะห์จากท่าน ฐิตสังวโรภิกขุ เลขานุการเจ้าคณะภาค ๘ (ธรรมยุต) จึงได้ทราบว่า
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้าง "พัดรัตนาภรณ์" ขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระสงฆ์ที่ทรงเคารพคุ้นเคยโดยเฉพาะ ลักษณะเป็น พัดหน้านาง*
พัดรัตนาภรณ์ รัชกาลที่๙
พื้นเป็นผ้าต่วนสีน้ำเงิน ตรงกลางปักรูปดวงตรารัตนาภรณ์ที่ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตรออกแบบ (พระปรมาภิไธย ในขอบวงกลมซึ่งมีรัศมี๒๘แฉก ด้านบนมีสัญลักษณ์เลข๙เกี่ยวหูโค้งเสี้ยว) รอบนอกเป็นแถบเหลืองปักริ้วขาวขนาน ๒ ริ้ว ด้านบนปักดิ้นเงินลายเกียรติมุข ประดับเครื่องหมายมหาจักรีบรมราชวงศ์ นมพัดเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎในกลีบบัว
พัดนี้ท่านเลขานุการเจ้าคณะภาค๘ กรุณาอธิบายว่า เป็นพัดที่ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ได้รับพระราชทานเท่านั้น ผู้อื่นจะนำไปใช้ไม่ได้ ส่วนการนำไปใช้จะใช้ในงานราษฎร์ไม่ได้ และแม้จะเป็นงานหลวง ก็มีระเบียบกำหนดให้ใช้พัดนี้เฉพาะเวลาถวายอนุโมทนาในการพระราชพิธีฉัตรมงคลเพียงงานเดียวเท่านั้น
ในรัชกาลที่เพิ่งผ่านไปนี้พระมหาเถระผู้ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ มี ๕ รูปได้แก่
1. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
2. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ญาโณทยมหาเถร)
3. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (อุฏฺฐายีมหาเถร)
4. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถร)
5. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (สุวฑฺฒนมหาเถร) ปัจจุบันได้รับการสถาปนาพระอัฐิเปนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กรมหลวงฯ
เครดิต ASTV ถ่ายภาพ
รูปงานพระศพสมเด็จพระญาณสังวรฯ ด้านบนนี้จะเห็นพัดรัตนาภรณ์(ขวา) ตั้งเยื้องลงประกอบกับพัดแฉกงาพิเศษประดับพลอย พัดยศประจำตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต(ซ้าย) พัดยศประจำตำแหน่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก(กลาง)
นอกจากพระมหาเถระซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานพัดรัตนาภรณ์แล้ว ยังมีพระพุทธปฏิมาสำคัญอีกองค์หนึ่งที่ได้มีพระราชศรัทธาถวายพัดรัตนาภรณ์เป็นพุทธบูชา กล่าวคือ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ ณ วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ในพระราชพิธีสมโภชพระพุทธชินราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ถวายพัดรัตนาภรณ์บูชาพระพุทธชินราช ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าพัดนี้ปักเลขปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ ไว้ที่กลางพัดแตกต่างจากพัดรัตนาภรณ์อื่นที่พระราชทานสมเด็จพระสังฆราชเจ้าและสมเด็จพระสังฆราชดังได้กล่าวแล้วข้างต้น
เสด็จถวายพัดรัตนาภรณ์หน้าพระพุทธชินราช
ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตรได้ฝากผลงานศิลปกรรมชั้นเลิศไว้ในแผ่นดินนี้มากมายโดย"ทาง"สำคัญของท่านคือ การ"ปรุง"งานศิลปกรรมประเพณีแบบไทยดั้งเดิมให้มีกลิ่นอายที่ทันสมัยขึ้นด้วยวัสดุวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย มีความคงทนผ่านกาลเวลา เช่น การนำคอนกรีตมาใช้แทนไม้ ในตำแหน่งรวย ระกา หางหงส์ กระจังฐานพระ กรอบหน้านาง เพื่อไม่ให้กาลเวลากลืนกินผลงานบรมครูช่างไทยที่เคยฝากไว้บนวัสดุไม้ธรรมชาติให้สูญสลายไป
ท่านเป็นราชบัณฑิตสาขาจิตรกรรม สำนักศิลปกรทั้งวันเป็นคณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
บรรดาศักดิ์ที่ท่านได้รับพระราชทาน คือ
รองเสวกตรี ขุนบรรจงเลขา ต่อมารับพระราชทานเลื่อนเป็น รองเสวกโท หลวงสมิทธิเลขา สุดท้ายเป็นที่
รองอำมาตย์เอก พระพรหมพิจิตร ภายหลังท่านได้เปลี่ยนชื่อตัวเป็น "นายพรหม พรหมพิจิตร" ตามราชทินนามหลังจากที่ระบบบรรดาศักดิ์ถูกยกเลิกไป
* เปนพัดรูปคล้ายเค้าโครงหน้าสตรี ส่วนมากจะเป็นพัดรอง เป็นพัดเปรียญธรรมทุกชั้น พัดฐานานุกรมบางตำแหน่ง พัดประทวนสมณศักดิ์ หากมีตับคาดกลางเป็นพัดพิธีธรรม
นอกนี้มีรูปทรงอื่นๆของพัดยศอีก ได้แก่
-พัดพุดตาน เป็นพัดวงกลม ริมขอบหยัก ๑๖ แฉก คล้ายกลีบดอกพุดตานที่บาน เป็นพัดพระครูสัญญาบัตร พัดพระครูฐานานุกรมบางตำแหน่ง
-พัดเปลวเพลิง เป็นพัดยอดแหลม ใบเป็นแฉกพุ่งขึ้นบนคล้ายเปลวเพลิง เป็นพัดพระครูสัญญาบัตรที่เป็นเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก
-พัดพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นพัดลายข้าวบิณฑ์(ลายไทยเปนพุ่มช่วงล่าง เรียวขึ้นไปช่วงบน ขอบนอกหยักกลีบโดยรอย๕-๙ กลีบ) เป็นพัดพระราชาคณะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา