2 ก.พ. 2021 เวลา 09:01 • การเกษตร
"ลดการพึ่งพิงยาสูบ" ทางออกปัญหาบุหรี่ในประเทศไทย
ตอนที่ 1 : จากพระราชดำริในการแก้ปัญหา “ฝิ่น” สู่การเข้าใจปัญหา “ยาสูบ”
ด้วยพระราชดำริที่เปี่ยมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงทอดพระเนตรเล็งเห็นในปัญหาของการทำไร่ฝิ่นบนดอยสูงเป็นการทำลายป่าไม้และต้นน้ำลำธารให้เสื่อมโทรมลง รวมถึงเป็นการเพิ่มแหล่งในการเพาะปลูกฝิ่นและยาเสพติดให้มากขึ้น จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้ง “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ขึ้นเพื่อดำเนินการวิจัย พัฒนาและจัดหาพันธุ์พืชเมืองหนาวมาให้ชาวเขาได้เพาะปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น และเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ป่าไม้ต้นลำธารถูกทำลาย โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ในการดำเนินชีวิต
ที่มา : http://www.royalprojectthailand.com/ about
โครงการหลวงได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ให้ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้พยุงตัวให้มีความเจริญได้ และที่สำคัญช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด คือ การเลิกปลูกฝิ่น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผืนดินจากการปลูกไร่ฝิ่นก็คือ การปลูกพืชเมืองหนาวที่สามารถให้ผลผลิตและรายได้ได้เร็ว การตั้งโรงอาหารหลวงเพื่อแปรรูปหรือปรับปรุงผลผลิตเพื่อนำมาจัดจำหน่ายจนทำให้เกษตรกรชาวเขามีอาชีพและมีรายได้มากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ทำให้นโยบายการปราบปรามการสูบฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการยืนยันได้ถึงพระเมตตาและพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้เป็นอย่างดี
กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 โครงการควบคุมยาเสพติดของสหประชาชาติ (UNDCP) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติด โดยส่งเสริมให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น แต่ปลูกพืชอื่นแทน จึงกล่าวได้ว่าโครงการหลวงเป็นโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลก (http://www.royalprojectthailand.com/ about)
ฝิ่นและยาสูบมีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ในความเหมือน พืชทั้งสองชนิดเป็นสิ่งเสพติด เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นแหล่งรายได้ของเกษตรกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่วนในความแตกต่างนั้น ฝิ่นผิดกฎหมาย แม้ในอดีตเคยถูกกฎหมายและเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ ในขณะที่ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ผิดกฎหมาย และเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ ที่ผ่านมาการควบคุมฝิ่นประสบความสำเร็จด้วยการควบคุมทั้งอุปสงค์และอุปทาน แต่การควบคุมยาสูบ เน้นการควบคุมอุปสงค์ (คนสูบ) ยังขาดการควบคุมอุปทาน (ผู้ผลิตยาสูบ) ที่เข้มข้นมากพอ
ฝิ่นและยาสูบ
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกรมส่งเสริมการเกษตร ตุลาคม 2562 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยาสูบ ปีเพาะปลูก 2561/62 จำนวน 134,233 ไร่ ใน 31 จังหวัด ผลผลิตโดยรวม 33,058 ตัน โดย 5 จังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกมากที่สุด คือ เพชรบูรณ์ 43,798 ไร่ สุโขทัย 31,457 ไร่ ร้อยเอ็ด 16,323 ไร่ นครพนม 7,991 ไร่ และหนองคาย 7,529 ไร่ ตามลำดับ ราคาขายเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 63.90 บาท โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกในลำดับที่ 15 เพียง 516 ไร แต่ราคาขายเฉลี่ยต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 437.26 บาท
ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศ ในปี 2545 เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยของประเทศไทยทำให้ยาสูบไทยเป็นประเภทมีคุณภาพชั้นดี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูง แม้ว่าจะทำให้ได้รายได้สูง แต่เมื่อมองถึงผลที่เกิดขึ้นตามมานำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ เนื่องจากในยาสูบเต็มไปด้วยสารนิโคติน ทาร์ และสารเคมีอื่นๆที่หากร่างกายได้รับไปนานๆ จะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่นๆ ตามมามากมาย (บทความสุขภาพ : การสูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้อายุสั้นลง 7 นาที, 2560)
นอกจากนี้ ควันจากการสูบใบยาสูบยังเป็นสาเหตุของโรคภัยที่คอยทำร้ายคนรอบข้าง เนื่องจากควันบุหรี่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจของผู้สูดควันเข้าไปโดยตรง จึงอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และเสี่ยงต่อโรคหอบหืดได้ ทำลายสุขภาพทารกในครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์ หากได้รับควันบุหรี่ในปริมาณมากหรือเป็นประจำทุกวันจะทำให้เสี่ยงอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเด็กไม่สมบูรณ์ เด็กพิการตั้งแต่กำเนิด ภาวะแท้ง หรือการเสียชีวิตระหว่างคลอด
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยใช้มาตรการทางภาษีในการควบคุมยาสูบเป็นหลักควบคู่ไปกับการณรรงค์สร้างกระแสต้านบุหรี่ โดยหน่วยงานที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จากงานวิจัยเรื่องระบบทิศทางภาษีและราคายาสูบในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ปัญหาจากการกำหนดภาษีที่ไม่เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญที่กระทบต่อการเพิ่มหรือลดจำนวนผู้บริโภคยาสูบอย่างชัดเจน ซึ่งพบว่าในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ได้ใช้มาตรการภาษีเป็นมาตรการสำคัญในการลดปริมาณผู้บริโภคยาสูบลง ทำให้บางประเทศราคาบุหรี่สูงถึงซองละเกือบ 200-300 บาท (อิศรา ศานติศาสน์, 2557)
โลโก้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
สิ่งที่หน่วยงานรัฐ ยังต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.ต้องขึ้นภาษีทั้งยาสูบและยาเส้น 2.ยาสูบพันธุ์พื้นเมืองจะต้องนำยาสูบพันธุ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วนด้วย โดยต้องแก้มาตรการทางกฎหมายก่อน แต่ที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัด คือ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้เสียภาษี ไม่ใช่เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบพันธุ์พื้นเมือง และ 3.มาตรการทางภาษีต้องทำควบคู่กับการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องพิษของบุหรี่ซอง ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ซึ่งไทยดำเนินการแล้ว ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนชุมชนปลอดบุหรี่และช่วยให้ผู้สูบเลิกบุหรี่ให้ได้
ภาษียาสูบ
โครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ
โดย มูลนิธิสรา้งสุขมุสลิมไทย (สสม.)
โฆษณา