13 ก.พ. 2021 เวลา 03:35 • การเกษตร
"ลดการพึ่งพิงยาสูบ" ทางออกปัญหาบุหรี่ในประเทศไทย
ตอนที่ 2 : ปัญหาเชิงโครงสร้างของยาสูบที่ต้องแก้ไขให้ถูกทาง
ในระดับประเทศ ยาสูบมีส่วนแบ่งตลาดประมาณกึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริโภคยาสูบนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุที่ทำให้คนในพื้นที่นิยมบริโภคยาสูบเป็นเพราะว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลานั้น มีไร่ยาสูบกระจายในหลายชุมชน และมีโรงงานที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ใบจาก” ซึ่งเป็นยาสูบชนิดหนึ่งที่คนในพื้นที่นิยมเป็นพิเศษ ปัญหาการบริโภคยาสูบจึงมีโอกาสรุนแรงขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลูกยาสูบและผลิตใบยา เนื่องจากผู้บริโภคยาสูบเข้าถึงได้ง่าย และสามารถซื้อหายาสูบมวนเองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาในท้องตลาด
ใบจาก ยาเส้น
จากการสืบค้นงานวิจัย และรายงานต่าง ๆ ไม่พบว่ามีรายงานที่ระบุพื้นที่เพาะปลูกยาสูบใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจกลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงยาสูบใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย สุรชัย ไวยวรรณจิตร และคณะ (2559) พบว่า แม้ความเกี่ยวข้องกับยาสูบหลังการเก็บเกี่ยวจะแตกต่างกัน กว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับยาสูบในจังหวัดสงขลา ปลูกยาสูบเอง ตามด้วยประมาณร้อยละ 70 และ 65 ของครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับยาสูบในจังหวัดสตูล และปัตตานี ที่ปลูกยาสูบเอง
ข้อความด้านบน มาจากรายงานวิจัยที่ใช้ศัพท์วิขาการอาจเข้าใจยาก ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน กล่าวคือ ในครอบครัวที่มีความเกี่ยวข้องกับวงจรยาสูบ เช่น ปลูก ซื้อ แปรรูป ขาย ฯลฯ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครัวเรือน เฉพาะในพื้นที่งานวิจัยดังกล่าว พบว่า ในจังหวัดสงขลามีครัวเรือนที่อยู่ในวงจรยาสูบและเป็นผู้ปลูกยาสูบเองมากที่สุดถึงร้อยละ 80 รองลงมาเป็นจังหวัดสตูลที่ปลูกยาสูบเองร้อยละ 70 และจังหวัดปัตตานีปลูกยาสูบเองร้อยละ 65
ตารางแสดงรายละเอียดครัวเรือนที่พึ่งพิงยาสูบ (การพึ่งพิงอุตสาหกรรมยาสูบของมุสลิมและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้.รายงานการวิจัยแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
เมื่อพิจารณาจากพื้นที่เพาะปลูก การควบคุมหรือจำกัดการปลูกยาสูบในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลาเมื่อพิจารณาจากพื้นที่เพาะปลูก จึงน่าจะมุ่งไปที่สตูลและสงขลามากกว่าจังหวัดอื่น สตูลและสงขลามีพื้นที่เพาะปลูกยาสูบมากที่สุด และพื้นที่เพาะปลูกในสองจังหวัดนี้เพิ่มขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในจังหวัดปัตตานีก็ใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำการเพาะปลูกยาสูบ นอกจากเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือนแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อและแม่ สถานการณ์ในจังหวัดปัตตานีก็ใกล้เคียงกัน (สุรชัย ไววรรณจิตร และคณะ : 2559) การพึ่งพิงยาสูบในการสร้างรายได้ของประชากรและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าจะสร้างรายได้มากในระดับหนึ่ง แต่คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการลด ละ เลิก การพึ่งพิงยาสูบในวิถีชีวิตเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้น
โครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ในระยะเริ่มต้น ได้ให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมซึ่งเป็นปัจจัยที่ สสม. ได้พัฒนาไว้ อาทิ มัสยิดครบวงจร มัสยิดปลอดบุหรี่ และศิษย์เก่า สสม. เป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานได้อิงหลักคำสอนอิสลามที่เกี่ยวกับสุขภาวะ ลักษณะทางชาติพันธุ์ และผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการควบคุมการอุปทานยาสูบ
มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.)
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1) เพื่อ สร้างความเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากการปลูกใบยาสูบ 2) เพื่อพัฒนากระบวนการหรือรูปแบบในการลดการพึ่งพิงยาสูบ เพื่อใช้ในการขยายผลในระยะต่อไป การดำเนินงานมุ่งเน้นให้ผู้นำศาสนา และแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่ เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนควบคุมอุปทาน ลดพื้นที่การปลูกยาสูบ
มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกษตรจังหวัด โดยใช้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อสรรหากระบวนการหรือรูปแบบในการลดการพึ่งพิงยาสูบในพื้นที่นำร่อง จำนวน 10 ชุมชนในจังหวัดสตูล และสงขลา โดยอาศัยฐานข้อมูลมัสยิดครบวงจรของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) เป็นเกณฑ์หลักในการคัดเลือกพื้นที่
การคัดเลือกชุมชนใช้วิธีการคัดเลือกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่มีพื้นที่ปลูกใบยาสูบ และปลูกเพื่อบริโภคเอง 7 ชุมชน และมีครัวเรือนที่ปลูกเพื่อขายเป็นรายได้เสริมของครัวเรือน 3 ชุมชน ใช้กระบวนการเก็บข้อมูลโดยใช้การสำรวจ ประชุมกลุ่ม สัมภาษณ์ และการจัดเวทีประชาคม
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยกลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ครูโรงเรียนในพื้นที่ แม่บ้าน อสม. ผู้ปลูกใบยาสูบและชาวบ้าน ในการขับเคลื่อนรณรงค์ลดพื้นที่การปลูกใบยาสูบและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้จากอาชีพเศรษฐกิจทางเลือกยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ด้วยความรู้ ความสามารถ เพื่อให้เกิดการพออยู่พอกิน นำไปสู่การพัฒนาชุมชนสร้างเป็นชุมชนต้นแบบและขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
โฆษณา