20 ก.พ. 2021 เวลา 03:57 • ประวัติศาสตร์
Félix Houphouët-Boigny: ปาฎิหาริย์และความล่มสลายจากช็อคโกแลต ตอนที่ 1
เรื่องราวที่ Kang's Journal อยากจะเขียนถึงเป็นเรื่องราวของผู้นำแอฟริกันคนหนึ่งที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่คนไทย แต่สำหรับผู้คนในทวีปแอฟริกานั้น เขาถือเป็นคนที่มีความสำคัญอย่างมาก ด้วยความสามารถในการนำพาดินแดนที่ใครใครก็บอกว่าล้าหลัง ไร้ระเบียบ จนกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกในช่วงเวลาหนึ่ง นี่คือเรื่องราวของ Félix Houphouët-Boigny ผู้นำคนสำคัญของประเทศโกตดิวัวร์
ประเทศโกตดิวัวร์
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องราวของ Félix Houphouët-Boigny เรามารู้จักกับประเทศชื่อแปลก ๆ ประเทศนี้กันซักเล็กน้อย
https://www.worldatlas.com/maps/cote-d-ivoire
ประเทศโกตดิวัวร์ (Côte d'Ivoire) เป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตก บางคนอาจจะเคยได้ชื่อประเทศนี้ในนามว่า Ivory Coast ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ส่วนโกตดิวัวร์คือชื่ออย่างเป็นทางการ ประเทศโกตดิวัวร์มีพื้นที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ และมีชนเผ่ามากมายอาศัยอยู่ในประเทศนี้ที่มีขนาดพอพอกับประเทศมาเลเซีย
ฟังจากชื่อประเทศก็น่าจะพอเดาได้ว่าประเทศนี้เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสมาก่อน โดยโกดติวัวร์เป็นส่วนหนึ่งของดินแดน French West Africa ซึ่งประกอบไปด้วยอาณาจักรต่างๆ มากมายซึ่งปัจจุบันได้แยกตัวมาเป็นประเทศเบนิน มาลี เซเนกัล เป็นต้น โดยชื่อเก่าของโกตดิวัวร์ คือ Lower Volta หรือดินแดนใต้แม่น้ำโวลตา
ภาพของแผนที่ดินแดน French West Africa https://neverwasmag.com/2019/11/mapping-the-second-world-war-in-africa/french-west-africa-map-3/
สิ่งที่น่าสนใจของประเทศนี้คือ โกโก้ เพราะโกโก้ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ โดยในปี 2018-2019 โกตดิวัวร์เป็นประเทศที่ผลิตโกโก้ได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นจำนวน 2100 ตัน และถือเป็น 37.2% ของโกโก้ทั้งโลก ส่วนอันดับ 2 คือประเทศกานา ที่ผลิตได้แค่ 850 ตัน เรียกได้ว่าทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปที่เพื่อนๆ กินช็อคโกแลต มั่นใจได้เลยว่ามีสิทธิ์สูงมาก ที่จะมีส่วนประกอบของโกโก้จากประเทศเล็กๆ แห่งนี้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การเจริญเติบโตของประเทศนี้ มีส่วนหนึ่งมาจากความนิยมในการทานช็อคโกแลต และโกโก้นี่เองที่นำพาชีวิตของ Félix Houphouët-Boigny ให้ขึ้นถึงขุดสูงสุด และลงถึงจุดต่ำสุดเช่นกัน
ชีวิตวัยเด็ก
 
Félix Houphouët-Boigny เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1908 ในเมือง Yamoussaukro ซึ่งในตอนนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆใน Lower Volta เขาเกิดในครอบครัวของชนเผ่า Baoulé ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ของพื้นที่แถบนี้ และมีศักดิ์เป็นถึงหลานชายของราชินีของเผ่า และเป็นลูกชายของเจ้าของที่ดินผู้มีอันจะกิน
ชื่อแรกคือ Félix คือ Dia Houphouët ซึ่งตามภาษาท้องถิ่น คำว่า Dia แปลว่า “ผู้วิเศษ” เขามีพี่น้อง 4 คน ประกอบไปด้วยพี่สาว 2 คน และน้องชาย 1 คน ดังนั้นในฐานะพี่ชายคนโต เขาจึงต้องสืบทอดหน้าที่เจ้าของที่ดินเป็นคนต่อไปตามธรรมเนียม
ด้วยฐานะที่มั่งคั่งมากกว่าชาวพื้นเมืองทั่วไป Félix หรือ Dia ในตอนนั้น เลยมีโอกาสได้รับการศึกษาแบบตะวันตก โดยเขาได้เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่ École Primaire Supérieure ซึ่งเป็นโรงเรียนของมิชชันนารีฝรั่งเศส และที่นี่เองที่เค้าได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และได้รับการตั้งชื่อให้ว่า Félix
ภาพของ Félix ในปี 1925 (www.foundation-fhb.org)
ด้วยความเป็นคนมีความสามารถ และหัวดี Félix ได้รับเลือกให้เข้าศึกษาต่อที่ École William Ponty ในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่บ่มเพาะผู้นำชาวแอฟริกันมากมาย ที่ต่อมากลายมาเป็นผู้นำในการประกาศเอกราชให้กับประเทศต่างๆ รอบๆ โกตดิวัวร์
Félix กลายเป็นนักเรียนดีเด่นในเวลาไม่นาน และจบการศึกษาเป็นที่ 1 ของชั้น พร้อมได้ประกาศนียบัตรการเป็นครูมาไว้ในครอบครอง
ต่อมาในปี ค.ศ. 1921 เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนการแพทย์ École de médecine de l'AOF (French African School of Medicine) และจบเป็นที่ 1 ของรุ่นอีกเช่นเคย และได้รับตำแหน่ง Medical Assistant หรือผู้ช่วยแพทย์ แต่เนื่องจาก Félix ไม่ได้เรียนจบแพทย์แบบเต็มคอร์ส ทำให้เขาไม่สามารถเป็นแพทย์แบบเต็มตัวได้
ถ้าถามว่าแล้ว Félix ถึงไม่เรียนต่อ คำตอบคือในตอนนั้นชาวพื้นเมืองมักจะถูกกีดกันไม่ให้เรียนสูงนัก เพราะทางเจ้าอาณานิคมกลัวว่าชาวพื้นเมืองจะมีความรู้มากเกินไป แล้วจะไม่ต้องพึ่งพาชาวยุโรป ซึ่งนี่คือปมแรกที่ไปสะกิดใจของ Félix ถึงความเอารัดเอาเปรียบของเจ้าอาณานิคม
ชีวิตแพทย์
Félix เริ่มชีวิตแพทย์ครั้งแรกที่เมือง Abidjan เมืองหลวงของ Lower Volta ในขณะนั้น และด้วยความเก่งกาจของเขา ทำให้เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้ไปประจำที่เมือง Abengourou ซึ่ง Félix ถือเป็นชาวพื้นเมืองแอฟริกันคนแรกที่ได้ไปทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ที่เมืองนี้ และที่นี่เองที่เกิดปมที่ 2 ขึ้นในใจของ Félix
เมือง Abengourou เป็นเมืองปลูกโกโก้ขนาดใหญ่ Félix ได้เห็นถึงการที่ชาวฝรั่งเศสใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวแอฟริกันพื้นเมืองให้ทำงานในไร่ โดยมีชีวิตที่แร้นแค้นและยากลำบาก ในตอนนั้นชาวฝรั่งเศสเจ้าของไร่ มีสิทธิ์ที่จะนำตัวชาวบ้านจากที่ไหนก็ได้มาทำงาน โดยไม่ต้องถามความสมัครใจใดใด คนมากมายถูกพรากจากครอบครัวและถิ่นที่อยู่ และหลายคนก็ไม่ได้กลับไปเห็นบ้านเกิดตนเองอีกเลยตลอดชีวิต
เนื่องจากตัว Félix เองเกิดมาในครอบครัวเจ้าของไร่ที่เป็นชาวแอฟริกัน (ในตอนนั้นมีเจ้าของไร่บางคนที่เป็นชาวพื้นเมืองอย่างพ่อของ Félix) เขาจึงร่วมมือกับเจ้าของไร่ที่เป็นชาวพื้นเมืองคนอื่น จัดตั้งกลุ่มเล็กๆ ขึ้นเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานอย่างกดขี่ของเจ้าของไร่ชาวฝรั่งเศส โดยเขาได้ตีพิมพ์บทความที่มีชื่อว่า “They have taken too much from us” ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นโดยใช้นามแฝง และบทความนั้นก็ได้รบการตอบรับเป็นอย่างดี
การทำไร่โกโก้ ถือเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานคนมาก เนื่องจากตัวโกโก้เอง ไม่สามารถปลูกและเก็บโดยใช้เครื่องจักรได้ (www.wikipedia.org)
Félix ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแพทย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากจะรักษาชาวบ้านแล้ว เขายังสอนชาวบ้านให้รู้จักการดื่มน้ำสะอาด การสาธารณสุข การถนอมอาหารต่างๆ ทำให้เขาเป็นที่รักของคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ปีต่อมาพ่อของ Félix เสียชีวิต และเขาถูกเรียกตัวกลับไปยังหมู่บ้านของเขา เพื่อสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าคนต่อไป ซึ่งหน้าที่นี้จะทำให้ Félix เป็นหัวหน้าของกลุ่มหมู่บ้านขนาดใหญ่ ซึ่งทุกคนล้วนประกอบอาชีพทำไร่โกโก้ แต่เนื่องจากความรักในอาชีพแพทย์ เขาจึงสละตำแหน่งนี้ให้กับน้องชาย
แต่สุดท้ายเหมือนโชคชะตาจะเล่นตลก น้องชายของเขาเสียชีวิต Félix จึงต้องจำใจทิ้งหน้าที่แพทย์ที่เขารัก เพื่อมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าเขต หรือ Chef De Canton ต่อจากพ่อของเขา โดยมีหน้าที่หลักคือดูแลคนและกิจการในปกครอง พร้อมทั้งเก็บภาษีให้กับรัฐบาลเจ้าอาณานิคมนั่นเอง
การสู้เพื่อสิทธิครั้งแรก
 
ในฐานะหัวหน้าเขต Félix สามารถบริหารเขตของเขาได้เป็นอย่างดี มีการขยายไร่ และนำพืชชนิดอื่นอย่างกาแฟและสับปะรดมาปลูก จนกระทั่ง Félix กลายเป็นหนึ่งในชาวนาที่ร่ำรวยที่สุดในดินแดน Lower Volta และเพื่อเป็นการสานต่อปณิปพานสมัยที่เขายังเป็นแพทย์อยู่ เขาจึงได้จัดตั้งกลุ่ม African Agricultural Union (SAA) ขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1944 เพื่อเป็นการวมกลุ่มกันของชาวนาชาวแอฟริกันเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ที่เจ้าของไร่ชาวยุโรปได้รับมากกว่า และในเรื่องของสภาพการทำงานของชาวพื้นเมือง แม้จะมีเสียงต่อต้านเป็นอย่างมากจากหลายฝ่าย แต่ด้วยความอุตสาหะของ Félix ประกอบกับความโชคดีที่ตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสตอนนั้นเป็นฝ่ายซ้าย ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียมกันทางสังคมเป็นทุนเดิม ทำให้กลุ่ม SAA โตขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีสมาชิกกว่า 20,000 คน
ที่อยู่อาศัยของเจ้าของไร่ชาวยุโรปในโกดติวัวร์ (http://www.davidgrant.org/holidays/2018-s-cloud/2-ship/02-ivory-coast/ivory-coast.html)
เข้าสู่วงการเมือง
 
Félix เข้าสู่เส้นทางการเมืองในเดือนสิงหาคม 1945 ในตอนนั้นได้มีการจัดให้มีการจัดตั้งสภาเมือง Abidjan ขึ้น (Abidjan City Council) โดยมีข้อกำหนดว่าครึ่งหนึ่งของสภาจะต้องเป็นประชากรของฝรั่งเศส (French Citizen) และอีกครึ่งหนึ่งจะต้องเป็นคนพื้นเมือง ซึ่งข้อกำหนดนี้เองที่เป็นปัญหาใหญ่
เมือง Abidjan ในช่วงปี 1930 (https://www.ebay.com/itm/ABIDJAN-IVORY-COAST-COTE-DIVOIRE-9-vintage-real-photo-postcards-1930s-/351883635302)
ต้องขอกล่าวย้อนไปนิดนึงว่า ในขณะที่ฝรั่งเศสปกครองดินแดนในแถบนี้นั้น ชาวพื้นเมืองจะมีฐานะเป็นเพียง Subordinate (ผู้ถูกปกครอง) เท่านั้น ไม่ใช่ประชากร เพราะชาวฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมถือคติที่ว่า ในเมื่อชาวฝรั่งเศสมีฐานะเป็น Citizen หรือประชากร คนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีความศิวิไลซ์อย่างชาวพื้นเมือง ก็ไม่ควรจะมีฐานะเท่าเทียมกับเจ้าอาณานิคม คนที่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นร้อยเป็นพันปี จึงกลายฐานะมาเป็นเพียงผู้ถูกปกครองไปโดยปริยาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวพื้นเมืองต่างเจ็บแค้นกันมาก และเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการเรียกร้องเอกราชในเวลาต่อมา
 
กลับมาเรื่องการจัดตั้งสภาเมือง ในตอนนั้นชาวฝรั่งเศสไม่สามารถหาคนพื้นเมืองมาร่วมพรรคได้เลย (เพราะคนพื้นเมืองต่างก็ชิงชังคนฝรั่งเศส) ในขณะที่พรรคท้องถิ่นอื่นๆ ก็ไม่สามารถหาคนที่เป็น French Citizen เข้ามาได้ มีเพียง Félix คนเดียวเท่านั้นที่สามารถจัดตั้งพรรคได้สำเร็จ โดยอาศัยเส้นสายของเจ้าของไร่ที่เขามี ทำให้พรรคของเขาได้เข้าไปนั่งในสภาเมือง และนี่คือจุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของ Félix Houphouët-Boigny
 
ไม่นานนักก็มีข่าวดีอีกระลอก รัฐบาลฝรั่งเศสได้ลงมติเห็นชอบให้มีการส่งตัวแทนของอาณานิคมไปนั่งในรัฐสภาได้ ไม่ใช่แค่รัฐสภาท้องถิ่น แต่เป็นรัฐสภาฝรั่งเศสที่กรุงปารีสเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้เรียกได้ว่าช็อคประชาคมยุโรปกันพอสมควร เพราะตอนนั้นเจ้าอาณานิคมต่างพยายามให้คนท้องถิ่นมีบทบาทในการปกครองน้อยที่สุด โดย Lower Volta และ Upper Volta สองเขตนี้ มีสิทธิ์ส่งตัวแทนได้ 2 คน คนหนึ่งเป็นตัวแทนของ French Citizen อีกคนเป็นตัวแทนของคนพื้นเมือง แม้จะมีอุปสรรคมากมายไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลอาณานิคมท้องถิ่นไม่สนับสนุนเค้า หรือการมีผู้สมัครแย่งชิงตำแหน่งกันหลายคน ในที่สุด Félix ก็สามารถชนะเป็นตัวแทนของชนพื้นเมืองได้สำเร็จ และเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้ เขาเลยเพิ่มคำว่า Biogny ซึ่งแปลว่า “พลังอันไม่อาจต้านทานได้” ต่อท้ายชื่อของเขา
1
ที่อยู่ในเมือง Abidjan ของชาวยุโรป (http://www.davidgrant.org/holidays/2018-s-cloud/2-ship/02-ivory-coast/ivory-coast.html)
ชีวิตการเมือง
จากการเมืองท้องถิ่น สู่การเมืองระดับชาติ Félix ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรค MUR ของฝรั่งเศสซึ่งมีความคิดเอนเอียงไปทางคอมมิวนิสต์เล็กน้อย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง Commission des territoires d'outre-mer (Commission of Overseas Territories) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของดินแดนโพ้นทะเลที่อยู่ในปกครองของฝรั่งเศสนั่นเอง
 
ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้ทำในสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นเป้าหมายดั้งเดิมของเขา นั่นคือการผลักดันกฎหมายยกเลิกการใช้แรงงานแบบบังคับ (Forced Labor) และในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ 1946 เพียง 1 ปีหลังรับตำแหน่ง ตรากฎหมาย Loi Houphouët-Boigny ซึ่งเป็นกฎหมายยกเลิกการใช้แรงงานแบบบังคับก็ออกมา นำความยินดีมาสู่ดินแดนแอฟริกาที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก จากนั้นโครงการต่างๆ ก็ตามออกมามากมาย เช่น การตรากฎหมายที่เป็นธรรมกับชาวพื้นเมือง การพัฒนาสาธารณุปโภคขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงการก่อตั้งสภาท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในแอฟริกา ส่วนในโกตดิวัวร์เอง Félix ก็ได้มีการจัดตั้งพรรค Democratic Party of Ivory Coast หรือ พรรค PDCI ขึ้น ซึ่งกลายมาเป็นพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา และในปัจจุบันก็ยังคงลงแข่งเลือกตั้งอยู่ “Biogny” พลังอันไม่อาจต้านทานได้เริ่มสำแดงฤทธิ์เดชแล้ว
Assemblée Nationale - Palais Bourbon รัฐสภาฝรั่งเศส (https://en.parisinfo.com/paris-museum-monument/71377/Assemblee-Nationale-Palais-Bourbon)
อย่างไรก็ตาม เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศสไม่ผ่าน เลยต้องมีการผ่านร่างฉบับที่ 2 ซึ่งร่างใหม่ที่ได้รับการลงประชามตินั้น ทำให้ที่นั่งในสภาของตัวแทนจากชาวแอฟริกันพื้นเมืองลดลงจาก 30 ที่นั่งเหลือเพียง 24 ที่นั่ง (แน่นอนว่า Félix ได้ 1 ที่นั่ง) รวมถึงลดจำนวนชาวพื้นเมืองที่มีสิทธิ์ออกเสียงด้วย ทำให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากในหมู่ตัวแทนจากแอฟริกา พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่ม African Democratic Rally (RDA) ขึ้น โดยมี PDCI เป็นสาขาหนึ่งของ RDA
สัญลักษณ์ของพรรค PDCI สาขาหนึ่งของ RDA ปัจจุบันมีอายุ 74 ปีแล้ว (https://pdcirda.ci/author/webnetpdci/page/19/)
แต่เนื่องจาก RDA มีจำนวนคนไม่พอที่จะมีที่นั่งในรัฐสภา ทำให้ RDA ต้องการพรรคร่วม และตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรค PCF หรือ French Communist Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของฝรั่งเศสเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายต่อต้านการล่าอาณานิคมอย่างเปิดเผย ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เกือบจะนำไปสู่จุดจบทางการเมืองของ Félix
 
ในช่วงสงครามเย็น ที่ไอของสงครามกำลังคุกกรุ่นอยู่นั้นเองที่การมีส่วนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มส่งผลกระทบกับตัวเขาและพรรค PDCI โดยทาง RDA เริ่มมีการ Boycott สินค้าของยุโรป และเริ่มมีการต่อต้านอำนาจของเจ้าอาณานิคม ทำให้เกิดการประท้วง การก่อจลาจล ซึ่งนำไปสู่การจับกุมบุคคลต้องสงสัยมากมาย โดยเฉพาะผู้นำของพรรค PDCI ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความไม่สงบต่างๆ รวมถึงตัว Félix เอง ที่เกือบจะโดนจับเช่นกัน มีคนเสียชีวิตไปมากกว่า 50 คน บาดเจ็บและถูกจับอีกกว่า 3,000 คน
 
เพื่อเป็นการลดความรุนแรง Rene Pleven ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในขณะนั้น จึงสั่งให้ Francoise Mitterand รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นำ RDA ออกมาจากการเป็นพรรคร่วมของ PCF โดยเร็วที่สุด แล้วให้มาเข้าร่วมกับพรรค UDSR ของ Mitterand ซึ่งมีแนวคิดไปทางประชาธิปไตยมากกว่า ในตอนนั้น Félix ต้องออกมาบอกว่า การที่ RDA เข้าร่วมกับพรรค PCF นั้น “ก็เพื่อแค่ให้ได้มีสิทธิ์มีเสียงรัฐสภาเท่านั้น” เรียกง่ายๆ ว่าตีหน้าซื่อก็ได้ โดยคำพูดของเขาในตอนนั้น เขากล่าวว่า “ผมในฐานะเจ้าของที่ดิน จะมาสอนเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชั้นได้ยังไง พรรคของเราก็แค่หาแนวร่วม ไม่ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์” คำพูดนี้เองถือว่าเป็นหนึ่งในทักษะทางการเมืองแรก ๆ ของ Félix ที่ได้แสดงออกมาให้เห็น
 
ในปี 1951 เกิดการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้งซึ่งคราวนี้ Félix ได้ที่นั่ง แต่สมาชิกสำคัญคนอื่นของ RDA กลับแพ้อย่างราบคาบ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่พรรค RDA เคยมีแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 1956 สมาชิกของ RDA ชนะการเลือกตั้งอย่างสวยงาม และตัว Félix เองก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงที่สุดที่ชาวพื้นเมืองแอฟริกันเคยได้รับ และต่อมาในปี 1957 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น Minister of Public Health and Population หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ่วงด้วยตำแหน่งผู้ว่าการเมือง Abidjan ทำให้เค้ามีส่วนในการพัฒนานโยบายด้านสาธารณสุขต่างๆ ในแอฟริกามากมาย และยังมีส่วนผลักดันในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยดักก้าในประเทศเซเนกัล และแผนกนักศึกษาต่างชาติในกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
มหาวิทยาลัยดักก้า ที่กรุงดักก้า ประเทศเซเนกัล  (https://www.blackpast.org/global-african-history/cheikh-anta-diop-university-1957/)
อิสรภาพแบบไม่เต็มใจ
ในตอนที่ Félix ทำงานอยู่ในคณะรัฐมนตรีนั้น ดินแดนแอฟริกาภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ French Equatorial Africa และ Frech West Africa ในแต่ละส่วนก็มีดินแดนแยกย่อยต่างๆ มากมาย อย่าง French West Africa ก็ประกอบไปด้วยดินแดนต่าง ๆ ถึง 8 แห่งด้วยกัน ดังนั้น Félix จึงพยายามพัฒนาแก้ไขกฎหมายการปกครองต่างๆ เพื่อให้แต่ละดินแดนสามารถมีความอิสระในการปกครองซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากันทางการเมือง เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การประกาศเอกราชที่แท้จริงของแต่ละดินแดนในอนาคต
 
ส่วนในโกตติวัวร์ หรือ Lower Volta นั้น พรรค PDCI ของ Félix ได้รับชัยชนะไปอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งท้องถิ่น ตอนนั้น Félix มีฐานะเป็นเซเลปคนดังของโกตดิวัวร์ มีรูปของเขาตามฝาบ้าน ตามเสื้อเชิ้ต ของที่ระลึก ว่ากันว่าในยกทรงของผู้หญิงชาวโกตดิวัวร์ ถ้าไปเปิดดูก็จะมีรูปเขาอยู่เช่นกัน ก็ไม่น่าแปลกเพราะ Félix คือคนที่แสดงให้ชาวพื้นเมืองแอฟริกันเห็นว่า จากคนที่มีฐานะเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง กลับสามารถก้าวหน้า ไต่เต้าจนได้รับตำแหน่งเป็นคณะรัฐมนตรีของเจ้าอาณานิคมได้
Félix Houphouët-Boigny (www.wikipedia.com)
ก่อนที่จะพูดถึงการประกาศอิสรภาพ ต้องกล่าวถึงความคิดของ Félix ที่มีต่อเรื่องนี้กันก่อน ตัวของ Félix เองไม่ได้เติบโตมาจากชนชั้นล่าง แต่โตมาในครอบครัวธุรกิจที่เป็นเจ้าของไร่โกโก้และที่ดิน ทำให้เขารู้ถึงความสำคัญในการคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าการประกาศเอกราชนั้นต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงพึ่งพาฝรั่งเศสในเรื่องของเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน จนกว่าประเทศจะมีเสถียรภาพและมั่นคงพอ ซึ่งผู้นำส่วนใหญ่ของแอฟริกาในขณะนั้นต่างก็อยากได้รับเอกราชแบบเบ็ดเสร็จจนตัวสั่น
 
มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจถึงการประชุมครั้งหนึ่งระหว่าง Félix Houphouët-Boigny และ Kwame Nkrumah ผู้นำของประเทศกานา ซึ่งพึ่งจะได้รับเอกราชเบ็ดเสร็จจากอังกฤษโดยมีการถกเถียงถึงเรื่องนี้กันอยู่นานพอสมควรทีเดียว และทั้งสองก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่านโยบายของใครดีที่สุด ดังนั้น Félix จึงพูดกับ Kwame ว่า “อีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมาพบกันอีกครั้ง แล้วเรามาดูกันว่าใครจะถูก และใครจะผิด” ไม่นานต่อจากนั้น Kwame ก็โดนรัฐประหารไปเรียบร้อย ส่วน Félix Houphouët-Boigny ก็ปกครองโกดติวัวร์ต่อมาจนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1993
Félix Houphouët-Boigny (ขวา) และ Kwame Nkrumah ผู้นำของประเทศกานา (ซ้าย) ซึ่งทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยลงรอยกันนัก (www.fondation-fhb.org)
ในช่วงต้นปี 1958 เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในประเทศแอลจีเรีย สงครามที่ยืดเยื้อมาแรมปี ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียทหารมากถึง 25,000 นาย คนแอลจีเรียล้มตายไปกว่า 900,000 คน ทหารที่ประจำการอยู่ในแอลจีเรีย มีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากและหมดสิ้นกำลังใจกับสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น สุดท้ายหัวหน้ากองทัพจึงทนไม่ไหว ลุกขึ้นมายึดอำนาจรัฐบาลฝรั่งเศสในแอลจีเรีย พร้อมประกาศว่าถ้าประธานาธิบดี Charles De Gaulle ไม่ยอมกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ กองทัพจะทำการยึดกรุงปารีสในเร็ววัน ทำให้สุดท้าย Charles De Gaulle ต้องกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
1
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ในเดือนกันยายน 1958 รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่า ดินแดนในปกครองสามารถมีทางเลือกสองทาง คือเลือกที่จะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ซึ่งดินแดนเหล่านี้จะมีอิสรภาพในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ การเงิน และการทหาร แต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสอยู่ หรือจะแยกประเทศออกไปเป็นเอกราชแบบเต็มตัว โดยให้แต่ละดินแดนนั้นไปทำประชามติกัน
ว่ากันว่าเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่ Félix เริ่มแสดงความเป็นเผด็จการในตัวออกมา เพราะในพรรค PDCI มีหลายคนที่ต้องการให้โกดติวัวร์แยกตัวเป็นเอกราชแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่า Félix ไม่เห็นด้วย ซึ่งตัว Félix เองก็มีวิธีการจัดการที่จะทำให้ทุกคนเห็นด้วยกับเขาหลายแบบด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการประกาศกร้าวต่อหน้าฝูงชนกว่า 40,000 คนในสนามกีฬาว่าถ้าใครจะโหวต NO ในประชามติ ขอให้ออกนอกประเทศไปภายใน 24 ชั่วโมง เพราะถือว่าคุณไม่ได้เป็นคนที่รักโกดติวัวร์จริง ๆ และหลังจากการลงประชามติเสร็จสิ้นลง และผลถูกประกาศ ปรากฎว่า 99.9% เห็นด้วยกับ Félix โกดติวัวร์จะมีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสต่ไป ในตอนนั้นมีดินแดนกินี (ประเทศกินี) ในปัจจุบัน เพียงดินแดนเดียวที่ตัดสินใจแยกตัวออกไปเป็นอิสระแบบเต็มรูปแบบ
การประกาศต่อหน้าฝูงชน เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนลงมติคงความเป็นดินแดนโพ้นทะเลไว้ (www.face2faceafrica.com)
โกดติวัวร์กลายมาเป็นเป็น 1 ใน 7 ดินแดนโพ้นทะเลที่ได้รับการอนุญาติให้ปกครองตนเอง และแน่นอนว่า Félix ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของโกดติวัวร์
ชะตาและอนาคตของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเขาแล้ว มาดูกันว่า Félix จะสามารถนำพาประเทศเล็กๆแห่งนี้ก้าวไปสู่บทบาทในเวทีโลกได้หรือไม่ แล้วพลังของเขา จะไม่สามารถต้านทานได้ตามชื่อ Biogny จริงหรือป่าว ติดตามกันครั้งหน้านะครับ :)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา