21 ก.พ. 2021 เวลา 03:29 • ประวัติศาสตร์
Félix Houphouët-Boigny: ปาฎิหาริย์และความล่มสลายจากช็อคโกแลต ตอนที่ 2 (จบ)
หลังจากที่ตอนแรก ผมได้เขียนถึงการที่โกตดิวัวร์กลายมาเป็นดินแดนโพ้นทะเลของฝรั่งเศสแล้วนะครับ วันนี้ Kang's Journal จะเล่าถึงเรื่องราวต่อจากนั้น มาดูกันว่าฝืมือการปกครองของ Félix จะเยี่ยมยอด หรือจะยอดแย่กันแน่
เผด็จการแบบ Félix
หลังจากกลายมาเป็นดินแดนโพ้นทะเล แม้ว่าจะไม่มีพรรคการเมืองคู่แข่งกับ PDCI เลย แต่ก็มีเสียงต่อต้านมากมายจากภายในพรรคของเขาเองโดยเฉพาะเรื่องที่โกตดิวัวร์ไม่ได้รับเอกราชแบบเบ็ดเสร็จ Félix เริ่มสงสัยคนในพรรคที่ออกเสียงคัดค้านหรือมีความเห็นแตกต่างกับเขา โดยหนึ่งในนั้นคือ Jean Baptise Mockey รองนายกรัฐมนตรีผู้เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ และเป็นที่นิยมของชาวโกตดิวัวร์ แต่เขาเป็นคนที่มีแนวคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน ซึ่งตอนหลังเขาถูกส่งให้ไปเป็นฑูตอิสรเอลในปี 1959 เนื่องจากเหตุการณ์แมวดำ (Black Cat Incident)
Jean Baptise Mockey (ซ้าย) ผู้ถูกกล่าวหาว่ากำลังคิดจะก่อรัฐประหาร (https://rezoivoire.net/ivoire/profil/3085/jean-baptiste-mockey-1915-1981.html)
กล่าวย่อๆถึง เหตุการณ์แมวดำคือ บ่ายวันหนึ่งตอนที่ Félix กำลังพักผ่อนอย่างสบายอารมณ์อยู่ที่สวนหลังบ้านของเขา จู่ๆคนสวนก็วิ่งหน้าตาตื่นเข้ามาหา พร้อมกับถือซากศพแมวดำมาด้วย โดยแมวดำนั้นถูกฝังไว้ในหลุมตื้นๆ หลังบ้านของเขานั่นเอง แต่ที่น่าสยดสยองคือ ที่รอบหัวแมวนั้นมีรูปของ Félix ห้อยอยู่ ซึ่งตามลัทธิวูดูนั้น มันคือมนต์ดำ และมันเป็นการกระทำของคนที่ต้องการฆ่าเขาด้วยคุณไสย และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำก็คือ Jean Baptise Mockey
 
อย่างไรก็ตาม Jean Baptise Mockey กลับมาโกตดิวัวร์อีกครั้งหลังจากผ่านไป 3 ปี และกลายมาเป็นหัวหน้าของกองกำลังพิเศษ หรือ Special Security Court ซึ่งมีหน้าที่เหมือนเป็นทหารส่วนตัวของ Félix นำความงุนงงมาสู่สมาชิกพรรค PDCI เป็นอย่างยิ่ง
 
อย่างไรก็ตามไม่มีใครสามารถต้านทานกระแสโลกได้ โกตดิวัวร์ได้รับอิสรภาพแบบเต็มรูปแบบในปี 1960 และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งกำหนดไว้ว่าโกดติวัวร์จะมีพรรคการเมืองได้เพียงพรรคเดียว และประธานาธิบดีจะถูกเลือกโดยตัวแทนของพรรค ซึ่งแน่นอนคนที่จะมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก Félix Houphouët-Boigny พลังของเขาไม่มีใครต้านทานได้สมชื่อจริง ๆ
Félix Houphouët-Boigny ในวันประกาศเอกราชของประเทศโกดติวัวร์ (https://www.dw.com/fr/60-ans-dind%C3%A9pendance-lh%C3%A9ritage-de-f%C3%A9lix-houphou%C3%ABt-boigny/a-54491280)
หลังจากได้รับเอกราช ความเผด็จการของ Félix ก็ฉายแววอย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมนักการเมืองและประชากรหลายคนที่ต้องสงสัยว่าต้องการก่อรัฐประหาร โดยเฉพาะในปี 1963 มีการจัดการประชุมพรรค PDCI ขึ้น บุคคลสำคัญของพรรคมากมายเดินทางมาเข้าร่วมประชุม ในขณะที่สมาชิกพรรคกำลังเดินเข้าไปในห้องประชุมนั้นเอง ประตูห้องถูกปิดทันที พร้อมกับสมาชิกกว่า 200 คนที่ถูกขังอยู่ในห้องนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลภายนอก และการไต่สวนก็เริ่มขึ้น เหตุผลที่มีการทำเช่นนี้เพราะมีสายข่าวของ Félix พบว่า เมื่อประมาณ 6 เดือนก่อน สมาชิกพรรคหลายคนกำลังรวมหัวกันวางแผนทำรัฐประหาร ซึ่งจากการไต่สวนครั้งนี้มีคนต้องโทษประหารชีวิตถึง 13 คน ว่ากันว่าถึงตอนนี้ Félix เริ่มมีความวิตกจริตผิดปกติ และสงสัยคนไปทั่ว แต่นักวิชาการหลายคนมองว่าทั้งหมดเป็นเพียงพลอตที่จะทำให้เขาและพรรคของเขา สามารถรวบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จได้นั่นเอง
1
Félix Houphouët-Boigny ในเครื่องแบบประธานาธิบดี (https://www.fondation-fhb.org/en/home/)
ตลอดระยะเวลา 27 ปีถัดมา Félix ได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศติดต่อกันถึง 5 ครั้ง (ก็แน่แหละ พรรคการเมืองมีพรรคเดียว) และทุกครั้งเขาจะเป็นคนส่งรายชื่อคณะรัฐมนตรีเสมอ เรียกได้ว่ารัฐบาลทั้งหมดอยู่ในกำมือของเขา นอกจากนี้สื่อมวลชนยังถูกควบคุมอย่างหนัก และทำหน้าที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงให้กับรัฐบาล และหมัดเด็ดที่สุดของ Félix คือการปฏิรูประบบตำรวจและทหารของประเทศ
ทหารของโกดติวัวร์ (https://allafrica.com/stories/201208061113.html)
มีการลดจำนวนตำรวจและทหารลงเพื่อป้องกันการก่อกบฐ และ Félix ยังได้ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงกลาโหมได้ โดยเขาแบ่งทหารออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือทหารของ PDCI เองหรือที่เรียกว่า Special Security จำนวน 3,000 คนที่ประกอบไปด้วยคนจากชนเผ่า Baoulé ของ Félix เอง ซึ่งมีหน้าที่รับคำสั่งโดยตรงจาก Félix และอีก 3,000 คนเป็นกลุ่มที่สองที่แยกออกไปเป็นตำรวจและทหารเหล่าต่างๆ พูดง่ายๆคือกองทัพส่วนตัวของเขา มีขนาดเท่ากับกองทัพของประเทศ ดังนั้นถ้าทหารคิดจะทำรัฐประหาร ก็ต้องเจอกับกองทัพของ Félix ก่อน
ถึงแม้ว่าการปกครองแบบนี้อาจจะดูเผด็จการ แต่ว่าก็เป็นเผด็จการที่ต่างจากประเทศอื่นๆในแอฟริกา กลยุทธ์ที่ Félix ใช้คือ จับศัตรูทางการเมืองของเขาเข้าคุก ไม่ฆ่าทิ้งในทันที และสุดท้ายโทษประหารชีวิตทั้งหมดจะถูกอภัยโทษเปลี่ยนเป็นจำคุกแทน ทำให้ Félix ดูเป็นเหมือนผู้นำที่มีเมตตา จากนั้นเขาจะทำการเจรจา และปล่อยตัวคนเหล่านี้ออกมา พร้อมมอบตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลให้ เพื่อเป็นค่าทำขวัญ ทำให้หลังจากปี 1963 Félix แทบจะไม่มีศัตรูทางการเมืองเลย และประเทศก็สามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง
ความสัมพันธ์ระส่ำ
 
ถ้าพูดถึง Félix คงจะไม่พูดถึงความสัมพันธ์ของเขากับผู้นำชาวแอฟริกันคนอื่นไม่ได้ เพราะความคิดที่แตกต่างของเขาในการพยายามยึดตัวเองไว้กับประเทศเจ้าอาณานิคม ทำให้ Félix มีนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เหมือนใคร และหลายครั้งก็เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นไปตลอดกาล
เริ่มจากผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านอย่างกินี Ahmed Sekou Toure ซึ่งเป็นไม่เบื่อไม้เมากับ Félix มานาน ในตอนนั้น Toure เคยกล่าวดูถูกต่อหน้า Félix ตอนที่เขาเลือกที่จะยังคงสภาพโกดติวัวร์เป็นดินแดนโพ้นทะเลว่า “Poverty in freedom is better than weath in slavery” ในเวลาต่อมารัฐบาล Toure ปกครองประเทศกินีแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เกิดภาวะวุ่นวายในประเทศจนรัฐบาลฝรั่งเศสต้องการโค่นตำแหน่งของเขาลง ซึ่ง Félix เองก็ให้การสนับสนุนฝรั่งเศสแบบลับ ๆ ผ่านการสนับสนุนกลุ่มปลดแอกกินี
Ahmed Sekou Toure ผู้นำกินี หลังได้รับเอกราช (http://melanesia.net/ahmed-sekou-toure-an-indispensable-yet-forgotten-african-heroic-leader.html/)
ในส่วนของผู้นำประเทศกานา Kwame Nkruma ที่เคยมีเดิมพันกับ Félix ก่อนหน้านั้น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ดำเนินไปอย่างไม่ดีนัก มีการกล่าวหาว่า Kwame สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในโกตดิวัวร์ ซึ่งมีสมาชิกของพรรค PDCI เป็นหัวหอกสำคัญในการล้มล้างรัฐบาล Félix ซึ่งบางคนเป็นถึงสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคเลยด้วยซ้ำ และจากเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้คนในรัฐบาลต้องโทษประหารชีวิตไปอีก 6 คน และ Félix ก็ตัดสินใจไม่ไปร่วมการประชุม OAU หรือการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศในแอฟริกาที่จัดขึ้นที่เมืองอัคคราของกานา แต่ในทางกลับกันก็มีหลักฐานชัดเจนว่า Félix อนุญาตให้กลุ่มที่ต้องการล้มล้าง Kwame ใช้โกตดิวัวร์เป็นฐานทัพในการทำการก่อการร้ายเช่นกัน จนสุดท้าย Kwame ก็ถูกรัฐประหารและต้องลี้ภัยออกนอกกานาไป
นอกจากนี้ Félix ยังมีส่วนช่วยฝรั่งเศสในการทำสงครามกลางเมืองในเบนิน และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Biafra ในไนจีเรีย เพื่อคานอำนาจของอังกฤษอีกด้วย
พื้นที่ Biafra ที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระออกมาจากไนจีเรีย ซึ่งในปัจจุบันปัญหาการสู้รบก็ยังคงมีอยู่ (https://www.ibtimes.co.uk/biafra-protests-nigerian-army-warns-those-threatening-dismember-country-1529196)
แต่ที่อื้อฉาวที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีของเบอร์กินา ฟาโซนามว่า Thomas Sankara โดยในช่วงแรกนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายความสัมพันธ์ก็เลวร้ายลง เพราะทั้งสองมีความเห็นไม่ลงรอยกันในหลายๆเรื่อง พอเริ่มมีชาวมีชาวเบอร์กินา ฟาโซกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้ชายฉกรรจ์บางคนเดินทางไปเป็นทหารในลิเบีย Félix จึงถือโอกาสนี้ ให้ที่ลี้ภัยกับนักโทษทางการเมืองคนสำคัญ และผลักดันให้ Blaise Compaoré มือขวาของ Sankara ยึดอำนาจแทน ซึ่งว่ากันว่าภรรยาของ Blaise จริง ๆ แล้ว เป็นลูกสาวคนหนึ่งของ Félix ดังนั้น Blaise ก็มีฐานะเป็นลูกเขยของ Félix นั่นเอง
ในเดือนตุลาคม 1987 ในการประชุมประจำวัน กองกำลังติดอาวุธหลายคนได้บุกเข้าไปในห้องประชุมของ Sankara แล้วกราดยิงทุกคนในนั้น Sankara เสียชีวิตทันที และถูกฝังอย่างเร่งรีบในหลุมศพที่ไม่มีป้ายชื่อ ส่วน Blaise Compaoré ก็กลายมาเป็นผู้นำของเบอร์กินา ฟาโซ แม้ทางการโกดติวัวร์จะปฏิเสธว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การที่สมาชิกของกองกำลังสังหารได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในโกตดิวัวร์ในเวลาต่อมาก็คงเป็นหลักฐานชั้นดีที่จะบอกว่าโกดติวัวร์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่
Thomas Sankara ผู้นำเบอร์กินา ฟาโซ (ซ้าย) ที่ถูกรัฐประหารโดยกลุ่มที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนโดย Félix Houphouët-Boigny (ขวา)
ปาฏิหารย์จากช็อคโกแลต
 
แม้การปกครองจะเป็นเผด็จการ แต่ในด้านของเศรษฐกิจนั้น Félix ดำเนินนโยบายต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกา เขายังเชื่อในระบบทุนนิยมอยู่ และเชื่อในความสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นนักลงทุนต่างประเทศจึงได้รับอนุญาตให้ส่งรายได้มากถึง 90% กลับไปยังประเทศตนเอง นอกจากนี้เขายังได้สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือ ถนน เขื่อนพลังงานน้ำ และสร้างเขตธุรกิจ ใน Abidjan เพื่อความสะดวกในการติดต่อค้าขาย
จุดเด่นของการพัฒนาเศรษฐกิจของ Félix คือการไม่ลงทุนมากไปกับ Secondary Industry แต่ไปโฟกัสที่อุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่ปัญหาคือการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้น Félix จึงมีการเสนอ Relocation Package เพื่อดึงดูดผู้คนจากพื้นที่ซะวันน่าห์ที่เพาะปลูกยาก ให้มาอาศัยในพื้นที่เพาะปลูกแทน และอ้าแขนต้อนรับชาวแอฟริกันจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชาวเบอร์กินา ฟาโซ เข้ามามากมาย ซึ่งก็ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้เป็นอย่างดี ทำให้ในช่วงปี 1960-1975 ในระยะเวลาเพียง 15 ปี ภาคการเกษตรเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โกโก้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 600% กาแฟ 200% สัปปะรดกว่า 4000% แถมโชคยังเข้าข้างโกตดิวัวร์ เพราะราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกโดยเฉพาะโกโก้ยังถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการบริโภคช็อคโกแลต เงินจึงไหลเข้ามาโกตดิวัวร์อย่างไม่ขาดสาย
ชาวไร่โกโก้ ในโกตดิวัวร์ ในช่วงเวลารุ่งเรือง (https://www.waystocap.com/blog/cocoa-production-in-ivory-coast-and-the-challenge-of-sustainability/)
เศรษฐกิจของโกตดิวัวร์เติบโตถึงปีละ 11-12% จากปี 1960-1965 ส่วน Trade balance ก็เป็นบวก แถม GDP ยังโตถึง 12 เท่า ตั้งแต่ 1960-1978 เจ้าของไร่โกโก้ และนักธุรกิจต่างทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผู้คนมีความสุข คะแนนความนิยมของพรรค PDCI พุ่งทะยานขึ้นถึงขีดสุด ผู้นำชาวแอฟริกันคนอื่นต่างมองมาที่โกตดิวัวร์ด้วยความอิจฉาตาร้อน นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างตกตะลึงกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้ จน Félix ได้รับฉายาว่า The sage of Africa หรือ La Vieux และปาฏิหาริย์จากช็อคโกแลตครั้งนี้ก็ถูกเรียกว่า “Ivorian Miracle”
Félix Houphouët-Boigny
แต่อย่างไรก็ตาม จากการเน้นการพัฒนาภาคการเกษตรมากเกินไป ทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ประกอบกับการลงทุนส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แทบไม่มีธุรกิจที่เป็นของคนโกตดิวัวร์เองเลย ทำให้เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกับราคาโกโก้ค่อนข้างมาก ดังนั้นถ้าราคาโกโก้ตกลงเมื่อไร เศรษฐกิจโกตดิวัวร์ก็อาจจะไม่สามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้อีกต่อไป
ใจกลางเมือง Abidjan ที่ได้รับการพัฒนาในช่วง Ivorian Miracle (https://www.robertharding.com/index.php?lang=en&page=search&s=abidjan&smode=0&zoom=1&display=5&sortby=0&bgcolour=0)
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังพุ่งถึงขีดสุด Félix เองก็ได้ผลประโยชน์จากเงินที่ไหลเข้ามา และด้วยการที่ประเทศมีพรรคการเมืองเดียว ทำให้ไม่มีใครตรวจสอบที่มาที่ไปของแหล่งการเงิน ตอนที่เสียชีวิตในปี 1993 นั้น ว่ากันว่าเขามีเงินในบัญชีกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมบ้านและอพาร์ตเมนท์หรูหราในสวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส รวมไปถึงเงินจำนวนมากในธนาคารสวิส และมีหุ้นในบริษัทระดับโลกมากมาย รวมถึงกลายมาเป็นเจ้าของบริษัทส่งออกโกโก้ที่ใหญ่ที่สุดของโกตดิวัวร์ด้วย
โดยปกติแล้วประเทศที่ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักจะมีการเก็บ Buffer Stock ไว้ เพื่อเป็นคลังสินค้าสำรองในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ อย่างเช่นภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ โกตดิวัวร์ก็มีการเก็บโกโก้บางส่วนไว้เป็น Buffer Stock เช่นกัน แต่กลับกลายเป็นว่า Félix และพรรคพวกกลับซื้อขายคลังสินค้าเหล่านั้นตามใจตนเอง จนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งตอนนี้อาจจะไม่มีผลอะไรมากมายในตอนนี้ แต่ในอนาคตการกระทำเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบแน่นอน
เงินเข้ากระเป๋า สู่บ้านเกิด
 
ในตอนที่ Félix กำลังปกครองโกตดิวัวร์นั้น มีเทรนด์อย่างหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้นำแอฟริกาคือการนำความร่ำรวยกลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอน หรือไม่ก็ย้ายเมืองหลวงมาที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองซะเลย ซึ่งในกรณีของ Félix ก็ย่อมไม่ต้องการที่จะตกเทรนด์นี้เช่นกัน
เขาได้เริ่มอภิมหาโปรเจคมากมายที่เมือง Yamoussoukro บ้านเกิดของเขา ทั้งการสร้างโรงแรมหรู ถนนหกเลน อาคารบ้านเรือนต่างๆ และหลังจากทุ่มงบประมาณไปมหาศาล ในปี 1983 Félix ก็สั่งให้ย้ายเมืองหลวงจาก Abidjan มายัง Yamasoukrro แห่งนี้
ถนนหกเลน ในเมือง Yamoussoukro (https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Yamoussoukro_downtown.jpg)
แต่ที่สำคัญที่สุด และกลายมาเป็นเรื่องอื้อฉาวจนถึงทุกวันนี้คือการสร้างโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง The Basilica of Our Lady of Peace ซึ่งมีหน้าตาคล้ายกับวิหารเซนต์ปีเตอร์ของวาติกัน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร จุคนได้สูงสุดถึง 17,000 คน ภายในประดับไปด้วยกระจกสีสวยงามนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส และที่จะขาดไม่ได้คือรูปของ Félix ขนาดใหญ่เคียงข้างกับรูปของพระเยซูเจ้า รัฐบาลโกตดิวัวร์ในขณะนั้นประกาศว่างบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด เป็นเงินส่วนตัวของ Félix เอง ไม่ได้เบียดเบียนงบประมาณของชาติแต่อย่างใด ซึ่งตัวเลขทางการบอกไว้ว่าค่าก่อสร้างทั้งหมดอยู่ที่ 175 ล้านเหรียญ แต่จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ ราคาอาจจะสูงถึง 300-500 ล้านเหรียญเลยทีเดียว
Félix กล่าวว่าเหตุผลที่เขาสร้างโบสถ์แห่งนี้ เป็นเพราะเขาต้องการขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เขาและประเทศโกดติวัวร์เติบโตมาได้ราวปาฏิหาริย์ (แม้ว่าโกตดิวัวร์จะมีผู้นับถือศาสนาคริสต์เพียง 20% เท่านั้น) และต้องการให้โบสถ์แห่งนี้เป็นที่แสวงบุญของชาวคริสต์ในแอฟริกา
The Basilica of Our Lady of Peace โบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (https://www.tripsavvy.com/basilica-of-our-lady-of-peace-1454487)
สุดท้ายเพื่อให้โบสถ์แห่งนี้มีความสมบูรณ์ เขาจึงขอร้องให้ Pope John Paul II มาเป็นผู้ทำพิธีปลุกเสก ซึ่งตัว Pope เองขอร้องให้ Félix ลดความยาวของโบสถ์ลง ไม่ให้ยาวกกว่าวิหารเซนต์ปีเตอร์ (ซึ่งแน่นอน Félix ไม่ยอม) และตัว Pope เองก็เป็นคนบินมารับมอบโบสถ์นี้ด้วยตัวเองในปี 1990 สิริรวมเวลาก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีการสร้างพระราชวังส่วนตัวเมืองนี้ด้วย และสิ่งที่ Félix หลงใหลคือจระเข้ มีการนำจระเข้มาเลี้ยงไว้ในทะเลสาบทั่ววัง และในปัจจุบันจากการปล่อยปละละเลย จระเข้เหล่านี้ก็ได้ว่ายวนออกมาอยู่ในแม่น้ำ และทะเลสาบเมือง Yamoussoukro สร้างความปั่นป่วนให้กับราษฎรมาจนถึงทุกวันนี้
อาชีพให้อาหารจระเข้ อาชีพนี้เกิดขึ้นเนื่องจากจระเข้ที่ออกมาเพ่นพ่านในเมืองนั่นเอง (https://www.bbc.com/news/magazine-195762961)
การล่มสลายของช็อคโกแลต
ในช่วงปี 1971-1977 นั้น ราคาโลกของโกโก้พุ่งขึ้นจาก $500 ในปี 1971 ไปเป็นกว่า $5000 ในปี 1977 เรียกได้ว่าราคาพุ่งทะยานแทบจะหาอะไรหยุดไม่ได้ แต่หลังจากนั้นฟองสบู่ก็แตก ราคาโกโก้ตกลงอย่างฉับพลันเหลือเพียง $2000 ต่อตันในปี 1980 ในช่วงแรกๆนั้น ชาวไร่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากรัฐบาลมีองค์กรกลางที่ซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้อยู่ แต่ในปีต่อมาราคาโลกกลับตกลงไปเรื่อย ๆ อีก ทำให้คลังสินค้าของรัฐบาลมีแต่สินค้าเข้ามา แต่ไม่สามารถขายออกไปได้ ประเทศเริ่มขาดเงินสดหมุนเวียน ซ้ำร้ายปี 1983-1984 ยังเกิดภาวะแล้งในโกตดิวัวร์ ทำลายผลผลิตทางการเกษตรมากมาย พอจะเอา buffer stock ไปขายก็ปรากฏว่าคลังทั้งหมดอัตรธานหายไปแล้ว พอจะนำเงินฉุกเฉินจากกองทุนโกโก้ (Cocao Stablization Fund) มาใช้ ปรากฏว่าเงินเหล่านั้นก็อัตรธานหายไปแล้วเช่นกัน Félix พยายามบินไปประชุมกับผู้ซื้อ และนักอุตสาหกรรมทั่วโลกเพื่อต่อรองราคา รวมถึงพยายามก่อตั้งกลุ่มผูกขาดผู้ผลิตโกโก้เหมือนกับกลุ่มน้ำมัน OPEC แต่ไม่มีประเทศไหนสนใจ ปาฎิหารย์จากช็อคโกแลตดูเหมือนเริ่มจะหมดพลังลงซะแล้ว
(https://resourcetrade.earth/publications/cocoa-trade-climate-change-and-deforestation)
ในที่สุดราคาของโกโก้ก็ลดต่ำลง จนกระทั่งราคาโกโก้ที่รัฐบาลประกันชาวไร่ไว้ สูงกว่าตลาดโลกถึง 2 เท่า ทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะถังแตก ไม่มีเงินพอที่จะมาซื้อโกโก้ได้อีกต่อไป โกโก้ที่ค้างในโกดังก็ขายไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ยอมขายขาดทุน สุดท้ายโกโก้มากมายเสียหายไปตามกาลเวลา มีเรื่องเล่าว่าทุกวันจะมีการเข็นโกโก้มารอที่ท่าเรือ เพื่อที่ว่าพอราคาขึ้นเมื่อไร พ่อค้าจะรีบเอาโกโก้ขึ้นเรือขายออกไปทันที
Félix พยายามงัดไม้ตายด้วยการหยุดส่งออกโกโก้ โดยหวังว่าในเมื่อผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดอย่างโกตดิวัวร์ซึ่งควบคุมการผลิตโกโก้ทั่วโลกถึง 40% หยุดการส่งออก ราคาตลาดโลกจะต้องกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ราคาโกโก้ยังคงเหมือนเดิม โกโก้จากโกตดิวัวร์ถูกแทนที่ด้วยโกโก้จากบราซิล คอสตาริกา กานา และประเทศน้องใหม่อย่างอินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ก็ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังอย่างไม่มีใครไยดี
สุดท้ายโกตดิวัวร์ก็กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีใครยอมปล่อยเงินกู้ให้อีกต่อไป ธนาคารแห่งชาติอยู่ในภาวะล้มละลาย ต้องหยุดจ่ายหนี้ทั้งหมด และในที่สุดหลังจากอดทนมากว่า 18 เดือน รัฐบาลของ Félix ก็ตัดสินใจขายโกโก้ลอทใหญ่ เพื่อนำเงินมาเพิ่มสภาพคล่อง แล้วก้มหน้ายอมรับราคาโกโก้ที่ไม่มีวันที่จะกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป
ความยากจนในโกดติวัวร์ หลังจากราคาโกโก้ตกลงอย่างรุนแรง (https://www.givingway.com/organization/fede-cristiana-fidenza-odv-ets)
ตลอดเวลาที่เกิดสิ่งที่เรียกว่า Ivorian Miracle นั้น แม้ว่าประเทศจะอยู่ภายใต้เผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียว แต่ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและการเมืองที่ค่อนข้างมั่นคง ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ยังยอมรับในตัว Félix อยู่ แต่พอเศรฐกิจพัง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก อัตราความยากจนพุ่งขึ้นจาก 11% เป็น 31% นอกจากนี้ประเทศยังประสบปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงานสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
 
แรงกดดันต่อ Félix เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการเดินประท้วงของครูและนักเรียน คนที่เคยสนับสนุนกลับกลายมาเป็นศัตรู เสียงชื่นชมเปลี่ยนมาเป็นเสียงก่นด่า โดยเฉพาะเรื่องที่เขาสร้างโบสถ์ที่เมือง Yamoussoukro ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเป็นเงินส่วนตัวของ Félix และมีการปฏิวัติจากฝั่งทหารในปี 1990 และ 1992 แต่ไม่สำเร็จ จนในที่สุดรัฐบาลก็ไม่อาจทนแรงกดดันได้ และอนุญาติให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอิสระขึ้นได้ จากพรรคการเมืองเดียวตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ครั้งหน้าที่ Félix ลงแข่ง เขาจะต้องเจอกับคู่แข่ง
การเลือกตั้งในปี 1990
คนที่รอเวลานี้มานาน คือ Laurent Gbagbo ผู้เป็นหัวหอกในการประท้วงของนักเรียนที่นำไปสู่การปิดโรงเรียนทั่วประเทศในปี 1982 และเขากับภรรยาได้ก่อตั้งกลุ่ม FPI (Ivorian Popular Front) ซึ่งต่อมาเขาโดนเนรเทศและกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในฝรั่งเศส และเดินทางกลับมาในปี 1988 หลังจากได้รับอภัยโทษ
1
Laurent Gbagbo (https://nymag.com/intelligencer/2011/04/un_helicopters_fire_on_laurent.html)
ในปี 1990 หลังจากสามารถตั้งพรรคการเมืองได้ Gbagbo จึงตัดสินใจลงแข่งกับ Félix โดยจุดโฟกัสของ Gbagbo คือการโจมตีตัวประธานาธิบดี ว่าอายุมากแล้ว ไม่น่าจะมีความสามารถในการปกครองประเทศต่อไปได้อีก 5 ปีแน่นอน แต่ทาง Félix ซึ่งตอนนั้นอายุปาเข้าไป 85 ปีแล้ว โต้กลับด้วยการใช้แคมเปญที่พูดถึงความสำเร็จของเขาในอดีต และให้โทรทัศน์ฉายภาพตัวเขาในวัยหนุ่มวนไปวนมา (ซึ่งตอนนั้นร่างกายเขาก็โทรมมากจนแทบจะออกมาหาเสียงด้วยตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว)และสุดท้าย Félix ก็ชนะการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม ด้วยคะแนนกว่า 2.4 ล้านโหวต คิดเป็น 81.7% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด แต่ถึงแม้จะพ่ายแพ้อย่างราบคาบ การต่อสู้ของ Gbagbo ยังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
หลังการตาย
ตั้งแต่ปี 1990 Félix ไปรับการรักษามะเร็งอยู่ที่ฝรั่งเศส และประเทศถูกบริหารผ่านทางนายกรัฐมนตรี Alassane Outtara เป็นหลัก ทุกคนรวมถึง Alassane เอง ค่อนข้างแน่ใจว่าเขาจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจตำแหน่งหัวหน้าพรรค PDCI ต่อจาก Félix อย่างแน่นอน แต่สุดท้ายแล้วคนที่ Félix เลือก กลับเป็นหัวหน้าของสภาชาตินามว่า Henri Konan Bédié
Henri Konan Bédié ผู้ที่ Félix เลือกให้สืบทอดตำแหน่ง (https://www.theafricareport.com/35180/cote-divoire-presidential-polls-for-henri-konan-bedie-age-is-an-asset/)
ในปี 1993 Félix ต้องถูกพาตัวด่วนกลับมายังโกตดิวัวร์ ผู้นำผู้สูงส่งจะต้องกลับมาตายที่บ้านเกิดเมืองนอน และเพื่อที่จะจัดการเรื่องผู้สืบทอดให้เสร็จเรียบร้อย จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม Félix จึงถูกดึงเครื่องช่วยหายใจออก พร้อมกับจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ปิดฉาก 27 ปีของการปกครองประเทศโกตดิวัวร์ ตอนที่เขาเสียชีวิตนั้น Félix เป็นผู้นำที่ปกครองประเทศยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจาก Fidel Castro ของคิวบา และ คิม อิล ซุง ของเกาหลีเหนือ ที่น่าสนใจคือเขาคือผู้นำชาวแอฟริกาเพียงไม่กี่คนที่นำพาประเทศหลังได้รับเอกราชเติบโตได้โดยไม่มีสงครามกลางเมือง และรัฐประหารที่สำเร็จเลย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดมาก
ประชาชนหลายคนร่ำไห้ ให้กับการจากไปของ Félix (https://carregenewtown.weebly.com)
งานศพของเขาถูกจัดในโบสถ์ที่เขาสร้างขึ้น มีผู้เข้าร่วมงานถึง 7,000 คนจากองค์กรต่างๆ กว่า 140 ประเทศ ว่ากันว่าในฐานะชนเผ่า Baoulé จะต้องมีการฝังศพพร้อมกับของรัก ซึ่งของรักของเขาก็ยังถูกเก็บเป็นความลับจนถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบันด้วยความสนับสนุนจากองค์กร UNESCO และองค์กร Félix Houphouët-Boigny ได้มีการจัดตั้งรางวัล Félix Houphouët-Boigny Peace Prize หรือรางวัลสันติภาพ UNESCO ขึ้นในปี 1989 โดยได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินของ Félix เอง โดยคนแรกที่ได้รับรางวัลคือ Nelson Mandela ถือว่าเป็น Legacy อย่างหนึ่งของเขา รวมถึงสนามบินที่เมือง Abidjan ก็ตั้งชื่อว่า Félix Houphouët-Boigny International Airport เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาเช่นกัน ส่วนเมือง Yamoussoukro ที่เขาทุ่มเทเงินพัฒนาไปอย่างมากมายนั้น ปัจจุบันมีสภาพไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากการขาดงบประมาณในการดูแลรักษา ส่วนโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ แม้อาจจะดูซอมซ่อ และหมองลงไปบ้าง แต่ความอลังการณ์ก็ยังคงเป็นหลักฐานถึงการที่ครั้งหนึ่ง Félix ได้สร้างปาฏิหาริย์ให้กับประเทศนี้ไว้จริง ๆ
Félix Houphouët-Boigny Peace Prize หนึ่งใน Legacy อย่างหนึ่งของเขา (https://www.law.cmu.ac.th/mobile/news-details.php?news_id=31906)
โกตดิวัวร์ในปัจจุบัน
หลังจากการเสียชีวิตของ Félix ในปี 1995 Henri Konan Bédié ผู้สืบทอดของ Félix ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมถ้น แต่แทนที่จะดำเนินนโยบายที่เป็นกลางกับชนพื้นเมืองทุกเผ่าพันธุ์ Bédié กลับดำเนินนโยบายกีดกันบางชนเผ่า ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบก็คือ Alassane Outtara ซึ่งเป็นคู่แข่งของเขาในการสืบทอดอำนาจนั่นเอง เพราะแม่ของเขาเป็นผู้อพยพมาจากเบอร์กินา ฟาโซในช่วงที่มีการขยายการปลูกโกโก้
เริ่มมีการจับนักโทษทางการเมืองมากขึ้น เกิดความไม่พอใจไปทั่วประเทศ จนกระทั่งทหารได้ทำการรัฐประหารขึ้นในปี 1999 Robert Guéï ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแทนชั่วคราว จนกระทั่งมาถึงการเลือกตั้งในปี 2000 Gbagbo กลับมาอีกครั้งเพื่อลงแข่งกับ Robert Guéï แต่การเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่กระประท้วง และการต่อสู้กันตามท้องถนนจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 180 คน และสุดท้ายรัฐบาลของ Robert Guéï ถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลของ Gbagbo ทันที
Robert Guéï ผู้นำทหารที่ทำการรัฐประหารในปี 1999 (https://www.modernghana.com/news/421134/four-ivorian-officers-charged-in-ex-leaders-death.html)
เพื่อตัดเสี้ยนหนามทางการเมือง Gbagbo ได้ออกรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามคนที่ไม่ได้มีเชื้อชาติโกดติวัร์โดยกำเนิด มาลงแข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้ Alassane Outtara ถูกตัดสิทธ์ทันที นำความโกรธแค้นมาสู่ประชาชนเป็นอย่างมาก การประท้วงตามท้องถนนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คนในรัฐบาลแตกคอกันเองจนกระทั่งมาถึงจุดแตกหัก
ในวันที่ 19 กันยายน 2002 ในขณะที่ Gbagbo เดินทางไปอิตาลี ทหารกลุ่มหนึ่งได้ทำพยายามก่อกบฏด้วยการยึดเมือง Abidjan ซึ่งการต่อสู้ในครั้งนี้ผลปรากฏว่ารัฐบาลยังสามารถควบคุมเมือง Abidjan ไว้ได้ ในขณะที่พื้นที่ทางตอนเหนือถูกควบคุมด้วยกลุ่มกบฏ Robert Guéï ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ากบฏและมีข่าวลืออย่างหนาหูว่าเขากับพรรคพวกถูกฆาตกรรมอย่างโหดร้าย ส่วน Alassane Outtara ก็หนีเข้าไปอยู่ในสถานฑูตเยอรมัน Gbagbo รีบเดินทางกลับมาโกดติวัวร์ทันที และเริ่มเผาทำลายหมู่บ้านทางตอนเหนือที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏอย่างโหดเหี้ยม และนี่คือสงครามกลางเมืองครั้งแรกของประเทศโกดติวัร์หลังจากได้รับเอกราช
สงครามกลางเมืองครั้งที่ 1 ของโกตดิวัวร์ (https://www.pinterest.com/pin/94927504616351481/)
สุดท้ายแล้วมีการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาล Gbagbo และกลุ่มกบฏขึ้น ซึ่งไม่ได้มีผลอะไรมากนัก และในเวลาไม่นานรัฐบาล Gbagbo ก็ส่งกองทัพอากาศไปถล่มฐานกำลังของกลุ่มกบฏ ซึ่งความโชคร้ายคือมีทหารฝรั่งเศสตายในการโจมตีครั้งนี้มากถึง 9 นาย ทำให้ฝรั่งเศสโกรธมาก และตอบโต้ด้วยการทำลายกองทัพอากาศของโกดติวัวร์ (ที่ประกอบไปด้วยเครื่องบินรบ 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ) การต่อสู้ยืดเยื้อจนถึงปี 2007 มีการเซ็นสัญญาสงบศึกอีกครั้ง และการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็ถูกจัดขึ้นในปี 2010
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ Alassane Outtara กลับมาได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 54% แต่ทางฝ่ายของ Gbagbo กลับบอกว่าให้ผลการเลือกตั้งของ 7 จังหวัดทางภาคเหนือที่เป็นฐานของกลุ่มกบฏเป็นโมฆะ และประกาศให้ตัวเอง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป ซึ่งก็ทำให้เกิดการประท้วงอีกครั้งจนบานปลายกลายมาเป็นสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 และทุกอย่างสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน ปี 2011 เมื่อ Gbagbo โดนจับและโดนตัดสินว่ามีความผิดโทษฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน
Alassane Outtara (https://www.bbc.com/news/world-africa-51911380)
ในปัจจุบันโกดติวัร์กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว เพราะในช่วงสงครามกลางเมืองทั้ง 2 ครั้งนั้น สาธารณูปโภคต่าง ๆ ถูกทำลายไปเกือบหมด เรียกได้ว่าสิ่งที่ได้มาจากปาฏิหารย์ช็อคโกแลตที่ใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี แทบจะหายไปหมดภายในเวลาไม่นาน แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ทุกอย่างกำลังไปได้ดี การส่งออกโกโก้กลายมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกอีกครั้ง เศรษฐกิจเติบโต และที่สำคัญคือการเมืองในประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตประเทศนี้อาจจะมีปาฏิหาริย์มาให้เราได้เห็นอีกก็เป็นได้ และถ้าวันนั้นมาถึง หนึ่งในคนที่ดีใจที่สุดก็เห็นจะเป็น Félix Houphouët-Boigny นั่นเอง
เมือง Abidjan ในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของแอฟริกาตะวันตก (www.voyageafrique.com)
จบไปแล้วนะครับ กับเรื่องราวของ Félix Houphouët-Boigny หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะได้รู้จักกับผู้นำคนนี้กันมากขึ้น ถ้าถามว่า Félix เป็นผู้นำที่ดีมั้ย อันนี้เราก็อาจต้องขึ้นกับความคิดของแต่ละคนนะครับ สามารถ comment กันมาได้ แล้วครั้งหน้าจะพยายามหาเรื่องราวดีดีมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ :)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา