3 ก.พ. 2021 เวลา 12:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เนื้องอกใน “ไดโนเสาร์”
เมื่อพูดถึงเนื้องอก หลายคนคงนึกถึงโรคมะเร็งที่เกิดกับมนุษย์ หรือไม่ก็ก้อนเนื้อที่เกิดจากสาเหตุอื่น
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้มีการศึกษาและพบว่าสัตว์เมื่อกว่าล้านปีที่แล้วอย่าง “ไดโนเสาร์” ก็มีภาวะของเนื้องอกเช่นกัน
เมื่อปีค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ชนิดหนึ่งที่อยู่บนโลกเมื่อราวๆ 66 ล้านปีก่อน และพบว่ามันมีภาวะ “เนื้องอก”
1
เนื้องอกที่ว่าเรียกว่า “LCH (Langerhans cell histiocytosis)” และปัจจุบัน เนื้องอกชนิดนี้ก็ยังพบอยู่ในคนทั่วไป โดยเฉพาะกับเด็กผู้ชาย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในอิสราเอล ได้ตรวจพบเนื้องอกของไดโนเสาร์พันธุ์ “เฮโดรซอร์ (Hadrosaur)” ซึ่งขุดพบที่แคนาดา และพบสัญญาณของโรคในตัวอย่างฟอสซิล
เฮโดรซอร์ (Hadrosaur)
เมื่อมีการนำฟอสซิลของเฮโดรซอร์มาเทียบกับกระโหลกมนุษย์ที่มีเนื้องอก LCH ก็พบว่ามันเป็นชนิดเดียวกันและเนื้องอกนี้ก็ได้เกิดในเฮโดรซอร์ก่อนที่จะมีมนุษย์เป็นเวลานับล้านปี
ทีมนักวิจัยได้ลองใช้เทคโนโลยีไมโครซีทีสแกน ตรวจสอบฟอสซิลและจำลองภาพขึ้นมาใหม่ เปรียบเทียบกับเนื้องอกในมนุษย์
ถึงแม้ว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการพบเนื้องอก LCH ในสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่จากการศึกษา ก็พบว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิดก็มีปัญหาสุขภาพไม่ต่างจากมนุษย์ เช่น “ไทรันโนซอริด (Tyrannosaurid)” ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นเกาท์ ไดโนเสาร์บางประเภทก็อาจจะเป็นโรคทางไขข้อ
สำหรับโรคมะเร็งนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ไดโนเสาร์อาจจะเป็นมะเร็งได้ หากแต่ LCH บางครั้งก็อาจจะหายไปเอง จึงเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าควรจะจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับมะเร็งหรือไม่
1
การศึกษาเรื่องของโรคในสัตว์ดึกดำบรรพ์ ทำให้ทราบว่าสัตว์เหล่านี้ก็ประสบกับความเจ็บป่วยไม่ต่างจากมนุษย์ และอาจะทำให้ทราบถึงวิวัฒนาการ ซึ่งบางที สามารถนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันและรักษาในมนุษย์ก็เป็นได้
โฆษณา