6 ก.พ. 2021 เวลา 06:31 • หนังสือ
A Gentleman in Moscow - Amor Towles
ประเทศรัสเซีย ช่วงปี 1920s - 1990s
ไม่มีเล่มไหนเหมาะกับการกักตัวอยู่บ้านเท่าเล่มนี้อีกแล้ว ทั้งเบาสมอง ซึ้งกินใจ สอดแทรกด้วยมุกเสียดสีแสบๆคันๆ เปี่ยมเสน่ห์และบรรยากาศที่สวยงาม เหมือนดูหนังของ Wes Anderson ที่ผสมผสานกลิ่นอายวิถีชีวิตหลังม่านเหล็ก ช่วงยุคเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัสเซียได้อย่างแยบยล
ปี 1922 ท่านเคานต์อเล็กซานเดอร์ รอสตอฟ ถูกจับกุมตัวในคดีการเมือง หลังได้รับการพิพากษาไต่สวนจากพรรคบอลเชวิค ผลปรากฏว่ามีความผิดจริง โทษฐานปลุกระดม อันเนื่องมาจากจากบทกวีที่เคยประพันธ์ไว้เมื่อหลายปีก่อน ในฐานะที่เป็นเจ้าขุนมูลนายเก่า ทุกคนเชื่อว่าอเล็กซานเดอร์คงต้องโดนยิงเป้าตายแน่แล้ว แต่เรื่องกลับพลิกผัน ดูเหมือนแต้มบุญของท่านเคานต์จะยังไม่หมดแค่นี้ เพราะผลการตัดสินจากศาลคือเขาต้องถูกกักบริเวณ (house arrest) อยู่ภายในโรงแรมเมโทรโพล ที่พำนักประจำของเขาไปตลอดชีวิต แม้เพียงก้าวขาเพียงหนึ่งก้าวออกจากอาณาบริเวณโรงแรม ก็อาจหมายถึงความตาย นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวอันน่าประทับใจที่เกิดขึ้นกับอเล็กซานเดอร์ และคนรอบข้างของเขา กับเรื่องราววุ่นๆที่เกิดขึ้นภายในรั้วโรงแรมเมโทรโพลอันเป็นที่รัก
ชีวิตที่เปลี่ยนผัน จากผู้ดีตีนแดงที่เชื่อมั่นในความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่เคยจะต้องทำงานเลยมาทั้งชีวิต มาบัดนี้ต้องโดนอัปเปหิขึ้นไปนอนห้องใต้หลังคาที่แคบยังกับรูหนู เฝ้ามองประวัติศาสตร์โหดสัสรัสเซียเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่เคลื่อนผ่าน นี่คือชีวิตของชายคนหนึ่งที่เปี่ยมล้นด้วยไหวพริบปฎิภาน มิตรภาพ และความรัก เกิดเป็นเรื่องราวอันแสนดีต่อใจ ที่เรียงร้อยขึ้นระหว่างหนึ่งชีวิตที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ กับอีกนับร้อยพันชีวิตที่เคลื่อนไหวผ่านประตูโรงแรมเมโทรโพลตลอดสี่ทศวรรษนับจากนี้ ขอเตือนว่าทุกอย่างกำลังจะเคลื่อนผ่านไปไวจนคนอ่านอาจจะตั้งตัวไม่ทัน
จุดที่ชอบมากๆคือวิธีการเล่าเรื่องที่ผสมเกร็ดประวัติศาสตร์ลงไปในเรื่องราวดราม่า ออกมาเป็นเรื่องราวที่ตลกชวนหัว (เหมือนหนังเรื่อง Forest Gump) ทาวลส์คืออีกหนึ่งอีกนักเขียนที่ใช้ความน้อยแต่มากสร้างอิมแพคมหาศาลให้กับอารมณ์ร่วมของคนอ่าน ในทุกคำทุกประโยคคือชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ ตัวละครแต่ละตัวมีเสน่ห์ บุคลิก และเรื่องราวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอันเดร หัวหน้าบริกรสุดเนี้ยบ, เอมิล หัวหน้าเชฟเลือดร้อน, มาริน่า ช่างตัดเย็บผู้แทนใจดี ไปจนถึงนิน่า เด็กน้อยเจ้าปัญหา และ อันนา ดาราสาวที่อาจจะ(หรืออาจจะไม่)มีความสัมพันธ์ล้ำลึกกับท่านเคานต์ของเราก็ได้ เล่นยกขบวนกันมาขนาดนี้ บอกได้เลยว่า แม้ไม่มีอิสรภาพ แต่อเล็กซานเดอร์คือชายที่โชคดีที่สุดในมอสโคว์อย่างไม่ต้องสงสัย
สำหรับใครที่กลัวว่าความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัสเซียของตัวเองจะน้อยไปหน่อยจนไม่อิน ขอบอกว่าไม่ต้องกลัว เนื้อหาการเมืองไม่ได้เข้มข้นจนเป็นหัวใจหลักของเนื้อเรื่องขนาดนั้น ดำเนินเรื่องไปตามเส้นเวลาตามเหตุการณ์จริงแบบที่มันควรจะเป็น เหนือสิ่งอื่นใด เราว่าหนังสือเล่มนี้เล่นกับความสัมพันธ์ของคน และมุมมองการมองโลกในแง่บวกท่ามกลางความเลวร้ายในชีวิตจริงมากกว่า จุดที่อาจจะต้องระวังคือ สำนวนการเขียนมีความเน้นกฎเหล็ก Show don’t tell (แสดงให้เห็นมากกว่าการบอกไปตรงๆ) เป็นอย่างมาก ต้องใช้สติในการอ่านนิดหน่อยบางตอน ไม่งั้นจะไม่เก็ทมุกเอาได้ง่ายๆ
เล่มนี้คือหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2016 อย่างไม่มีข้อสงสัย มีครบทุกรส เรียกทั้งน้ำตาและเสียงหัวเราะได้อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนดูหนังระดับรางวัลออสการ์ที่เราอดไม่ได้ต้องลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับความอิ่มใจ และความสุขที่หนังสือเล่มนี้มอบให้ โคตรดีใจเลยที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่รู้จะอวยยังไงแล้ว รักมาก
บันทึกไว้เมื่อ 25 พฤษภาคม 2017
โฆษณา