8 ก.พ. 2021 เวลา 23:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หัวใจทำงานอย่างไร?
1
หัวใจทำงานอย่างไร?
ระบบหัวใจ และ หลอดเลือด เป็นเหมือนระบบหลักที่คอยหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ หน้าที่หลักคือการขนส่งสารอาหารที่สำคัญในการดำรงชีวิตไปสู่เนื้อเยื่อทุกระบบ เพื่อให้ทุกระบบสามารถทำงานได้อย่างปกติ
1
การลำเลียงสารอาหารเหล่านี้จะมี “หลอดเลือด” เป็นท่อนำทาง และมี “หัวใจ” ทำหน้าที่ปั๊ม ปั้มเพื่อให้เกิดการหมุนเวียน โดยการบีบตัวของหัวใจเกิดจาก เซลล์กำเนิดไฟฟ้าในหัวใจ สั่งการให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวครับ ส่วนทิศทางการไหลของเลือดโดนกำหนดโดยลิ้นหัวใจเป็นหลัก
#สาระจี๊ดจี๊ด
หัวใจ และ หลอดเลือด จะทำงานควบคู่กัน ทั้งคู่มีเป้าหมายไปในทางเดียวกันคือการส่งผ่านเลือดและสารอาหารไปสู่เนื้อเยื่อในระบบต่าง ๆ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความดันโลหิต” โดยกระแสเลือดจะนำพาสารอาหารและแก๊สที่ จำเป็นในการดำรงชีวิตเช่น กลูโคส โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และ ออกซิเจน เหล่านี้ไปสู่เซลล์ และนำสารที่เป็นพิษเช่น แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ ไปทำลาย
การทำงานของหัวใจ
การทำงานของหัวใจอาศัยกลไกทางสรีรวิทยาคือ การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1. คลื่นไฟฟ้าหัวใจ
สิ่งนี้เกิดจากเซลล์พิเศษที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง (Pacemaker cell) ซึ่งเซลล์นี้พบได้ในหัวใจเท่านั้น โดยมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ ในหัวใจห้องบนขวา (SA node) และ ต่ำลงมาระหว่างห้องบนและห้องล่าง (AV node) เซลล์เหล่านี้จะสร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ โดยห้องบนจะสร้างจังหวะที่รวดเร็วกว่าจึงเป็นตัวหลักในการกำหนดจังหวะ กระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านจากห้องบน วิ่งลงมาที่ห้องล่างโดยมีการหน่วงเล็กน้อยที่ระหว่างทาง ทำให้หัวใจห้องบนบีบตัวก่อนห้องล่างเล็กน้อยเพื่อเป็นการไล่เลือดตามทิศทางที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง
2. การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
หลังจากได้รับกระแสไฟฟ้ามากระตุ้นที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจลดปริมาตรลงเพื่อบีบเลือดไปตามเส้นเลือด
3. การหมุนเวียนเลือด
ในหัวใจมีการกำหนดทิศทางการไหลของเลือดโดยอวัยวะหลักคือ “ลิ้นหัวใจ” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวปิดกันให้มีการไหลเวียนแบบทิศทางเดียว ไม่มีย้อนกลับ โดยมีการหมุนเวียนสองระบบคือ ระบบส่งเลือดเสียไปปอดเพื่อทำการเติมออกซิเจน (ใช้หัวใจซีกขวา) และ ระบบส่งเลือดดีไปเลี้ยงทั่วร่างกาย (ใช้หัวใจซีกซ้าย) และแน่นอนว่าหัวใจที่ทำงานหนักที่สุด คือหัวใจห้องล่างซ้าย จึงทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดและลิ้นหัวใจห้องนี้ก็มีความแข็งแรงที่สุดเช่นกัน และแน่นอนอีกว่า หัวใจห้องที่มักมีปัญหาก็คือห้องล่างซ้ายเช่นเดิม
การทำงานของหลอดเลือด
หลอดเลือดมีสองระบบ ในทางสากล คือ หลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ (Artery) และหลอดเลือดขากลับเข้าสู่หัวใจ (Vein) แต่ไทยเรามาแปลเป็นหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ เพื่อความเข้าใจง่าย
การไหลเวียนเลือดจะออกจากหัวใจห้องล่างซ้าย ผ่าน Artery ขนาดใหญ่ และลดขนาดลงเรื่อย ๆตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนถึงขนาดเล็กที่สุด จะมีการแลกเปลี่ยนสารเคมี และ แก๊ส จำนวนมาก กับเซลล์เนื้อเยื่อ และสุดท้ายนำของเสียจากเซลล์ ลำเลียงผ่าน Vein ขนาดเล็ก และ รวมกันจนขนาดใหญ่ขึ้นกลับเข้าไปที่ห้องขวาเพื่อส่งไปที่ปอดต่อไป
Artery เป็นเส้นเลือดที่รับความดันจากการปั๊มของหัวใจ จึงปรับตัวให้มีความหนาและความแข็งแรงที่มากกว่า Vein และสามารถหดตัวเพื่อเพิ่มความดันของตัวเองได้ ซึ่งจะเกิดในกรณีที่หัวใจปั๊มเลือดได้ไม่แรงพอ กระบวนการนี้จะถูกควบคุมผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา