6 ก.พ. 2021 เวลา 23:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำความรู้จักกับ "ภาวะหัวใจสลาย"
2
ทำความรู้จักกับ "ภาวะหัวใจสลาย"
สภาวะความเจ็บปวดทางใจนั้นต่างออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี หากเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว เช่น การสูญเสียพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัว ญาติสนิท เผชิญการหย่าร้าง
ทุกคนจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงแวะเวียนมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ออฟฟิศให้ลาหยุด เป็นภาวะหัวใจสลายที่ถือว่า “ยิ่งใหญ่” ในสายตาสังคม
แล้วถ้าเราอกหักจากแฟนที่ทิ้งเราไป หรือ สัตว์เลี้ยงที่อยู่เคียงข้างกันมาเป็น 10 ปีตายจากเราไปล่ะ? เพื่อน ๆ จะยังแวะเวียนมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่องไหม? ออฟฟิศจะให้ลาหยุดนาน ๆ หรือเปล่า?
ภาวะหัวใจสลายบางประเภทนั้น ผู้คนจะเห็นใจเราแค่เพียงชั่วคราว แต่ถ้าเราฟื้นตัวไม่เร็วดังที่พวกเขาคาดไว้ (ซึ่งก็มักจะเป็นเวลาที่น้อยเกินไป) พวกเขาก็เริ่มจะมองว่าเรา...
“น่ารำคาญ”
“ทำไมไม่มูฟออนสักที”
“กะอีเรื่องแค่นี้ ทำไมฟูมฟายจัง”
1. คนหัวใจสลาย ถูกทอดทิ้งได้อย่างไร?
คนหัวใจสลายหลาย ๆ คนนั้นมักถูกทอดทิ้ง ให้ยิ่งพบกับความเศร้าโศกเดียวดายหนักขึ้นไปอีก อย่างที่เกริ่นไปตอนแรก หากเราสูญเสียญาติลำดับที่ 1 (พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง) หรือญาติสนิท คนรอบข้างก็พร้อมจะเข้ามาห่วงใย รับฟัง และปลอบโยน
แต่พอเป็นการอกหัก หรือเสียสัตว์เลี้ยง กลับไม่ใช่รูปแบบของความเศร้าเสียใจที่สังคมยอมรับ คนรอบข้างก็จะไม่ได้ใส่ใจมากเท่าที่ควร นอกจากนั้น เรายังมักจะเผชิญกับความเครียดเพิ่มเติม ทำให้หดหู่ยิ่งขึ้น
ตัวอย่างก็เช่น...
เราอาจจะทำงานได้ไม่ดี จนโดนเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้ากดดัน เพื่อน ๆ เริ่มไม่อยากเจอหน้าเรา เพราะเราเอาแต่บ่นเรื่องเดิม ๆ เป็นต้น
หนึ่งในความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เรามักทำเวลาหัวใจสลายคือ เราเรียกร้องความช่วยเหลือจากคนที่สนับสนุนเรามากเกินไป
เราอยากระบายทุกอย่างออกมา และหวังว่าจะมีคนรับฟัง ปลอบโยน ไปถึงที่สุดแห่งความเสียใจครั้งนี้ แต่โชคร้ายที่หลาย ๆ คนไม่ได้มีอารมณ์ร่วมมากพอกับประสบการณ์ของเรา
และสุดท้ายพวกเขาก็จะตัดสินเราว่า...
“เฮ้ย ฟูมฟายมากไปป้ะ เรื่องแค่นี้ มูฟออนได้แล้ว อย่ามาสำออย”
เมื่อถูกหล่อหลอมด้วยความคิดของสังคมรอบด้าน เราก็จะมองว่าความเศร้าเสียใจของเราเป็นเรื่องน่าอาย ยิ่งทำให้เราปวดร้าวใจมากขึ้นอีก และฟื้นตัวยากขึ้น
ดังนั้น...
เวลาหัวใจสลาย เราควรปฏิเสธการเมินเฉย และแสวงหาคนที่ยอมรับความรู้สึกของเราจริง ๆ (หลายคนเลยหันไปหานักจิตบำบัดแทน ทั้ง ๆ ที่คนที่ควรช่วยเหลือคนแรกควรจะเป็นคนรอบข้าง)
หนึ่งในเหตุผลที่สังคมไม่ให้คุณค่ากับอาการหัวใจสลายบางประเภทก็คือ เราไม่เข้าใจเต็มร้อยถึงขอบเขตของผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และสมองของเรา มันไม่ใช่อะไรที่มองเห็นได้ชัด ไม่เหมือนบาดแผลสด ๆ บนผิวหนัง
แต่ผลการศึกษาจากนักวิทยาศาสตร์กำลังจะเผยให้เห็นถึงผลกระทบนั้น ๆ แล้ว
2. เมื่อหัวใจแหลกสลาย สมองและร่างกายก็พลอยแหลกสลายไปด้วย
1
หัวใจสลายไม่ใช่แค่คำอุปมาอุปมัย แต่มันส่งผลกระทบโดยรวมต่อร่างกาย จิตใจ และสมองของเรา ทำให้การใช้ชีวิตของเรารวนไปหมด อาการหนัก ๆ ที่อก หรืออยู่ดี ๆ ก็หมดสติไป มันไม่ใช่แค่การมโน แต่อาจเป็นผลกระทบจากอาการหัวใจสลายก็เป็นได้
 
และอาการหัวใจสลายนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากการอาการเจ็บปวดทางร่างกายเลย
เคยมีการทดลองของอีธาน ครอส กับเพื่อนร่วมงานที่มหา’ลัยมิชิแกน ซึ่งรวบรวมอาสาสมัครซึ่งเพิ่งอกหักมา พวกเขาถูกจับเข้าเครื่อง FMRI ซึ่งเครื่องนี้จะแสดงให้เห็นบริเวณของสมองที่มีเลือดไหลเวียนมากขึ้น แสดงถึงกิจกรรมที่มากขึ้น
 
การทดสอบแรกนั้นพวกเขาต้องจ้องรูปถ่ายของคนที่เพิ่งเลิกกันไป ส่วนการทดสอบที่สองพวกเขาจะโดนเครื่องถ่ายความร้อนเข้าต้นแขน ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดเจ็บปวด
โดยมีสเกลสูงสุดคือจุดที่ “ไม่อาจทนได้” ผลก็คือบริเวณของสมองที่มีปฏิกิริยาตอบสนองนั้นเหมือนกันทั้งคู่ โดยปฏิกิริยาต่ออาการหัวใจสลายนั้นต่ำกว่าจุดที่ “ไม่อาจทนได้” ไม่กี่จุดเท่านั้น…
คิดเอา!!
ขนาดแค่ปวดหัวหรือท้องเสียนิดหน่อย ยังส่งผลต่อการทำงาน ลองคิดดูว่าหากเจออาการเจ็บปวดขนาดเกือบจะ “ไม่อาจทนได้” จะยังทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อไปได้ยังไง?
ในอีกการศึกษาหนึ่ง...
แค่ให้ผู้ทดลองคิดถึงการอยู่โดยปราศจากคู่ชีวิตก็มากพอที่จะส่งผลให้ไอคิวลดต่ำลงชั่วคราว ทำให้ตรรกะและเหตุผลแย่ลงด้วย
จึงไม่แปลกเลยว่าเวลาใครเพิ่งเจออาการหัวใจสลาย สมรรถภาพการคิดด้วยเหตุผลก็จะแย่ลง พวกเขาจะไม่สามารถยอมรับเหตุผลที่เลิกรากันไปได้อย่างง่าย ๆ
หากเป็นสถานการณ์เรื่องความรัก เช่น แฟนบอกเลิก การตัดขาดจากทุกอย่างทันทีจะเป็นเหมือนการเลิกยาเสพติด ซึ่งจะทรมานมาก
หลายคนจึงยังอาลัยอาวรณ์ ยังไปส่องโซเชียล ย้อนดูรูปถ่าย หวนคิดถึงวันวาน เป็นการให้ยาตัวเองไปเรื่อย ๆ แต่หารู้ไม่ว่าจะยิ่งทำให้ฟื้นตัวได้ยากขึ้น
โดยผลการศึกษาก็ยืนยันว่า ความรักโรแมนติกมีส่วนเกี่ยวข้องกับประสาทชีวเคมีที่เกี่ยวข้องการการเสพติด
ทางที่จะหยุดการเสพติดนี้ได้คือ ต้องตัดขาดทุกอย่าง ตัดโซเชียล บล็อกทุกช่องทางที่จะทำให้นึกถึงอีกฝ่าย
3. ความผิดพลาดหลายอย่างที่ทำให้เราไปไม่ถึง
3.1 ไม่ยอมรับเหตุผลของการเลิกรากัน และมัวแต่หาสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่มีอยู่จริง
คนที่เพิ่งอกหักมา สกิลการวิเคราะห์หรือมองอะไร ๆ ด้วยเหตุผลจะบกพร่องชั่วขณะ อีกฝ่ายอธิบายอะไรมา ก็ไม่ขอรับรู้ ไม่ยอมรับความจริง
แทนที่จะเข้าใจเหตุผลนั้น ๆ เราอาจจะพยายามหาเห็นผลอื่น เช่น เราเผลอทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า เราทำพลาดตรงไหนไป
3.2 โทษตัวเอง มองตัวเองในแง่ลบ
หลายคนโทษตัวเองว่า...
“ถ้าเราทำอย่างนั้น เรื่องนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้” แต่เอาเข้าจริง ตอนนั้นใครมันจะไปคิด?
บางคนอาจจะคิดว่า...
“เพราะเราไม่สวยใช่มั้ย ถ้าสวยกว่านี้ ก็คงดีกว่านี้สินะ”
ซึ่งนี่ก็อีกละ… ความคิดกดทับตัวเอง
เลิกมองตัวเองในแง่ลบ แล้วหันมาเคารพตัวเอง ให้อภัยตัวเอง ปลอบใจว่าไม่เป็นไร ทำดีที่สุดแล้ว
3.3 ไม่มองถึงข้อเสียของอีกฝ่าย
บางคนจะเกิดอาการเห็นคนเก่าเป็นเหมือนเทพเจ้า ไม่มีใครดีเท่าเธออีกแล้ว มองแต่ข้อดี และคิดว่าเขาเป็นคนดีเลิศ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เราจมกับความเสียดายมากขึ้น
นอกจากนี้ มันยังปิดกั้นโอกาสให้เราเจอคนใหม่ ๆ ด้วย
ทางที่ดี ควรถ่วงดุลข้อดีด้วยข้อเสียอีกฝ่าย จำให้ได้ว่าเราเคยรำคาญเค้าตรงไหน ไม่ชอบเค้าตรงไหน อยากให้แก้ไขอะไรแล้วไม่ยอมแก้ อย่ามองแต่เรื่องราวดี ๆ ที่ผ่านมาหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ต้องคิดถึงอีกฝ่ายมากเกินไป
เคยไปกินร้านนี้ตอนเดตแรกกับเขา…
ต่อจากนี้จะไม่ไปเยือนร้านนี้แล้ว ไปแล้วเจ็บ!
เคยขี่จักรยานโดยมีแมวอยู่ใกล้ ๆ… ต่อจากนี้คงไม่ขี่แล้ว ขี่แล้วจะร้องไห้
1
หยุดทำให้ทุกอย่างมีร่องรอยของอีกฝ่าย เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบทางอารมณ์ที่มากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้กระทบบางแง่มุมของชีวิตอีกด้วย
ทางแก้คือเราต้องชำระล้าง ด้วยการทำสิ่งเดิม ๆ กับคนใหม่ ๆ เช่น ไปกินร้านอาหารที่เคยกินกับแฟน แต่คราวนี้ไปกับเพื่อนแทน ก็จะได้บรรยากาศใหม่ ๆ มาทาบทับ (แต่อย่าพูดถึงแฟนเก่าในวงสนทนานะ เดี๋ยวอาการกำเริบ)
3.4 ยึตติดอยู่กับสิ่งเตือนใจ
จะยิ่งทำให้เราไม่สามารถหลุดพ้นความเศร้าได้
ในขณะเดียวกัน หากยึดติดกับข้าวของต่าง ๆ ของอีกฝ่ายมากเกินไป ก็จะยิ่งทำให้เราลืมความรู้สึกเศร้าใจไปไม่ได้สักที
ไม่ใช่แค่ข้าวของที่จับต้องได้อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงข้าวของออนไลน์ต่าง ๆ เช่นรูป วิดีโอ โซเชียลมีเดียด้วย
ทางแก้ก็คือ…
อาจฟังดูโหดร้าย แต่จุดนี้ก็ต้อง ทิ้ง ทิ้ง ทิ้ง อย่างเดียว
4. การเยียวยาเริ่มต้นในจิตใจ
วิธีการเยียวยาจิตใจให้หายกลับเป็นปกติเหมือนเดิม
ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่าร่างกายจะเยียวยาตัวเองโดยอัตโนมัติเวลาเป็นแผล หรือป่วย แต่จิตใจไม่เป็นเช่นนั้น แทนที่จะเยียวยา จิตใจจะดึงภาพความผิดหวังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มาวนฉายซ้ำไม่ให้เราผิดพลาดแบบเดิม
ดังนั้น เวลาเราจะทำอะไรที่คล้าย ๆ เดิม ก็จะเกิดความรู้สึกกลัว แต่ยิ่งเราติดกับมันเท่าไร เราก็จะยิ่งไปไหนไม่ได้ ทางออกคือเราต้องทำสวนทางกับจิตใจ คือลุยต่อไปข้างหน้าแม้ว่าจิตใจจะห้ามก็ตาม
และนี่ก็คือวิธีการเยียวยาตัวเองให้หายดีได้เร็วขึ้น ขอลิสต์เพื่อความเข้าใจง่ายเช่นกัน
4.1 ปล่อยวาง
พูดง่ายแต่ทำยาก คือเราต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นแบบนี้เอง เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ยอมรับเหตุผลที่มันเกิดขึ้น บอกตัวเองว่าเราทำเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว
4.2 เมตตาตัวเอง
การมัวแต่เกลียดตัวเอง โทษตัวเอง ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา หนำซ้ำจะยิ่งทุกข์หนักไปอีก ทางที่ดี ต้องฝึกการเมตตาตัวเอง รักตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง แล้วเราก็จะหลุดพ้นอาการหัวใจสลายได้เร็วขึ้น
4.3 เติมช่องว่าง
อาการหัวใจสลายมาพร้อมช่องว่างมากมายที่เกิดขึ้น เราโหยหาความสัมพันธ์ ความรัก ความผูกพันที่สูญเสียไป จริง ๆ ทางที่แก้ได้ง่ายและเร็วก็คือ การหาตัวแทน ไม่ว่าจะเป็นคนคุยใหม่ หรือสัตว์เลี้ยงใหม่ แต่หลาย ๆ คนอาจจะไม่สบายใจกับวิธีนี้เท่าไร บ้างก็รู้สึกว่าเร็วไปไหม บ้างก็รู้สึกผิด บ้างก็อยากเจอคนที่ใช่จริง ๆ ถึงจะยอมไปต่อ
ซึ่งก็จริง การหาตัวแทนมาเร็วเกินไปอาจจะไม่ควร แต่เราก็ไม่ต้องรอจนกว่าจะหายสนิทก็ได้ การเติมช่องว่างจะช่วยให้เราฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะมันเหมือนเราถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเรื่องเศร้า ๆ ด้วยสิ่งใหม่ ๆ
4.4 เจริญสติ
กลับมาธรรมะจนได้ในที่สุด ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไร เพราะศาสนาพุทธเรามีแนวทางการพ้นทุกข์อยู่แล้ว การเจริญสติก็คือการรู้สภาวะรอบด้าน ทั้งภายในและภายนอกตัวเอง เราได้ยินเสียง ก็รู้ว่าได้ยิน เราเผลอไปคิดถึงใคร ก็รู้ว่ากำลังคิดถึงเค้าคนนั้น
การรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ จะสามารถทำให้เราดึงตัวเองออกมาได้ไว กลายมาเป็นบุคคลที่ 3 ที่มองความคิดตัวเอง แทนที่จะเป็นบุคคลที่ 1 ที่กำลังดำดิ่งไปกับความคิดถึงนั้น ๆ นิยามตัวตนของเราใหม่
#สาระจี๊ดจี๊ด
ภาวะ “หัวใจสลาย” (Heartbroken) ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายและจิตใจทั้งนั้น
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา
หนังสือ : How to fixed a broken heart
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
โฆษณา