10 ก.พ. 2021 เวลา 11:04 • ประวัติศาสตร์
“จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II of Russia)” ซาร์องค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย
1
“จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II of Russia)” เป็น “ซาร์ (Czar)” หรือจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย
ที่ผ่านมา ผมเคยเขียนเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองในรัสเซียไว้หลายบทความ รวมทั้งการสังหารราชวงศ์โรมานอฟ
2
แต่ในบทความนี้ ผมจะเขียนถึงพระราชประวัติและเรื่องราวของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 โดยผมขออนุญาตเรียกย่อๆ ว่า “พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2”
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จพระราชสมภพในเมืองซาร์กอเย เซโล ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411)
1
พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Alexander III)” กับ “จักรพรรดินีมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Empress Maria Feodorovna of Russia)” โดยพระราชชนนีเป็นอดีตเจ้าหญิงแห่งเดนมาร์ก
2
จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Alexander III)
จักรพรรดินีมาเรีย เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Empress Maria Feodorovna of Russia)
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงมีพระอนุชาสามพระองค์ พระขนิษฐาอีกสองพระองค์ โดยพระองค์และพระพี่น้องนั้น ล้วนแต่เป็นพระญาติใกล้ชิดกับเชื้อพระวงศ์ยุโรปองค์อื่นๆ ทั้งราชวงศ์อังกฤษและเยอรมัน
ในปีค.ศ.1881 (พ.ศ.2424) พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระราชบิดาของพระองค์ ได้ขึ้นเป็นซาร์ เนื่องจาก “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 (Alexander II)” ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยระเบิดและสวรรคตในเวลาต่อมา
ในเวลานั้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระอัยกา (ปู่) ของพระองค์ซึ่งทรงบาดเจ็บสาหัส ถูกนำเสด็จกลับพระราชวังและสวรรคต
การปลงพระชนม์จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2
ภายหลังจากพระอัยกาสวรรคต พระราชบิดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นซาร์แห่งรัสเซีย และตำแหน่งองค์รัชทายาทก็ตกเป็นของพระองค์
ถึงแม้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จะทรงเติบโตในพระราชวัง แต่พระองค์ก็ทรงโตมาอย่างเข้มงวด ไม่ได้มีชีวิตอย่างหรูหรา พระราชบิดาของพระองค์ก็ทรงใช้ชีวิตเรียบง่าย มักจะฉลองพระองค์ธรรมดาๆ เหมือนชาวบ้าน ในเวลาเช้าก็มักจะชงกาแฟด้วยพระองค์เอง ไม่ได้ฟู่ฟ่าอะไร
4
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงได้รับการถวายการสอนจากพระอาจารย์หลายคน โดยพระองค์ได้ทรงเรียนภาษาต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิทยาศาสต์ และยังได้รับการสอนการขี่ม้า ยิงปืน และเต้นรำ แต่สิ่งที่พระองค์ไม่ได้รับการสอนมากนักคือการบริหารประเทศ การเป็นพระประมุข
ในเวลานั้น พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง มีส่วนสูงพระวรกายถึง 193 เซนติเมตร และคาดว่าจะครองราชย์ได้อีกนาน พระองค์จึงทรงคิดว่ามีเวลาอีกนานในการเตรียมพร้อมพระราชโอรสสำหรับการบริหารประเทศ
1
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ขณะทรงพระเยาว์
ขณะมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงเข้าร่วมกับกองทัพรัสเซีย ประจำในกองทหารปืนใหญ่ม้า หากแต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงร่วมรบหรือทำอะไรมากนัก เนื่องจากพระองค์เป็นองค์รัชทายาท
พระองค์ทรงเพลิดเพลินและพอพระราชหฤทัยในความสะดวกสบาย ทรงใช้เวลาว่างไปกับการออกงานปาร์ตี้และงานเต้นรำต่างๆ ไม่ต้องรับผิดชอบงานอะไรมากนัก
1
ในปีค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และพระอนุชา ได้เสด็จทางเรือและรถไฟไปเยี่ยมเยียนประเทศในตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ไทย และญี่ปุ่น
1
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ขณะเป็นองค์รัชทายาท (ประทับตรงกลาง) กับรัชกาลที่ 5 (ประทับทางขวา) และสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (ประทับทางซ้าย)
ขณะอยู่ในญี่ปุ่นในปีค.ศ.1891 (พ.ศ.2434) ได้มีชาวญี่ปุ่นบุกเข้ามาจะปลงพระชนม์ของพระองค์ โดยจะใช้ดาบตัดพระเศียร หากแต่พระองค์ทรงรอดมาได้โดยได้รับบาดเจ็บที่พระเศียร และจากเหตุการณ์นี้ ทำให้พระราชบิดาของพระองค์มีรับสั่งให้เสด็จกลับรัสเซีย
2
ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) พระองค์ได้ทรงพบกับ “เจ้าหญิงอาลิกซ์แห่งเฮ็สเซิน (Princess Alix of Hessen)” ในงานเสกสมรสของพระญาติ
ในเวลานั้น พระองค์มีพระชนมายุ 16 พรรษา ส่วนเจ้าหญิงอาลิกซ์มีพระชนมายุ 12 พรรษา และในเวลาต่อมา ทั้งสองพระองค์ก็ได้ทรงพบกันอีกเรื่อยๆ ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงโปรดเจ้าหญิงอาลิกซ์ และได้เขียนลงในบันทึกว่าพระองค์ทรงฝันว่าซักวันหนึ่งจะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอาลิกซ์
เจ้าหญิงอาลิกซ์แห่งเฮ็สเซิน (Princess Alix of Hessen) ภายหลังคือ “จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา แห่งรัสเซีย (Alexandra Feodorovna)”
ขณะที่มีพระชนมายุได้ 20 กลางๆ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ถูกคาดหวังให้หาคู่ที่มีฐานะสมน้ำสมเนื้อ พระองค์จึงทรงจบความสัมพันธ์กับนางระบำที่พระองค์มีสัมพันธ์ด้วย และทรงขอเจ้าหญิงอาลิกซ์ในปีค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) หากแต่เจ้าหญิงอาลิกซ์ก็ไม่ได้ทรงตกลงในทันที
เจ้าหญิงอาลิกซ์ทรงมีความศรัทธาในนิกายลูเทอรัน และการอภิเษกสมรสกับองค์รัชทายาทแห่งรัสเซียก็หมายความว่าพระองค์ต้องทรงเปลี่ยนมานับถือนิกายออโธดอกซ์ หากแต่ภายหลังจากที่พระองค์ทรงไตร่ตรองและปรึกษากับพระราชวงศ์ พระองค์ก็ทรงตอบตกลง
หากแต่ก่อนงานอภิเษกสมรสไม่กี่เดือน ในเดือนกันยายน ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ได้ทรงพระประชวรจากพระวักกะ (ไต) อักเสบและสวรรคตในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) ขณะมีพระชนมายุได้ 49 พรรษา
1
พระบรมศพพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3
เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทั้งโศกเศร้าและทั้งกดดันจากภาระต่างๆ ที่พร้อมจะถาโถมเข้าหาพระองค์
2
พระเจ้าซาร์นิโคลัส ในเวลานี้ไม่ใช่องค์รัชทายาทอีกต่อไป หากแต่คือซาร์พระองค์ใหม่ พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะจัดการทุกอย่างให้ดี เริ่มจากการวางแผนจัดงานพระบรมศพให้พระราชบิดา หากแต่ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ ทำให้การจัดงานมีจุดบกพร่องหลายอย่าง ซึ่งพระองค์ก็ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์
26 พฤศจิกายน ค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) เพียง 25 วันหลังการสวรรคตของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 การไว้ทุกข์ก็ถูกระงับเป็นเวลาหนึ่งวันเพื่อให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอาลิกซ์
1
ในเวลานี้ เจ้าหญิงอาลิกซ์ได้เข้านับถือนิกายออโธดอกซ์ และก็ได้เป็น “จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา แห่งรัสเซีย (Alexandra Feodorovna)” ซึ่งทั้งสองพระองค์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการจัดงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์
งานอภิเษกสมรสของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา
ทั้งสองพระองค์ได้ย้ายไปประทับยังพระราชวังอเล็กซานเดอร์ในซาร์กอเย เซโล ก่อนจะมีพระราชโอรสและพระราชธิดาในเวลาต่อมา
2
พฤษภาคม ค.ศ.1896 (พ.ศ.2439) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ได้เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หากแต่ก็เกิดปัญหาในงานเลี้ยงรื่นเริงในที่สาธารณะ
1
ได้เกิดจลาจล แตกตื่นในกรุงมอสโคว ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน หากแต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ไม่ทรงยกเลิกงานเต้นรำและและงานรื่นเริง ทำให้ชาวรัสเซียรู้สึกไม่ดีนัก ต่างรู้สึกว่าพระประมุขของตนไม่ได้ใส่ใจในชีวิตของพวกตน
1
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่ได้ทรงต่างจากผู้นำที่ผ่านๆ มา พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะขยายอาณาจักรรัสเซีย และได้ทอดพระเนตรไปทางตะวันออก ก่อนจะเห็นศักยภาพของพอร์ตอาเทอร์ ซึ่งเป็นเมืองท่าทางใต้ของแมนจูเรีย
ค.ศ.1903 (พ.ศ.2446) รัสเซียได้เข้ายึดครองพอร์ตอาเทอร์ สร้างความไม่พอใจให้ญี่ปุ่น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นก็ถูกกดดันให้ละทิ้งพื้นที่บริเวณนี้ ดังนั้นเมื่อรัสเซียสร้างทางรถไฟเข้ามาในแมนจูเรีย ญี่ปุ่นจึงยิ่งแค้นใจและคิดว่าต้องทำอะไรซักอย่าง
1
ญี่ปุ่นได้ส่งทูตเข้าไปเจรจากับรัสเซียถึงสองครั้ง หากแต่ก็คว้าน้ำเหลวถึงสองครั้ง ทูตต้องเดินทางกลับโดยไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
2
กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) ญี่ปุ่นได้หมดความอดทน และได้เข้าโจมตีเรือรบของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในพอร์ตอาเทอร์โดยที่รัสเซียไม่ทันตั้งตัว ทำให้เรือรบรัสเซียจำนวนสองลำอับปาง และญี่ปุ่นก็ได้ทำการปิดล้อมท่าเรือ
ไม่เพียงแค่นั้น กองทัพญี่ปุ่นที่เตรียมตัวมาอย่างดีได้บดขยี้กองทัพบกรัสเซีย ทำให้กองทัพรัสเซียซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าและไม่ได้เตรียมตัว ต้องพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง ถึงจะพยายามโต้กลับ แต่ข่าวความพ่ายแพ้ทั้งทางบกและทางน้ำก็ทยอยออกมาเรื่อยๆ
2
การโจมตีของญี่ปุ่นต่อกองเรือรัสเซีย
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่ทรงคาดมาก่อนว่าญี่ปุ่นจะก่อสงคราม หากแต่ก็สายไปแล้ว พระองค์ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องยอมแพ้ต่อญี่ปุ่นในเดือนกันยายน ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) ทำให้พระองค์เป็นซาร์พระองค์แรกที่พ่ายแพ้ต่อประเทศในเอเชีย
สงครามครั้งนี้ทำให้ชีวิตทหารรัสเซียสูญเสียไปถึง 80,000 นาย และเผยให้เห็นถึงความอ่อนด้อยทางการทูตและการทหารของพระองค์ ประชาชนชาวรัสเซียเริ่มจะไม่พอใจพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงแค่เรื่องความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่ชนชั้นแรงงานในรัสเซียเริ่มไม่พอใจมาตั้งแต่ฤดูหนาว ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) และเริ่มจะมีการประท้วงในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
1
เหล่าคนงานล้วนแต่คาดหวังถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากแต่พวกเขากลับต้องพบกับการทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมงแลกกับค่าแรงน้อยนิด สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ดี
2
หลายครอบครัวนั้นอดอยาก คนงานหลายรายไม่มีบ้านอยู่ กลายเป็นคนเร่ร่อน
โรงอาหารของคนงานรัสเซีย ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447)
22 มกราคม ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) คนงานนับหมื่นคนในรัสเซียได้มาชุมนุมอย่างสงบหน้าพระราชวังฤดูหนาวในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเหล่าคนงานตั้งกฎว่าห้ามนำอาวุธมาชุมนุม โดยคนงานส่วนใหญ่นำพระบรมฉายาลักษณ์ของเหล่าพระราชวงศ์หรือคัมภีร์มาแทน รวมทั้งฎีกาที่ต้องการจะถวายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
1
ในเวลานั้น พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่ได้ประทับอยู่ในพระราชวังฤดูหนาว หากแต่ที่พระราชวัง ทหารนับพันก็รอเหล่าผู้ประท้วง
1
ทหารเหล่านี้ได้ข่าวลวงว่าเหล่าผู้ประท้วงต้องการจะทำร้ายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และทำลายพระราชวัง เหล่าทหารจึงยิงปืนใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตนับร้อยราย
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้ยิงผู้ชุมนุม แต่ถึงอย่างนั้น พระองค์ก็ต้องทรงรับผิดชอบ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถูกเรียกว่า “วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)” และกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนลุกฮือและเร่งให้เกิดการต่อต้านรัฐบาล ซึ่งพัฒนาเป็น “การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.​ 1905 (1905 Russian Revolution)”
1
วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)
ภายหลังจากการต่อต้านของประชาชนเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ต้องทรงยอมผ่อนปรนให้ประชาชน
30 ตุลาคม ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) พระองค์ได้ทรงออก “แถลงการณ์ว่าด้วยการปรับปรุงคำสั่งของรัฐ" สถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมทั้งสภานิติบัญญัติ ซึ่งเรียกว่า “สภาดูมา (Duma)”
1
แต่ถึงจะดูเหมือนผ่อนปรน หากแต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ไม่ได้ทรงยอมสละอำนาจซะทีเดียว พระองค์ทรงกำหนดให้อำนาจของสภาดูมามีจำกัด งบที่สภาเสนอขอก็ถูกตัดไปเกือบครึ่ง และสภาดูมายังไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในนโยบายต่างประเทศอีกด้วย
4
พูดง่ายๆ คืออำนาจหลักๆ ยังคงเป็นของพระองค์
1
แถลงการณ์ว่าด้วยการปรับปรุงคำสั่งของรัฐ
การก่อตั้งสภาดูมาทำให้ชาวรัสเซียพอใจในช่วงเวลาสั้นๆ หากแต่ความนิยมที่ประชาชนมีต่อพระองค์ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นนัก
3
ในปีค.ศ.1904 (พ.ศ.2447) พระราชวงศ์ได้ทรงชื่นชมยินดีกับการประสูติของพระราชโอรส นั่นคือ “แกรนด์ดยุกอเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย (Alexei Nikolaevich, Tsarevich of Russia)” ผู้ซึ่งจะเป็นองค์รัชทายาท
2
เจ้าชายอเล็กเซย์เมื่อแรกประสูติก็มีพระพลานามัยสมบูรณ์ดี แต่หลังจากประสูติได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ พระองค์ก็ทรงมีพระอาการพระโลหิตไหลไม่หยุด
2
แกรนด์ดยุกอเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย (Alexei Nikolaevich, Tsarevich of Russia)
แพทย์หลวงได้ถวายการรักษาและวินิจฉัยว่าเจ้าชายเป็นโรคโลหิตไหลไม่หยุด ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับเลือดที่พบได้ยาก ทำให้เลือดไม่สามารถหยุดไหลอย่างสนิท แม้แต่บาดแผลเล็กๆ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยเลือดไหลจนตายได้
3
ทั้งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซานดราทรงเก็บเรื่องอาการประชวรของเจ้าชายอเล็กเซย์เป็นความลับ รู้เฉพาะในครอบครัว
จักรพรรดินีอเล็กซานดราทรงวิตกหนัก พระองค์ทรงเก็บองค์จากโลกภายนอก และได้ทรงเร่งหาทางรักษา ทั้งจากแพทย์หลวงและบาทหลวงต่างๆ
2
นักบุญคนหนึ่ง ชื่อ “กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin)” ได้พบกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซานดราในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) และกลายเป็นที่ปรึกษาคนสนิทขององค์จักรพรรดินี
กริกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin)
ถึงแม้ว่ารัสปูตินจะไม่ได้มีมารยาทนุ่มนวลนัก รูปลักษณ์ก็ดูน่ากลัว หากแต่เขาก็สามารถทำให้พระโลหิตของเจ้าชายอเล็กเซย์หยุดไหล โดยสิ่งที่เขาทำ คือแค่นั่งอยู่ข้างๆ เจ้าชายและสวดมนต์ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้จักรพรรดินีทรงไว้วางพระทัยในตัวรัสปูติน
รัสปูตินขณะถวายการรักษาเจ้าชายอเล็กเซย์
รัสปูตินได้กลายเป็นคนใกล้ชิดของจักรพรรดินีอเล็กซานดรา และเขาก็มีอิทธิพลต่อองค์จักรพรรดินีมาก สามารถถวายคำปรึกษาในเรื่องราชการบ้านเมือง ซึ่งองค์จักรพรรดินีก็ทรงฟัง และถวายคำปรึกษาเหล่านั้นต่อพระราชสวามีต่อไป
4
เหตุการณ์ปลงพระชนม์ “อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria)” ทำให้จุดประกายการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (หาอ่านได้ในซีรีส์สงครามโลกครั้งที่ 1 ของผมครับ)
การปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria)
มือสังหารเป็นชาวเซอร์เบีย ทำให้ออสเตรียประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย และพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากฝรั่งเศส ก็ถูกกดดันให้ปกป้องเซอร์เบีย
สิงหาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) กองทัพรัสเซียได้ระดมและเคลื่อนพล ทำให้ความขัดแย้งบานปลายขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสงครามขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา
1
ค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่จะเข้าบังคับบัญชากองทัพรัสเซียด้วยพระองค์เอง ซึ่งการตัดสินพระราชหฤทัยครั้งนี้ เป็นการตัดสินพระราชหฤทัยที่จะส่งผลร้ายอย่างมาก
1
กองทัพรัสเซียนั้นไม่ได้รับการเตรียมตัวฝึกซ้อมรบมากนัก พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ไม่ได้ทรงเชี่ยวชาญการนำทัพ ทำให้กองทัพรัสเซียพ่ายแพ้ต่อกองทัพเยอรมันอย่างยับเยิน
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ขณะทรงบัญชาการกองทัพรัสเซีย
ช่วงที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จไปในการสงคราม พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งจักรพรรดินีอเล็กซานดราให้เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน
1
การแต่งตั้งจักรพรรดินีอเล็กซานดราสร้างความไม่พอใจให้ชาวรัสเซียเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนชาวรัสเซียไม่วางใจจักรพรรดินีอเล็กซานดรา
1
จักรพรรดินีอเล็กซานดรามาจากเยอรมนี ประเทศศัตรูของรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากนั้น จักรพรรดินีอเล็กซานดรายังเชื่อฟังรัสปูติน การบริหารราชการต่างๆ ก็ล้วนเป็นรัสปูตินที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง
1
เหล่าขุนนางและแม้แต่เชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ก็ไม่ชอบรัสปูติน ต่างเห็นถึงหายนะที่รัสปูตินสร้างจากการชักใยจักรพรรดินีอเล็กซานดรา และต่างก็ทูลพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซานดราให้ปลดรัสปูติน หากแต่ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ทรงสนใจหรือยินยอมตามข้อเรียกร้อง
รัสปูตินกับจักรพรรดินีอเล็กซานดรา พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดาของจักรพรรดินีอเล็กซานดรา
เมื่อองค์เหนือหัวทั้งสองไม่ทรงสนพระทัยต่อข้อเรียกร้อง กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจ วางแผนสังหารรัสปูติน
เหล่าผู้ก่อการล้วนเป็นบุคคลชั้นสูงและเชื้อพระวงศ์ ทหาร ซึ่งก็ทำสำเร็จ หากแต่การสังหารรัสปูตินในปีค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก
3
รัสปูตินทั้งถูกวางยาพิษ ทั้งถูกยิง หากแต่ก็ไม่ตาย แต่สุดท้าย เขาก็ตกลงไปในแม่น้ำและเสียชีวิตในที่สุด
สภาพศพของรัสปูติน
แต่ดูเหมือนว่าการตายของรัสปูตินจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้สถานการณ์ในราชวงศ์ดีขึ้น
ในเวลานั้น ชาวรัสเซียซึ่งไม่พอใจมาเป็นเวลานาน ยิ่งไม่พอใจต่อรัฐบาลและราชวงศ์หนักขึ้นเรื่อยๆ
1
ค่าแรงนั้นถูกตัดให้ลดลง ในขณะที่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้น บริการสาธารณะ สวัสดิการต่างๆ ล้วนแต่ถูกตัด และไม่ใช่แค่นั้น ทหารหลายนายที่ถูกเกณฑ์ไปรบก็ไม่ได้เต็มใจจะไปรบเลย ต่างก็บาดเจ็บล้มตาย ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนและเศร้าโศกเสียใจ
มีนาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 200,000 คนได้มารวมตัวกันที่เปโตรกราด (ภายหลังคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) เพื่อประท้วงต่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
แทนที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จะทรงประนีประนอม ยอมพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม พระองค์กลับทรงมีรับสั่งให้ทหารทำการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม
6
ในเวลานั้น ทหารหลายนายต่างสงสาร เห็นใจผู้ชุมนุมประท้วง หลายนายยิงปืนขึ้นฟ้า ไม่ยอมยิงผู้ชุมนุม หลายนายเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แทนที่จะเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมตามคำสั่ง กลับไปเข้าร่วมกับผู้ชุมนุมซะเอง
6
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีทหารที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าซาร์ และได้ยิงผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต หากแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ผู้ชุมนุมได้เข้าควบคุมเมืองไว้ได้ในเวลาไม่นาน ซึ่งนี่คือเหตุการณ์ “การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)”
การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)
ในเมื่อเมืองหลวงตกอยู่ในมือของคณะปฏิวัติ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากสละบัลลังก์ โดยพระองค์ทรงเชื่อว่าการสละบัลลังก์ของพระองค์จะสามารถช่วยรักษาราชวงศ์เอาไว้ได้
1
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสละบัลลังก์
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงเซ็นยินยอมสละบัลลังก์ในวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) และทรงแต่งตั้ง “แกรนด์ดยุกมีคาเอล อะเลคซันโดรวิชแห่งรัสเซีย (Grand Duke Michael Alexandrovich of Russia)” พระอนุชาของพระองค์ เป็นซาร์พระองค์ใหม่
แต่ท่านแกรนด์ดยุกนั้นทรงปฏิเสธบัลลังก์อย่างชาญฉลาด ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟที่อยู่มานานกว่า 300 ปีถึงกาลอวสาน
แกรนด์ดยุกมีคาเอล อะเลคซันโดรวิชแห่งรัสเซีย (Grand Duke Michael Alexandrovich of Russia)
ภายหลังจากการสละราชสมบัติ รัฐบาลชั่วคราวก็ได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ประทับอยู่ในพระราชวังที่ซาร์กอเย เซโล โดยมีทหารยามคอยควบคุม
ในเวลานั้น รัฐบาลชั่วคราวก็กำลังเป็นกังวลกับการเข้ามาของพรรคบอลเชวิก รัฐบาลจึงตัดสินใจให้ย้ายเหล่าพระราชวงศ์ไปประทับยังที่ปลอดภัยในบริเวณตะวันตกของไซบีเรีย
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชั่วคราวก็ถูกพรรคบอลเชวิกโค่นล้มในคราวการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ทำให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวตกอยู่ในการควบคุมของพรรคบอลเชวิก
พรรคบอลเชวิกได้จัดการย้ายพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวมายังยากาเตรินบุร์กในเดือนเมษายน ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461)
1
พระบรมฉายาลักษณ์สุดท้ายของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว
ในเวลานั้น พรรคบอลเชวิกกำลังเรืองอำนาจ หากแต่ก็ยังมีผู้ต่อต้าน เกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์
ทั้งสองกลุ่มนี้สู้รบกันเพื่อชิงอำนาจในการควบคุมประเทศ รวมทั้งสิทธิในพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว
กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์เริ่มจะได้เปรียบ และกำลังมุ่งสู่ยากาเตรินบุร์ก ที่ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวประทับอยู่ มุ่งหมายจะช่วยองค์จักรพรรดิ
1
หากแต่พรรคบอลเชวิกไม่ยอมให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้
พรรคบอลเชวิก
เวลาตีสองของวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 จักรพรรดินีอเล็กซานดรา และพระราชโอรส พระราชธิดา ถูกปลุกให้ตื่นบรรทมและได้รับการทูลว่าให้เตรียมตัว พระองค์ต้องเสด็จไปที่อื่น
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวถูกนำองค์เข้ามายังห้องๆ หนึ่ง ก่อนที่คนของพรรคบอลเชวิกจะระดมยิงใส่ทุกพระองค์
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซานดราสวรรคตในทันที หากแต่พระราชโอรส พระราชธิดายังไม่สิ้นพระชนม์ เหล่าทหารต้องใช้ดาบปลายปืนแทงซ้ำ
สำหรับเหตุการณ์ต่อจากนั้น ก็อย่างที่ทุกท่านทราบ พระบรมศพและพระศพถูกนำไปทำลายและฝัง ซึ่งสามารถหาอ่านได้ในบทความอื่นๆ ของผมครับ
การสังหารราชวงศ์โรมานอฟ
อาจจะกล่าวได้ว่าการปฏิวัติรัสเซียมีจุดเริ่มต้นมาจากตัวพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เองก็ว่าได้
พระองค์ไม่สามารถตอบสนองและปรับตัวต่อความต้องการของประชาชน ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลด และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
2
โฆษณา