15 ก.พ. 2021 เวลา 17:28 • ท่องเที่ยว
รู้จักสวิตเซอร์แลนด์ผ่านแสตมป์
006 Bern - The Capital City
มีไม่น้อยที่
ตอบชื่อเมืองหลวงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ผิด
บ้างตอบว่า ซูริค บ้างตอบว่า เจนีวา
เพราะได้ยินชื่อสองเมืองนี้บ่อยกว่าชื่อเมืองหลวงซะอีก
เมืองหลวงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ชื่อ Bern
ภาษาสากลออกเสียงว่า เบิร์น
แต่ภาษาเยอรมันจะออกเสียงว่า แบร์น
ซึ่งแปลตรง ๆ ตัวก็คือ “หมี”
สัญลักษณ์ของเมืองจึงเป็นรูปหมีต่าง ๆ
เต็มเมืองไปหมด
รวมไปถึงยังมีบ่อที่มี “หมี” จริง ๆ
ให้เราเยี่ยมชมทักทายด้วย
2
เนื่องจากแสตมป์เกี่ยวข้องกับเมืองเบิร์นนั้นมีหลายดวง
จึงยกนำมารวมกันไว้ในที่เดียวซะที่นี่เลย
ขอเริ่มดวงแรกด้วยแสตมป์รูปหมี
European Brown Bear
ทำขึ้นมาเนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีของ
องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติของแผ่นดินที่ก่อตั้งเมื่อปี 1909
เพราะหมีสีน้ำตาล กลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์
หายากตามธรรมชาติ และได้รับการคุ้มครอง
แสตมป์ดวงนี้ราคา 0.85 ฟรังซ์
วันแรกจำหน่ายคือวันที่ 5 March 2009 
โดยมีตราประทับเป็นรูปหมี
ดวงที่สอง เป็นรูปปั้นหมีนักรบบนน้ำพุ Zähringer
ที่สร้างขึ้นในปี 1542 ที่ถนน Kramgasse ในปัจจุบัน
เป็นการสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง
Berchtold V. von Zähringer
ผู้ก่อตั้งเมือง Bern ในปี 1191
แสตมป์ดวงนี้ราคา 0.85 ฟรังซ์
วันแรกจำหน่ายคือวันที่ 4 November 2010 
โดยมีตราประทับเป็นรูปสิงโต
(รูปนี้อิงมาจากโล่ที่นักรบหมีถืออยู่)
ตามบันทึกของประวัติศาสตร์จารึกไว้ว่า
ผู้ก่อตั้งเมืองยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อเมืองว่าอย่างไรดี
จึงเสี่ยงทายว่าจะออกไปล่าสัตว์
หากพบชนิดใดก่อน ก็จะนำมาตั้งเป็นชื่อเมือง
ใช่ค่ะ
น้องหมีเมื่อพันปีก่อนยังไม่ใกล้สูญพันธุ์เหมือนตอนนี้
จึงได้ถูกพบเป็นตัวแรก และกลายมาเป็น
สัญลักษณ์ของเมืองเบิร์น และชื่อของเมือง
บ่อหมีแห่งเมืองเบิร์น
ดวงที่สามและสี่ เป็นชุดที่ออกมาเนื่องในโอกาส
ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศรัสเซีย
จึงออกมาเป็นแสตมป์สองดวง
ที่เป็นรูปหอนาฬิกาโบราณของทั้งสองประเทศ 
ดวงทางขวาเป็นรูปหอคอย Kazanky จาก MosCow
และทางซ้ายเป็นรูปหอคอย Zytglogge จาก Bern
ราคาแสตมป์ดวงละ 1 ฟรังซ์สำหรับหอคอยจากเบิร์น
และราคา 1.40 ฟรังซ์สำหรับหอคอยจากมอสโก
ออกจำหน่ายในวันที่ 21 May 2014 
โดยมีตราประทับแรกจำหน่ายเป็นรูปดาราจักร
ซึ่งถ่ายทอดมาจากนาฬิกาหอคอยของทั้งสองที่
ดวงที่ห้าเป็นแสตมป์แสดงกลไกของนาฬิกา
(จากแสตมป์ดวงที่ 3)
จากหอคอย Zytglogge เมือง Bern
ราคาดวงละ 5 ฟรังซ์
ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 12 November 2020
โดยมีตราประทับแรกจำหน่าย
เป็นรูปเข็มนาฬิกาสองชั้น
และฟันเฟืองล้อมรอบ
นาน ๆ สวิสจะออกแสตมป์แพง ๆ สักดวง
รูปปั้นนักรบหมีและน้ำพุ โดยมีฉากหลังเป็นหอคอยนาฬิกาโบราณ
ดวงสุดท้ายเป็นแสตมป์งานเทศกาลตลาดหัวหอม
ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีของเมืองเบิร์น
จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
บริเวณใจกลางเมืองเก่า
ในภาพจะเป็นพวงของหัวหอมแดงและขาว
โดยมีฉากหลังเป็นภาพซิลูเอทของเมืองเบิร์น
ราคาดวงละ 0.70 ฟรังซ์
ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 19 November 2003
มีตราประทับแรกจำหน่ายเป็นพายหัวหอม
ภาพบรรยากาศ ตลาดหัวหอมประจำปี
นักท่องเที่ยวมาทำอะไรที่เมืองเบิร์น
📍มาเดินชมเขตเมืองเก่าที่ยังคงผังเมืองโบราณไว้ตั้งแต่เมื่อหกร้อยปีที่แล้ว ซึ่งเขตเมืองเก่านี้ถูกอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม สิ่งที่พิเศษในเขตเมืองเก่านี้คือ เส้นทางเดินช้อปปิ้งร้านรวงต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้อาคารโบราณเก่า ที่เรียกว่าเป็นถนนช้อปปิ้งทางเดินหลังคาคลุมที่ยาวที่สุดในยุโรป
📍มาดูหอคอยและนาฬิกาโบราณ ซึ่งจะมีเหล่าตุ๊กตาหมีออกมาเต้นระบำทุก ๆ ชั่วโมง ตุ๊กตาหมีที่ว่า ไม่ใช่หมีเท็ดดี้แบร์ แต่เป็นหมีที่จำลองอยู่ในรูปลักษณ์ของนักรบหรือกษัตริย์ ซึ่งนาฬิกาโบราณที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกลไกเมื่อห้าร้อยปีมาแล้วนั้น ยังคงเดินตรงคงเส้นคงวาในปัจจุบัน และยังมีนาฬิกาอีกเรือนด้านล่างที่บอกถึงจักราศีและข้างขึ้นข้างแรมอย่างแม่นยำด้วย
📍บ่อหมี ที่มีหมี Brown bear ตัวจริง ๆ เป็น ๆ เดินเล่นอยู่ในบ่อให้เราได้ทักทาย แต่ถ้าใครมาเยือนหน้าหนาวต้องเสียใจด้วย เพราะเป็นช่วงน้องหมีจำศีลอยู่ หมีที่เราจะได้เห็นเป็นหมีที่ถูกส่งมาจากรัสเซีย และเมื่อมันแก่ตัวลงก็จะส่งต่อไปยังสวนสัตว์ และจะนำรุ่นใหม่มาเลี้ยงต่อไปตามลำดับ หลายคนถามว่าทำไมต้องมีบ่อหมี ก็ต้องเล่าประวัติชื่อของเมืองข้างต้นให้ฟัง
2
📍สถานที่อีกแห่งที่เด็กสายวิทย์จะไม่พลาดก็คือ Einstein Museum ซึ่งอยู่บนถนนสายเขตเมืองเก่าเช่นกัน ที่นี่เคยเป็นบ้านเก่าของไอน์สไตน์มาก่อน ความสำคัญก็คือ เขาคิดทฤษฎีสัมพันธภาพได้ที่ห้องเช่านี้ ด้านในพิพิธภัณฑ์ก็จะแสดงข้าวของห้องหับที่ นักฟิสิกซ์ชื่อก้องได้เคยใช้ชีวิตอยู่เมืองครั้งอดีตกาล
ขอปิดท้ายด้วยรูปภาพวิวสวย ๆ จากเมือง Bern ค่ะ
บรรยากาศเขตเมืองเก่าของเบิร์น ซึ่งอนุรักษ์ให้เป็นมรดกโลก
ป.ล.
แสตมป์ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ใช้คำว่า “Helvetia”
ซึ่งเป็นชื่อประเทศดั้งเดิม แทนคำว่า “Switzerland” อันเป็นชื่อประเทศในปัจจุบัน
ดังนั้นนักสะสมที่เก็บแสตมป์จากทั่วโลก ถ้าไม่รู้มาก่อน
ก็จะวิ่งวุ่นแทบตายว่า ทำไมไม่มีแสตมป์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เลยนะ
1
โฆษณา